รีวิว Huawei MateBook 14 แรงสุดในกลุ่มสะดวกพกพา
PROS
ประสิทธิภาพการประมวลผลสูง
หน้าจอความสว่างสูงและแสดงเฉดสีได้ดี
หน้าจอรองรับการสั่งงานแบบสัมผัส
น้ำหนักค่อนข้างเบา 1.49 กิโลกรัม
มีเซนเซอร์ลายนิ้วมือบนปุ่ม Power
อะแดปเตอร์รองรับโปรโตคอล PD ใช้งานได้หลากหลาย
CONS
ชิปไวร์เลสเป็นเพียงมาตรฐาน 802.11ac
พอร์ต USB 3.2 มีความเร็ว 5Gbps ทุกช่อง
เชื่อว่าผู้อ่านหลายๆ รายน่าจะเห็นหน้าตาและข่าวคราวของโน้ตบุ๊กตัวนี้กันพอสมควรแล้ว ซึ่งทีมงานได้มีพรีวิวในส่วนของสเปค ราคาและดีไซน์ภายนอกกันไปแล้วในวันเปิดตัว ซึ่งคุณสามารถกลับไปอ่านได้ที่นี่ลิงก์นี้ https://techmayday.tech/Preview_Huawei_Matebook_14_AMD_Ryzen ดังนั้นเนื้อหาของรีวิวในรอบนี้จะเน้นเรื่องประสิทธิภาพการทำงานเป็นหลัก ประสบการณ์การใช้งานและรายละเอียดบางส่วนที่ไม่ได้ลงลึกในรอบพรีวิว
Key Specifications (Matebook 14 )
- ราคาโดยประมาณ: 29,900 บาท
- AMD Ryzen 7 4800H 2.9 – 4.2GHz (8C /16T)
- AMD Radeon Graphics 7, 512MB Share
- On board 16GB DDR4 @2666MHz Dual CH
- Western Digital SN730 SSD 512GB
- 14 inch (2160x1440 pixels) sRGB 100% Color Space
- 2x USB 3.2 Type-A, 1x USB Type-C
- 1x HDMI 2.0, 3.5mm combo jack
- Wi-Fi 802.11a/b/g/n/ac, Bluetooth 5.0
- Lithium-ion, 56 Wh
- Windows 10 Home Edition
- Power Adaptor 65W fast charging
- Weight 1.49kg
วัสดุคุณภาพสูง งานประกอบเนี้ยบ เกือบจะดีไปทั้งหมด
MateBook 14 ใช้วัสดุอะลูมิเนียมอะโนไดส์กับส่วนของบอดี้ทั้งหมด อย่างเช่น ฝาหลังและตัวเครื่อง ซึ่งในส่วนของตัวเครื่องไม่ได้ขึ้นรูปแบบ Unibody อาศัยเป็นการประกบแผ่นโลหะ 3 ส่วนเข้ากันด้วย และตัดขอบด้วยเทคนิค CNC ให้ออกมาในรูปของ Diamond cut ซึ่งความสวยงามนั้นใกล้เคียงกับ MateBook X Pro เอามากๆ คุณภาพงานประกอบในแต่ละจุดก็ทำได้ลงตัว ไม่มีส่วนใดที่แสดงให้เห็นถึงข้อผิดพลาด
ถึงอย่างนั้นในการใช้งานจริงก็มีหลายจุดที่ยังไม่น่าประทับใจนัก เช่น ผิวของทัชแพดที่จะใช้งานสะดุดเล็กน้อยเมื่อปลายนิ้วเลอะคราบไขมันหรือไม่แห้งสนิท แต่ในกรณีที่ไม่มีอุปสรรคเหล่านั้นมันก็ตอบสนองการสั่งงานได้แม่นยำ สั่งงาน Multi-Gesture ได้สะดวก เนื่องจากรองรับ Windows Precision Trackpad ของวินโดว์ส
ความรู้สึกของปุ่มคีย์บอร์ดในการพิมพ์นั้นถือว่านุ่มนวล มีระยะการกดที่กำลังพอดี และปุ่มไม่แข็งจนเกินไป มีไฟ Backlid ลอดออกมาจากตัวอักษร ปรับความสว่างได้ 3 ระดับ แต่เรารู้สึกว่า มันยังไม่สว่างเท่าที่ควร และเวอร์ชันจำหน่ายจริงตัวอักษรไทยจะเป็นตัวสกรีนหรือไฟลอดผ่านทั้งหมดหรือไม่ เรายังตอบไม่ได้ เพราะเครื่องทดสอบที่เราได้มาคีย์บอร์ดยังเป็น ENG ล้วนอยู่
เรื่องของบานพับก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่บางคนอาจจะไม่ชอบ เนื่องจากอัลตร้าบุ๊กส์ระดับพรีเมียมหลายรุ่นสามารถเปิดหน้าจอได้ง่ายๆ ด้วยมือเดียว และถึงแม้ MateBook 14 ตัวนี้จะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ แต่ถึงกระนั้นบานพับที่แข็งแรงนี้ก็ผ่านการทดสอบเปิด/ปิดระดับล้านครั้ง โดยส่วนตัวแล้ว เราให้ความสำคัญเรื่องการไม่โยกคลอนของบานพับมากกว่าการเปิดได้ด้วยมือเดียว การเปิดเงยหน้าจอทำได้ประมาณที่เห็น ไม่สามารถพับแบนราบแบบ 180 องศาได้
จอสีสันสดใส ทัชได้ มุมองกว้าง ปรับถนอมสายตา
จากสเปคของจอตัวนี้ให้ความละเอียด 2160x1440 พิกเซล ในสัดส่วน 3:2 และเป็นพาแนล IPS ที่ให้สีสันได้กว้าง 100% sRGB นั่นหมายความว่า การแสดงสีของจอตัวนี้นั้นดีพอสำหรับงานออกแบบกราฟิกสิ่งพิมพ์ รวมถึงช่างภาพอาชีพก็สามารถเชื่อถือจอภาพตัวนี้ได้เช่นกันหลังจากคาลิเบลตให้มันมีการแสดงสีที่ถูกต้องและแม่นยำกว่านี้
แม้ว่าจะไม่ได้รับการคาลิเบลต จอภาพของ Matebook 14 ก็ไม่ได้แสดงสีสันภาพที่ผิดเพี้ยนจนรู้สึกได้ชัดเจน ดังนั้นการใช้งานทั่วไปหรือการรับชมคอนเทนต์ต่างๆ นั้นไม่มีปัญหาอะไร และจากภาพที่คุณเห็น แม้ว่าจะมีมุมมองต่างจากมุมปกติ จอภาพก็ยังแสดงสีของภาพได้โดยไม่เพี้ยนให้รู้สึกได้ชัดเจน ส่วนเรื่องเงาสะท้อนจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าจอแบบ Anti-Glare หรือแบบผิวด้านเป็นเรื่องธรรมดา ในทางกลับกันจอแบบทัชสกรีนนี้จะทนต่อการกระแทก คราบเปรอะเปื้อน รวมถึงการเช็ดทำความสะอาดได้ดีกว่า นอกจากนั้นแล้ว จอภาพของ MateBook 14 ยังมีโหมดฟีเจอร์ Eye Comfort ในส่วนของ Display Manager ซึ่งไม่เพียงแค่เปิดปิดฟีเจอร์เท่านั้น ยังสามารถปรับอุณหภูมิสีของจอภาพให้อุ่นขึ้นหรือเย็น รวมถึงเลือกอุณหภูมิสีอิสระได้อีกด้วย
การตอบสนองของหน้าจอในการสัมผัสสั่งงานถือว่าดีเกินคาด การแตะลาก การซูมเข้าออกด้วยสองนิ้ว การลากจากขอบจอเข้าไปเพื่อสลับหน้าเดสก์ทอปนั้นทำได้รวดเร็ว หน้าจอสัมผัสนี้จะมีเฉพาะรุ่นที่ใช้ชิป Ryzen 7 4800H เท่านั้น คุณสมบัตินี้ถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อให้การทำงานร่วมกับ Huawei Share และฟีเจอร์ Multi-touch screen คล่องตัวมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การย้ายไฟล์ภาพด้วยการลากจากหน้าจอสมาร์ทโฟนที่ซิงก์อยู่ลงไปยัง MateBook 14
การทำงานของ Huawei Share ร่วมกับสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยเองในเวอร์ชันนี้มีการทำงานที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นที่ผ่านๆ มา การทำงานรวดเร็วมากขึ้น มีความเสถียรกว่าเดิม โดยตำแหน่งการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนจะถูกขยับมาไว้กลางทัชแพดแทนมุมขวาล่างของตัวเครื่อง
ประมวลผลได้เร็วสมกับเป็นชิประดับ High Performance
เข้ามาถึงประเด็นหลักของการรีวิว อย่างที่เข้าใจกันว่า ชิปประมวลผลหรือชิป APU ที่ติดตั้งในโน้ตบุ๊กตัวนี้ไม่ได้อยู่ในคลาสเดียวกับโน้ตบุ๊ก Thin and Light ทั่วไปในตลาด แต่ใช้ชิป Ryzen 7 4800H ซึ่งโดยปกติแล้วมันจะถูกติดตั้งลงในโน้ตบุ๊กเกมมิ่งเป็นหลัก เนื่องจากมันมีอัตราการกินพลังงานและการออกแบบการปล่อยความร้อนหรือค่า TDP อยู่ที่ 45 วัตต์ ขณะที่ชิปประหยัดพลังงานหรือจำนวนรหัส U จะมีค่า TDP อยู่แถวๆ 10-15 วัตต์
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ MateBook 14 สร้างผลคะแนน PCMark 10 ได้ไกลกว่าโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิปรหัส U เอามากๆ เรียกว่าถ้าเป็นโน้ตบุ๊กบางเบาก็ถือว่าแรงที่สุดในเวลานี้ก็ไม่ผิดอะไร การทำงานในส่วนของการเปิดปิดแอพฯ การทำงานกับสเปรดชีตล้วนทำคะแนนได้สูงมาก เช่นเดียวกับในส่วนของ Digital Content Creation ที่มีผลทดสอบสูง ซึ่งชิปรหัส U ส่วนใหญ่จะทำคะแนนในส่วนนี้ไม่ได้ไม่มากนัก
ขณะที่ผลคะแนนในส่วนของประสิทธิภาพด้านกราฟิกนั้นไม่ได้เหนือชั้นไปกว่าชิปกราฟิกระดับเดียวกันแต่อย่างใด ดังนั้นถ้าจะหวังการเล่นเกมก็ถือว่า เล่นได้กับเกมสามมิติเบาๆ อย่างพวก Varolant, PUBG Lite, Minecraft หรือเกม DOTA2 ได้สบายๆ ส่วนผลทดสอบเฉพาะการประมวลผลซีพียูอย่างเดียวอย่าง Cinebench R20 กับ CPU-Z ประสิทธิภาพของซีพียูในการทำงานแบบ Multi-thread สูงกว่าซีพียูทั้งสองตัวราวๆ 1.5 – 2 เท่า
ทำงานไหลลื่น แต่ใช้เวลา Export วิดีโอนานไปนิด
กลับมาดูการทดสอบใช้งานจริงๆ กันบ้าง ทีมงานใช้โน้ตบุ๊ก Legion Y540-15IRH ที่ติดตั้งซีพียู Core i5-9300H และหน่วยความจำ DDR4-2666 ขนาด 16GB ทดสอบการทำงานร่วมกับ Adobe Premier CC 2019 และ Adobe Lightroom โดยเรียกใช้ฟุตเทจวิดีโอ Full HD และไฟล์ RAW จากไดรฟ์ WD MY PASSPORT SSD NVME 1TB ซึ่งเชื่อมต่อกับโน้ตบุ๊กทั้งสองตัวผ่านพอร์ตยูเอสบีความเร็ว 5 Gbps ทั้งคู่
จากกราฟสรุปผลการทดสอบเห็นได้ว่า MateBook 14 นั้นให้ผลลัพธ์ออกมาไม่ได้น่าประทับใจอะไรเป็นพิเศษกับโปรแกรมฝั่ง Adobe ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับโน้ตบุ๊กของเรา โดยเฉพาะการเอ็กซ์พอร์ตวิดีโอเป็นไฟล์ MP4 บิตเรต 16 Mbps ซึ่งเจ้า Matebook 14 ใช้เวลานานถึง 12:24 นาที ถึงอย่างนั้นขณะใช้งานโปรแกรม ไม่ว่าจะเป็นการขยับ/ตัดฟุตเทจ การใส่ทำ Adjustment layer การพรีวิวภาพแบบ Full ฯลฯ ต่างก็ตอบสนองได้อย่างราบรื่น ไม่มีอะไรที่น่าหงุดหงิด
แต่สิ่งที่เราสังเกตพบในขณะ Export Video และ Warp Stabilizer ก็คือ MateBook 14 เรียกใช้หน่วยความจำไม่เกิน 10 GB ขณะที่โน้ตบุ๊ก Legion Y540-15IRH สามารถเรียกใช้ได้ถึง 10-14.2 GB ทั้งๆ ที่เราปรับสำรองหน่วยความจำสำหรับโปรแกรมอื่นๆ ไว้ที่ 3 GB เหมือนกัน ส่วนการประมวลผลไฟล์ Raw กับ Lightroom ไม่มีปัญหาเรื่องการจัดการหน่วยความจำ
ส่วนการทำงานกับโปรแกรม Photoshop ทำได้ไหลลื่นกับไฟล์ภาพความละเอียด 24.2 ล้านพิกเซล ส่วน Illustrator ก็ทำได้สบายๆ หากชิ้นงานไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก อย่างเช่นขนาด A4 หรือออกแบบงานกราฟิกสำหรับออนไลน์
ใช้งานด้วยแบตเตอรี่ได้นานกว่าที่คาดไว้
การใช้ชิป Ryzen 7 4800H ทำให้ระบบของโน้ตบุ๊กมีการใช้พลังงานสูงกว่าโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิปประหยัดพลังงาน ถึงอย่างนั้นหัวเว่ยก็ชดเชยด้วยแบตเตอรี่ขนาด 56 Wh ซึ่งถือว่าค่อนข้างใหญ่แล้วสำหรับโน้ตบุ๊กแบบบาง นอกจากนี้หัวเว่ยยังเคลมว่า หากเป็นการเล่นไฟล์วิดีโอระดับ 1080p หรือทำงานแบบ Office Work โน้ตบุ๊ก MateBook 14 จะใช้งานได้นานถึง 10 ชั่วโมง
ผลการทำงานต่อเนื่องด้วยแบตเตอรี่ของ MateBook 14 ที่เราได้ทดสอบ โดยนับการใช้งานแบตเตอรี่ 90 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้การจัดการพลังงานแบบ Battery Saver และเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย Wi-Fi ผลปรากฏว่า การเล่นเกมออนไลน์อย่าง Roblox นั้นทำงานต่อเนื่องไปได้ 147 นาที หรือ 2:27 นาที ส่วนการเล่นวิดีโอยูทูปต่อเนื่องก็ทำได้นานขึ้นเป็น 417 นาที หรือ 6:57 ชั่วโมง ดังนั้นหากใช้งานจนแบตเตอรี่หมด จากการคำนวณจะเล่นยูทูปต่อเนื่องได้นานประมาณ 7:43 ชั่วโมง จากระยะเวลาขนาดนี้ถือว่าเกินกว่ามาตรฐานทั่วไปอยู่พอสมควร และหากเป็นการทำงานแบบ Office Work ที่ไม่ได้มีเวิร์กโหลดหนักๆ น่าจะใช้งานตลอดช่วงเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงได้สบายๆ
คุมความร้อนได้ดี ซีพียูรัน 3.25 GHz ได้ยาวๆ
การออกแบบชุดระบายความร้อนให้กับ MateBook 14 ที่ใช้ชิปโมบายล์ระดับ High Performance ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับหัวเว่ย พวกเขาใช้ท่อฮีตไปป์นำความร้อนแยกกัน 2 ส่วนและถ่ายเทความร้อนออกไปนอกเครื่องด้วยพัดลมขนาดเล็ก 2 ตัวแบบ 2 ทิศทาง ถึงอย่างนั้นชิป Ryzen 7 4800H ที่ได้รับการยอมรับว่า ค่อนข้างเย็นและจัดการกับความร้อนได้ดีก็อาจจะหนักเกินไปสำหรับชุดระบายความร้อนดังกล่าว
เริ่มต้นจากการรายงานอุณหภูมิภายใต้การจำลองการใช้งานแอพพลิเคชั่นทั่วไปกันบ้างผ่าน PCMark10 จะเห็นว่า ความร้อนโดยเฉลี่ยที่ระบบรายงานจากเซนเซอร์ของโน้ตบุ๊กนั้นมีค่าไม่ได้ต่ำหรือสูงสุดจนน่าตกใจ โดยทั่วไปอยู่ในช่วง 60-75 องศาเซลเซียสในการท่องอินเทอร์เน็ตและการเปิดแอพพพลิเคชัน แต่ถ้าหนักขึ้นมาหน่อยอย่างตารางเอกสารก็มีช่วงความร้อนสูงขึ้นไปอีกนิด
ส่วนในสภาวะที่ซีพียูทำงานแบบ Full Load ระบบควบคุมให้ความร้อนของแกนซีพียูอยู่ไม่เกินช่วง 92-96 องศาเซลเซียสด้วยการลดความเร็วซีพียูให้ทำงานเต็มที่ในช่วง 3.1-3.33 GHz (ความร้อนสูงสุดที่พบนั้นทะลุเกิน 100 องศาเซลเซียส แต่เป็นชั่วขณะหนึ่ง) จากผลลัพธ์ที่ออกมาสรุปได้ว่า สอบผ่าน พวกเขาทำให้โน้ตบุ๊กแนวคิดแปลกตัวนี้ทำงานต่อไปได้โดยไม่มีการหยุดชะงักหรือระบบล่ม
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบนโน้ตบุ๊กก็ถือว่าไม่ได้แย่อะไร เนื่องจากความร้อนส่วนใหญ่จะอยู่โซนบนๆ ของแป้นคีย์บอร์ด แต่ในส่วนของแป้นวางมือไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่โน้ตบุ๊กทำงานแบบ Office Workload ในตำแหน่งที่มีความร้อนสูงจะพบความร้อนในช่วง 38-42 องศาเซลเซียสเท่านั้น (ทดสอบวัดความร้อนในห้องอุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส)
บทสรุปและความคิดเห็นของ TechMayday
องค์ประกอบโดยรวมที่หัวเว่ยคัดสรรมาให้ถือว่าน่าประทับใจมาก ชิปประมวลผลทรงพลัง 8 คอร์ 16 เทรด หน่วยความจำแรม 16GB พร้อมสำหรับการทำงาน ไดรฟ์ NVMe ที่เร็วระดับแนวหน้า (3,400 MB/s และ 2,700 MB/s) บอดี้อะลูมิเนียมที่แข็งแรง จอแสดงผลมุมมองกว้าง รองรับการสั่งงานแบบสัมผัส แสดงขอบเขตสีได้กว้างในระดับที่รองรับงานออกแบบสิ่งพิมพ์ได้เลย รวมถึงการทำงานด้วยพลังงานแบตเตอรี่ที่ให้ผลลัพธ์เหนือว่ากว่าเกณฑ์มาตรฐาน สิ่งเหล่านี้คือ ข้อดีหลักๆ ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีหลายจุดที่ไม่น่าประทับใจนัก อย่างเช่น พอร์ตยูเอสบี หรือการยังไม่ออปติไมส์อย่างเต็มที่กับโปรแกรมบางตัว ฯลฯ ส่งผลให้มันยังอยู่ในกรอบของโน้ตบุ๊กดีไซน์แบบบางประสิทธิภาพสูงที่ไม่เหมาะสำหรับผู้ใช้งานระดับมืออาชีพบางกลุ่ม ใช้งานได้ดี รวดเร็ว แต่ไม่ยังตอบโจทย์ที่สุด ถึงอย่างนั้น ถ้าคุณใช้งานโปรแกรมกลุ่ม Office ใช้งานเพื่อความบันเทิงไปด้วย รวมถึงทำคอนเทนต์วิดีโอส่วนตัว แนะนำให้มองเป็นตัวเลือกต้นๆ ได้เลย
ขอบคุณ: Huawei Thailand