Bluetooth 5 หรือ WiFi Direct ถ้าต้องแชร์ไฟล์ระหว่างสมาร์ทโฟน
หากในวันนั้นอินเทอร์เน็ตของ 4G ย่ำแย่ แถมแถวนั้นก็ไม่มีเครือข่าย WLAN ดีๆ ให้ใช้ แต่จำเป็นต้องโอนไฟล์ข้อมูลขนาดใหญ่ ภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอจากระหว่างโทรศัพท์ด้วยกัน ทางเลือกที่เหลืออยู่คงหนีไม่พ้น Bluetooth หรือ WiFi คำถามก็คือ ทั้งสองวิธีนี้ วิธีไหนมันดีกว่ากัน
จริงๆ แล้วในสถานการณ์ข้างต้นมันอาจไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ถึงอย่างนั้นคุณก็ควรเตรียมตัวให้พร้อมในสภาวะเร่งด่วนที่อาจเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างตัวเลือก 2 วิธีที่อยู่ตรงหน้า คุณควรจะเลือกวิธีไหนที่ถูกต้องและเหมาะสม การรู้จักปูมหลังของ 2 เทคโนโลยีไร้สายจะบอกคุณเองถึงคำตอบเหล่านั้น
เริ่มต้นกันที่ Bluetooth โดยหลักการแล้วมันก็เป็นเทคโนโลยีไร้สายแบบ Peer-to-Peer อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ มันเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์กันโดยตรง ไม่มีช่องว่างสำหรับอุปกรณ์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง แม้ว่าในปัจจุบันพวก NFC หรือ WiFi จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ Bluetooth เองก็ยังคงเดินหน้าด้วยตัวเองต่อไปจนมาถึงมาตรฐาน 5.0 ซึ่งพัฒนาทั้งด้านความเร็วและช่องสัญญาณที่กว้างมากขึ้น
ขณะที่เทคโนโลยี WiFi เพิ่งได้รับความนิยมอย่างจริงจังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้มันจำกัดอยู่ในกลุ่มโน้ตบุ๊กและเครื่องคอมพิวเตอร์ ทว่าในปัจจุบันมันกลับกลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในกลุ่มสมาร์ทโฟน เพราะผู้คนส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้งานแอพฯ โซเชียล ส่งข้อความ รับส่งอีเมล์ เล่นเกม รับชมความบันเทิงอื่นๆ ผ่านทางฮอตสปอตสาธารณะหรือ WiFi ภายในบ้านและที่ทำงาน
แต่หลายๆ คนก็ยังไม่รู้ว่า WiFi ที่อยู่บนโทรศัพท์สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น เทคโนโลยีดังกล่าวเรียกกันว่า WiFi Direct และมันก็มีอยู่ในสมาร์ทโฟนแทบทุกรุ่นอีกด้วย ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ทั้งสองฝั่งที่รองรับโปรโตคอล WiFi มาตรฐานนี้แบบไร้สาย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์สื่อกลางอย่างพวกเราเตอร์ไร้สายหรืออะไรเลย ฟังดูแล้วมันก็คล้ายกับ Bluetooth แต่ข้อดีที่เหนือกว่าก็คือ มันสามารถโอนถ่ายไฟล์ระหว่างอุปกรณ์ได้เร็วกว่า
WiFi Direct ก็ถูกนำไปใช้งานกับอุปกรณ์หลากหลายชนิด ตั้งแต่กล้องดิจิตอล พรินเตอร์ สมาร์ททีวี สมาร์ทโฟน สมาร์ทวอช แท็บเล็ต รวมถึงโน้ตบุ๊ก ถึงอย่างนั้นเราก็ดูจะไม่คุ้นกับชื่อ WiFi Direct บนอุปกรณ์ของแอปเปิ้ล เนื่องจากพวกเขาใช้ชื่อเรียกว่า AirDrop แทน ซึ่งเบื้องหลังการทำงานของมันก็คือ การผสมผสานระหว่าง Bluetooth และ WiFi Direct เช่นเดียวกับฟีเจอร์แชร์ไฟล์ในสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยอย่าง Huawei Share อย่างไรก็ตาม แอพฯ ส่งไฟล์ที่สนับสนุน WiFi Direct ที่สามารถส่งไฟล์ข้ามแพลตฟอร์มจาก Android ไปยัง iOs ก็มีอย่างเช่น SHAREit หรือ Xender แต่เอาเข้าจริงๆ การใช้งานมันก็ไม่ได้สะดวกและง่ายเหมือนกับของแอปเปิ้ลหรือหัวเว่ย
ส่งไฟล์ผ่าน SHAREit: การส่งไฟล์วิดีโอจาก Pocofone F1 ไปยัง iPhone 11 Pro Max ของแอพฯ ตัวนี้ สร้างการเชื่อมต่อ WiFi Direct ที่ทำความเร็วออกมาได้ประมาณ 32 Mbit/s
มาถึงตรงนี้ดูเหมือนว่า WiFi Direct จะได้เปรียบเหนือ Bluetooth ในแง่ของความเร็ว โดยเฉพาะกับไฟล์ขนาดใหญ่ แต่มันก็มีการใช้พลังงานมากกว่า อาจจะมากกว่าถึง 40 เท่าของพลังงานที่ Bluetooth ในใช้ในบางแอพพลิเคชั่น ด้วยเหตุนี้บนอุปกรณ์พกพาต่างๆ จึงนิยมใช้งาน Bluetooth มากกว่า
โดยสรุปแล้ว ในกรณีที่เป็นการส่งไฟล์ขนาดเล็กๆ การใช้บลูทูธก็เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า แต่ถ้าต้องส่งไฟล์ขนาดใหญ่หรือมีไฟล์จำนวนมากๆ ควรจะใช้ WiFI Direct