เรื่องพื้นฐานที่ควรรู้ ก่อนซื้อโน้ตบุ๊ก

อยากได้โน้ตบุ๊ก ซื้อรุ่นไหนดี? ถ้าลองพิจารณาสเปคของโน้ตบุ๊กที่โฆษณาหรือผู้ผลิตระบุไว้ให้ดีก็จะพบว่ามันมีองค์ประกอบด้านฮาร์ดแวร์แทบจะเหมือนกับคอมพิวเตอร์พีซีทุกประการ ดังนั้นสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้ก่อนซื้อ คือฮาร์ดแวร์แต่ละส่วนมีหน้าที่และความสำคัญอย่างไร เลือกแบบไหนถึงเหมาะกับการใช้งาน

เช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์พีซี องค์ประกอบด้านฮาร์ดแวร์ในโน้ตบุ๊กจะเป็นตัวกำหนดว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง และโดยธรรมชาติโน้ตบุ๊กที่มีสเปคฮาร์ดแวร์ที่ดีกว่าก็จะมีราคาที่แพงกว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเหตุนี้ การซื้อโน้ตบุ๊กซักเครื่องคุณจึงต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า ต้องการเอาไปใช้งานอะไรเป็นหลัก เพื่อที่จะได้พิจารณาสเปคฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสม ไม่โอเวอร์เกินไปจนต้องจ่ายเงินมากเกินความจำเป็น เช่น ถ้าต้องการโน้ตบุ๊กสำหรับงานทั่วไป ท่องอินเทอร์เน็ต ใช้โปรแกรมออฟฟิศ ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกรุ่นที่ใช้ซีพียูแรงๆ หรือมีการ์ดแสดงผลให้เปลืองเงิน

อย่างที่จั่วหัวเรื่องไป ว่าบทความนี้เป็นแค่พื้นฐานในการเลือกซื้อเบื้องต้นเท่านั้น จึงยังไม่ได้ลงลึกรายละเอียด (ไว้มีโอกาสจะนำเสนอในโอกาสหน้าอีกครั้ง) ไปดูกันครับว่า ฮาร์ดแวร์แต่ละส่วนนั้นมีหน้าที่อะไร เวลากางสเปคดูจะได้รู้ว่าต้องเลือกแบบไหนถึงเหมาะสมกับการใช้งานและงบในกระเป๋ามากที่สุด 

ซีพียู
รับภาระการประมวลผลข้อมูลแทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ผู้ใช้งานเปิดจนปิดเครื่อง ซีพียูจึงเปรียบเสมือนหัวใจของคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง โดยปกติแล้วซีพียูที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าจะสามารถประมวลผลข้อมูลได้มากขึ้นด้วยความเร็วที่เร็วขึ้น ที่สำคัญอย่าตัดสินประสิทธิภาพซีพียูด้วยความเร็วสัญญาณนาฬิกา (ที่มักโฆษณาด้วยตัวเลข GHz) เพราะมันไม่ได้เป็นตัวตัดสินประสิทธิภาพทั้งหมด

ส่วนซีพียูเจนใหม่จะดีกว่าเจนเก่าแค่ไหน ฝั่ง Intel หรือ AMD ใครดีกว่ากัน ถ้าให้ลงรายละเอียดอาจใช้เวลา (ไว้มีโอกาสจะมาเล่าอีกที) จำง่ายๆ แค่ว่าเจนใหม่มักจะดีกว่าเจนเก่าเสมอ (และแน่นอนคือแพงกว่า) ส่วนถ้าใครอยากเมคชัวร์ว่าซีพียูที่เล็งไว้รุ่นไหนดีกว่ากันอย่างไร แนะนำให้ใช้ Google ค้นหาโดยพิมพ์รหัสซีพียู เช่น Core i7 8750H vs Core i7 9750H เพื่อลองเปรียบเทียบดู

ชิปกราฟิก
ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับภาพกราฟิกเพื่อนำมาแสดงผลบนหน้าจอ  โดยปกติแล้วชิปกราฟิกในโน้ตบุ๊กจะถูกติดตั้งเป็นส่วนเดียวกันกับเมนบอร์ด จึงไม่ต้องคิดเรื่องการเผื่ออัพเกรดในอนาคต คือถ้าจะต้องใช้ก็ต้องดูรุ่นที่มีชิปกราฟิกที่เหมาะกับการใช้งานไปเลย

ชิปกราฟิกยอดนิยมในโน้ตบุ๊กโดยมากจะเป็นฝั่งของ NVIDIA ที่ปัจจุบันมี RTX 20 Series ออกมาให้เลือกตั้งแต่ RTX 2060, 2070 และ 2080 with Max-Q Design ซึ่งถูกออกแบบให้มีระบบระบายความร้อนที่ดีและใช้พื้นที่ประหยัดกว่า (ทำให้โน้ตบุ๊กไม่หนามาก) โดยชิปกราฟิกเหล่านี้มักจะมีอยู่ในโน้ตบุ๊กในกลุ่มเกมมิ่งที่แน่นอนว่าราคาค่อนข้างสูง ยกเว้น บางรุ่นที่ยังอาจจะใช้ซีรีย์ 10 รุ่นเก่า เช่น GTX 1080, 1070 และ 1060 ที่เอาเข้าจริงแล้วก็ยังเอาอยู่และราคาประหยัดลงมาอีกพอสมควร

หน่วยความจำ
หรือที่เรียกกันว่า RAM หมายถึงความสามารถของเครื่องในการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถเข้าถึงเพื่อใช้งานได้ทันที (โดยไม่ต้องโหลดจากดิสก์) โดยการทำงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งหมดจะถูกประมวลผลผ่าน RAM ดังนั้นยิ่งโน้ตบุ๊กมี RAM มากเท่าไร ก็ยิ่งสามารถเรียกใช้ข้อมูลจำนวนมากๆ ได้อย่างรวดเร็วฉับไว ไม่ต้องคอยโหลดเพิ่มจากดิสก์ (ไม่ว่าจะฮาร์ดดิสก์จานแม่เหล็กหรือ SSD )

ส่วน RAM ขนาดเท่าใดจึงจะเหมาะ โดยปัจจุบันแล้วขนาด 8GB ถือว่าเหมาะสมและเพียงพอสำหรับงานส่วนใหญ่ แต่ถ้างบประมาณอำนวย RAM 16 GB ก็จะยิ่งทำให้เครื่องทำงานได้รวดเร็ว โดยเฉพาะการทำงานด้านกราฟิกและการสร้างคอนเทนต์มัลติมีเดียต่างๆ

ข้อสำคัญอย่าลืมตรวจสอบว่าโน้ตบุ๊กรุ่นนั้นๆ สามารถรองรับการอัพเกรดหน่วยความจำเพิ่มเติมได้หรือไม่ (มีสล็อตให้ใส่เพิ่ม) และรองรับได้สูงสุดกี่ GB



พื้นที่เก็บข้อมูล (Storage)
คือความสามารถในการเก็บข้อมูลทั้งหมดในไดรฟ์ภายในของโน้ตบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็นตัวระบบปฏิบัติการ แอพพลิเคชั่น วิดีโอ เพลง ฯลฯ ซึ่งแตกต่างกับ RAM ตรงที่ข้อมูลที่เก็บในพื้นที่ส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องถูกใช้งาน เช่น แอพพลิเคชั่นที่ติดตั้งไว้ แต่ยังไม่ได้เรียกขึ้นมาใช้งาน โน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันมีการใช้ Solid State Drive (SSD) ซึ่งอ่าน-เขียนข้อมูลได้เร็วกว่าและทนทานกว่าฮาร์ดดิสก์แบบจานแม่เหล็กหลายเท่า

ถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้เลือกโน้ตบุ๊กที่ใช้พื้นที่เก็บข้อมูลแบบ SSD (แนะนำอย่างน้อย 512GB) เพราะประสิทธิภาพโดยรวมของระบบจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนมาก และในรุ่นที่เน้นประสิทธิภาพสูงๆ จะใช้ SSD มาตรฐาน NVMe ซึ่งจะมีความเร็วสูงกว่า SSD แบบ SATA

พอร์ตเชื่อมต่อ
โน้ตบุ๊กในปัจจุบันจะมาพร้อมพอร์ตเชื่อมต่อมาตรฐานแน่ๆ คือ USB-A ให้ลองคำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่อที่ต้องการใช้งานกับจำนวนพอร์ต USB ว่าเพียงพอไหม ในบางรุ่นอาจจะมีพอร์ต USB-C ที่ใหม่กว่าซึ่งให้ความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่สูงกว่า ในขณะที่รุ่นแพงๆ อาจจะมี USB-C ที่เป็นมาตรฐาน Thunderbolt 3 ที่เป็นพอร์ตความเร็วสูงและประสิทธิภาพดีที่สุดในปัจจุบัน

ถ้าจำเป็นต้องใช้โน้ตบุ๊กเชื่อมต่อกับจอภาพภายนอกด้วย อย่าลืมดูว่ามีพอร์ตที่สามารถใช้งานร่วมกับจอภาพที่เราใช้งานไหม เช่น HDMI, DisplayPort หรือ USB-C

เสียง
ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ จึงทำให้ระบบเสียงของเครื่องโน้ตบุ๊กไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ ยกเว้นบางรุ่นที่มีการร่วมมือกับผู้พัฒนาลำโพงชื่อดัง เช่น Harman Gordon, Bang & Olufsen ที่อาจจะให้คุณภาพและรายละเอียดเสียงที่ดีขึ้น แต่ถ้าต้องการเบสหนักๆ หรือฟังเพลงมันส์ๆ การใช้หูฟังบลูทูธคุณภาพสูง หรือเชื่อมต่อกับลำโพงภายนอกดีๆ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

จอแสดงผล
จอแสดงผลในโน้ตบุ๊กปัจจุบันมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ โดยจะสังเกตได้ว่าโน้ตบุ๊กบางรุ่น (โดยมากมักจะมีราคาเกินสองหมื่นบาท) จะมีสเปคจอภาพที่เป็นพาแนลแบบ IPS ซึ่งพาแนลแบบ IPS จะมีข้อได้เปรียบกว่า TN (โน้ตบุ๊กที่ใช้พาแนลจอชนิดนี้มักจะไม่โฆษณาหรือระบุในสเปคการขาย) ที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่องมุมมองที่กว้างกว่า สีไม่เพี้ยน ไม่ซีด อัตราคอนทราสต์ดี สีดำที่ดำสนิท รวมไปถึงการแสดงขอบเขตของสีที่กว้างกว่า อีกปัจจัยสำคัญคือขนาดซึ่งปัจจุบันจะมีให้เลือก 4 ขนาดคือ 13", 14", 15" และ 17" ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความชอบและรูปแบบการทำงานของแต่ละคน แต่สิ่งหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือการเลือกใช้โน้ตบุ๊กที่ขนาดหน้าจอใหญ่ จะส่งผลถึงเรื่องของขนาดและน้ำหนักของตัวเครื่อง ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการพกพาด้วย 

ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก จอสัมผัสถือเป็นไฮไลท์ของโน้ตบุ๊กรุ่นราคาแพง แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะตัวระบบปฏิบัติการเองรวมไปถึงแอพฯ ต่างๆ ยังไม่รองรับหรือรองรับได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ปัจจุบัน Windows 10 รวมไปถึงเว็บบราวเซอร์ทั้ง Google Chrome และ Microsoft Edge ได้พัฒนาความสามารถในการรองรับการใช้งานร่วมกับจอสัมผัสได้สะดวกและใช้งานจริงได้ดียิ่งขึ้น ทำให้มันเป็นออปชั่นที่น่าสนใจ แต่แน่นอนว่าคุณต้องจ่ายเพิ่มกว่ารุ่นจอปกติ ดังนั้นก่อนซื้อจึงควรถามตัวเองก่อนว่าต้องการใช้งานมันจริงๆ หรือเปล่า



 

สรุป: นอกจากองค์ประกอบหลักๆ ที่เราอยากให้คุณพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกซื้อแล้ว ยังมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมตามรูปแบบการใช้งานของแต่ละคน เช่น น้ำหนัก ความบาง คีย์บอร์ดมีไฟ Backlit สำหรับการใช้งานตอนกลางคืน ระยะเวลาในการใช้งานแบตเตอรี่สำหรับใครที่ต้องทำงานนอกสถานที่บ่อยๆ ซึ่งโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันสามารถทำงานได้ในช่วง 4-8 ชั่วโมงเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว