รีวิว Lenovo Legion Y540-15IRH รุ่นรองพร้อมจอ 144 Hz ในราคาน่าคบหา

CONS

จอภาพให้สีสันภาพสดใสและสว่าง
จอภาพให้ค่ารีเฟรชเรต 144 Hz
พอร์ตเชื่อมต่อส่วนใหญ่อยู่ด้านหลัง
อัพเกรดฮาร์ดดิสก์และแรมได้

PROS

น้ำหนักรวมอะแดปเตอร์เกือบ 3 กิโลกรัม
Wi-Fi มาตรฐาน ac
ไม่มีสล็อต SD Card Reader
กล้องเว็บแคมอยู่ใต้จอ

โน้ตบุ๊กเกมมิ่งยุคนี้ในซีรีส์เดียวกันจะมีรุ่นแยกย่อยอย่างน้อยๆ 3 รุ่น ข้อดีคือ ระดับราคาที่มีให้เลือกหลายหลาย มีสเปคภายในที่ตรงความต้องการผู้ใช้งานมากกว่าเดิม ซึ่งโน้ตบุ๊ก Legion Y540-15IRH ตัวนี้ก็เช่นกัน มันเป็นรุ่นกลางในซีรีส์ Y540 ใช้ชิปกราฟิก Geforce GTX1650 ทำงานร่วมกับซีพียู Intel Core i5-9300HF พร้อมจอแสดงผล 144 Hz ซึ่งเรามองว่า สำหรับเกมระดับ AAA พร้อมกับพรีเซ็ตคุณภาพสูงสุดหรือ Ultra โน้ตบุ๊กตัวนี้ไม่สามารถปั่นเฟรมเรตออกมาได้เพียงพอกับค่ารีเฟรชเรตแน่นอน แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องนั้น มาดูสเปคภาพรวมกันก่อน

Key Specifications

  • ราคาโดยประมาณ: 25,900 บาท
  • Intel Core  i5-9300HF @ 2.4GHz 4c/8t
  • 8GB, DDR4-2666MHz
  • 512GB M.2 PCIe NVMe Solid State Drive
  • GeForce  GTX1650, 4GB GDDR-128bit
  • 15.6 นิ้ว (1,920X1,080) IPS display
  • Windows 10 Home 64-bit
  • WLAN 802.11ac 2x2, Bluetooth
  • Battery 52 Wh
  • Weight 2.35 กิโลกรัม
  • ขนาด (กxยxส): 260x365x25.9  มม.

ว่ากันตามตรง สเปคหลักของโน้ตบุ๊กตัวนี้เทียบกับราคาแล้วก็ยังสูงกว่าคู่แข่งเล็กน้อยอย่างเช่น Acer NITRO AN515-54-546A (22,900 บาท) แถมรุ่นรองของเลอโนโวเองที่ใช้สเปคเกือบจะเหมือนกันอย่างรุ่น IDEAPAD L340-15IR (19,900 บาท) แต่ด้วยราคาที่สูงกว่ามันก็ตอบแทนด้วยการออกแบบโครงสร้างภายนอกและภายในอื่นๆ ที่เหนือกว่า

ใช้บอดี้พลาสติกในทุกๆ ชิ้นฮาร์ดแวร์ของ Legion Y540-15IRH ถูกติดตั้งอยู่ภายในบอดี้พลาสติกสีดำ ในภาพรวมให้ความรู้สึกหนักแน่น ภูมิฐาน แต่ไม่ได้มีความเป็นโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่จัดจ้านเหมือนกับแบรนด์อื่นๆ จะมีแค่เฉพาะฝาหลังที่ดูโดดเด่นด้วยลวดลายและโลโก้ Legion ดังนั้นมันจึงดูไม่แปลกตาเท่าไหร่ถ้าวางใช้งานในออฟฟิศ

ผิวด้านในบริเวณแป้นวางมือเคลือบด้วยวัสดุยาง ให้ความรู้สึกที่พรีเมี่ยมขณะใช้งาน ในทางกลับกันมันก็เปรอะคราบต่างๆ ได้ง่ายเช่นกัน ในจุดนี้เราค่อนข้างชื่นชอบแป้นคีย์บอร์ดในหลายๆ เรื่อง อาทิ ปุ่มขนาดใหญ่ ระยะการกดปานกลาง นิ่มปลายนิ้ว ตัวอักษรทุกตัวบนปุ่มใช้ฟอนต์กึ่งหนา คมชัด และมีไฟ Backlight สีขาวส่องสว่างผ่านตัวอักษรและด้านข้างของปุ่ม ถึงอย่างนั้นก็มีข้อติเล็กน้อยในเรื่องเลย์เอาต์ ส่วนเรื่องการรายงานคำสั่งของปุ่มคีย์บอร์ด สามารถทำได้อย่างน้อย 10 ปุ่ม กดได้ทั้งในแนวเฉียงและแนวนอน ผู้เล่นสาย FPS ไม่ต้องกังวล

ตำแหน่ง Numlock ถูกย้ายมามาอยู่แถวล่างแทนที่จะอยู่แถวบนของชุดปุ่มตัวเลขเหมือนกับคีย์บอร์ดของเครื่องพีซี

 


เราไม่มีข้อติใดๆ ในเรื่องความแม่นยำ การตอบสนอง หรือการสั่งงานแบบ Multi-touch gesture ผ่านปลายนิ้วของทัชแพดบนโน้ตบุ๊ก Legion Y540-15IRH  ทุกๆ ข้อที่กล่าวมาทำได้ในระดับที่ดีมากแทบทั้งสิ้น ยกเว้นเพียงปุ่มซ้ายขวาที่แข็งมาก ใช้แรงกดเยอะ และมีเสียงดัง ซึ่งน่าหงุดหงิดมากถ้าคุณต้องการความเงียบขณะทำงาน

พอร์ตเชื่อมต่อส่วนใหญ่อยู่ด้านหลังดีไซน์ลักษณะนี้ในแง่ของความสะดวกแล้วอาจจะไม่เท่าพอร์ตที่วางไว้ด้านข้าง ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร พอร์ตที่ให้มามีทั้ง USB-C, Mini-DP, USB-Type A, HDMI, GbLAN ขณะที่ด้านข้างจะมีพอร์ต USB Type A ให้ทั้งสองฝั่ง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นมาตรฐาน 3.1 Gen 1

นอกจากพอร์ตUSB แล้วก็ยังมีช่องต่อออดิโอคอมโบ 3.5 มิลลิเมตร ปุ่ม Novo หรือ one-key recovery ไฟสถานะการทำงาน

ออกแบบใต้ฐานเครื่องมาได้ดี

บอดี้ในส่วนนี้เป็นชิ้นเดียวทั้งหมด ฐานยางหรือ Rubber Feets เป็นแผ่นยางหนาวางเป็นชิ้นยาวขนาดใหญ่ ในส่วนบนจากภาพจะมีการบากร่อง และมีฐานพลาสติกสโลปเพื่อเพิ่มการหมุนเวียนอากาศเข้าสู่พัดลมโบลวเวอร์ โดยลมร้อนจะถูกขับออกทางด้านข้างและหลังของโน้ตบุ๊ก บริเวณพัดลมโบลวเวอร์จะมีแผง Dust Filter ขนาดใหญ่ ตรงนี้แกะออกมาไม่ได้ จากภาพจะเห็นได้ชัดว่า แม้แต่บอดี้ของเครื่องเองก็ยังลาดเอียงเพื่อให้อากาศไหลเวียนได้ดี

ลำโพงทั้งสองฝั่งหันเข้าหาผู้ใช้ เรื่องระดับความดังถือว่าน่าพอใจ เรื่องมิติของเสียงทำได้ดีพอใช้ ขับบรรยากาศของเล่นเกม RD2 ได้อย่างมีอรรถรส ทิศทางของศัตรูพอจะระบุตำแหน่งได้ ส่วนเรื่องการฟังเพลงก็ยอมรับได้ ไม่ได้มีเสียงเบสมาเป็นลูกๆ อะไร

สำหรับการแกะเพื่อบำรุงรักษาถือว่า ความยากอยู่ในระดับต่ำ แค่ต้องถอดน็อตรอบฝาและใช้การ์ดบางๆ ไล่งัดฝาออกมาทั้งชิ้น จะมีจุดที่ยากตรงบริเวณตำแหน่งพอร์ตด้านข้างและด้านหลัง ซึ่งวิธีการก็มีให้ดูได้ในยูทูป ขณะที่ด้านในก็มองเห็นถึงความเอาใจใส่ในการผลิต มีทั้งเทอร์โมแพดในส่วนของไดรฟ์ NVMe สามารถอัพเกรดไดรฟ์ SATA 2.5 นิ้วได้เลย มีไดรฟ์ดัมมี่ติดมาให้พร้อมน็อตและสายสัญญาณ ส่วนแรมเองก็มีฝาโลหะปิดล็อกมาอย่างดี นอกจากนั้นก็ยังมีโฟมเส้นเล็กๆ ไม่ให้พัดลมหรือแบตเตอรี่สัมผัสกับฝาหลังโดยตรง

จอ 144 Hz ดีกว่าที่คิด โดยเฉพาะสีสันและมุมมอง

พื้นฐานของพาแนลของโน้ตบุ๊ก Legion Y540-15IRH รุ่นนี้เป็น IPS ดังนั้นในแง่ของมุมมองแล้วมันจึงไม่ได้มีปัญหาอะไร สีสันภาพไม่ได้เปลี่ยนเมื่อมองจากด้านข้าง อาจจะเห็นคอนทราสต์และแสงสว่างดรอปลงบ้างเป็นเรื่องปกติ ส่วนเรื่องสีสันนั้นถือว่า น่าประทับใจ ให้สีที่เป็นธรรมชาติ ไม่ได้มีความผิดเพี้ยนใดๆ ที่สังเกตได้ชัด ในต่างประเทศเองก็มีการทดสอบเรื่้องขอบเขตสี ซึ่งทำได้ราว 90-92% sRGB

อีกเรื่องก็คือ พาแนล IPS จะไม่ได้ให้สีดำที่ดำสนิทเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเมื่อมันถูกเคลือบผิว Anti-Glare มาบางๆ มันจึงไม่ได้มีคอนทราสต์สูง เราจึงมองเห็นรายละเอียดในส่วนสีดำได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นเรื่องแสงลอดก็มีพบบ้างเล็กน้อย บริเวณกรอบจอส่วนล่าง ซึ่งไม่ได้ทำให้เราหงุดหงิดใจอะไร

เล่นเกมระดับ AAA ได้ แต่ไปไม่สุดผลคะแนนเบนช์มาร์กที่ออกมา ถือว่าระบบที่เลอโนโวจัดมาให้ในระดับกลางๆ ซีพียู Intel Core  i5-9300HF ไม่ได้ให้ประสิทธิภาพที่เหนือกว่า i5-9300H อย่างมีนัยยะสำคัญ ในส่วนของคะแนน PCMark 10 ทำได้เกิน 5,000 คะแนน นั่นเป็นเพราะนำเอาประสิทธิภาพของชิปกราฟิกมาประเมินด้วย ส่วนคะแนนของ 3DMark ทั้งสองค่าเองก็ให้ตัวเลขใกล้เคียงฐานข้อมูลของทาง Futuremark ส่วน Cinebench R20 ที่ใช้ชี้วัดประสิทธิภาพของซีพียูในการเรนเดอร์ภาพ 3D ผลคะแนนที่ออกมามีตัวเลขดรอปกว่าค่าในฐานข้อมูลเล็กน้อย (2111 pt.) แต่ถ้าเทียบกับซีพียูใกล้ๆ กัน มันก็ยังทำได้ดีกว่าซีพียู AMD Ryzen 3750H อยู่พอสมควร (1,809 pt.) ส่วนประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับรุ่นพี่อย่าง i7-9750H ก็ตามหลังอยู่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ (2,653 pt.)

 

ด้วยชิปกราฟิก Geforce GTX1650 คุณไม่สามารถคาดหวังว่า มันจะปั่นทั้งเฟรมเรตและคุณภาพภาพของเกมระดับ AAA ให้ออกมาได้อย่างสุดยอด แต่อย่างน้อยโน้ตบุ๊กตัวนี้ก็เล่นได้ทุกเกมที่อยู่ในตลาด ณ เวลานี้ ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ เกม Metro Exodus และ RD2 ที่ปรับคุณภาพระดับ High บนความละเอียด Full HD โน้ตบุ๊กตัวนี้สามารถให้อัตราแสดงผลภาพเฉลี่ยไม่ถึง 40 ภาพต่อวินาที ดังนั้นถ้าไม่ปรับลดความละเอียดก็ต้องลดคุณภาพของเท็กซ์เจอร์หรือพรีเซ็ตให้ต่ำลง ส่วนเกมออนไลน์ที่ไม่ได้กินทรัพยากรอะไรหนักหนาอย่างเกม PUBG, CS:GO หรือ Call of Duty WARZONE (DX12) ก็ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ กรณีของ Call of Duty WARZONE ชิปกราฟิก Geforce GTX1650 ถูกใช้งานเกือบเต็มที่สูงสุด 97% (อุณหภูมิคงอยู่ที่ 70 องศาเซลเซียส) ส่วนซีพียูถูกเรียกใช้งาน 50-60% แต่ถ้าภาพยังไม่ลื่นไหลถูกใจหรือมีการดรอปของภาพให้เห็น คุณสามารถปรับให้เกิน 100 fps ได้ด้วยการลดคุณภาพเท็กเจอร์ลงไปที่ Normal หรือลดความละเอียดไปที่ 1280x768 พิกเซล

 

ย้ายกลับมาดูประสิทธิภาพของสตอเรจกันบ้าง โน้ตบุ๊ก Legion Y540-15IRH ใช้บริการไดรฟ์มาตรฐาน NVMe Express 1.2 ของ Micron ขนาด 512GB (MTFDHBA512TCK) ซึ่งส่งผ่านข้อมูลในโหมด PCIe 3.0 x4 ความเร็วในการอ่านเขียนเฉลี่ยก็ของมันก็ถือว่าน่าพอใจมาก แม้ว่าจะไม่ได้เร็วเท่ากับกลุ่มท็อปของวงการ แต่มันก็เหนือกว่าไดรฟ์ SATA ในทุกๆ ด้าน

จัดการความร้อนได้ดี ไม่มีอะไรน่ากังวล
เราประเมินความร้อนของชิปกราฟิกในกรณีของการเล่นเกมที่มันทำงานได้อย่างเต็มที่ใน Call of Duty WARZONE ระบบระบายความร้อนสามารถคงอุณหภูมิเอาไว้ที่ 70 องศาเซลเซียส ซึ่งนั่นทำให้มันทำงานได้อย่างเต็มที่โดยมีผลเรื่องการดรอปของเฟรมไม่มากนัก จากที่สังเกตจะไม่หล่นไปต่ำกว่า 62 ภาพต่อวินาที ส่วนเรื่องความดังของพัดลมก็อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ไม่ได้ดังจนคนข้างๆ หงุดหงิด แต่โดยปกติแล้ว เวลาคุณเล่นเกมก็มักจะเล่นคนเดียว และเสียงของเกมก็มักจะดังจนกลบหมด หรือถ้าใส่หูฟังก็จะไม่ได้ยินเสียงพัดลมรบกวนแน่ๆ

ความร้อนของซีพียูขณะทดสอบ Cinebench R20 จะเห็นว่าในสถานะฟูลโหลด ความร้อนของแพกเกจซีพียูขึ้นไปแตะถึง 94 องศาเซลเซียส นั่นคือ ค่าสูงสุด แต่ในระหว่างประมวลผลเต็ม 100% ซีพียูเองก็ไม่ได้ดันตัวเองไปที่ความเร็วสูงสุดของมันในโหมด Turbo Boost คงความเร็วเอาไว้แถว 3990 MHz ซึ่งการทำงานร่วมกับชุดระบายความร้อนมันก็คุมความร้อนเอาไว้ที่ 89 องศาเซลเซียส และหลังจากจบการทดสอบชุดระบายความร้อนของโน้ตบุ๊กก็ลดความร้อนลงมาอยู่ที่ 44 องศาเซลเซียส หลังเวลาผ่านไปไม่ถึง 2 นาที

ความร้อนที่แผ่ขึ้นมาบนแผงคีย์บอร์ดยังคงสัมผัสได้อุ่นๆ แต่มันไม่ได้ร้อนจนสร้างปัญหาขณะใช้งานหรือแผ่มาถึงแป้นวางมือ ในกรณีที่เป็นการใช้งานทั่วไป ความร้อนก็ยังคงต่ำ อาจจะรับรู้ได้เล็กน้อย โดยเฉพาะบริเวณกลางคีย์บอร์ด ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้น่าเป็นห่วงอะไร

แบตเตอรี่ใช้งานได้เกิน 4 ชั่วโมง
เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าแปลกใจพอสมควรกับระยะเวลาใช้งานที่โน้ตบุ๊กตัวนี้ทำได้ เนื่องจากโน้ตบุ๊กใช้ชิปกราฟิก GTX1650 แทนที่ชิปกราฟิก UHD Intel 630 ในการแสดงผลปกติ แถมแบตเตอรี่ของโน้ตบุ๊กเองก็มีค่าจ่ายพลังงาน 52.5 Wh ไม่ได้สูงเป็นพิเศษอะไรสำหรับโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง

การทดสอบที่เราใช้ประเมินก็คือ การทำงานจริงๆ ในการพิมพ์เอกสาร เชื่อมต่อ Wi-Fi ค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตไปด้วย โดยใช้การจัดการพลังงาน Better Battery เปิดความสว่างหน้าจอและเสียง 50% จากนั้นรวบรวมระยะเวลาด้วยระบบรายงานแบตเตอรี่ของวินโดว์ส สรุปว่า มันใช้งานได้ไปได้นาน 265 นาที หรือทำงานได้นาน 4:25 ชั่วโมง และเหลือแบตเตอรี่อีก 6% 

บทสรุปและความคิดเห็นของเรา
จะบอกว่ามันคุ้มค่าก็คงจะไม่ได้ เนื่องจากเลอโนโวยังมีโน้ตบุ๊กสเปคเดียวกันอีก 2 ตัว อย่างรหัส 81SY00ARTA  และ L340-15IRH-81LK00LMTA ที่ราคาถูกกว่า แต่ทั้งสองรุ่นที่กล่าวมาไม่ได้ใช้จอ 144 Hz ถึงอย่างนั้นรุ่นกลางๆ อย่าง Legion Y540-15IRH-81SY00LATA ตัวนี้มันก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกว่าแพง เพราะจอ 144 Hz ให้ประสบการณ์ในการเล่นเกมที่ดีกว่า ลดอาการวิงเวียนได้เยอะกว่า ส่วนเรื่องดีไซน์ทั้งภายนอกภายใน เราค่อนข้างชื่นชอบมันมาก ยกเว้นอะแดปเตอร์ขนาดใหญ่ 130 วัตต์ที่เป็นภาระเวลาพกพาพอสมควร ดังนั้นหากใครจะเลือกรุ่นนี้แทนรุ่นอื่นๆ ที่ราคาต่ำกว่าภายใต้สเปคระดับเดียวกัน มันก็ไม่ได้ทำให้คุณผิดหวังเมื่อพิจารณาจากสิ่งที่ได้และโปรโมชั่นในเวลานี้ ซึ่งคุณจะได้แรมเพิ่มอีก 8GB บัตร Rabbit 500 บาท และกระเป๋าสะพายหลังดีๆ อีก 1 ใบ

ส่วนเรื่องซีพียู Core-i5 9300HF ที่ตัดเอาชิปกราฟิก UHD Intel 630 ออกไป อาจจะมีข้อเสียตรงเรื่องการถอดรหัสวิดีโอด้วย Intel Quick Sync ที่ซอฟต์แวร์บางตัวเรียกใช้งาน รวมถึงการประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ในกรณีที่ไม่ได้เล่นเกม แต่ข้อดีก็มีอยู่เช่นกัน อาทิ ความร้อนสะสมบนซีพียูลดลง ไม่ต้องแชร์หน่วยความจำระบบไปให้ ลดปัญหาไดรเวอร์ทำงานเพี้ยนกรณีการสลับใช้งานกับชิปกราฟิกภายนอก ส่วนเรื่องประสิทธิภาพเทียบกับ Core-i5 9300H ถือว่าไม่ต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ