รีวิว Dell Alienware M15 R5 Ryzen Edition : ดีและเจ๋งสุดๆ ในเกือบทุกมิติ

PROS

ซีพียูประสิทธิภาพสูง
เล่นเกมระดับ Full HD ได้ดีมาก
อัพเกรดพื้นที่เก็บข้อมูลได้
รองรับ Nvidia G-Sync

CONS

Trackpad ตอบสนองได้ไม่ดีนัก
ทำงานด้วยแบตเตอรี่ได้ในเกณฑ์เฉลี่ย

ครั้งสุดท้ายที่แบรนด์ Alienware ใช้ชิปของ AMD ในโน้ตบุ๊กเกมมิ่งก็ต้องย้อนไปถึงปี 2007 การกลับมาสู่ AMD อีกครั้งในรอบ 14 ปีนี้เป็นเหมือนกับการยอมรับประสิทธิภาพของชิป AMD Ryzen ภายใต้ยุคสถาปัตยกรรม Zen 3 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการนำเอาชิปทรงพลังอย่าง Ryzen 7 5800 มาจับคู่กับชิปกราฟิกอย่าง RTX3070 ที่ถือว่าเป็นคู่หูที่เจ๋งมากๆ เมื่อมองถึงขีดความสามารถในการเล่นเกม เพียงแต่ด้วยระดับราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าแบรนด์คู่แข่งเอามากๆ ก็ทำให้เกิดคำถามมากมายถึงความคุ้มค่าของโน้ตบุ๊ก Alienware M15 R5 Ryzen Edition 
 
Key Specifications
  • AMD Ryzen 7 5800H, 8C/16T
  • 32GB, DDR4-3200MHz (2x DIMMs)
  • M.2 NVMe 1TB, R/W Rates : 3,500 /2,900MB/s
  • Radeon Vega + GeForce  RTX3070, 8GB GDDR6-256bit
  • 15.6″ QHD (2560x1440) IPS, 240Hz NVIDIA G-SYNC 
  • 1x HDMI, 2x USB 3.2 Gen1 Type-A, 1x USB 3.2 Gen2 Type-A, 
  • 1x USB 3.2 Gen2 Type-C With PD Charging
  • 1x RJ45 Ethernet, 1x 3.5mm combo Jack
  • Webcam : Alienware HD+IR
  •  Intel Killer Wi-Fi 6 AX1650, Bluetooth 5.0
  •  Lithium-Ion 86 Wh, 240 W Power adapter
  • 4-Zone RGB Lighting  Keyboard, HD webcam
  • Windows 10 Home Single Language 64
  • Microsoft Office Home and Student 2019
  • Weight  2.52 kg.
  • Size 22.85 x 356.2 x 272.5 mm.
  • Price: 90,990 Baht
 
ภายในโน้ตบุ๊ก Alienware M15 R5 ตัวที่ได้รับมาทดสอบบรรจุชิป Ryzen 7 5800H พร้อมกับชิปกราฟิก Geforce RTX 3070 และหน่วยความจำแรมขนาด 32GB รวมถึงไดรฟ์ NVMe SSD ขนาด 512GB พร้อมกับวางจำหน่ายด้วยราคา 90,990 บาท (www.bnn.in.th) ขณะที่แบรนด์อื่นๆ ที่ใช้ชิปประมวลผลและชิปกราฟิกรุ่นเดียวกันนี้ก็ยังมีราคาต่ำกว่าอย่างเช่น  Asus Notebook ROG Strix G15 หรือในช่วงราคาใกล้กันอย่าง ROG Zephyrus Duo ก็มาพร้อมกับชิปประมวลผลรุ่นสูงกว่า ตรงจุดนี้ยังไม่รับรวมโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่ใช้ชิปของทางฝั่งอินเทลและโน้ตบุ๊กตระกูลกึ่งประหยัดอย่าง TUF Gaming ที่ถูกกว่าหลายหมื่นบาท คำถามคือ อะไรคือข้อแตกต่างที่ให้  Alienware M15 R5 Ryzen Edition มีค่าตัวสูงกว่า ?

 

ดีไซน์ที่ถ่ายทอด DNA มาจากอดีต
การออกแบบของ Alienware M15 R5 ยังคงรักษากลิ่นอายของความเป็นเอเลี่ยนแวร์เอาไว้ได้ดี โดยเฉพาะดีไซน์บริเวณบานพับ การสกรีนชื่อเอาไว้ใต้หน้าจอ ช่องแอร์โฟวลแบบรังผึ้ง รวมถึงเส้นไฟ RGB ที่บริเวณสันของตัวเครื่องทางด้านหลัง ซึ่งเวอร์ชัน Ryzen Edition จะไม่มีตัวเลือกสีอื่นหรือมีสีแบบทูโทน มีเฉพาะสีเทาเข้มหรือ Dark Gray ที่เดลล์นำเสนอด้วยประโยค “Dark Side of the Moon” ขณะที่ฝาหลังยังคงมีการสกรีนตัวเลข  15 แบบกราฟิกลายเส้นและโลโก้ Alienware แบบกึ่งโปร่งแสง สามารถปรับแต่งสีไฟ RGB เปลี่ยนสีได้ พื้นผิวของฝาหลังมีผิวเนียนเรียบ กึ่งเงากึ่งด้าน และเปรอะรอยนิ้วมือได้ยากมาก

บานพับของ Alienware M15 R5 เปิดด้วยมือเดียวได้ไม่ยาก ความแข็งแรง ความยืดหยุ่นของทั้งบานพับและฝาหลังอยู่ในขั้นที่ดี แม้ว่าขณะเปิดฝาจะมีเสียงกลไกดังเล็กๆ น้อยก็ตาม กรอบจอออกแบบให้บางตามสมัยนิยม โดยที่กรอบจอด้านบนทำการติดตั้งกล้องเว็บแคม 720p และเซนเซอร์ IR ซึ่งทำให้สามารถใช้ฟีเจอร์การแสกนใบหน้าเพื่อเข้าสู่ระบบปฏิบัติการได้  เลย์เอาต์ของคีย์บอร์ดมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมพอสมควรจากรุ่นปี 2019 มีการเพิ่มปุ่มปิด/เปิดระบบเสียงทางขวามือเข้ามา มีการจัดเรียงปุ่มแอร์โรลให้อยู่ในกรอบ ดังนั้นขนาดของปุ่มจึงมีขนาดเล็กลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กเกมมิ่งหลายๆ ตัว ขณะที่ปุ่มคีย์บอร์ดเป็นปุ่มแบบสวิทช์สแตนเลสผลิตโดยบริษัท Cherry มีระยะการกดลึกเพียง 1.8 มม. และรองรับการกด 15 ล้านครั้ง ส่วนทัชแพดมีขนาดไม่ใหญ่โต แต่ก็ไม่มีอะไรให้น่าชมเชย

แน่นอนว่าคีย์บอร์ดนี้แทบจะไม่มีอะไรให้ติติงในแง่ของการตอบสนองการกด  ถึงอย่างนั้นก็มีเรื่องที่น่าหงุดหงิดใจก็คือ ปุ่มฟังก์ชันคีย์ต่างๆ เป็นการสกรีนเฉยๆ ไม่มีไฟ RGB เล็ดลอดออกมา ดังนั้นเมื่อคุณปิดไฟในห้องและใช้งานโน้ตบุ๊ก คุณจะไม่เห็นว่า ปุ่มเพิ่มลดความสว่างหน้าจอมันอยู่ตรงไหน

Alienware M15 R5 Ryzen Edition ออกแบบมาให้ดูบางกว่าโน้ตบุ๊กเกมมิ่งหลายๆ ตัว ฝั่งซ้ายมือของผู้ใช้มีพอร์ตเพียงแค่ 2 ชนิด ส่วนอีกฝั่งหนึ่งติดตั้งพอร์ต USB-A จำนวน 2 พอร์ต ส่วนที่เห็นช่องเล็กๆ เป็นช่องระบายลมร้อนที่ถูกพัดออกมาจากพัดลมภายใน ขณะที่ด้านหลังยังคงไว้ซึ่งเส้นไฟ RGB วางรอบสันตัวเครื่อง ตรงนี้ปรับเปลี่ยนสีได้อิสระจากซอฟต์แวร์ AlienFX Lighting Zone แต่สิ่งที่อยากให้สังเกตก็คือ เรื่องของพอร์ตเชื่อมต่อที่มีเพียง 3 ชนิด คือ HDMI, USB-A และ USB-C ซึ่งควรจะติดตั้งเข้าไปให้มากกว่านี้เมื่อพิจารณาจากพื้นที่ที่เหลืออยู่ สามารถติดตั้งพอร์ตลงไปอีก 2 พอร์ตได้สบายๆ ไม่เบียด

หน้าจอ 2K คมชัด พร้อม NVIDIA G-SYNC
สเปคของหน้าจอที่เดลล์มอบให้กับ Alienware M15 R5 Ryzen Edition ถือว่าน่าประทับใจมากในแง่ของการใช้งานทั่วไปและการเล่นเกม เต็มไปด้วยสีสันภาพที่ดีเป็นมาตรฐานอย่างขอบเขตสี sRGB 100% จำนวนพิกเซลที่หนาแน่นในพื้นที่ขนาด 15.6 นิ้ว รองรับรีเฟรชเรตได้สูงถึง 240 Hz และยังเป็น Adaptive Sync อย่าง NVIDIA G-SYNC ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้โน้ตบุ๊กตัวนี้มาพร้อมกับราคาที่สูงเอาเรื่อง

เปิดฝาหลังออกมาเราก็ยังไม่เห็นชุดระบายความร้อนที่อยู่ใต้แผ่นพลาสติกสีดำ เนื่องจากมันปิดทับไว้อย่างแน่นหนา สิ่งที่ทราบก็คือ ชิปกราฟิกและชิปประมวลผลจะแยกกันระบายความร้อนด้วยพัดลมคนละตัว แผ่นพลาสติกสีดำที่มองเห็นจะทำหน้าที่เก็บกักความร้อนให้อยู่ในบริเวณดังกล่าง ลดการกระจายความร้อนไปยังส่วนอื่นๆ ของเครื่อง นอกจากนั้นในส่วนของสตอเรจเองก็ติดตั้งแผงระบายความร้อนทองแดงมาให้ด้วย แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการออกแบบเอามากๆ

เปิดฝาหลังออกมาเราก็ยังไม่เห็นชุดระบายความร้อนที่อยู่ใต้แผ่นพลาสติกสีดำ เนื่องจากมันปิดทับไว้อย่างแน่นหนา สิ่งที่ทราบก็คือ ชิปกราฟิกและชิปประมวลผลจะแยกกันระบายความร้อนด้วยพัดลมคนละตัว แผ่นพลาสติกสีดำที่มองเห็นจะทำหน้าที่เก็บกักความร้อนให้อยู่ในบริเวณดังกล่าง ลดการกระจายความร้อนไปยังส่วนอื่นๆ ของเครื่อง นอกจากนั้นในส่วนของสตอเรจเองก็ติดตั้งแผงระบายความร้อนทองแดงมาให้ด้วย แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการออกแบบเอามากๆ

ความสามารถในการอัปเกรดก็คือ ในส่วนของสล็อตแรมที่มีให้จำนวน 2 สล็อต และสล็อต M.2 สามารถติดตั้งได้ทั้งขนาด 2230 และ 2280 โดยมีน็อตรองรับให้เรียบร้อยแล้วบริเวณเหนือแบตเตอรี่

ถ้าเป็นภาพระดับ Full HD เล่นเกมได้เหลือๆ

ก่อนจะไปที่ประสิทธิภาพในการเล่นเกมมาดูในส่วนของซีพียูกันก่อน จากกราฟจะเห็นว่าโน้ตบุ๊ก Alienware M15 R5 Ryzen Edition ไม่ได้ให้พลังประมวลผลที่เหลือล้นอะไรเมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กเกมมิ่งในอดีตที่วางไว้ไม่เกิน 30,000 บาท นั่นเป็นเพราะซีพียูตัวนี้จัดอยู่ในกลุ่มประสิทธิภาพสูงอยู่แล้วและด้วยความเป็นซีพียูเจนเนอร์เรชั่นที่ยังคงใหม่ในเวลานี้ (แม้จะเปิดตัวมาเกือบจะ 1 ปีแล้ว) ประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับแอพพลิเคชันเกมก็ยกระดับผลลัพธ์ได้ชัดเจนจากโปรแกรมเบนช์มาร์ก ตรงนี้ก็ต้องให้เครดิตขนาดหน่วยความจำที่มากถึง 32GB ด้วย

ประสิทธิภาพโดยรวมของโน้ตบุ๊ก  Alienware M15 R5 Ryzen Edition เรียกว่ามี 2 โหมดก็ได้ โดยโหมดที่เรียกกันว่า High Performance ที่เป็นการบูสต์พัดลมให้หมุนเต็มที่ทันทีนั้นก็ส่งผลให้ระบบทำงานได้เต็มที่มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น PCMark10 ทำคะแนนไปได้ 6,559 ต่อ 7,309 คะแนน หรือ 3DMark TimeSpy ที่ 9,743 ต่อ 10,312 คะแนน หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ประมาณ 5-11 เปอร์เซ็นต์  ส่วนคะแนน 3DMark Fire Strike ก็พุ่งไปถึง 23,325 คะแนน คำถามต่อมาก็คือ ถ้าเล่นเกมจริงๆ จะเป็นอย่างไร

กราฟนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า โน้ตบุ๊กเกมมิ่งระดับสูง (ที่ยังไม่สุดทาง) กับระดับเริ่มต้นนั้นแตกต่างกันมากแค่ไหน ถ้าจะให้บอกตรงๆ ก็คือ ต่างกันมากตั้งแต่ 53% ไปจนถึง 142% อีกมุมหนึ่งก็คือ ถ้าเป็นการเล่นเกมที่แสดงผลความละเอียดระดับ Full HD แล้ว จะเปิดคุณภาพเท็กซ์เจอร์แบบเต็มที่ของเกมก็เล่นได้ไหลลื่นไม่มีปัญหา ส่วนการเล่นเกมเต็มความละเอียดของจอหรือ 2K แล้วก็ทำได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกมออนไลน์ยอดนิยมทั้ง Varolant, Battlefield V, CoD Warzone, APEX ก็แทบจะเปิดทุกอย่างได้หมด พร้อมแสดงผลเกมด้วยความเร็วภาพเกินกว่า 100 ภาพต่อวินาทีแทบทั้งหมด 

จัดการกับความร้อนได้ดีกว่าที่คิด
ในโหมดปกติโน้ตบุ๊ก Alienware M15 R5 Ryzen Edition นั้นมีเสียงรบกวนที่ต่ำมากกว่าโน้ตบุ๊กเกมมิ่งทั่วไป แต่นั่นก็ทำให้มันมีความร้อนขณะทำงานที่ค่อนข้างสูงเมื่อทำงานอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมหรือทำงานอื่นๆ สังเกตจากภาพสถิติ ในขณะที่อยู่ไม่มีงานอะไร โน้ตบุ๊กมีความร้อนของแกนซีพียูต่ำสุด 53.6 องศาเซลเซียส และสูงสุดที่ 100 องศาเซลเซียส ถึงอย่างนั้นในความจริงมันร้อนเกิน 100 องศาเซลเซียสไปแล้ว และซีพียูเองก็ลดความเร็วตัวเองลงตามที่ถูกออกแบบมา ส่งผลต่อการเล่นเกมหรือไม่ คำตอบคือ ส่งผลแน่นอน แต่ไม่ใช่ทุกเกมที่จะเป็นเช่นนั้น เนื่องจากเกมทุกเกมไม่ได้มีการเรียกใช้ซีพียูอย่างเต็มที่ตลอดเวลาในการเล่นเกมจริงๆ

ส่วนในกรอบสีฟ้าเป็นการเปิดโหมดระบายความร้อนเต็มที่หรือ High Performance แล้วแต่จะเรียกก็แล้วกัน เห็นได้ชัดว่าภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ความร้อนของซีพียูนั้นดูดีกว่าในทุกๆ จุด ทั้งสูงสุดและต่ำสุด ขณะที่ผลของค่าเฉลี่ยของภาพเบนช์มาร์กเกม Shadow of the tomb raider ก็ 90 ต่อ 86 ภาพต่อวินาที ภายใต้ความละเอียด 2,560x1,440 พิกเซล คุณภาพ Highest และปิด DLSS เอาไว้ นอกจากทำงานดีขึ้นแล้ว เสียงของพัดลมก็ดังมากขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว

บทสรุปและความคิดเห็น
ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตัวเครื่อง การเลือกองค์ประกอบต่างๆ มาสร้างเป็น Alienware M15 R5 Ryzen Edition รวมถึงผลลัพธ์ในการเล่นเกมนั้นแทบไม่มีอะไรที่ด้อยสักอย่าง จะมีเพียงบางฟีเจอร์ที่ไม่น่าประทับใจเล็กๆ น้อยๆ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เรื่องของราคาที่ถือว่ากระโดดไปไกลเมื่อเทียบกับแบรนด์คู่แข่ง เมื่อนำเอาเฉพาะองค์ประกอบหลักๆ อย่างชิปประมวลผลและกราฟิกมาพิจารณา แน่นอนว่าในเรตราคานี้ แบรนด์คู่แข่งจะได้ขุมพลังภายที่ขยับไปอีกขั้นเลย สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นประเด็นเล็กๆ ไปเลยเมื่อเทียบกับความชื่นชอบในตัวแบรนด์เอเลี่ยนแวร์

Special Thanks: Dell Thailand