รีวิว Huawei MateView GT ให้ความอเนกประสงค์มากกว่าแค่แสดงผลเกม

PROS

ให้สีสันภาพและคอนทราสต์ที่ดี
มีลำโพงและไมโครโฟนในตัว
จอกว้างและโค้งรับการมองเห็น
เมนู OSD ภาษาไทย
มีฟีเจอร์ Low blue light

CONS

ปรับหมุนหน้าจอไม่ได้
การปรับแต่งสีภาพผ่าน OSD ทำได้จำกัด
ฟีเจอร์ HDR ไม่มีระบบปรับแสงแบบไดนามิก

การเริ่มต้นของหัวเว่ยในตลาดจอเกมมิ่งถือว่าเรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร ด้วยการเลือกกำหนดสเปคออกมาได้อย่างน่าสนใจอาทิ ค่าขอบเขตสี 90% DCI-P3 ค่ารีเฟรชเรต 165Hz และค่าความละเอียด 3,440x1,440 พิกเซลบนหน้าจอไวด์สกรีนแบบโค้ง 1500R ซึ่งให้ภาพที่โอบล้อมผู้เล่นได้มากขึ้น

จริงๆ แล้วในตลาดมีจอมอนิเตอร์เกมมิ่งขนาด34 นิ้วที่ใช้สัดส่วน 21:9 อยู่หลายรุ่น อย่างเช่น  Samsung G5 Odyssey 34, LG - UltraGear 34",  Acer Nitro XV340CK หรือ ASUS - TUF VG35VQ ฯลฯ ดังนั้นจอเกมมิ่ง Huawei MateView GT จึงมาพร้อมกับสเปคเบื้องต้นแบบพิมพ์นิยมสำหรับหน้าจอ 34 นิ้ว ส่วนเรื่องความแตกต่างนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า จะถูกใจหรือตรงใจเกมเมอร์มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง  

Specification

  • 34 inches, WQHD, 3440 x 1440 pixel, 21:9 Ratio
  • VA Panel, Refresh Rate 165 Hz, HWV6A25
  • Pixel Density 109 PPI, 0.232 mm. Dot Pitch
  • 4000:1 Contrast Ratio, HDR10
  • 350 cd/ m2 Brightness, Curvature 1500R
  • Bit Dept 10bit, 1.07 billion colours
  • 90% DCI-P3 (typical value)/ 100% sRGB
  • White LED edge light system
  • USB-C port x 1 (only for power supply)
  • Full-function USB-C port x 1
  • 2xHDMI, 2xDisplayPort
  • Dual full frequency speakers, 5W
  • RGB touch volume control, Customisable lighting
  • TÜV Rheinland Low Blue Light and
  • Flicker Free certification
  • AMD FreeSync Premium technology
  • 1xUSB-C to USB-C Cable, 1xUSB-C to USB-A Cable, 1xDisplay Port Cable
  • Price: 17,900 Baht

ดีไซน์แปลกตา เหมือนไม่ใช่เกมมิ่ง
ส่วนใหญ่จอเกมมิ่งมักจะดีไซน์ให้รูปลักษณ์ภายนอกออกแนวล้ำๆ แต่ Huawei MateView GT ดีไซน์เน้นความเรียบง่าย  ตั้งแต่แกนขาตั้งแบบตัว L ที่สามารถปรับระดับความสูงของจอได้ ฐานจอตัว T ที่เปลี่ยนเป็นซาวน์ดบาร์ไปในตัว ผิวบอดี้ราบเรียบไปถึงฝาหลัง มีเพียงจุดเดียวที่ให้ความรู้สึกร่วมของการเป็นจอเกมมิ่งก็คือ แสดงผลของไฟ RGB บนลำโพงซาวน์ดบาร์ที่เป็นกระแสนิยมของวงการคอมพิวเตอร์ในยุคนี้

หน้าจอขนาด 34 นิ้ว สัดส่วน 21:9 พร้อมความละเอียด WQHD และสนับสนุนรีเฟรชเรท 165 Hz ความกว้างของจอภาพที่ขยายพื้นที่ออกไปด้านข้างจะช่วยเพิ่มประสบการณ์ เพิ่มประโยชน์ต่อการเล่นเกมได้มากกว่าหน้าจอสัดส่วน 16:9 โดยเฉพาะจำพวกเกมรถแข่ง เกม FPS หรือแม้กระทั่งเกมแนว Adventure รวมถึง 3rd Personal Shooting  ถึงอย่างนั้นในแง่ของความคมชัดแล้ว  Huawei MateView GT ไม่ได้ให้ภาพที่เหนือกว่ามอนิเตอร์ขนาด 24 นิ้วแบบ Full HD มากนัก  เนื่องจากมันมีค่าความหนาแน่นพิกเซลอยู่ที่ 109 ppi (24 นิ้ว/ Full HD : 91.79 ppi) แน่นอนว่าขนาดจุดพิกเซลหรือ dot pitch เองก็ต่างกันเพียงเล็กน้อย (0.232mm. :0.28 mm)

การติดตั้งระหว่างหน้าจอและขาตั้งทำได้ง่ายด้วยแกนล็อกแบบสไลด์ สามารถใช้งานขาตั้งแบบอื่นๆ แทนได้ด้วย  VESA Mount ขนาด 100 มม.  ขณะที่พอร์ตเชื่อมต่อด้านหลังวางเรียงรายเกือบเต็มพื้นที่ โดยพอร์ต USB –C ฝั่งริมซ้ายมือจะมี ไว้สำหรับแหล่งพลังงานให้กับจอเท่านั้น ส่วน USB-C อีกหนึ่งฝั่งจะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับเครื่องพีซีเพื่อให้ Dual Microphone ทำงานด้วยสาย USB-C to USB-C หรือ USB-A to USB-C ที่มาในชุดอุปกรณ์ของจอ แต่หากไม่ได้เสียบกับเครื่องพีซี คุณสามารถใช้สาย USB-C to USB-C เป็นอีกหนึ่งช่องสัญญาณในการแสดงผลได้ ยกตัวอย่างโน้ตบุ๊กที่มีช่อง USB-C และใช้เป็นพอร์ตแสดงผลได้หรือพอร์ต Thunderbolt 3 เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว USB-C ยังสามารถชาร์จพลังงานให้กับอุปกรณ์ภายนอกได้ด้วย เพียงแต่จ่ายพลังงานได้อย่างจำกัดแค่ 10 วัตต์เท่านั้นตามข้อมูลทางเทคนิค

ซาวน์ดบาร์ที่ผสานไปกับฐานวางจอนี้ถือว่าออกแบบได้อย่างกลมกลืนไปกับเส้นไฟ RGB หรือ RGB Light Strip ซึ่งสามารถตั้งค่าให้ทำการปรับเปลี่ยนสี เอฟเฟ็กต์ ความเร็วของเอฟเฟ็กต์ได้ผ่านทางเมนู OSD นอกจากนั้นแล้ว RGB Light Strip เองยังทำหน้าที่เพิ่มลดเสียงของลำโพงผ่านการสั่งงานแบบสัมผัส ทั้งการสไลด์ไปมา การแตะตามสัดส่วนของเส้นไฟ กรณีต้องการ Mute ลำโพงก็เพียงเคาะ 2 ครั้งเบาๆ ลงไปบนเส้นไฟ RGB 

ภายในซาวน์ดบาร์มีการติดตั้งลำโพงกำลังขับ 5 วัตต์ จำนวน 2 ตัวแยกฝั่งซ้ายขวา คุณภาพเสียงโดยรวมถือว่าใช้งานได้ดี เสียงดังอย่างมีมิติ ดูหนังฟังเพลงและฟังเสียงสนทนาในการคอนเฟอร์เรนซ์ได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของขนาดลำโพง ซาวน์ดบาร์นี้จึงไม่ได้ให้เสียงเบสที่หนักแน่นแต่อย่างใด น่าเสียดายที่หัวเว่ยไม่ได้ออกแบบให้ผู้ใช้สามารถสลับใช้งานลำโพงซาวน์ดบาร์กับช่องต่อหูฟัง 3.5 มม. ได้

OSD ที่ควบคุมการใช้งานได้ง่ายมาก
จอยสติ๊ก 5 ทิศทางของ Huawei MateView GT ถือว่าให้ฟิลลิ่งในการควบคุมที่ดีมากและใช้งานได้ง่ายมาก โครงสร้างเมนู OSD ไม่ได้อะไรที่ซับซ้อนเลย อาจจะมีบางคำสั่งที่อยู่ผิดที่ผิดทางไปบ้างอย่างเช่น Picture Mode ที่ไปอยู่ในกลุ่ม Gaming Vision นอกจากนี้ เมนู OSD มีโหมดแสดงผลภาพสำเร็จรูปให้เลือก แต่สามารถตั้งค่าเองได้เฉพาะค่าความสว่าง คอนทราสต์ อุณหภูมิสีแบบ Standard, Cool และ Warm ไม่สามารถเลือกปรับเป็นค่าเคลวินได้ ส่วนในค่า Custom สามารถเพิ่มลดสี Red, Green, Blue ได้

เมนู Gaming Vision ถือเป็นไฮไลต์สำหรับนักเล่นเกมด้วยฟีเจอร์ Game assist ในการช่วยเพิ่มการมองเห็นด้วยการเพิ่มความสว่างให้กับพื้นที่มืดในเกม รวมถึงการแสดง Crosshairs ได้อีก 2 สี สีละ 5 แบบ  ซึ่งใช้งานได้ในการเล่นเกม FPS เพื่อความสนุกสนาน ส่วนในการสนามการแข่งขันยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้งาน นอกจากนั้นแล้วจอยสติ๊กยังใช้การโยก 4 ทิศทางเป็น Shortcut ได้ด้วย (สามารถกำหนดเพิ่มเติมจากเมนู System settings > Shortcuts) เพียงแต่แนวคิดของหัวเว่ยนั้นแปลกว่าแบรนด์มอนิเตอร์ส่วนใหญ่ พวกเขาใช้การเข้าไปยังเมนูหลักนั้นๆ แทนที่จะเลือกใช้ OSD แยกส่วนเฉพาะออกมา 

การกลับเข้าไปในเมนูตั้งค่าหลักแทนที่จะแยกส่วนเมนูนั้นให้ความรู้สึกเหมือนกับการลดภาระของผู้ออกแบบ OSD แต่นี่คือ ความแปลกที่ไม่แตกต่าง ผู้ใช้ยังคงใช้งานเมนูลัดในการปรับแต่งได้สะดวกเหมือนเดิม

สีภาพสด อัตราคอนเทสต์เข้มข้น เล่นเกมได้สนุกกว่าเดิม
จากสเปคที่ระบุเรื่องขอบเขตสี (90% DCI-P3 , sRGB 100%, Delta E <2) ประกอบกับเปรียบเทียบสีสันกับหน้าจอ UltraSharp U2427H เรายอมรับว่าการแสดงผลในเรื่องสีสันภาพของ Huawei MateView GT นั้นทำได้เหนือกว่าอย่างชัดเจนแม้จะมองด้วยตาเปล่า

นอกจากนั้นพาแนล VA นี้ยังให้แสงสว่างได้ค่อนข้างสูง อัตราคอนทราสต์ก็ทำได้ดี ระดับสีดำก็เข้มข้นกว่าพาแนล IPS ของจอ UltraSharp U2427H สีที่แสดงออกมามีความอิ่มตัวที่ดี ภาพเกมที่ออกมานั้นดูสดใสเอามากๆ แน่นอนว่าเรื่องความถูกต้องของสีนั้นเราไม่สามารถยืนยันอะไร แม้ว่าหัวเว่ยจะอธิบายว่า ค่า sRGB 100% เป็นค่าเฉลี่ยที่ออกมาจากโรงงาน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะต้องอ้างอิงจากเครื่องมือทดสอบไม่ใช่ด้วยสายตา โดยเฉพาะ Delta E <2 ซึ่งหมายถึงมีความผิดเพี้ยนต่ำมากๆ ในระดับที่มีแค่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะแยกแยะความผิดเพี้ยนได้

ขณะที่การมองจากด้านข้างยังคงเป็นจุดอ่อนของของพาแนลชนิดนี้ ภาพที่มองเห็นจากด้านข้างจะไม่ได้มีสีสัน ความสว่าง และอัตราคอนทราสต์ที่สมบูรณ์เหมือนกับการมองจากด้านหน้า ถึงอย่างนั้นสำหรับคนเล่นเกมแล้วมันไม่ใช่ปัญหาหรือสิ่งที่ต้องคิดนึงถึงเลย เพราะการนั่งในตำแหน่งด้านหน้าของจอ ภาพทั้งหมดที่มองเห็นมีความสมบูรณ์อยู่แล้วด้วยแก้ไขของมุมมองผ่านความโค้งของหน้าจอ แม้ว่าจะเป็นหน้าจอที่กว้างมากระดับนี้

กลับมาที่จุดประสงค์หลักของจอภาพกันบ้างกับเรื่องการเล่นเกม เริ่มต้นจากสัดส่วนหน้าจอแบบ 21:9 ทำให้การเล่นเกมของคุณจะพบกับขอบภาพด้านข้างสีดำบ่อยๆ ในช่วงคัทซีนหรือหน้าเมนูของเกม แต่ขณะเล่นเกมแล้วภาพจะถูกแสดงเต็มพื้นที่โดยไม่เสียสัดส่วนภาพ อาจจะมีเกมเก่าๆ หรือเกมส่วนน้อยที่ไม่สนับสนุนภาพแบบไวด์สกรีนลักษณะนี้โดยอัตโนมัติ

ในแง่ของค่ารีเฟรชเรท 165Hz และค่าความเร็วการตอบสนองภาพ 4 มิลลิวินาที ถือว่าเป็นคุณสมบัติขั้นกลางๆ สำหรับจอเกมมิ่ง เนื่องจากรุ่นท็อปๆ จะมาพร้อมกับค่ารีเฟรชเรท 240Hz และความเร็ว 1 มิลลิวินาที ถึงอย่างนั้นคุณสมบัตินี้ก็ยอดเยี่ยมพอสำหรับการเล่นเกมทุกๆ เกมอยู่แล้ว คำแนะนำก็คือ เครื่องพีซีควรพลังประมวลผลที่ดีและมีการ์ดแสดงผลประสิทธิภาพสูง เพื่อให้สามารถปั่นเฟรมเรทให้เพียงพอกับค่ารีเฟรชเรทของจอ แต่ถ้าประสิทธิภาพต่ำเกินไปคุณยังคงเล่นเกมได้ แต่อาจต้องปรับแต่งเพิ่มเติมให้ลื่นไหล เช่นลดคุณภาพภาพของเท็กซ์เจอร์หรือลดความละเอียดลง (Resolution) ซึ่งนั่นอาจทำให้สัดส่วนภาพของเกมผิดเพี้ยนไป แทนที่จะได้ความอรรถรสในการเล่นเกมที่มากขึ้นกลับได้ความหงุดหงิดกลับมาแทน 

ด้วยการที่ Huawei MateView GT ใช้พาแนล VA ที่มักจะพบเรื่อง Strobe Crosstalk ที่เราเรียกกันว่า อาการภาพซ้อนหรือภาพเบลอจากภาพเคลื่อนไหวของวัตถุที่รวดเร็วอยู่บ่อยครั้ง จากการทดสอบของ TestUFO ด้วยจำนวนเฟรมเรทเท่ากับรีเฟรชเรท 165 Hz ภาพที่ถ่ายจากหน้าจอ Huawei MateView GT ยังคงเห็นภาพเบลออยู่เล็กน้อย ระดับของการเกิด Strobe Crosstalk นี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยทั่วไปสำหรับจอเกมมิ่ง สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากการเล่นเกมตามปกติ 

ฟีเจอร์ HDR ของ Huawei MateView GT สามารถเปิดใช้งานได้บนวินโดว์ส แต่เป็นเพียงมาตรฐาน HDR10 หรือค่าเริ่มต้นของ HDR เท่านั้น ความสามารถของ Huawei MateView GT จะเพียงแค่เพิ่มความสว่างหน้าจอด้วยการเร่งไฟแบ็คไลต์ ไม่ได้มีการทำงานแบบไดนามิกในกรณีของการเพิ่มคอนทราสต์หรือลดแสงให้เหมาะกับคอนเทนต์ที่กำลังรับชม หรือพูดง่ายๆ ก็คือ จอสามารถรองรับการบีบอัดและส่งผ่านคอนเทนต์วีดีโอ HDR ได้เท่านั้น เนื่องจากไม่มีเซนเซอร์ใดๆ ในการตรวจสอบสภาพแสงโดยรอบจอภาพ

บทสรุปและความคิดเห็น
เรารู้สึกว่าหัวเว่ยออกแบบให้จอ MateView GT เป็นจอเกมมิ่งที่นำไปใช้งานในจุดประสงค์อื่นๆ และในสถานที่อื่นๆ ได้อย่างไม่ขัดเขิน ด้วยรูปลักษณ์ที่ไม่แปลกตาเหมือนสายเกมมิ่งเต็มตัว แต่มีดีไซน์เฉพาะตัวที่ดูดี เรียบง่าย และประณีต พร้อมกับนำเสนอคุณภาพการแสดงผลในขั้นที่ใช้ทำงานด้านกราฟิกระดับจริงจังได้เลย อีกมุมหนึ่ง พื้นทีแสดงผลสัดส่วน 21:9 ที่กว้างถึง 34 นิ้ว ก็ทำให้ทดแทนการทำงานแบบ 2 มอนิเตอร์ได้ อย่างเช่น ตัดต่อวิดีโอ หรือการเทรดหุ้น แถมลำโพงและไมโครโฟนในตัวสำหรับใช้งานประจำวันและสื่อสารกับเพื่อนๆ ในเกมหรือการประชุมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม Huawei MateView GT ยังต้องพัฒนาต่อไปในการดีไซน์จอเกมมิ่งหากต้องการจะอยู่ในตำแหน่งของผู้ท้าชิง พวกเขายังไม่มีเทคโนโลยีลดการเกิดโมชั่นเบลอเป็นของตัวเองเหมือนกับฝั่งแบรนด์มอนิเตอร์รายใหญ่ การมีค่ารีเฟรชเรทสูงๆ กับพาแนลที่มีค่าตอบสนองภาพเร็วอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ   

ขอบคุณ: หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย)