จับตัวจริง Huawei Matebook 14 ใส่ซีพียูซีรีส์ H

จริงๆ แล้วการเปิดตัวโน้ตบุ๊กของหัวเว่ยเมื่อวันวานที่ผ่านมาถือว่าผิดคาดไปมาก เพราะเราคิดว่า โน้ตบุ๊ก Matebook 14 นั้นจะใช้ชิปประมวลผล  AMD Ryzen 4000 ที่เป็นรหัส U หรือ Ultra Low Voltage แต่ในความจริง พวกเขากลับบรรจุชิป Ryzen 5 4600H และ Ryzen 7 4800H ที่เป็นซีพียูอีกระดับ ซึ่งแบรนด์อื่นๆ จะวางไว้ในกลุ่มโน้ตบุ๊กเมนสตรีมหรือเกมมิ่ง ไม่ใช้กลุ่ม Thin and Light และทั้งหมดนี้คือ ประสบการณ์ที่ทีมงานได้สัมผัสจากมันในงานเปิดตัว

สเปคหลักๆ ของ Huawei Matebook 14
ก่อนอื่นขออธิบายตำแหน่งของโน้ตบุ๊ก Matebook 14 ก่อน น้องใหม่นี้จะอยู่คั่นกลางโน้ตบุ๊กซีรีส์ Matebook X Pro และ Matebook D Series ที่เน้นตลาดความคุ้มค่า หลักๆ ยังคงใช้บอดี้แบบบางที่ผลิตจากโลหะอะลูมิเนียมอะโนไดส์ พร้อมด้วยเซนเซอร์ลายนิ้วมือบนปุ่มเปิดเครื่อง และมีตัวเลือกชิปประมวลผลหรือเอพียูแค่ 2 รุ่น คือ Ryzen 5 4600H และ Ryzen 7 4800H ซึ่งบรรจุซีพียู 6 คอร์ 12 เทรด และ 8 คอร์ 16 เทรด ตามลำดับ

  • Weight  1.49kg
  • 16GB DDR4 @2666MHz Dual DIMM
  • 512GB M.2 NVMe Western Digital SN730 SSD
  • Battery 56Wh
  • Power Adaptor 65W fast charging
  • 2x USB 3.2 Type-A
  • 1x USB Type-C
  • 1x HDMI 2.0
  • 3.5mm headphone/microphone combo jack
  • Wi-Fi 802.11a/b/g/n/ac
  • Bluetooth 5.0
  • Windows 10 Home Edition

ตัวเครื่องคุมธีม สีเข้มๆ วัสดุบอดี้โลหะคุณภาพ
หัวเว่ยไม่ได้เปลี่ยนแปลงดีไซน์ของ Matebook 14 อะไรนัก แต่มันมีสัดส่วนที่คล้ายๆ กับ Matebook X Pro ที่หนากว่าเล็กน้อย ตัวเครื่องกลับมาใช้สี Space Gray ที่ทำให้ดูหรูหรากว่าสี Silver ใน Matebook D14

ระยะลึกจากด้านหลังมายังด้านหน้าใกล้เคียงกับ Matebook X Pro แต่จะไม่กว้างเท่า นอกจากนั้นความหนาของเครื่องมีมากกว่าเล็กน้อยด้วย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ โน้ตบุ๊กตัวนี้ใช้พาแนลแสดงผลระดับ 2K หรือความละเอียด 2160x1440 พิกเซล ในสัดส่วน 3:2 พูดง่ายๆ มันเป็นสัดส่วนเดียวกับภาพถ่ายจากกล้อง DSLR ทั่วๆ ไป นอกจากนั้นพาแนลที่ใช้ก็ให้ขอบเขตสีได้ 100% sRGB ขอบบาง สามารถสั่งงานแบบสัมผัสได้เฉพาะรุ่นชิป Ryzen 7 4800H จากที่มองด้วยตาเปล่า มันเป็นจอที่ให้มุมมองที่กว้างในระดับเดียวกับจอ IPS นอกจากนั้นหัวเว่ยยังบอกว่า มันได้รับ Certificate จาก TUV rheinland เรื่องการลดแสงสีฟ้า ช่วยถนอมสายตา

คีย์บอร์ดผ่านการ Life Test หรือทดสอบการกด 5 ล้านครั้ง จากการทดลองพิมพ์ถือว่า ตอบสนองได้ดี น่าเสียดายที่แป้นคีย์บอร์ดไม่มีภาษาไทย ไม่แน่ใจว่าเวอร์ชันขายจริงไฟจะทะลุตัวอักษรหรือไม่ นอกจากนั้นไฟแบ็คไลต์ให้ความรู้สึกไม่ค่อยสว่างเท่าไหร่ท่ามกลางไฟสลัวๆ ในงาน (ลองปรับระดับดูแล้ว)

จำนวนหรือชนิดของพอร์ตเชื่อมต่อนั้นไม่มีอะไรที่โดดเด่น มีพอร์ตให้เท่าที่จำเป็น แต่มีการสลับย้ายตำแหน่งที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ Matebook D14 นั่นคือ การย้ายช่องต่อ 3.5 มิลลิเมตรมาอยู่ฝั่งซ้ายมือ และโยกพอร์ต USB 3.2 ไปอยู่ฝั่งขวาคู่กัน นอกจากนั้นในภาพจะเห็นว่า ขอบของโน้ตบุ๊กก็ทำได้สวยงามขึ้นด้วยการกลึงด้วยเครื่อง CNC  สังเกตดีๆ จะเห็นว่าฝาด้านบนจะเป็นแบบประกบลงไปกับโครงของเครื่อง ไม่เหมือนกับ Matebook D14 หรือ D15

ฝาใต้เครื่องจะเป็นแผ่นโลหะประกบอีกชิ้น ดังนั้นบอดี้ส่วนล่างจึงขึ้นมีองค์ประกอบ 3 ชิ้น จากในภาพคุณจะเห็นว่า พัดลมระบายความร้อนถูกจัดวางไว้ทั้งสองฝั่ง หัวเว่ยอธิบายว่า พวกเขาออกแบบให้พัดลมมีใบพัดที่หนาขึ้น 40% มีจำนวนมากกว่าเดิมเกือบเท่าตัว ใช้ฮีตไปป์ 2 เส้น ขณะเดียวกัน ฐานยางด้านบนยังถูกปรับความสูงเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศ ส่วนจะระบายความร้อนได้ดีแค่ไหน คงต้องรออ่านจากรีวิวฉบับเต็ม

พลังประมวลผลที่คาดหวังได้
การใช้ซีพียูโมบายล์เวอร์ชัน High Performance กับตัวเครื่องบางๆ ขนาดนี้มักไม่ค่อยเห็นในตลาด ในเรื่องประสิทธิภาพจริงๆ เราคงบอกอะไรมากไม่ได้ เนื่องจากมันต้องดูเรื่องการระบายความร้อนประกอบด้วย แต่หากมองกันตามสเปคในกระดาษและมันทำงานได้เต็มที่ ถือได้ว่าทรงพลังเอาเรื่องเลย ซีพียูตัวนี้ทำงานกับแอพพลิเคชันหนักๆ ได้ดีไม่แพ้ซีพียูเดสก์ทอประดับกลางเลย ที่สำคัญ หัวเว่ยประกบมันเข้ากับแรมขนาด 16GB และไดรฟ์ NVMe SSD (WD SN730 512GB) ซึ่งเฉพาะสตอเรจตัวนี้สามารถทำงานได้ดีมาก ด้วยตัวเลขอ่านเขียน 3,400 MB/s และ 2,700 MB/s  ตามลำดับ นอกจากนั้นแล้วในกรณีที่ต้องการใช้พลังประมวลผลเต็มที่ หัวเว่ยจะมีโหมด Performance Mode เอาไว้ให้ด้วยการกดปุ่ม Fn+P นอกจากจะทำงานได้เต็มที่แล้ว พัดลมยังหมุนเต็มที่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าผิดหวังก็คือ คุณไม่สามารถอัพเกรดหน่วยความจำแรมได้อีกแล้ว รวมถึงชิปไวร์เลสที่เป็นเพียงแค่มาตรฐาน AC  (Realtek 8822CE PCI-E NIC)

ขนาดแบตเตอรี่และราคาเปิดตัว
เพื่อให้โน้ตบุ๊กทำงานได้ยาวนาน หัวเว่ยเลือกใส่แบตเตอรี่ขนาด 56 Wh ขณะเดียวกันชิป Ryzen 4000 ก็ขึ้นชื่อเรื่องการจัดการพลังงานและใช้พลังงานที่ประหยัด แม้จะเป็นรุ่นรหัส H แม้ว่าเราจะไม่ทราบว่าจะทำงานได้นานแค่ไหน แต่หัวเว่ยก็เคลมว่า หากเป็นการเล่นไฟล์วิดีโอระดับ 1080p หรือทำงานแบบ Office Work มันจะใช้งานได้นานถึง 10 ชั่วโมง

ส่วนราคาจำหน่าย Huawei Matebook D14 จะมีอยู่ด้วยกัน 2 รุ่น คือ รุ่นที่ใช้ซีพียู Ryzen 5 4600H และ Ryzen 7 4800H โดยที่ใช้สตอเรจขนาด 512GB และแรม 16GB เท่ากัน (รุ่น Ryzen 5 4600H อาจไม่ได้ใช้ไดรฟ์ WD SN730) สนนราคาวางจำหน่ายอยู่ที่ 25,990 บาท และ 29,990 บาท

ในช่วงนับจากวันเปิดตัวเป็นต้นไป ทางหัวเว่ยวางโปรโมชั่นของแถมได้อย่างน่าสนใจวมมูลค่า 5,579 บาท  ได้แก่ Huawei FreeBuds 3, Backpack และ Huawei Mouse

ความคิดเห็นของ Techmayday
ค่อนข้างยากมากที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับโน้ตบุ๊กเครื่องนี้ แต่อย่างน้อยมันก็ชัดเจนว่า Matebook 14 เป็นโน้ตบุ๊กสายทำงานประสิทธิภาพสูง แกร่ง ทรงพลัง และไม่ใช่โน้ตบุ๊กสายเกมมิ่ง สิ่งที่น่าห่วงก็คือ มันอาจจะทำงานหนักๆ ได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากชุดระบายความร้อนได้รับการออกแบบภายใต้เงื่อนไขที่ยากกว่าโน้ตบุ๊กปกติ หรือมันต้องบางไปด้วย ดังนั้นหากตัดประเด็นนี้ออกไปและบอกกับของแถม มันก็เข้าขั้นคุ้มค่าเช่นกัน