Bluetooth หลบไป! กูเกิลปรับปรุง Wi-Fi ที่ดีกว่ามาให้ใช้แทน
Google เพิ่งเปิดตัวแอพพลิเคชั่นใหม่สำหรับอุปกรณ์แอนดรอยด์ที่จะช่วยให้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตสามารถเชื่อมต่อกันได้ในระยะทางที่ไกลกว่าบลูทูธ และยังสามารถส่งข้อความ ถ่ายโอนข้อมูลขนาดใหญ่ๆ ได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอีกด้วย
แอพดังกล่าวมีชื่อว่า WifiNanScan ที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อให้นักพัฒนาทดสอบการเชื่อมต่ออุปกรณ์สองตัวผ่านเทคโนโลยี Neighbor Awareness Networking (NAN) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Wi-Fi Aware โดยการทดสอบจะเน้นไปที่การตรวจสอบระยะห่างสูงสุดระหว่างอุปกรณ์สองตัวที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ และทุกอย่างจะดำเนินการโดยอัตโนมัติ
ข้อมูลจากการทดสอบดังกล่าว เปิดเผยให้เราทราบว่า แอพ WifiNanScan นั้นมีความสามารถในการวัดระยะห่างระหว่างอุปกรณ์สองตัวได้อย่างแม่นยำ รวมไปถึงการกำหนดสถานะของอุปกรณ์ให้เป็นผู้ปล่อย (Publisher) หรือผู้รับ (Subscriber) เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้
เมื่อเครื่องที่มีสถานะเป็น Publisher เริ่มเปิดใช้เซอร์วิส (ในกรณีนี้คือแอพ WifiNanScan) จะเป็นการส่งสัญญาณแก่เครื่องอื่นๆ ที่มีสถานะเป็น Subscrber ในบริเวณรอบๆ ที่อยู่ในระยะทำการของสัญญาณ WiFi ที่ทำการได้ให้เตรียมพร้อมสำหรับการรับข้อมูล ข้อดีของเทคโนโลยีนี้คืออุปกรณ์สามารถทำงานเป็นทั้ง Publisher และ Subscriber ได้ในเวลาเดียวกัน
ประโยชน์ของเทคโนโลยีนี้ที่เห็นได้ชัดเจนก็เช่น ในการเรียนการสอน ที่คุณครูสามารถนั่งรอนักเรียนอยู่ในห้อง เมื่อนักเรียนเข้าห้องครบแอพก็จะทำการเชื่อมต่ออุปกรณ์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น แจ้งตารางเรียน วันสอบ ส่งการบ้าน ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างเครือข่ายเฉพาะกิจได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อ Wi-Fi Access Point
หรือในแวดวงของนักเล่นเกม เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้เราสามารถเล่นเกมกับเพื่อนๆ โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งการฟังเพลงบนอุปกรณ์หลายเครื่องพร้อมกันได้อย่างสะดวกง่ายดาย
ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีนี้ยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้รถยนต์อัตโนมัติสามารถเชื่อมต่อเพื่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นกับรถยนต์คันอื่นๆ รอบๆ เช่น แจ้งเตือนข้อมูลอุบัตเหตุ ทางชำรุด หรือข้อมูลความหนาแน่นของรถในเส้นทางเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจร
Wi-Fi Aware แตกต่างจาก Wi-Fi Direct อย่างไร?
Wi-Fi Aware เป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบ Peer-to-Peer คล้ายกันกับ Wi-Fi Direct แต่มีความแตกต่างคือ Wi-Fi Direct นั้นจะต้องมีอุปกรณ์ที่เป็นศูนย์กลาง (Centralized) ที่เรียกว่า Group Owner แต่ Wi-Fi Aware จะสร้างการเชื่อมต่อแบบ Peer-to-Peer แบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized)
ด้วยความแตกต่างนี้ ทำให้ Wi-Fi Direct เหมาะกับการเชื่อมต่ออุปกรณ์แบบจับคู่ตรงๆ ในสภาพแวดล้อมที่มีขอบเขตบริเวณที่ชัดเจนเช่น การทำ Miracast หรือการเชื่อมต่อเครื่องพรินเตอร์เพื่อพิมพ์งาน
ส่วน Wi-Fi Aware นั้นจะเหมาะสำหรับการเชื่อมต่อในสภาพแวดล้อมแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนไหวไม่อยู่กับที่ โดยที่อุปกรณ์ต่างๆ นั้นจะเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้โดยแทบไม่ต้องตั้งค่าใดๆ เช่น การส่งข้อมูลไปยังผู้ร่วมงานสัมมนาที่แยกอยู่ในห้องประชุมย่อยต่างๆ หรือการเชื่อมต่อกับคนแปลกหน้าเพื่อเล่นเกมแบบมัลติเพลเยอร์ ซึ่ง Wi-Fi Aware สามารถปรับการเชื่อมต่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสภาพการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างราบรื่นไม่มีสะดุด
แน่นอนว่า ในเรื่องของระบบความปลอดภัยยังคงต้องรอดูว่าทาง Google จะจัดการอย่างไรต่อไป ซึ่งหากมีข้อมูลอัพเดต เราจะกลับมารายงานให้ทุกท่านทราบอีกครั้ง
ข้อมูล: www.wi-fi.org, iotevent.eu