แคสเปอร์สกี้จับตา 'การโจมตีทางการเงินยุคใหม่' ในเอเชียแปซิฟิก
การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล และได้ช่วยส่งเสริมภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีแก่หลายพันล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่มีการระบาดครั้งใหญ่ โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) เป็นภูมิภาคที่สร้างรายได้จากการชำระเงินดิจิทัลมากที่สุดของโลก นักวิเคราะห์คาดว่าภูมิภาคนี้จะมีตัวเลขรายได้เกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2022 หรือ 2023 นี้
การนำการชำระเงินดิจิทัลมาใช้อย่างรวดเร็วและแพร่หลาย ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศธุรกิจที่มีพลังและความคิดสร้างสรรค์นี้เร่งลงทุนและขยายรุกตลาดต่างๆ โดยตั้งเป้าการก้าวขึ้นครองตลาดจากการคลิกของผู้ใช้ในแต่ละครั้ง
แคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) บริษัทความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก ได้จัดการประชุมออนไลน์สำหรับสื่อมวลชนในหัวข้อ “Marking the money movement in APAC” เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องผู้ใช้การชำระเงินดิจิทัลในภูมิภาคและผลกระทบด้านความปลอดภัยของแนวโน้มนี้
ในการประชุมนี้ นักวิจัยชั้นนำของแคสเปอร์สกี้พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญในวงการนำเสนอการสำรวจการใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น และเจาะลึกถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นพร้อมกระแสการใช้เงินรูปแบบดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารของแคสเปอร์สกี้เข้าร่วมการประชุมพร้อมกับสื่อมวลชนจาก 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย
นายคริส คอนเนลล์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “ความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่องการชำระเงินดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกรรมทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ธุรกิจต่างๆ ในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานให้เป็นดิจิทัล เพื่อรับรายได้เพิ่มเติมผ่านการชำระเงินดิจิทัล ผู้บริโภคเองก็พึ่งพาการชำระเงินดิจิทัลนี้อย่างมากเพราะง่ายและสะดวก ชัดเจนว่าความต้องการประสบการณ์การชำระเงินที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนต่ำ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และเราเห็นว่านวัตกรรมนั้นได้เกิดขึ้นพร้อมกับการมาของการชำระเงินแบบเรียลไทม์”
เมื่อกล่าวเน้นเรื่อง “การโจมตีทางการเงินยุคใหม่” นายวิทาลี คัมลัก หนึ่งในสุดยอดนักวิจัยของแคสเปอร์สกี้ ได้อธิบายถึงลักษณะการโจมตีทางการเงินแบบกำหนดเป้าหมายในปัจจุบัน ใครเป็นเป้าหมายหลัก และขนาดของการโจรกรรมนั้นมีขนาดใหญ่เพียงใด โดยวิทาลีกล่าวถึงการปล้นธนาคารกลางบังคลาเทศอันโด่งดังซึ่งเป็นผลงานของกลุ่ม APT ชื่อ บลูโนรอฟฟ์ (BlueNoroff) โดยเชื่อว่ากลุ่มนี้เป็นแผนกย่อยด้านการเงินของกลุ่มลาซารัส (Lazarus) ที่ดำเนินการจารกรรมทางไซเบอร์แบบดั้งเดิม นอกจากนี้วิทาลียังขยายความถึงวิวัฒนาการของกลุ่มบลูโนรอฟฟ์ตั้งแต่การปล้นธนาคารครั้งใหญ่ และการมุ่งเน้นไปที่มูลค่าของสกุลเงินคริปโตที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
นายวิทาลี คัมลัก ผู้อำนวยการทีมวิเคราะห์และวิจัยของแคสเปอร์สกี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “แม้จะผ่านมาหลายปีหลังจากเหตุการณ์ปล้นธนาคารกลางบังคลาเทศ ปัจจุบันทั้ง SWIFT ธนาคารพาณิชย์ และอุตสาหกรรมการเงินอื่นๆ ก็ได้ติดตามกลุ่มบลูโนรอฟฟ์และการขโมยเงินจากธนาคารทั่วโลกที่มีการป้องกันน้อยกว่าอย่างระแวดระวัง การถูกจัดตามองเป็นเวลานานทำให้กลุ่มบลูโนรอฟฟ์ประสบความสำเร็จน้อยลงเรื่อยๆ และต้องใช้ความพยายามเพิ่มเติมอย่างมากในการฟอกเงินและปกปิดร่องรอย กลุ่มบลูโนรอฟฟ์จึงเริ่มหันมาสนใจเงินคริปโตที่มีราคาพุ่งขึ้นสูง”