ซื้อคอมฯ เผื่ออนาคต คิดถูกหรือคิดผิด?
Pros
ได้พีซีสเปคสูง ที่สามารถใช้งานได้อย่างไหลลื่น อย่างน้อย 2-3 ปี
ยังสามารถใช้ซีพียูเดิมต่อไปได้สำหรับการเล่นเกมใหม่ๆ ในอนาคต ถ้าจำเป็นอาจจะอัพเกรดแค่การ์ดแสดงผล
Cons
ต้องจ่ายเงินแพงกว่าความจำเป็น
ฟีเจอร์ที่เกินมาอาจไม่เคยได้ใช้
หากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ทำให้การลงทุนสูญเปล่า
เชื่อว่าเวลาซื้อพีซีหรือโน้ตบุ๊กเครื่องใหม่ แทบทุกคนจะต้องมีคำถามในใจว่า มันจะใช้ไปได้นานกี่ปี และมีหลายคนตัดสินใจซื้อแบบ ‘เผื่ออนาคต’ เพื่อจะได้รู้สึกว่าคุ้มค่าในการลงทุนขึ้นมาอีกนิด
มาดูกันครับว่าการ ‘ซื้อเผื่ออนาคต’ หมายความว่าอย่างไร คุ้มหรือไม่ในการพิจารณาเลือกซื้อพีซี/โน้ตบุ๊กเครื่องใหม่ในครั้งต่อไป
‘ซื้อเผื่ออนาคต’ คืออะไร เพื่ออะไร?
สมมติว่าคุณต้องการพีซีเครื่องใหม่มาไว้เล่นเกมล่าสุดที่เพิ่งออกมา หลังจากเช็คสเปคที่ผู้ผลิตเกมแนะนำแล้วก็ไปที่ร้านจัดคอมสเปคตามนั้นมา ซึ่งก็แน่นอนว่ามันสามารถเล่นได้อย่างไหลลื่น ...
แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปและฮาร์ดแวร์ในเครื่องเริ่มมีอายุ เกมใหม่ๆ ที่ออกมาไม่สามารถเล่นได้ลื่นไหลอย่างที่ใจต้องการเพราะมันต้องการสเปคฮาร์ดแวร์ที่ใหม่ขึ้นแรงขึ้นตามวัฏจักรของเทคโนโลยี
วิธีแก้ปัญหาของผู้ใช้งานส่วนใหญ่ ในกรณีที่เป็นโน้ตบุ๊ก คือการเลือกสเปค ‘เผื่ออนาคต’ โดยซื้อรุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่ต้องการใช้ เช่น เอามาเล่นเกมที่ระบุว่าต้องใช้สเปคขั้นต่ำซีพียู Intel Core i3 แรม 4GB การ์ดแสดงผล GeForce GTX 1060 เป็นอย่างน้อย ก็อาจเลือกสเปคเกินเลยไปเป็น Intel Core i7 แรม 16GB การ์ดจอ RTX 2060 ซึ่งจะทำให้เล่นเกมใหม่ๆ ต่อไปได้อีก 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย
ส่วนพีซีเดสก์ท็อป กฏง่ายๆ คือการเลือก ‘ซีพียู’ และ ‘เมนบอร์ด’ ที่ดีที่สุดที่สามารถจ่ายได้เพราะส่วนประกอบทั้งสองอย่างนี้แทบจะไม่สามารถอัพเกรดได้ (และหลายครั้งลงเอยด้วยการเปลี่ยนใหม่ยกเครื่อง) ในขณะที่อุปกรณ์อื่นๆ อย่าง แรม การ์ดแสดงผล หรือ SSD นั้นสามารถถอดอัพเกรดได้ง่ายๆ ไม่ค่อยจะมีปัญหาสักเท่าไหร่
ประเด็นน่าคิด ซื้อคอมฯ เผื่ออนาคต
ประเด็นแรก คุณอาจได้พีซีสเปคสูง ที่สามารถใช้งานได้อย่างไหลลื่น อย่างน้อย 2-3 ปี แต่ต้องพิจารณาก่อนให้ดีว่าสเปคที่คุณจ่ายเกินไปนั้น คุณได้ใช้งานมันหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น ซื้อโน้ตบุ๊กที่มีพอร์ต Thunderbolt เพราะรู้สึกว่ามันแรงดี แต่เอาเข้าจริงแทบไม่มีโอกาสได้ใช้ (เพราะมีอุปกรณ์รองรับไม่มาก และราคาแพง)
หรืออย่างการเผื่อสเปคซีพียู ที่อาจเกิดจากการเชียร์ของผู้ขาย เช่น คุณพ่อคุณแม้ตัดสินใจซื้อสเปค Intel Core i7 เพราะหวังให้ลูกใช้งานได้นานๆ แต่ลูกชอบเล่นเกมออนไลน์ และไม่เคยเล่นเกมระดับ AAA เลย เช่นเดียวกับการ์ดแสดงผล แค่การเล่นเกมออนไลน์การ์ด nVidia 1650 Super ก็เอาอยู่ แต่กลับจัดเต็มไปถึง nVidia RTX 2060 ซึ่งถ้ามองตามตรงก็แปลว่าเสียเงินเปล่าไปแล้วเกือบหมื่นบาท หากว่าเปลี่ยนจาก Intel Core i7 เป็น Core i5 รุ่นต่ำสุด เงินจำนวนนี้ถ้าเก็บเอาไว้อัพเกรดหรือเปลี่ยนใหม่ในอนาคต จะคุ้มค่ากว่าไหม?
ประเด็นสอง หากมองในมุมกลับการซื้อคอมเผื่ออนาคต อาจเป็นเรื่องที่ดีในกรณีที่มีงบประมาณจำกัด โดยการเลือกส่วนประกอบที่สามารถรองรับการอัพเกรดได้ เช่น เมนบอร์ดที่รองรับซีพียูซ็อกเก็ตเดียวกัน หรือการ์ดแสดงผลที่สามารถอัพเกรดไปเป็นรุ่นที่ดีกว่าเมื่อมีงบประมาณเพียงพอ (หรือเมื่อราคาถูกลง)
แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าเทคโนโลยีจะไม่เปลี่ยนแปลง และอาจทำให้การลงทุนสูญเปล่า ยกตัวอย่างกรณี รอยต่อระหว่างเจนเนอเรชั่นที่ 9 และ 10 ของซีพียูอินเทล ที่ถูกตัดขาดออกจากกันด้วยการเปลี่ยนรูปแบบซ็อกเก็ต ทำให้ผู้ที่ซื้อเมนบอร์ดสำหรับซีพียูเจน 9 ไปแล้วไม่สามารถอัพเกรดซีพียูเป็นเจน 10 ได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเทคโนโลยีการ์ดแสดงผล และซอฟต์แวร์ DirectX ที่ต้องการฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่ๆ ตลอดเวลา
สรุป: คุ้มหรือไม่ เผื่อดีไหม อยู่ที่ตัวคุณ
ถามและตอบตัวเองให้ได้ว่าถ้าวันนี้ต้องซื้อคอมฯ เครื่องใหม่ อยากใช้งานมันไปอีกกี่ปี สามปี หรือห้าปี และแท้จริงแล้วคุณจะใช้งานอะไร รวมถึงความเป็นเป็นไปได้ในอนาคต ถ้าคุณต้องการเครื่องคอมฯ สำหรับใช้งานทั่วไป เล่นเน็ต ดูหนัง ฟังเพลง ทำงานเอกสาร การซื้อเผื่ออนาคต อาจไม่จำเป็นเพราะพีซีสเปคกลางๆ ก็สามารถใช้งานได้อีก 3-5 ปีไม่มีปัญหา
ส่วนใครที่ต้องการซื้อมาเน้นเล่นเกมยาวๆ และไม่แคร์เรื่องคุณภาพกราฟิกมากมาย การซื้อเผื่ออนาคตก็อาจเป็นทางเลือกที่ดี แม้ว่าอาจจะต้องลดคุณภาพกราฟิกในเกมลงบ้างในอนาคตแต่ก็ยังพอเล่นได้ แต่ถ้าการเล่นเกมของคุณต้องการคุณภาพที่ดีที่สุด แน่นอนว่าการซื้อเผื่ออนาคตคงไม่เหมาะ แค่ลงทุนในเทคโนโลยีที่จะล้าสมัยในอีก 1-2 ปี หลังจากนั้นยกเครื่องซื้อใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่ดีที่สุดและการ์ดแสดงผลรุ่นใหม่ที่แรงที่สุดก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด