รวมเทคนิคแชร์หน้าจอ Windows 10 ไม่ต้องลงแอพเพิ่ม

เราอาจจะต้อง Work from Home แบบนี้ไปอีกซักระยะ ในขณะที่หลายคนอาจกำลังอึดอัดกับการปรึกษาพูดคุยเรื่องข้อมูลบนหน้าจอที่บางครั้งอยากจะแบ่งบันให้เพื่อนเห็น ต่อไปนี้คือ 4 วิธีแชร์หน้าจอทั้งแบบภาพนิ่ง และวิดีโอ ด้วยแอพที่มีอยู่แล้วใน Windows 10 โดยไม่ต้องโหลดแอพนอกมาติดตั้งเพิ่ม

บางครั้งการแชร์หน้าจอยังมีประโยชน์มากในกรณีของการขอความช่วยเหลือทางเทคนิคเมื่อเกิดปัญหา เพราะผู้ให้ความช่วยเหลือ (เพื่อน/แอดมิน) จะสามารถมองเห็นปัญหาและแก้ไขได้เร็วกว่าการพูดอธิบายหลายสิบเท่า ไปดูกันครับว่าเราจะสามารถแชร์หน้าจอของเราได้ง่ายๆ อย่างไรบ้าง

[1] จับภาพหน้าจอด้วย Print Screen
วิธีการพื้นฐานดั้งเดิมแต่ก็ยังคงเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุดในการแชร์ภาพหน้าจอ ย้อนอดีตกลับไปสมัยที่ระบบปฏิบัติการยังเป็นรูปแบบคอมมานด์ไลน์ (เช่น MS-DOS) การกดปุ่ม Print Screen [PrtSc] บนคีย์บอร์ดจะเป็นการส่งตัวอักษร (Text) บนจอภาพไปยังเครื่องพิมพ์ แต่ปัจจุบันปุ่ม Print Screen จะทำหน้าที่ในการจับภาพหน้าจอที่ปรากฏในปัจจุบันไปเก็บไว้ใน Clipboard ซึ่งคุณสามารถนำไปวาง (Paste) ในโปรแกรมต่างๆ ได้ เช่น Paint ด้วยปุ่ม [Ctrl]+[V] แล้วค่อยบันทึกเป็นไฟล์เพื่อนำไปส่งหรือใช้งานต่อ หรือจะนำไปวางในไฟล์ Word, แอพ Skype โดยตรงก็ได้

เทคนิคเพิ่มเติม
[Alt] + [Print Screen] จับภาพหน้าจอเฉพาะหน้าต่างที่กำลังทำงาน (Active) อยู่
[Win] + [Print Screen] จับภาพทั้งหน้าจอและเซฟเป็นไฟล์รูปภาพไว้ในโฟลเดอร์ Screenshots (อยู่ในโฟลเดอร์ Pictures อีกที) โดยอัตโนมัติ

 

 

[2] จับภาพหน้าจอด้วย Snip & Sketch
แอพ Snip & Sketch เป็นแอพที่มาแทนแอพ Snipping Tool ซึ่งแน่นอนว่าใช้งานได้สะดวกกว่าเดิม เพราะสามารถใช้จับภาพหน้าจอพร้อมด้วยเครื่องมืออำนวยความสะดวกเพิ่มเติม เช่น ปากกาลูกลื่น/ดินสอ สำหรับเขียนหรือทำเครื่องหมายเพิ่มเติม, ไฮไลท์ สำหรับเน้นข้อความ, ยางลบ, ไม้บรรทัด/ไม้โปรเทคเตอร์ สำหรับวัดระยะวัดมุมองศา และเครื่องมือการครอปภาพ สำหรับการตัดส่วนเกินของภาพออกได้ทันทีโดยไม่ต้องเปิดโปรแกรมแต่งภาพอื่นๆ ให้เสียเวลา แน่นอนว่าคุณสามารถเลือกได้ว่าจะจับภาพทั้งหน้าจอ เฉพาะหน้าต่าง หรือแบบอิสระ รวมไปถึงการกำหนด Delay หน่วงเวลาสำหรับการจับภาพที่ต้องคลิกต้องเปิดเมนูต่างๆ ก่อนได้ด้วย

วิธีใช้งาน Snip & Sketch
1. เรียกแอพ Snip & Sketch โดยกดคีย์ [Win]+[Shift]+[S]

2. เลือกรูปแบบการจับภาพจากแถบเครื่องมือด้านบนของแอพ

 

 

[3] จับภาพหน้าจอ พร้อมบันทึกขั้นตอนด้วย Steps Recorder

แอพ Steps Recorder นั้นถูกออกแบบมาเพื่อการใช้ตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของระบบ โดยจะทำการบันทึกขั้นตอนแบบ Step-by-Step ไม่ว่าจะเป็นการคลิกเมาส์ การกดคีย์บอร์ดชอร์ตคัท พร้อมทั้งยังจับภาพหน้าจอและโน้ตข้อความรายละเอียดไว้ให้ครบจบในครั้งเดียว

คุณสามารถประโยชน์จาก Steps Recorder ในการแชร์หน้าจอขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา ในทางกลับกัน ก็สามารถใช้มันเพื่อบันทึกขั้นตอนสอนการใช้งาน หรือทำเป็นคู่มือการใช้งานแอพหรือโปรแกรมต่างๆ ได้อีกด้วย โดยไฟล์ที่บันทึกเสร็จจะอยู่ในรูปแบบของ MHTML ที่สามารถเปิดดูได้จากเว็บบราวเซอร์ทั่วไป

วิธีใช้งาน Steps Recorder
1. เรียกแอพ Steps Recorder โดยพิมพ์ ‘Steps Recorder’ ในช่อง Search

2. ที่หน้าต่างแอพ คลิกปุ่ม ‘Start Record’ จากนั้นแอพจะเริ่มบันทึกขั้นตอนและคำสั่งต่างๆ ตามที่คุณคลิกหรือกดชอร์ตคัทคีย์ (แอพจะไม่บันทึกรหัสผ่านใดๆ รวมไปถึงข้อความที่พิมพ์โดยคีย์บอร์ด)

3. เมื่อสิ้นสุดขั้นตอนที่ต้องการบันทึกแล้ว คลิกปุ่ม ‘Stop Record’ แอพจะแสดงข้อมูลที่บันทึกไว้เป็นขั้นตอน Step-by-Step พร้อมคำอธิบายและภาพหน้าจอ ซึ่งคุณสามารถเลื่อนดูผลลัพธ์ได้ทันที

4. ถ้าขั้นตอนถูกต้องตามที่ต้องการแล้ว คลิกปุ่ม ‘Save’ เพื่อบันทึกขั้นตอนเก็บไว้เป็นไฟล์เพื่อส่งต่อหรือนำไปใช้งานตามต้องการ (ไฟล์จะถูกเซฟอยู่ในไฟล์ .ZIP อีกชั้น)  

 

 

[4] แชร์หน้าจอขอความช่วยเหลือแบบรีโมทด้วย Quick Assist
หนึ่งในวิธีการขอความช่วยเหลือและการให้ความช่วยเหลือสำหรับวงการแอดมินก็คือการรีโมท เข้าไปควบคุมเครื่องผู้ใช้งานจากระยะไกลผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้โปรแกรม TeamViewer แต่จริงๆ แล้วใน Windows 10 จะมีซอฟต์แวร์อำนวยความสะดวกสำหรับการแชร์และรีโมทมาให้ใช้ฟรีอยู่แล้วคือ ‘Quick Assist’ ที่สามารถใช้งานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพไม่แพ้กัน

วิธีใช้งาน Quick Assist แชร์หน้าจอ-ขอความช่วยเหลือ
1. เรียกแอพ Quick Assist โดยพิมพ์ ‘Quick Assist’ ในช่อง Search

2. เมื่อเปิดแอพขึ้นมาจะมี 2 ออปชั่นให้เลือกคือ ‘Get Assistance’ สำหรับการอนุญาตให้แอดมิน/เพื่อนรีโมทเข้ามาควบคุมคอมพิวเตอร์ของเรา ส่วน ‘Give Assistance’ จะเป็นฝั่งของผู้ให้ความช่วยเหลือ รีโมทไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นที่มีปัญหา

3. กรณีขอความช่วยเหลือ ให้คลิก ‘Get Assistance’ แล้วรอให้แอดมิน/เพื่อนส่งรหัสตัวเลข 6 ตัวมาให้ แล้วนำไปกรอกลงในช่อง ‘Code from assistant’ แล้วคลิกปุ่ม ‘Share screen’ (ฝั่งผู้ให้ความช่วยเหลือ คลิกเลือก ‘Give Assistant’ แล้วล็อกอินด้วยแอคเคาตน์ของไมโครซอฟท์ จากนั้นจะได้รหัส Security code เป็นตัวเลข 6 ตัว)

4. ฝั่งผู้ให้ความช่วยเหลือ จะมี 2 ออปชั่นให้เลือกคือ ‘Take full control’ คือสามารถรีโมทควบคุมเครื่องอีกฝั่งด้วยเมาส์และคีย์บอร์ดได้ และ ‘View screen’ จะเป็นการดูหน้าจอให้ผู้ช่วยเหลือมองเห็นแต่จะไม่สามารถใช้เมาส์หรือคีย์บอร์ดควบคุมเครื่องอีกฝั่งได้

5. เมื่อการเชื่อมต่อสมบูรณ์แล้ว หน้าจอฝั่งของผู้ขอความช่วยเหลือจะมีกรอบสีเหลืองส้มล้อมรอบ เพื่อบอกสถานะว่ากำลังมีการรีโมทจากอีกฝั่งอยู่ ส่วนในฝั่งของผู้ควบคุมจะมีเครื่องมือให้เลือกใช้งาน เช่น การเรียกดู Task Manager การเขียนโน้ต ฯลฯ ซึ่งหลังจากเสร็จภารกิจแล้วสามารถคลิกปุ่ม 'End' เพื่อตัดการเชื่อมต่อ

หลังเสร็จสิ้นภารกิจการช่วยเหลือ หรือแก้ไขปัญหาได้เรียบร้อยแล้ว อย่าลืมกล่าวขอบคุณแอดมิน/เพื่อนของคุณด้วย