ส่องผลงานเปลี่ยนโลก ผู้ชนะระดับนานาชาติรางวัล James Dyson Award 2022

  • SmartHEAL แผ่นปิดแผลอัจฉริยะ ผลงานของทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ที่สามารถตรวจสอบสภาวะของแผลใต้แผ่นปิดได้จากระดับ pH
  • Polyformer เครื่องรีไซเคิลขวดพลาสติกให้กลายเป็นวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติ ผลงานของทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา
  • Ivvy เครื่องให้น้ำเกลือแบบพกพาที่จะมาแทนที่เสาน้ำเกลือแบบเก่า เสริมความคล่องตัวให้ผู้ป่วย ผลงานของ Charlotte Blancke จากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม

รางวัล James Dyson Award ได้มอบเงินรางวัลแก่ผลงานและนวัตกรรมจากวิศวกรและนักประดิษฐ์รุ่นใหม่จากทั่วโลกไปแล้วมูลค่ากว่า 1 ล้านปอนด์ โดยในปีนี้ Sir James Dyson ได้ทำการคัดเลือก 2 ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับนานาชาติที่ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 ปอนด์ และรางวัลรองชนะเลิศที่ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 5,000 ปอนด์เพื่อเป็นต้นทุนในการต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ในอนาคต

โดยจากผลงานอันน่าทึ่งของเยาวชนจากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย Sir James Dyson ได้กล่าวว่า “ทุก ๆ ปี การประกวด James Dyson Award ทำให้เราเห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าคนรุ่นใหม่นั้นมีความต้องการที่จะพัฒนาโลกของเราและแก้ไขปัญหาทั้งในมิติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและด้านการแพทย์ คนส่วนหนึ่งเลือกที่จะมองดูปัญหาในขณะที่นักประดิษฐ์รุ่นใหม่เหล่านี้ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แบบจับต้องได้ ด้วยการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์ที่แก้ปัญหา โดยใช้ศาสตร์ของวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการออกแบบอันชาญฉลาด”

 

สิ่งประดิษฐ์ผู้ชนะรางวัล James Dyson Award 2022

รางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ – SmartHEAL ผลงานโดย Tomasz Raczynski, Dominik Baraniecki, และ Piotr Walter

ปัญหาที่ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวอร์ซอทีมนี้พบ คือแผลที่ถูกปิดด้วยแผ่นปิดแผลนั้นยากต่อการตรวจสอบ และการเปลี่ยนแผ่นปิดแผลบ่อย ๆ ก็อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้หลายประการ ทั้งการติดเชื้อและการระคายเคืองของเนื้อเยื่อบริเวณแผล

วิธีการตรวจสอบสภาพแผลใต้แผ่นปิดแผลในปัจจุบันนั้นทำได้เพียงสังเกตสี กลิ่น หรืออุณหภูมิ หรือการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่มีค่าใช้จ่ายสูง การรักษาแผลแบบละเลยนั้นไม่เพียงแต่สามารถทำให้เกิดการอักเสบเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้เนื้อเยื่อบริเวณแผลตายได้ด้วย ซึ่งในบางกรณีสามารถนำไปสู่การบาดเจ็บที่ร้ายแรงและเสียชีวิตได้

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการคาดการณ์ว่าประชากรผู้สูงอายุที่อายุ 60 ขึ้นไปจะมีอัตราส่วนมากขึ้นจาก 9.8% เป็น 20.3% ภายในปี 2050 ซึ่งประชากรเหล่านี้คือผู้ประสบปัญหาด้านสุขภาพอันหลากหลาย หนึ่งในนั้นคืออาการแผลฟื้นตัวช้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่บ่งชี้ว่า SmartHEAL เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จะมีความสำคัญมากในอนาคต

โซลูชันของปัญหาเกี่ยวกับแผล

SmartHEAL เซนเซอร์ติดแผ่นปิดแผลอัจฉริยะที่มีความแม่นยำและราคาถูก ด้วยการใช้การระบุเอกลักษณ์ด้วยคลื่นวิทยุ (RFID) ทำให้สามารถตรวจสอบสภาพแผลสถานะการติดเชื้อของแผลได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแผ่นปิดแผล ซึ่งทำให้สามารถลดการทำให้เนื้อเยื่อแผลระคายเคือง แพทย์จะสามารถตรวจสภาพแผลได้ง่ายขึ้นจากข้อมูลที่ได้ แผ่นปิดแผลอัจฉริยะนี้ทำให้เกิดและรักษาไว้ซึ่งสภาวะที่สมดุลที่ดีต่อการฟื้นตัวของแผล

“ผมเชื่อว่าเรารู้สึกวิตกกังวลเหมือนกันหมดตอนที่เปิดแผ่นปิดแผลเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างภายใต้นั้น สิ่งที่ทำให้ SmartHEAL ได้รับรางวัลชนะเลิศนั่นก็เพราะว่านวัตกรรมนี้ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ นั่นก็คือค่า pH ที่สามารถบอกได้ว่าแผลนั้นกำลังฟื้นตัวอย่างไร ทำให้การรักษาง่ายขึ้น ลดการติดเชื้อ และสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ในท้ายที่สุด เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลนี้จะมอบแรงผลักดันให้แก่ทีมนักประดิษฐ์ ในหนทางของการพัฒนาไปสู่การพาณิชย์ที่ท้าทายในอนาคต” Sir James Dyson ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าวิศวกร Dyson กล่าว

ก้าวต่อไปของ SmartHEAL

ทีมกำลังเร่งขั้นตอนการทดลองและเริ่มการทดสอบกับผู้ใช้จริง โดยตั้งเป้าที่จะขอใบรับรองให้สำเร็จภายในระยะเวลา 3 ปีและจะผลิตและวางจำหน่าย SmartHEAL ภายในปี 2025

โดยทีมนักประดิษฐ์ได้กล่าวว่า “เราตื่นเต้นมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับนานาชาติปีนี้ ถือเป็นโอกาสที่เราจะได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเราหวังว่ามันจะช่วยเปลี่ยนโลกได้ เราจะพัฒนาผลงานของเราขึ้นไปอีกและผ่านขั้นตอนการทดสอบที่จำเป็นในการวางจำหน่าย SmartHEAL ในอนาคต เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้พูดคุยกับเซอร์เจมส์ ไดสัน จนถึงตอนนี้ คำว่า ‘ยินดีด้วย คุณคือผู้ชนะรางวัล James Dyson Award’ ยังดังอยู่ในหัวเราอยู่เลย เราแทบจะไม่เชื่อว่าเราได้ชนะแล้วจริง ๆ พวกเราดีใจมาก ๆ”

ข้อเท็จจริงและสถิติ

  • มีการประมาณการณ์ว่าประชากรในประเทศพัฒนาแล้วจำนวน 1 ถึง 2 เปอร์เซ็นจะประสบกับอาการแผลเรื้อรัง
  • การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยอย่างรวดเร็วจะส่งผลให้มีประชากรที่มีอาการแผลเรื้อรังมากขึ้น เนื่องจากอายุที่มากขึ้นส่งผลให้การสมานแผลลดลง

 

รางวัลชนะเลิศด้านความยั่งยืนระดับนานาชาติ – Polyformer ผลงานโดย Swaleh Owais และ Reiten Cheng

ปัญหที่ Swaleh และ Reitan ประสบคือการขาดแคลนวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติในประเทศรวันดา และราคาที่สูงเนื่องจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และการขาดแคลนระบบรีไซเคิลขวดพลาสติกในประเทศรวันดาอีกด้วย

โซลูชันของปัญหาเรื่องวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติ

Polyformer คืออุปกรณ์ที่เปลี่ยนขวดพลาสติกเป็นวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติราคาเข้าถึงได้ โดยจะทำการตัดขวดพลาสติกให้กลายเป็นเส้นยาวสำหรับใส่ในเครื่องพิมพ์สามมิติ

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มุ่งพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติที่ต้องนำเข้านั้นมีราคาสูง แต่ด้วย Polyformer จะทำให้นักออกแบบสามารถเข้าถึงวัสดุราคาถูกที่มีคุณภาพ และยังส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิลอีกด้วย

การเปลี่ยนขวดพลาสติกให้เป็นวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติทำให้สามารถลดปริมาณขยะลงได้ และยังสามารถเพิ่มวัสดุให้นักออกแบบและวิศวกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดแคลน ไอเดียนี้จะขยายโอกาสสำหรับนักประดิษฐ์ในการพัฒนาตัวต้นแบบด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ” Sir James Dyson ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าวิศวกร Dyson กล่าว

ก้าวต่อไปของ Polyformer

ขณะนี้ Swaleh และ Reiten กำลังสร้าง Polyformer เครื่องใหม่ใน makerspace ที่ประเทศรวันดารวมถึงออกแบบเครื่องมืออื่น ๆ ภายใต้โปรเจกต์ Polyformer ได้แก่ Polyjoiner, Polydryer, และ Polyspooler

Swaleh และ Reitan กล่าวเพิ่มเติมว่า “ถือเป็นเกียรติของพวกเราอย่างมากที่ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนจาก James Dyson Award เราจะใช้เงินรางวัลที่ได้ในการสร้างเครื่อง Polyformer ใน makerspace ที่ประเทศรวันดา ซึ่งจะทำให้นักเรียน และนักออกแบบท้องถิ่นสามารถเข้าถึงวัสดุสำหรับการพิมพ์สามมิติที่มีราคาถูก ซึ่งหมายความว่าจะสามารถใช้เครื่องพิมพ์สามมิติได้บ่อยขึ้น หากคุณต้องการสร้างเครื่อง Polyformer ของคุณเองสามารถดูวิธีการได้ที่ช่อง Discord ของเรา https://discord.gg/77esvRwu

ข้อเท็จจริงและสถิติ

  • ตลาดการพิมพ์สามมิติทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 13,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 และคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 20.8% ระหว่างปี 2022 จนไปถึง 2030
  • ปัจจัยหลักที่ส่งเสริมการรีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนาคือการเข้าถึงบริการรีไซเคิลที่สะดวกรวดเร็ว
  • คนที่สามารถเข้าถึงบริการรีไซเคิลได้มีแนวโน้มอยู่ที่ 25% ในการจะรีไซเคิล

 

รางวัลรองชนะเลิศระดับนานาชาติ – Ivvy ผลงานโดย Charlotte Blancke

ปัญหาที่ทำให้ Charlotte ริเริ่ม Ivvy มาจากเรื่องราวความยากลำบากในการใช้เสาน้ำเกลือของลูกเพื่อนแม่ โดยเพื่อนของแม่เธอได้กล่าวว่าเธอเปลี่ยนจากเสาน้ำเกลือมาใช้ที่แขวนเสื้อโค้ทแทนเพื่อความสบายของลูก

ในการศึกษาค้นคว้า Charlotte พบว่าการรักษาตัวที่บ้านมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น แต่อุปกรณ์ที่ใช้ยังคงเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในโรงพยาบาลถึงแม้สภาพแวดล้อมของการรักษาตัวที่บ้านจะแตกต่างจากการรักษาที่โรงพยาบาลโดยสิ้นเชิง

โซลูชันของปัญหาเกี่ยวกับเสาน้ำเกลือ

Ivvy จะมาแทนเสาน้ำเกลือ ด้วยการเป็นเครื่องสวมใส่ที่จะทำให้ผู้ใช้มีความคล่องตัวสูงสุด และตัว Infusion Pump ที่ใช้งานง่ายและซอฟต์แวร์ภายในตัวที่ทำให้สามารถติดต่อกับพยาบาลได้แบบไร้สาย

ในปัจจุบันตัว Infusion Pump มีหน้าตาที่ซับซ้อนและใช้งานยาก Charlotte จึงพัฒนาอินเทอร์เฟซให้ใช้งานง่ายขึ้น โดยพยาบาลจะสามารถติดตั้งเครื่องที่บ้านได้ง่ายและคนไข้สามารถติดตามการรักษาได้ผ่านหน้าจอ LED และเสียงแจ้งเตือน

“การใช้เสาน้ำเกลือแบบโบราณที่บ้านอาจทำให้รู้สึกเหมือนยังอยู่ที่โรงพยาบาล Ivvy นำเสนอคอนเซปต์ที่ง่ายแต่สามารถพัฒนาการรักษาของคนและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ สิ่งนี้ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่าการออกแบบที่เรียบง่ายแต่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ผมหวังว่า Charlotte จะประสบความสำเร็จในการพัฒนา Ivvy ในเชิงพาณิชย์” Sir James Dyson ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าวิศวกร Dyson กล่าว

ก้าวต่อไปของ Ivvy

Charlotte ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์เพื่อพัฒนา Ivvy ให้ดีขึ้นไปอีก

ข้อเท็จจริงและสถิติ

  • เสาน้ำเกลือในปัจจุบันมีราคาสูงและดีไซน์ที่ใช้ยาก ไม่มีระบบสื่อสารแบบไร้สายระหว่างเสาน้ำเกลือและบุคลากรทางการแพทย์
  • ดีไซน์ของเสาน้ำเกลือที่มีอยู่ตามท้องตลาดมีความเสี่ยงที่จะล้ม เนื่องจากมีความสูงมากและขนาดฐานที่แคบ