6 เทคนิคปรับแต่ง Google Chrome เปิดประสบการณ์ท่องเน็ตที่ดีกว่า
ความจริงฟีเจอร์ Chrome Flags นั้นมีติดตัว Google Chrome มาตั้งแต่ต้นแล้วแต่หลายคนอาจยังไม่ทราบวิธีการเข้าไปปรับแต่งการใช้งาน ซึ่งการตั้งค่า Flags จะเป็นการตั้งค่าขั้นสูงที่ไม่มีอยู่ในเมนูตั้งค่าปกติ โดยฟีเจอร์ต่างๆ ใน Flags จะเน้นการปรับปรุงการทำงานให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้แต่ละคนมากที่สุด
ในบทความนี้เราจะมาแนะนำการตั้งค่า Chrome Flags 6 อย่างที่จะช่วยให้คุณใช้งาน Google Chrome ได้สนุกขึ้น ท่องเว็บเร็วขึ้น ใช้งานได้สะดวกสบายขึ้นในแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน
วิธีการเข้าถึงการตั้งค่า Flag
แค่พิมพ์คำว่า chrome://flags ในแอดเดรสบาร์แล้ว Enter จากนั้นให้ใช้ชอร์ทคัต [CTRL] + [F] เพื่อค้นหาคำสั่งต่างๆ ตามหัวข้อที่คุณต้องการค้นหาเพื่อความรวดเร็ว
1. Pull to Refresh บนพีซี (เดสก์ทอป)
ใครที่ใช้ Chrome บนสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์คงคุ้นกับการใช้นิ้วเลื่อนลงบนจอเพื่อทำการ Reload หน้าเว็บนั้นๆ ใหม่ ซึ่งฟีเจอร์นี้ก็สามารถนำมาใช้กับ Chrome บนเดสก์ทอปได้ด้วย โดยเวลาที่คุณอยู่ที่หน้าแรกสุด (บนสุด) ของหน้าเว็บ แค่หมุน Scroll Wheel ของเมาส์หรือลากนิ้วบนทัชแพด ‘ขึ้น’ ด้านบน หน้าเว็บก็จะทำการ Refresh ให้ไม่ต้องเลื่อนเมาส์ไปคลิกปุ่ม Refresh หรือขยับมือไป F5 ให้เมื่อย
วิธีเปิดใช้งาน > ใช้ชอร์ทคัต [CTRL] + [F] ค้นหา ‘Pull-to-refresh gesture’ เลือกออปชั่น ‘Enabled’
2. Zero-Copy Rasterization (เดสก์ทอป/แอนดรอยด์)
Rasterization คือกระบวนการที่ Chrome ให้จัดการข้อมูลของเว็บไซต์เพื่อประมวลผลเป็นพิกเซลมาแสดงบนหน้าจอ โดยจะทำการแบ่งข้อมูลบนหน้าเว็บออกเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมด้านเท่า (Tiles) เมื่อนำมาต่อเรียงกันก็จะเป็นหน้าเว็บทั้งหมดที่เรามองเห็น โดย Tiles ที่มีแอนิเมชั่นหรือมีการเปลี่ยนแปลงจะส่งข้อมูลไปยัง GPU เพื่อทำการประมวลผลซ้ำไปเรื่อยๆ ในขณะแสดงผล (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการ Rasterization ได้ที่ https://software.intel.com/en-us/articles/software-vs-gpu-rasterization-in-chromium)
ฟีเจอร์นี้จะช่วยลดภาระการประมวลผล Tiles โดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะการเปิดหน้าเว็บบนสมาร์ทโฟน ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดแบตเตอรี่ได้มากขึ้น
วิธีเปิดใช้งาน > ใช้ชอร์ทคัต [CTRL] + [F] ค้นหา ‘Zero-Copy Rasterization’ เลือกออปชั่น ‘Default’
3. Chrome Duet (แอนดรอยด์)
ถ้าคุณรู้สึกว่าการเอื้อมนิ้วไปแตะปุ่ม Home, Search, Tab ที่ด้านบนของจอทำให้ชีวิตลำบาก ฟีเจอร์นี้จะพาคุณไปพบกับ UI ลับที่มีชื่อว่า ‘Duet’ โดยเมื่อเปิดการทำงานแล้วปุ่มออปชั่น Home, Search, Tab รวมไป Share จะถูกย้ายตำแหน่งจากด้านบนลงมาด้านล่างให้คุณแตะได้สะดวกโดยไม่ต้องเอื้อมอีกต่อไป
วิธีเปิดใช้งาน > ใช้ชอร์ทคัต [CTRL] + [F] ค้นหา ‘Chrome Duet’ เลือกออปชั่น ‘Disable’ (หมายเหตุ: จากการทดสอบของเราพบว่าการเลือก ‘Disabled’ จะเป็นการเปิด แต่หากเลือก ‘Enabled’ จะเป็นการปิด ถ้าตั้งค่าแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยน ให้ลองเลือกสลับดูจนกว่าเมนูจะถูกย้ายลงมา)
4. Parallel Downloading (เดสก์ทอป/แอนดรอยด์)
ฟีเจอร์นี้มีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ต้องดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่บ่อยๆ โดย Chrome จะทำการแบ่งไฟล์ที่ต้องการดาวน์โหลดออกเป็น 3 ส่วนแล้วดาวน์โหลดพร้อมกัน (กระบวนการจะเป็นไปโดยอัตโนมัติอยู่เบื้องหลัง) ทำให้สามารถดาวน์โหลดได้เสร็จไวกว่าปกติ
วิธีเปิดใช้งาน > ใช้ชอร์ทคัต [CTRL] + [F] ค้นหา ‘Parallel downloading’ เลือกออปชั่น ‘Enable’
5. Smooth Scrolling
ฟังก์ชั่นนี้จะทำให้การเลื่อนหน้าจอขึ้นลง ไม่ว่าจะด้วยวิธี Scroll เมาส์หรือกดปุ่มลูกศรบนคีย์บอร์ด เป็นไปอย่างนุ่มนวล ดูไม่ตะกุกตะกัก เหมาะสำหรับใครที่ชอบอ่านไปเลื่อนไปเพราะช่วยให้ปวดตาน้อยลง แต่ด้วยการเลื่อนที่ดูนุ่มนวล บางครั้งอาจจะกลายเป็นเชื่องช้าเกินไปสำหรับนักอ่านแบบสกิมที่ชอบอ่านเร็วๆ (อ่านข้ามๆ เพื่อจับใจความ) จะใช้หรือไม่ใช้ก็ลองพิจารณาใช้งานตามรูปแบบการใช้งานดูครับ
วิธีเปิดใช้งาน > ใช้ชอร์ทคัต [CTRL] + [F] เพื่อค้นหารายการ ‘Smooth Scrolling’ แล้วเลือก ‘Enable’
6. Experimental QUIC protocol
QUIC เป็นโพรโตคอลการเชื่อมต่อแบบใหม่ล่าสุดที่พัฒนาโดย Google โดย QUIC จะเอาจุดเด่นของการเชื่อมต่อแบบ TCP และ UDP มารวมเข้าด้วยกันทำให้มันมีความเร็วและปลอดภัยในเวลาเดียวกัน ซึ่งโดยปกติแล้วโพรโตคอล TCP หรือ UDP ที่เราใช้ในปัจจุบันจะส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์หลายเที่ยวเพื่อสร้างการเชื่อมต่อที่เสถียรและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูล ในขณะที่ QUIC จะส่งข้อมูลไปหาเซิร์ฟเวอร์ครั้งเดียวเพื่อสร้างการเชื่อมต่อและพร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลทันที ส่งผลทำให้การท่องเว็บและการโหลดข้อมูลทำได้รวดเร็วขึ้น
วิธีเปิดใช้งาน > ใช้ชอร์ทคัต [CTRL] + [F] เพื่อค้นหารายการ ‘Experimental QUIC protocol’ แล้วเลือก ‘Enable’
สรุปและความเห็นของเรา
Chrome Flags ที่นำมาฝากในวันนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งในจำนวนมากมายที่คุณสามารถทดลองได้ แต่เราขอแนะนำว่าถ้าไม่แน่ใจว่าฟังก์ชั่นนั้นๆ คืออะไรก็อย่าเพิ่งไปยุ่งจะดีกว่าเพราะอาจจะทำให้มีปัญหาที่ส่งผลต่อการท่องเว็บและการสูญเสียข้อมูลโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ แค่ 6 คำแนะนำข้างต้น ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ประสบการณ์ท่องเว็บด้วย Chrome เปลี่ยนไป (ในทางที่ดีขึ้น)