รีวิว Asus Vivobook X512DA-EJ1019T ใส่ฮาร์ดดิสก์ให้ใช้งานได้ครอบคลุม

PROS

+ ติดตั้งฮาร์ดดิสก์และไดรฟ์ NVme
+อะแดปเตอร์มีขนาดเล็ก
+เปลี่ยนแรม/ ไดรฟ์ NVmeได้

CONS

- คุณภาพจอแสดงผลอยู่ในระดับพอใช้
- ชิป Wi-Fi ความเร็วสูงสุดแค่ 433 Mbps
- คีย์บอร์ดไม่มีไฟ Backlid

โน้ตบุ๊ก Asus Vivobook X512DA เป็นโน้ตบุ๊กส์ซีรีส์เก่าของปี 2019 แต่ยังคงมีการจำหน่ายในเวลานี้แม้ว่า Vivobook รุ่นใหม่ที่ใช้ชิป Ryzen 4000 จะออกมาแล้วก็ตาม ซึ่งรหัสต่อท้าย EJ1019T นั้นมีข้อแตกต่างจากรุ่น EJ141T โดยทำการเปลี่ยนสตอเรจจาก NVmeขนาด 512 GB มาเป็นขนาด 256 GB และเพิ่มฮาร์ดดิสก์ความจุ 1 TB เข้าไปพร้อมกับราคาที่เพิ่มขึ้นอีก 1,000 บาท

การเพิ่ม SKu ของโน้ตบุ๊กซีรีส์นี้ก็ถือว่าสามารถตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น มีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลมากกว่าเดิม ซึ่งเดิมทีในรุ่นที่แล้ว ผู้ใช้หลายๆ รายต้องเพิ่มฮาร์ดดิสก์ SATA ขนาด 2.5 นิ้วด้วยตัวเอง ตรงนี้เราไม่แน่ใจว่าภายในเครื่องนั้นมีสาย SATA ให้หรือไม่ เพราะเจ้าหน้าที่ของผู้จัดจำหน่ายแจ้งว่า จะต้องหาซื้อเพิ่มเอาเอง

ในแง่ของการตลาด อาจมองได้ว่า โน้ตบุ๊กขนาด 15 นิ้วที่ไม่ใช่ Gaming Notebook และในกลุ่มราคา 14,900 – 17,990 บาท มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งยังใช้ชิปประมวลผล Ryzen 5 3500u พร้อมกับสเปคภายในที่ใกล้เคียงกันมากๆ ยกตัวอย่างเช่น Matebook D15 ที่วางโปรโมชั่นมาได้อย่างน่าสนใจด้วยของแถมระดับพรีเมี่ยมมากมาย และลดราคาได้อีกด้วยคูปองร่วมกับร้านค้าออนไลน์ หรือหากมองในอีกมุมหนึ่ง โน้ตบุ๊ก Vivobook X512DA รุ่นเดิมกำลังจะออกจากตลาด เพราะเราพบว่า บางร้านลดเพิ่มจากราคา 15,990 บาท เหลือเพียง 14,990 บาทเท่านั้น

Key Specifications (X512DA-EJ1019T)

  • ราคาโดยประมาณ: 16,990 บาท
  • AMD Ryzen 5 3500U, 4c 8t, 2.1GHz Up to 3.7 GHz
  • 4GB Onboard + 4GB Module, DDR4-2400 MHz Dual Channel
  • 256GB M.2 PCIe NVMe Solid State Drive
  • 1TB SATA HDD 2.5inch, 5400 rpm
  • AMD Vega 8, Share Memory 2 GB
  • 15.6 inch (1,920X1,080), Panel TN+Film
  • Brightness 200 nits , 45% NTSC Color Gamut
  • Atheros QCA9377,1x1 802.11ac / Bluetooth 5.0
  • Windows 10 Home 64-bit
  • Battery 2-cell, 37 Wh, Lithium-ion
  • Webcam 720p , Microphone, 3.5 audio Combo
  • Size: 357.2 x 230.4 x 19.9 mm, 1.72 kg.

โครงสร้างและการออกแบบตัวเครื่อง

วัสดุทั้งหมดของโน้ตบุ๊กตัวนี้ใช้พลาสติกทั้งหมด ถึงอย่างนั้นมันก็ดูดี แข็งแรง มีการออกแบบรายละเอียดต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณะเฉพาะอย่างเช่น ลาย Dot หยดน้ำบริเวณรอบแป้นคีย์บอร์ด การเคลือบสีของตัวเครื่องต้องยอมรับว่าทำออกมาได้ดี ให้สัมผัสที่ลื่นเหมือนกับโลหะ พื้นผิวแบบนี้ทำความสะอาดได้ง่าย นอกจากนั้นยังมีข้อดีตรงที่ไม่เกิดปัญหาไฟฟ้ารั่วไปบนตัวเครื่องเหมือนกับบอดี้ที่ใช้วัสดุโลหะอย่างเช่น อะลูมิเนียม

สำหรับแป้นคีย์บอร์ดจะขนาดใหญ่ ใช้งานได้สะดวก ระยะห่างของแต่ละปุ่มอยู่ในระดับที่พอดี น่าเสียดายที่ไม่มีไฟแบ็คไลต์มาให้ นอกจากนั้นในส่วนของปุ่ม Arrow และเลย์เอาต์ของปุ่ม Numpad ที่ออกจะแปลกๆ สักหน่อย ตรงนี้ใช้เวลาปรับตัวเล็กน้อยจะไม่ใช่ปัญหา นอกจากนั้นแล้วในเรื่องของทัชแพดสามารถรองรับการสั่งงาน Multi-Gesture  ใช้พื้นฐานงานได้อย่างราบรื่น แต่อาจจะตอบสนองได้เร็วเกินไปนิดในบางครั้ง และยังดีไซน์ให้ปุ่มคลิกซ้ายขวาอยู่ใต้ทัชแพด ซึ่งตรงนี้คือ ปัญหาเล็กๆ น้อยจากการใช้งาน เนื่องจากในตำแหน่งมุมล่าง ทัดแพดเองก็ยังรองรับการสัมผัส ดังนั้นในช่วงแรกๆ อาจจะหงุดหงิดสักหน่อยสำหรับคนที่ใช้ทัชแพดและมีปุ่มคลิกแยก

พอร์ตเชื่อมต่อที่ให้มาถือว่า ใช้งานได้เพียงพอในระดับมาตรฐาน ระยะห่างของพอร์ตยูเอสบีก็ไม่ชิดกันเกินไป และพอร์ตส่วนใหญ่จะอยู่ทางขวามือ ซึ่งให้พอร์ต USB Type-C และสล็อต microSD มาให้ด้วย ส่วนเรื่องมาตรฐานจะเป็นทั้ง USB 2.0 และ USB 3.1 Gen 1

ตรงจุดนี้เป็นข้อด้อยที่เราซีเรียสที่สุดของโน้ตบุ๊ก Vivobook X512DA ทุกตัว นั่นก็คือ จอแสดงผลที่ใช้พาแนล TN-Film เนื่องจากมันจะมีมุมมองทางด้านข้างที่ค่อนข้างแย่ แม้แต่การปรับการก้มหรือเงยหน้าจอเพื่อหามุมมองที่เหมาะสมทั้งภาพก็ยังทำได้ลำบาก นอกจากนั้นแสงสว่างสูงสุดของมันหรืออัตราคอนทราสต์ของหน้าจอก็อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ดังนั้นมันจึงมีปัญหาพอสมควรในการใช้งานท่ามกลางพื้นที่ที่มีแสงสว่างมากๆ

ฝาใต้เครื่องไม่ได้ใช้สีเดียวกับบอดี้และฝาหลัง ดังนั้นเวลามองจากด้านข้างมันคือ การดีไซน์แบบ Two Tone ฐานยางมีขนาดใหญ่เป็นเส้นคาดยาวไปทั้งแผงสำหรับส่วนบน ซึ่งตรงนี้จะไม่ได้สัมผัสกับพื้นโต๊ะในกรณีที่คุณเปิดใช้งาน ทำให้มีพื้นที่ให้อากาศไหลเข้าไปในตัวเครื่องได้สะดวกผ่านตะแกรงอากาศเล็กๆ  ดังนั้นแผงคีย์บอร์ดเองก็ทำองศาชันขึ้นเล็กน้อยด้วย

ขณะที่ฐานยางส่วนล่างอีก 2 ตำแหน่งก็มีพื้นที่มากพอที่จะยึดเกาะพื้นโต๊ะได้อย่างมั่นคงขณะใช้งาน ตำแหน่งลำโพงอยู่บริเวณข้างๆ ทั้งสองฝั่ง ทิศทางของเสียจึงหันลงพื้นโต๊ะ ข้อดีคือ มิติของเสียงจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกิดการกระทบของเสียงและกระจายตัวไปรอบๆ เครื่อง ข้อเสียคือ ระดับความดังของเสียงจะลดลง แต่ไม่ใช้ปัญหา เพราะลำโพงของโน้ตบุ๊กตัวนี้ค่อนข้างดังอยู่แล้ว

การยกฐานล่างด้วยเทคนิคบานพับ ErgoLift ทำให้แผงคีย์บอร์ดของโน้ตบุ๊กยกตัวขึ้นเล็กน้อย ซึ่งน่าจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้ที่นิยมการยกขาตั้งคีย์บอร์ด นอกจากนั้นแล้ว ยังทำให้การไหลเวียนของอากาศภายใต้เครื่องดีขึ้นกว่าโน้ตบุ๊กที่ไม่ใช้เทคนิคนี้

ผลการทดสอบด้วยซอฟต์แวร์เบนช์มาร์ก
องค์ประกอบภายในของโน้ตบุ๊กตัวนี้ถือว่า อยู่ในกลุ่มโน้ตบุ๊กระดับกลาง ดังนั้นจึงสามารถใช้งานทั่วไปได้อย่างราบรื่น และสามารถรับมือกับงานวิดีโอส่วนตัวระดับ Home Video ไม่ใช่งานตัดต่อที่ซับซ้อนด้วยเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นในเบนช์มาร์ก PCMark10 โดยผลของ Digital Content Creation มีคะแนนเพียง 3215 คะแนน โดยที่มีคะแนนในส่วนของ Rendering Score และ Video Editing Score อยู่ในช่วง 2500-2650 คะแนน ดังนั้นจึงดึงให้ผลรวมลดต่ำลงมาอยู่ในช่วง 3622 คะแนนเท่านั้น ขณะที่คะแนนการทำงานกับแอพฯทั่วไปทำได้ดี (Essentials: 6932, Productivity: 5786)

จากกราฟและฐานข้อมูลของเรา ชี้ให้เห็นว่าโน้ตบุ๊ก Vivobook X512DA นั้นสร้างผลคะแนนทดสอบในภาพรวมได้ดีพอๆ กับโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป Core i5-10210U ส่วนเรื่องการทำงานกับเกมสามมิติก็ถือว่า ต่างกันไม่มาก สามารถเล่นเกมเบาๆ อย่างพวก CS:GO, PUBG Lite บนความละเอียดระดับต่ำๆ ได้

กลับมาดูความเร็วของสตอเรจบ้าง โน้ตบุ๊ก Vivobook X512DA รุ่นนี้ใช้ไดรฟ์ของ Kingston ซึ่งมีความเร็วต่ำกว่ารุ่น 512GB ถึงอย่างนั้นความเร็วและค่า IOPS ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ และดีกว่าไดรฟ์มาตรฐาน SATA เกือบทั้งหมดอยู่แล้ว ส่วนฮาร์ดดิสก์ 1TB มีความเร็วในระดับมาตรฐานของฮาร์ดดิสก์ 5400 รอบต่อนาที อ่านเขียนอยู่ในช่วง 120 -135 MB/s

ระยะเวลาแบตเตอรี่และความร้อน
โน้ตบุ๊กรุ่นนี้ไม่มีปัญหาเรื่องความร้อน เนื่องจากหลักๆ แล้วชิป Ryzen 5 3500U มีค่าการปลดปล่อยความร้อนหรือ TDP แค่ 15 วัตต์ ซึ่งในการทำ Stress Test แบบ Full load พบว่า ความร้อนของแพกเกจซีพียูรายงานความร้อนสูงสุด 79 องศาเซลเซียส (Idle: 40 องศาเซลเซียส) แต่ระบบระบายร้อนรวมถึงการจัดการต่างๆ ก็คุมความร้อนให้อยู่ที่ 63.7 องศาเซลเซียส โดยที่ซีพียูทำงาน 100%, จีพียู 11-14%

ในช่วงเวลาดังกล่าว เราพบว่า ความร้อนสะสมบนแป้นคีย์บอร์ดอยู่บริเวณมุมขวาบนตั้งแต่ปุ่ม Backspace ไล่ลงมาถึงปุ่มตัวเลข วัดค่าได้ประมาณ 37-38.5 องศาเซลเซียส ส่วนจุดอื่นๆ เช่น ฝั่งขวา ทัพแพดไม่มีการสะสมความร้อน (ทดสอบในห้องอุณภูมิ 26 องศาเซลเซียส) ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่แนะนำให้ใช้งานบนหน้าตักหรือวางบนขาหากมีการประมวลผลหนักๆ 

การใช้งานแบตเตอรี่ถือว่าไปได้ไกลกว่าที่คิดเล็กน้อย เนื่องจากใช้แบตเตอรี่ 2-cell ความจุ 37 Wh โดยทีมงานทำการทดสอบด้วยการเล่นวิดีโอยูทูปต่อเนื่อง พร้อมกับหยุดพิมพ์งานเล็กๆ น้อยๆ และเปิดเว็บไซต์เพื่อค้นหาข้อมูล ซึ่งทำงานต่อเนื่องไปได้นานเกินกว่า 4:35 ชั่วโมงด้วยพลังงานแบตเตอรี่ที่ใช้ไป 90 เปอร์เซ็นต์ จากที่คำนวณง่ายๆ น่าจะทำได้ดีที่สุดใกล้ๆ  5 ชั่วโมง (Brightness 50%, Volume 50%)

เรื่องเล็กๆ ของความเร็วหน่วยความจำ
หน่วยความจำของโน้ตบุ๊ก Vivobook X512DA-EJ1019T จะมีออนบอร์ดอยู่แล้ว 4GB และทำการเพิ่มเข้าไปอีก 4GB ในลักษณะของโมดูลอัพเกรด ผู้ใช้สามารถอัพเกรดเพิ่มได้ด้วยการถอดโมดูลแรมนี้ออกแล้วใส่ความจุสูงกว่าเข้าไป กลับมาที่สถานะปัจจุบัน หน่วยความจำที่วินโดว์สนำไปใช้ได้ไม่ได้มีถึง 8GB ทำได้แค่ 6GB เนื่องจากถูกแชร์ไปให้ชิปกราฟิก Radeon Vega 8 จำนวน 2GB นอกจากนี้ความเร็วของหน่วยความจำเองก็ถูกปรับลดความเร็วลงด้วยเพื่อให้ประหยัดพลังงาน โดยการใช้งานด้วยแบตเตอรี่จะลดความเร็วเหลือแค่ 800 MHz ส่วนการใช้งานด้วยอะแดปเตอร์ความเร็วจะเซ็ตเพิ่มขึ้นเป็น 1866 MHz ในสภาวะที่โหลดไม่สูง และในกรณีที่มีโหลดสูง ต้องการประสิทธิภาพของระบบ ความเร็วหน่วยความจำจึงจะเร่งความเร็วขึ้นมาเป็น 2400 MHz ซึ่งเรามองว่า เทคนิคนี้ทำให้โน้ตบุ๊กใช้ประโยชน์จากความเร็วของแรม 2400 MHz ได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร

บทสรุปและความคิดเห็น
เรื่องประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊กถือว่าทำได้ตามเกณฑ์ของโน้ตบุ๊กระดับกลาง ใช้งานพื้นฐานได้อย่างราบรื่น ส่วนการทำงานกับโปรแกรมออกแบบกราฟิก โปรแกรมตัดต่อวิดีโอก็อยู่ในระดับที่ “ใช้งานได้” สำหรับฟุตเทจวิดีโอไม่เกิน Full HD ส่วนการเล่นเกมทำได้เฉพาะเกมเบาๆ ไม่กินทรัพยากรอะไรนัก ส่วนเกมยอดนิยมอย่าง GTA V สามารถเล่นได้ในระดับต่ำๆ

ในภาพรวม เรามองว่า โน้ตบุ๊ก Vivobook X512DA-EJ1019T ถือเป็นหนึ่งในโน้ตบุ๊กที่วางราคาและสเปคมาแบบสมเหตุสมผล แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งในราคาเท่าๆ กันหรือใกล้เคียงกันอย่างเช่น  Matebook D15 มันก็มีความน่าสนใจน้อยกว่าในเรื่องวัสดุตัวเครื่อง งานดีไซน์ในหลายๆ จุด รวมถึงคุณภาพของจอแสดงผล ตลอดจนของแถมที่ดึงดูดใจเอามากๆ กลับกัน  Vivobook X512DA ก็มีส่วนสนับสนุนลูกค้าที่คุณควรต้องรู้อย่างเช่น Perfect Warranty  ที่ทาง Asus รับประกันอุบัติเหตุให้กับลูกค้า ฟรีในปีแรก แต่ต้องลงทะเบียนกับเว็บไซต์ภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ซื้อโน้ตบุ๊ก ที่สำคัญ เก็บใบเสร็จไว้ให้ดี เพราะจะต้องใช้ยืนยันกับทางศูนย์บริการ