เลือกใช้พอร์ตอะไรดี ถ้าต้องใช้งานกับจอมอนิเตอร์ 4K

จอมอนิเตอร์ระดับ 4K อาจจะไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปกังวล แต่กับคนที่เพิ่งซื้อไปใช้งานอาจจะพบกับความสับสนว่า พอร์ตต่างๆ ที่อยู่ด้านหลังทั้ง HDMI, DisplayPort, USB-C และ Thunderbolt ควรจะใช้พอร์ตไหนดี มาตรฐานไหนมันดีที่สุด และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ยกเว้นแต่ว่า คุณไม่สนใจอะไรเลย มีสายและพอร์ตอะไรบนการ์ดแสดงผลก็แค่เสียบๆ เข้าไปก็เป็นอีกเรื่อง

HDMI 2.1 : มาตรฐานที่ครอบคลุมรอบด้าน
High Definition Multimedia Interface ชื่อเต็มๆ ของพอร์ตที่คุ้นหูอย่าง HDMI ซึ่งมันถูกนำไปใช้งานมากมายทั้งบนทีวีเพื่อเชื่อมต่อเครื่องเล่นบลูเรย์ เครื่องเล่นเกมคอนโซลทั้ง PS4 และ Nintendo Switch ข้อดีของมันก็คือ ส่งผ่านสัญญาณดิจิตอลที่มีเสถียรภาพ รองรับการทำ hot-swapped หรือถอดเข้าออกได้เลยโดยที่เครื่องที่ต่ออยู่ยังคงทำงาน

พอร์ต HDMI 2.1 เป็นมาตรฐานล่าสุดที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเข้าสู่โลกของจอมอนิเตอร์ ให้ค่าทรูพุตได้สูงถึง 48 Gbps  ซึ่งมากพอที่จะส่งผ่านสัญญาณภาพความละเอียดระดับ 10K @60 ภาพต่อวินาที พร้อมกับความลึกสีระดับ 10bit ดังนั้นกับจอมอนิเตอร์ระดับ 4K มาตรฐาน HDMI นี้ก็เพียงพอแล้ว

DisplayPort ดีกว่า เร็วกว่า น่าเชื่อถือมากกว่า
มาตรฐานนี้เป็นตัวเลือกที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ขั้นสูงนิยมมานาน เหตุผลก็เพราะว่ามันดีกว่า HDMI แถมในขณะที่ HDMI 2.1 เพิ่งจะขยับมาถึงค่าทรูพุต 48 Gbps มาตรฐาน DisplayPort 2.0 ก็ขยับไปที่ความเร็ว 80 Gbps ถึงอย่างนั้น ณ ตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไร เนื่องจากอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐาน DisplayPort 2.0 ส่วนใหญ่จะวางตลาดในช่วงปลายปี 2020

ดังนั้น ณ เวลานี้ผู้คนส่วนใหญ่ ยังคงใช้พอร์ตมาตรฐาน DisplayPort 1.4 และเป็นที่นิยมมากกว่าเมื่อเทียบกับ HDMI 2.0 ที่เป็นมาตรฐานเดิม ในแง่ของรายละเอียดแล้ว DisplayPort 1.4 สามารถส่งผ่านภาพความละเอียด 8K@60fps ด้วยความลึกสี 10-bit แต่จำกัดเฉพาะการแสดงผลที่ใช้วิธีการบีบอัดข้อมูล ขณะที่ประสิทธิภาพของการแสดงผลที่ไม่ได้มีการบีบอัดข้อมูลก็จะเท่ากับมาตรฐาน HDMI 2.0 หรือ 4K/60/8-bit และสามารถเชื่อมต่อแบบ Daisy chain ได้สูงสุด 2 จอพร้อมกันที่ความละเอียด 4K

 

ขอบเขตในเรื่องสัญญาณเสียงก็ทำได้ดีกว่า HDMI 2.0 โดย DisplayPort 1.4 โดยรองรับ sample rate สูงสุด 1536 kHz /  24bit ถึงอย่างนั้นในบางประเด็นมันก็ด้อยกว่าพอร์ต HDMI อย่างเช่นการรองรับคุณสมบัติด้าน Ethernet นั่นเป็นเพราะ DisplayPort ส่วนใหญ่ถูกใช้เชื่อมต่อร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ขณะที่ HDMI มีความหลากหลายมากกว่าในแง่ของการใช้งานกลุ่มบรอดแคสต์ กลุ่มเครื่องเล่น AV/TV รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิสก์อื่นๆ

นอกจากนั้น DisplayPort 1.4a ยังให้การรองรับคอนเทนต์ HDR ซึ่งหมายถึงฟีเจอร์อย่าง Dolby Vision และ HDR10+ ที่ให้ขอบเขตความสว่างและสีสันที่กว้างมากขึ้น ถึงอย่างนั้นหลักๆ จะเป็นการสนับสนุนของจอมอนิเตอร์มากกว่า ไม่ใช่ข้อจำกัดของพอร์ต

USB-C: ความสะดวกที่มาบนโน้ตบุ๊ก
พอร์ต USB-C มีขอบเขตการใช้งานที่กว้างมากและถูกนำไปปรับใช้อย่างหลากหลาย การแสดงผลบนพอร์ตมาตรฐานนี้จะใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า USB-C Alt Mode หรือมองกันง่ายก็คือ สัญญาณ DisplayPort ผ่านช่องต่อ USB-C โดยที่ค่าทรูพุตและการสนับสนุนความละเอียดจะขึ้นอยู่กับมาตรฐานของ DisplayPort ที่ใช้อยู่ แต่ที่เรากำลังพูดถึงนี้คือเวอร์ชัน 1.4

เหตุผลที่พอร์ต USB-C ถูกเลือกนั้นก็เพราะมันง่ายต่อการใช้งานและมันก็อยู่ในโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ โดยส่วนใหญ่ ถึงอย่างนั้นผู้ใช้เองก็ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า โน้ตบุ๊กนั้นรองรับหรือมีฟีเจอร์ USB-C Alt Mode หรือไม่ ซึ่งโดยปกติมันจะอยู่ในหน้าข้อมูลทางเทคนิคของเว็บไซต์ผู้ผลิต

นอกจากนี้จอมอนิเตอร์ที่สนับสนุน USB-C ยังสามารถจ่ายพลังงานกลับไปยังโน้ตบุ๊กด้วยโปรโตคอล PD อย่างเช่น Dell UltraSharp U3219Q ที่จ่ายพลังงานได้สูงถึง 90 วัตต์ ซึ่งมันมากพอที่จะชาร์จโน้ตบุ๊กอย่าง Dell XPS 13 หรือ Macbook Air

Thunderbolt: เด่นเรื่อง Daisy chain และยอดเยี่ยมสำหรับ Mac
มาตรฐานพอร์ต Thunderbolt จะใช้อินเทอร์เฟสเดียวกับ USB-C นั่นเป็นเพียงความคล้ายคลึงกันเพียงอย่างเดียว โดย Thunderbolt 3 มาพร้อมกับความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลสูงสุด 40Gbps ด้วยสายเคเบิ้ลของมันเอง ขณะที่ความเร็วสูงสุดของ USB 3.2 Gen 2 ก็คือ 20 Gbps ครึ่งต่อครึ่งเลย

แม้ว่าทั้งสองเทคโนโลยีนี้จะใช้พอร์ต USB-C หน้าตาเหมือนกัน แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้แทนกันได้ และ Thunderbolt 3 ก็มีข้อได้เปรียบอย่างมากในเรื่องแบนด์วิดธ์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นทำให้สามารถแสดงผลภาพระดับ 4K@60fps พร้อมกันได้ถึง 2 จอ หรือแสดงผล 4K@120fps หรือ 5K ด้วยสายเคเบิ้ล Thunderbolt 3 เพียงเส้นเดียว

ในกรณีของ MacBook Pro 2019 สามารถใช้สาย Thunderbolt 2 เส้น เชื่อมต่อกับจอ 4K พร้อมกันได้ถึง 4 ตัว หรือจอ 5K 2 ตัว นอกจากนั้นแล้วไม่เพียงแค่เรื่องจอมอนิเตอร์ เทคนิค Daisy Chain ยังใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ อย่างเช่น สตอเรจภายนอก อุปกรณ์ Docking ระบบชิปกราฟิกภายนอก ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าคุณซื้อจอมอนิเตอร์ที่สนับสนุน Thunderbolt 3 ก็ควรจะมีหรือใช้มันเชื่อมต่อกับจอมอนิเตอร์ แน่นอนว่าโดยทั่วไปมันมีราคาสูงกว่าจอระดับ 4K ที่ใช้ HDMI หรือ DisplayPort ดังนั้นเรามองว่า Thunderbolt 3 นั้นเหมาะกับกลุ่มผู้ใช้ Mac มากกว่า

ควรใช้พอร์ตชนิดไหนดี
ถึงจุดนี้คุณเองได้เห็นคุณสมบัติและขอบเขตของพอร์ตแสดงผลเหล่านี้ไปหมดแล้ว หากคุณมองเรื่องความเหมาะสมในการใช้งานกับจอมอนิเตอร์ 4K โดยที่เน้นการเชื่อมต่อแบบ Daisy Chain ในการทำงานระดับจริงจัง พอร์ต DisplayPort 1.4a เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า HDMI 2.0 ถึงอย่างนั้นไม่ได้หมายความว่า HDMI นั้นแย่ แต่อยากให้เป็นทางเลือกที่สะดวกและให้ผลลัพธ์ที่ดีจะดีกว่าสำหรับคนทั่วไป ส่วนพอร์ตอื่นๆ เราเชื่อว่า ได้อธิบายความเหมาะสมของมันไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม สายเคเบิ่ลที่ผู้ผลิตมอนิเตอร์ 4K ให้มา โดยส่วนใหญ่จะใช้งานได้ดี เว้นแต่ว่าคุณต้องการสายเคเบิ้ลที่ไม่มีในอุปกรณ์หรือเครื่องพีซีของคุณไม่สนับสนุนพอร์ตเหล่านั้นในการขับความละเอียดภาพให้ออกมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณก็ต้องมองหาการอัพเกรดหรือซื้อสายเคเบิ้ลเส้นใหม่เพิ่มเติม