ยังจำฉันได้หรือเปล่า? ครบรอบ 25 ปี Iomega Zip

หากพูดถึงเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นในปี 1995 การถือกำเนิดของ Zip Drive คือเรื่องอัศจรรย์ เหมือนพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยปลดแอกผู้ใช้งานจากแผ่นฟล็อปปี้ดิสก์ที่สามารถบันทึกข้อมูลได้แค่ 1.44 MB

พระเอกคนนี้มาพร้อมกับความสามารถในการบันทึกได้ถึง 100 MB หรือมากกว่าแผ่นฟล็อปปี้ดิสก์เกือบ 100 เท่า!

แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึง 25 ปีแล้ว แต่ทราบไหมว่าปัจจุบันบางบางอุตสาหกรรมยังคงใช้ Zip Drive กันอยู่

ทำไม Zip Drive ถึงน่าตื่นเต้น
ย้อนเวลากลับไปในปี 1995 อีกครั้ง การเก็บบันทึกหรือโอนย้ายข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยแผ่นฟล็อปปี้ดิสก์นั้นเป็นเรื่องที่ลำบากมาก การปรากฏตัวของ Zip Drive ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถก๊อบปี้ข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างง่ายดาย ลดความวุ่นวายในการเปลี่ยนแผ่นดิสก์ไปมา (บางครั้งเขียนฉลากสลับลำดับกันอีก) โดยตั้งราคาจำหน่ายตัวไดรฟ์ไว้ที่ 199 เหรียญสหรัฐ และแผ่นดิสก์ความจุ 100 MB ราคา 19.95 เหรียญสหรัฐ (เทียบเป็นเงินบาทไทยในปัจจุบันปรับตามภาวะเงินเฟ้อ ตัวไดรฟ์จะมีราคาประมาณ 11,000 บาท และแผ่นดิสก์ 1,000 บาท)

ในช่วงแรก Zip Drive มีให้เลือก 2 เวอร์ชั่นคือ เวอร์ชั่นสำหรับพีซีที่ใช้วินโดวส์และพีซีที่ใช้ DOS ที่เชื่อมต่อผ่าน Parallel Port และอีกเวอร์ชั่นคือสำหรับเครื่อง Apple Macintosh ที่เชื่อมต่อผ่านพอร์ต SCSI ที่มีความเร็วสูงกว่า

Zip Drive ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมอย่างล้นหลามตั้งแต่ปีแรกของการทำตลาด จนถึงขนาดที่ว่าสินค้าขาดตลาดทั้งตัวไดรฟ์และแผ่นดิสก์

ในโอกาสครบรอบ 25 ปีของ Iomega Zip เราขอพาทุกท่านกลับไปรำลึกความทรงจำกันอีกครั้ง

การออกแบบที่ทันสมัย
เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานปัจจุบัน ต้องบอกว่า Zip Drive ออกแบบได้คลาสสิคและยังดูทันสมัย การเลือกใช้สีน้ำเงินครามทำให้ตัวไดรฟ์มีความโดดเด่นจากโลกสีเบจของพีซีและแมคในสมัยนั้น

ตัวไดรฟ์มีขนาดเล็กและเบา ขนาดประมาณ 7.2 x 5.3 x 1.5 นิ้วและหนักไม่ถึง 500 กรัม

ดีไซน์ภายนอกของ Zip Drive ต้องเรียกว่าคำนึงถึงประโยชน์และความสะดวกในการใช้งานอย่างเต็มเปี่ยม ตัวไดรฟ์สามารถวางได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอนโดยมียางกันลื่นรองรับทั้งสองชุด ปลั๊กพลังงานอยู่ลึกตามแนวด้านขวาของตัวเครื่องเพื่อป้องกันการหลุดหรือถอดโดยไม่ตั้งใจ ด้านบนออกแบบให้เป็นพลาสติกใสสามารถมองเห็นฉลากของแผ่นดิสก์ได้โดยไม่จำเป็นต้องกด Eject ออกมาดู

ในส่วนของแผ่นดิสก์นั้น ความจุเริ่มแรกคือ 100 MB โดยหลังฟอร์แมตแล้วจะมีพื้นที่ให้ใช้งานประมาณ 96 MB ขนาดของแผ่นอยู่ที่ 4 x 4 x 0.25 นิ้ว ซึ่งใหญ่กว่าแผ่นฟล๊อปปี้ดิสก์อยู่เล็กน้อยแต่แข็งแรงทนทานกว่ามากจากบอดี้พลาสติกที่แข็งและหนา บริเวณช่องอ่านดิสก์ถูกปกป้องด้วยแผ่นโลหะพร้อมสปริงที่แน่นหนา

การอ่านข้อมูลของ Zip Drive สามารถทำได้รวดเร็วมากเพราะดิสก์ภายในจะถูกหมุนด้วยความเร็วสูงถึง 2,968 รอบต่อนาที ให้อัตราส่งผ่านข้อมูลสูงสุด 1.4 เมกะไบต์ต่อวินาที (เทียบกับฟล๊อปปี้ดิสก์ที่ 16 กิโลไบต์ต่อวินาที) 

ต่อมามีการพัฒนา Zip Disk ให้มีความจุสูงขึ้นเป็น 250 MB ในปี 1999 และ 750 MB ในปี 2002 ที่แม้ต้องใช้กับไดรฟ์รุ่นใหม่แต่ก็ยังรองรับการใช้งานดิสก์ขนาด 100 และ 250 MB ด้วย

แม้ Zip Disk ขนาด 750 MB จะมีความจุเกินหน้าแผ่น CD-R (650 MB) แต่การที่มันมาช้าไปและมีราคาค่อนข้างสูงทำให้มันไม่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป

ในช่วงปลายทศวรรษ '90 Zip Drive ได้ถูกนำมาติดตั้งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่อง Apple Power Mac G3 และ G4 ที่นิยมใช้อุตสาหกรรมกราฟิกดีไซน์ ส่งผลให้ Zip Disc กลายเป็นมาตรฐานสำหรับใช้ส่งไฟล์อาร์ตเวิร์กความละเอียดสูงไปยังโรงพิมพ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

25 ปีต่อมา...

แม้โลกจะได้รู้จักกับแผ่น DVD-R และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมไปถึงแฟลชไดรฟ์ USB แต่ Iomega Zip ยังไม่ได้จากเราไปไหน

อ้างอิงข้อมูลจาก Wikipedia มีการระบุว่าปัจจุบันบริษัทด้านการบินบางแห่งยังคงใช้ Zip Disk ในการอัพเดตข้อมูลสำหรับระบบนำทางเครื่องบิน ในขณะที่ผู้ที่ชื่นชอบคอมพิวเตอร์ย้อนยุค ไม่ว่าจะเป็น Atari, Mac, Commodore ก็ยังคงใช้ Zip Drive แบบ SCSI ในการถ่ายโอนข้อมูลอยู่

ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ... สุขสันต์วันเกิด Zip!