Cyberbullying – แคสเปอร์สกี้แนะการป้องกันสำหรับเด็กและผู้ปกครอง
เดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนที่มีการพูดถึงการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น วันต่อต้านความรุนแรงและการกลั่นแกล้งสากล (International Day Against Violence and Bullying) การทุ่มเทยาวนานหนึ่งสัปดาห์เกี่ยวกับปัญหานี้ในสหราชอาณาจักร และประเทศต่างๆ ที่รวมพลังกันต่อต้านการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต
ผู้เชี่ยวชาญของแคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) บริษัทระดับโลกด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้รวบรวมเคล็ดลับมากมายสำหรับผู้ปกครองและเด็กๆ ว่าควรทำอย่างไรหากถูกรังแก และวิธีป้องกันตัวเอง
สิ่งที่เด็กๆ สามารถทำได้เพื่อป้องกันตนเองจากการกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต มีดังต่อไปนี้
· ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
พ่อแม่ต่างสอนลูกไม่ให้คุยกับคนแปลกหน้า เหตุใดเราจึงไม่ใช้กฎเดียวกันสำหรับพื้นที่ออนไลน์ เราอาจไม่สามารถปกป้องตัวเองจากเพื่อนบ้านอันธพาลคนเดิมได้ แต่เราสามารถปกป้องตัวเองได้ที่บัญชีส่วนตัวผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก อ่านคำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งค่านี้ใน Facebook, Instagram, Twitter, Twitch, Reddit
· ไม่ต้องตอบโต้
การโต้ตอบด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสมมีแต่จะทำให้สถานการณ์บานปลาย การพยายามให้เหตุผลกับคนพาลโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้ใหญ่ก็ไม่คุ้มค่าเช่นกัน การเพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านี้เป็นวิธีเดียวที่จะปกป้องตัวเองจากความไม่เข้าใจ การดูถูก และอื่นๆ
· บล็อกผู้รุกราน แจ้งผู้ดูแล
เว็บไซต์จำนวนมากและเครือข่ายโซเชียลทั้งหมดสามารถเพิ่มผู้ใช้ในบัญชีดำ / บัญชีบล็อกได้ ติดต่อผู้ดูแลระบบของเว็บไซต์เพื่อขอบล็อกผู้ที่กลั่นแกล้ง อ่านคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีดำเนินการใน Facebook, Instagram, Twitter, Twitch, Reddit
· ถ่ายภาพหน้าจอ
หากคุณต้องการติดต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หลักฐานภาพถ่ายหน้าจอจะมีประโยชน์มาก คุณยังสามารถปรึกษาปัญหานี้กับผู้ปกครองของผู้กระทำความผิด หรืออธิบายให้ทราบเป็นการส่วนตัวถึงผลที่ตามมา
· ลบหรือปิดใช้งานบัญชีส่วนบุคคลชั่วคราว
การออกจากโซเชียลมีเดียบ้างจะช่วยให้รู้สึกโล่งขึ้นและโฟกัสที่ตัวเองได้ ยิ่งกว่านั้น ผู้รังแกจะเห็นว่าผู้ใช้ไม่ตอบสนองและอาจเลิกสนใจในผู้ที่อาจเป็นเหยื่อได้ เพราะไม่มีการโต้ตอบใดๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคืออย่าโทษตัวเองเพราะสถานการณ์นี้
เคล็ดลับสำหรับผู้ปกครอง มีดังนี้
· การสนับสนุนและความไว้วางใจเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
หากเด็กๆ ต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือได้ แต่ในขณะเดียวกัน จากผลสำรวจต่างๆ (1, 2) ก็พบว่าปกติแล้วเด็กจะไม่เล่าปัญหาดังกล่าวให้พ่อแม่ฟัง อย่างไรก็ตาม พ่อแม่สามารถสังเกตสัญญาณที่เป็นไปได้ หากลูกถูกรังแก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจเป็นปัญหาเกี่ยวกับการนอนหรือการกิน การร้องไห้หรือความเศร้าร่วมกับความหงุดหงิดอหรือหลีกเลี่ยงการไปโรงเรียน ถอนตัวจากกิจกรรมสนุก ๆ ที่เคยชอบ
· การห้ามไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา
การห้ามใช้โซเชียลมีเดียหรืออินเทอร์เน็ตไม่ใช่ทางออกที่สมบูรณ์แบบสำหรับปัญหาการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต ขั้นตอนดังกล่าวอาจทำให้ความสัมพันธ์กับเด็กซับซ้อนขึ้นเนื่องจากเด็กจะหลบเลี่ยง ถอนตัว และติดต่อกันน้อยลง การช่วยให้เด็กมีทัศนคติเชิงวิพากษ์ต่อสถานการณ์อาจมีประสิทธิภาพมากกว่า เพื่อ “ตัดการเชื่อมต่อ” จากข้อความของผู้รังแกจากบุคลิกภาพของเด็ก นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยังช่วยให้เด็กๆ เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประสบการณ์ที่จะช่วยสร้างทักษะในการต่อต้านการรุกรานและการชักใยในโลกไซเบอร์
· ติดต่อกับเด็กๆ ทางออนไลน์
อีกหนึ่งทางเลือกที่ดีคือการติดต่อกับลูกๆ บนโซเชียลเน็ตเวิร์กและโปรแกรมส่งข้อความโต้ตอบแบบทันที สามารถช่วยในการตรวจสอบโพสต์ของเด็กและเข้าใจสภาพของเด็กๆ ได้ดียิ่งขึ้น
· อย่าเพิกเฉยต่อความช่วยเหลือทางดิจิทัล
เทคโนโลยีในปัจจุบันมาพร้อมกับฟีเจอร์การควบคุมโดยผู้ปกครองเพื่อช่วยปกป้องเด็กๆ จากเนื้อหาออนไลน์ที่เป็นอันตรายหรือไม่เหมาะสม ผู้ปกครองยังสามารถใช้ประโยชน์จากแอปของบุคคลที่สามซึ่งให้การปกป้องจากเนื้อหาที่เป็นอันตราย รวมทั้งช่วยให้สามารถตั้งเวลาอยู่หน้าจอ ตรวจสอบกิจกรรมออนไลน์ของเด็กๆ หรือติดตามตำแหน่งด้วย GPS ได้อีกด้วย
นายแอนเดรย์ ซิเดนโก หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เนื้อหาเว็บไซต์ แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและร้ายแรงมาก แต่ค่อนข้างเป็นไปได้ที่จะจัดการ การศึกษาแสดงให้เห็นว่าเด็กมักไม่บอกผู้ใหญ่ว่าตนถูกกลั่นแกล้ง การสร้างความสัมพันธ์ที่ไว้เนื้อเชื่อใจกับเด็กจะช่วยให้ผู้ปกครองตระหนักได้หากลูกเผชิญกับการรังแก”
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติสำหรับเด็กและผู้ปกครองเพื่อรับมือกับการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต ได้ที่ https://www.kaspersky.com/blog/?s=bullying