รีวิว TP-Link Archer AX73 : รุ่นน่าใช้ สัญญาณเสถียรไว้ใจได้

PROS

ช่องต่อแลนรองรับการทำ Link Aggregation
สนับสนุนฟีเจอร์ Onemesh
ควบคุมการทำงานผ่านแอพฯ Tether
รองรับการสร้างเน็ตเวิร์กสตอเรจ

CONS

ฟีเจอร์ HomeShield Pro ต้องจ่ายรายเดือน

 เรียกได้ว่าเปิดตัวมาอย่างเงียบเชียบสำหรับเราเตอร์ TP-Link Archer AX73 แน่นอนว่า มันเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของเราเตอร์ระดับสูงในกลุ่มราคาไม่เกิน 5,000 บาทด้วยตัวเลขความเร็วอย่าง AX5400 ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลข AX6000 ที่ก่อนหน้านี้ถูกสื่อสารในตลาดว่าเป็นสเปคเทพ ถึงอย่างนั้นเราเตอร์ตัวใหม่สุดของ TP-Link ก็มีหลายจุดที่ปรับปรุงมาได้อย่างน่าสนใจ อาทิ การใช้ระบบขยายสัญญาณไร้สายแบบ High-Power FEM เพื่อแก้ปัญหาการกระจายสัญญาณ การรองรับ OneMesh ที่ทำให้เราเตอร์และเรจน์เอ็กซ์เทนเดอร์ของ TP-Link กลายเป็นอุปกรณ์ Mesh Wi-Fi รวมถึงความครบครันของเทคโนโลยีอื่นๆ ในยุค Wi-Fi 6  แต่ก่อนจะไปลงลึก นี่คือ ข้อมูลทางเทคนิคคร่าวๆ ของเราเตอร์ตัวนี้

Key Specification

  • ราคาโดยประมาณ: 4,590 บาท
  • 5 GHz: 4804 Mbps (802.11ax, HE160)
  • 2.4 GHz: 574 Mbps (802.11ax)
  • 6× Fixed High-Performance Antennas
  • CPU: BCM6750 SoC, 1.5GHz @5Cores
  • Rom: 16MiB / Ram 512MiB
  • Wi-Fi 6, HE 160, VHT160, 1024 QAM
  • DFS Wi-fi frequency, LAN Link Aggregation
  • OFDMA, 4x4 MU-MIMO, Beamforming,
  • HomeShield Security, OpenVPN. PPTP
  • 1x Gigabit WAN port , 4x Gigabit LAN port, 1x USB3.0 port
  • Apple Time Machine, FTP Server, Media Server

ภายใต้สเปคความเร็วของเราเตอร์ Archer AX73 มันคือการผสมผสานของชิปเน็ตเวิร์ก 2 ตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นอย่าง BCM43684 เคยถูกใช้งานในเราเตอร์ตัวท็อป Archer AX11000 และ Archer AX6000 โดยทำหน้าที่โอเปอร์เรตเน็ตเวิร์กมาตรฐาน 802.11ax บนคลื่น 5 GHz ด้วยคอนฟิก 4x4:4 Spatial Streams ส่วนคลื่น 2.4 GHz เป็นหน้าที่ของชิป BCM6750 ที่คอนฟิกมาแบบ 2x2:2 Spatial Streams ถึงอย่างนั้นในปี 2021 อุปกรณ์ที่รองรับเสาสัญญาณ 4x4 MU-MIMO ที่จะเชื่อมต่อความเร็วสูงสุดได้ถึง 4804 Mbps ก็ยังคงไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ 2x2 MU-MIMO

การที่เราเตอร์ Archer AX73 มี Spatial Stream ให้ 4 ช่อง (บนคลื่น 5GHz) มันก็ส่งผลดีต่อผู้ใช้เช่นกันแม้ว่าอุปกรณ์จะมีเสาสัญญาณ 2x2 MU-MIMO ทำให้ได้ความเร็วครึ่งเดียวที่เราเตอร์ทำได้บนคลื่น 5GHz  (2402 Mbps จาก 4804 Mbps) แต่นั่นก็ทำให้อุปกรณ์ตัวที่ 2 ไม่ต้องไปแบ่งใช้ Spatial Stream ชุดแรก เนื่องจากยัง Spatial Stream ให้ใช้แบบโล่งๆ อีก 2  Stream อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ  สมมุติว่าในบ้านมีอุปกรณ์ 6 ตัว ก่อนหน้านี้เราเตอร์ทั่วไปที่ทำงานแบบ 2 เสาพร้อมกันหรือ MIMO จะรับมือกับอุปกรณ์ 6 ตัวหรือสัดส่วน 2 ต่อ 6  แต่เราเตอร์ Archer AX73 ที่ทำงานแยก 2 เสา 2 ชุดได้ก็จะกลายเป็น 2 เสาต่อ 3 อุปกรณ์ ส่งผลให้เน็ตเวิร์กไร้สายมีความแออัดน้อยกว่า ความไหลลื่นของข้อมูลระหว่างเราเตอร์และไคลเอนท์มีมากขึ้น ดังนั้นกรณีที่บ้านมีจำนวนอุปกรณ์เยอะๆ ใช้งานพร้อมๆ กัน เราเตอร์ลักษณะนี้จะตอบสนองได้ดีกว่าเราเตอร์ที่มีช่อง Spatial Streams น้อยกว่า

หน้าตาแปลกเหมือนลายกระเบื้อง

โดยส่วนตัวเราชอบดีไซน์ของเราเตอร์ Archer AX50 มากกว่า ส่วน Archer AX73 จะดูแปลกๆ มองแล้วเหมือนกับลวดลายกระเบื้องหลังคาโบสถ์ในสไตล์โมเดิร์นผสมกับการห่มสไบเฉียง ทว่าเบื้องหลังของดีไซน์นี้มันคือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายความร้อน ทั้งในแง่ของจำนวนช่องอากาศไหลเข้าออก ระยะห่างของบอดี้พลาสติกกับแผงวงจร น่าเสียดายเล็กน้อยตรงที่น่าจะเจาะช่องอากาศไหลเวียนบริเวณส่วนหน้าของเครื่องเพิ่มเติม อาจจะส่วนเฉพาะด้านหน้าก็ได้ เนื่องจากมันมีพื้นที่ค่อนข้างมาก


เสาสัญญาณทั้ง 6 ต้นถอดเปลี่ยนไม่ได้และเป็นเสาทรงสีเหลี่ยมข้าวหลามตัด ปรับหมุนได้อิสระ แต่ไม่ได้โดยรอบหรือง่ายๆ ก็คือ มันหมุนพับให้ชี้ไปทางด้านล่างของเราเตอร์ไม่ได้นั่นเอง ขณะที่การเชื่อมต่อด้านหลังก็มาเกือบครบความต้องการมีปุ่มปิดไฟ LED และปุ่มอื่นๆ ที่จำเป็น ตลอดจนช่องต่อ GbLAN และ WAN

ช่องต่อ USB 3.0 อยู่ทางด้านข้างของเครื่อง ขณะที่ด้านใต้เครื่องก็มีช่อง Wall Mount ที่ติดตั้งแบบแขวนได้ 2 ทิศทาง สังเกตสติกเกอร์จะมีรหัสเครือข่ายไร้สายให้เข้าไปตั้งค่าเริ่มต้นใช้งานได้เลย

ติดตั้งง่าย ไม่ว่าจะผ่านสมาร์ทโฟนหรือแลปทอป
สำหรับคนที่คิดจะซื้อเราเตอร์ตัวนี้ คงไม่มีอะไรต้องให้พูดถึงเรื่องการติดตั้งการใช้งาน เพราะมันเป็นรูปแบบดั้งเดิมในเราเตอร์ตระกูล Archer AX ทุกรุ่น มีตัวช่วยในการตั้งค่าทีละขั้นตอน เข้าถึงได้ทั้งเครื่องแลปทอป เครื่องพีซีผ่านสายแลน หรือแม้กระทั่งผ่านสมาร์ทโฟนบนบราวเซอร์ ใช้งานได้ง่ายเพราะเว็บอินเทอร์เฟสนี้จะแสดงผลแบบไดนามิกตามอุปกรณ์

ส่วนประกอบในหน้าหลักยังคงเหมือนเดิม มีโมดูล Mesh Device และ Homeshield เพิ่มเติมเข้ามา และจากภาพที่เห็นคือ ข้อมูลรายละเอียดการทำงานของเราเตอร์ มีการแสดงโหลดของซีพียูและปริมาณหน่วยความจำที่ใช้งานไป รวมถึงรายงานจำนวนไคลเอนท์ที่เชื่อมต่ออยู่ด้วย และด้วยความที่เว็บอินเทอร์เฟสไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมากนัก เราจะขอโฟกัสไปที่ส่วนสำคัญและฟีเจอร์ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามา

ในส่วนของการตั้งค่า Wireless สามารถเลือกเปิดปิดฟีเจอร์ได้อาทิ OFDMA ที่ควรเปิดใช้งาน หรือ TWT ที่ช่วยยืดการทำงานด้วยแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ 802.11ax อย่างเช่นสมาร์ทโฟนหรือโน้ตบุ๊ก หรือ Smart Connect เพื่อทำการรวมคลื่น 2.4 GHz และ 5GHz เป็นเครือข่ายหรือ SSID เดียวกันและเราเตอร์จะเลือกการเชื่อมต่อความถี่ให้ตามความเหมาะสม ขณะที่ทางฝั่งขวาจะเห็นว่า เราเตอร์เปิดใช้แบนด์วิดธ์กว้างสูงสุด 160 MHz มีช่องสัญญาณกว้างไปจนถึงช่อง 128 DFS  และกำหนดมาตรฐานใช้งานได้ทั้งแบบ ax อย่างเดียว แบบผสมไม่ใช้งาน ax และแบบผสมที่รวมเอามาตรฐาน ax เข้าไปด้วย

กรณีของ OneMesh จะทำงานได้ก็จะต้องมีเราเตอร์ Mesh หรือพวก  Range Extender ที่สนับสนุน ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์โมบายล์ของผู้ใช้สลับโหนดของเน็ตเวิร์กเดียวกันแบบอัตโนมัติด้วยความรวดเร็ว โดยรายชื่ออุปกรณ์จะมีลิงก์ให้ตรวจสอบ คร่าวๆ ก็คือ RE505X V1, RE605X V1, , Archer AX90 V1, Archer AX20 V1 ส่วน Archer AX11000 V1ม Archer AX6000 V1 Archer AX10 V1 อยู่ในแผนการพัฒนา แต่ก็ไม่ยืนยันเต็มร้อยนะครับ ขณะที่ Archer AX50 พลาดหวังไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนการติดตั้งอุปกรณ์นี้เข้ามาในระบบ เราเตอร์เพียงแค่เปิดฟีเจอร์นี้เอาไว้เท่านั้น จากนั้นทำการเซ็ตอัพจาก Range Extender เข้ามาเกาะเครือข่ายเพียงอย่างเดียว

HomeSheild ฟีเจอร์ที่มีประโยชน์ในบ้านที่มีหลาย Gen
ฟีเจอร์ HomeShield จะตั้งค่าผ่านเราเตอร์โดยตรงไม่ได้เช่นเคย กำหนดค่าการทำงาน ตั้งกฎ กำหนดกลุ่มผู้ใช้จะดำเนินการผ่านแอพฯ Tether เท่านั้น น่าเสียดายที่ฟีเจอร์ดังกล่าวเปิดให้ใช้งานได้อย่างจำกัด หากต้องการจะเพิ่มความสามารถให้ครอบคลุมจะต้องทำการอัพเกรดไปใช้  HomeShield Pro โดยมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 179 บาท และจะต่อสัญญาบริการอัตโนมัติจนกว่าผู้ใช้จะยกเลิก

อย่างไรก็ดี ฟีเจอร์พื้นฐานที่มีให้ก็สามารถใช้งานได้น่าพอใจ มีระบบสแกนเพื่อมองหาความเสี่ยงของความปลอดภัยของเครือข่ายและทำการออพติไมส์ประสิทธิภาพของเน็ตเวิร์ก การทำ QoS  การบล็อกเว็บไซต์ที่ไม่พึ่งประสงค์ การคัดกรองคอนเทนต์หลากหลายประเภท ฟีเจอร์กำหนดเวลา Bedtime แน่นอนว่า บางฟีเจอร์ที่ควรจะทำได้อย่างการจำกัดระยะเวลาใช้งาน หรือ Real-time Protection ก็น่าจะเปิดให้ใช้งานได้เลย ไม่ต้องสมัครสมาชิก HomeShield Pro

สิ่งที่ชอบก็คือ การสร้างโปรไฟล์ผู้ใช้ในครอบครัวมาให้เลย ซึ่งมีการตั้งค่าคร่าวๆ มาให้แล้ว ที่เหลือไปปรับค่าตามความเหมาะสมของแต่ละบ้านและใส่รายชื่อเว็บไซต์ที่ต้องการบล็อก

น่าประทับใจแม้จะทำงานในโหมด 2x2 MU-MIMO
ก่อนหน้านี้เราเคยทดสอบประสิทธิภาพของเราเตอร์ในการส่งผ่านข้อมูลในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งในครั้งนี้เราใช้การวัดในหลายๆ จุดสำคัญของบ้าน โดยใช้เครื่องมือที่คุ้นเคยบนหน้าเว็บไซต์ www.speedtest.net พร้อมกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ความเร็ว 1 Gbps

ทั้งหมดในภาพนี้คือ สภาพแวดล้อมชั้น 1 ของบ้านไม้ 2 ชั้น มีผนังไม้ ตู้เย็น เฟอร์นิเจอร์สิ่งกีดขวางมากมาย และนี่คือ ผลทดสอบของคลื่นความถี่ 5GHz และเปิดใช้แบนด์วิดธ์ 160 MHz หรือพูดง่ายๆ เป็นค่าที่ให้ความเร็วสูงสุดของเราเตอร์ Archer AX73

การทดสอบโดยใช้โน้ตบุ๊ก Legion  5 ที่ติดตั้งชิปเน็ตเวิร์ก Intel Wi-Fi 6  AX200 ในภาพรวมถือว่า น่าประทับใจมากๆเนื่องจากความเร็วขาดาวน์โหลดในจุดที่ไกลจากเราเตอร์อย่างจุด E มีค่าความเร็ว 426 Mbps ส่วนความเร็วสูงสุดในจุด A ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นค่าที่น่าตกใจแต่อย่างใด เพราะเรามองว่ามันสามารถเร็วได้กว่านี้ เนื่องจากมีปัจจัยความเร็วภายในเครือข่ายไฟเบอร์ของผู้ให้บริการในขณะนั้นด้วย


ขณะที่คลื่น 5GHz เปิดใช้แบนด์วิดธ์กว้าง 80MHz ความเร็วสูงสุดที่ทำได้ในพื้นที่ A นั้นต่ำกว่ากราฟด้านบนที่ใช้แบนด์วิดธ์ 160 MHz เช่นเดียวกับในทุกๆ ตำแหน่งของบ้าน ถึงอย่างนั้นจะเห็นว่า เราเตอร์ Archer AX73 นั้นมีค่าดาวน์โหลดทั่วทั้งบ้านไม่ต่ำกว่า 350 Mbps ถึงอย่างนั้นต้องเข้าใจก่อนว่า นี่เป็นการทดสอบของบ้านไม้ 2 ชั้น ดังนั้นในกรณีของบ้านปูนคอนกรีตผลที่ได้จะไม่เหมือนสภาพแวดล้อมเช่นนี้แน่นอน

ที่เราให้ความสำคัญในการทดสอบบนชั้น 2 ก็เพราะว่าเป็นห้องทำงาน โดยส่วนตัวรู้สึกว่า ความเร็วเฉลี่ยของเราเตอร์ตัวนี้ทำออกมาได้ดีกว่าเราเตอร์ AX ที่เราเคยทดสอบมาอยู่เล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้เราทดสอบเราเตอร์ AX20 จากชั้น 1 ขึ้นมาชั้น 2 ความเร็วบนคลื่น 5GHz และแบนด์วิดธ์ 80 MHz นั้นมีความเร็วดาวน์โหลดและอัพโหลดเหลือเพียง 360 / 252 Mbps ขณะที่เราเตอร์ Archer AX73 กลับทำได้อยู่ที่ 482/339 Mbps ยิ่งเป็นการเปิดใช้แบนด์วิดธ์ 160 MHz ก็ขยับขึ้นไปถึง 630 Mbps ได้ในบางช่วงเวลา ขณะที่คลื่น 2.4 GHz – 802.11ax บนชั้นนี้ทำความเร็วได้แค่ 151 Mbps / 111 Mbps แน่นอนว่ามันหดหายไปพอสมควร เมื่อเทียบกับชั้น 1 หน้าเราเตอร์เลยที่ทำได้ 233 Mbps / 239 Mbps จากภาพด้านล่างชี้ให้เห็นว่า การส่งข้อมูลจากไคลเอนท์บนชั้น 2 ผ่านเครือข่ายไร้สายส่งไปยังเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นทำได้อย่างมีสเถียรภาพ กราฟมีความชันในช่วงเริ่มต้นและเป็นเส้นตรงตลอดจนจบการทดสอบ

บทสรุปและความคิดเห็น
เหตุผลที่เราไม่ทดสอบคลื่น 2.4 GHz เพราะว่า บางบ้านมักใช้คลื่นนี้กับอุปกรณ์รุ่นเก่าที่ไม่ได้รองรับมาตรฐาน 802.11ax อย่างเช่น กล้องไอพี หรืออุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งมันไม่ได้มีประสิทธิภาพดีขึ้นในกรณีของ N-300 ส่วนการปรับมาใช้มาตรฐาน 802.11ax ความเร็วของมันก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่ออยู่ใกล้กับเราเตอร์และมันก็หดหายไปตามระยะทาง แถมในพื้นที่เดียวกันมันก็ทำประสิทธิภาพได้ด้อยกว่าคลื่น 5GHz ถึงอย่างนั้นมันจะให้ประโยชน์ชัดเจนขึ้นเมื่อสภาพแวดล้อมเป็นบ้านปูนคอนกรีต รวมถึงอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นมาตรฐาน AX  พิจารณาเฉพาะทรูพุคที่เราวัดได้ถือว่า ตอบสนองการใช้พื้นฐานของสมาร์ทโฟนได้สบายๆ

อย่างไรก็ดี ในแง่ของฟีเจอร์บางส่วน เราเตอร์ AX73 ได้รับการถ่ายทอดมาจาก AX50 หรือ AX20 ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ฟีเจอร์พื้นฐาน อินเทอร์เฟซ การตั้งค่าจึงมีความคล้ายหรือเหมือนกัน สิ่งที่ต่างก็คือ การสนับสนุน Onemesh ฟีเจอร์อย่าง Homecare ที่ปรับปรุงให้ใช้งานสะดวกขึ้น และมาพร้อมกับความเร็วบนมาตรฐาน AX ของคลื่น 5 GHz ที่น่าประทับใจ

ขอบคุณ: TP-Link Thailand