สรุปทุกแง่มุมที่คุณต้องรู้ 'ก่อนซื้อซีพียู Intel 10th Gen '

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อินเทลได้เปิดตัวซีพียูสำหรับคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปในยุคที่ 10 หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “10th Gen” และก็ยกเอาซีพียู Intel i9-10900K รุ่นท็อปสุดของพวกเขามาเป็นจุดขาย แน่นอนว่า มันทรงพลังที่สุดด้วยทุกเทคโนโลยีในยุคที่ 10 พร้อมด้วยแกนประมวลผล 10 คอร์ / 20 เทรด ซึ่งในบทความนี้ ทีมงานจะเน้นคีย์พอยต์ต่างๆ ที่ทุกคนควรรู้เกี่ยวกับซีพียูอินเทลในเจนเนอเรชั่น 10 ทั้งหมด

ชิปเซ็ตใหม่บนซ็อกเก็ตใหม่
เราขอเริ่มต้นด้วยความน่าผิดหวังสำหรับคนที่มีเมนบอร์ดและซีพียูแพลตฟอร์มเก่าอย่าง LGA1151 เพราะมันไม่สามารถใช้งานได้เหมือนกับการเปลี่ยนผ่านจาก Gen 8 ไปสู่ Gen 9  โดยซีพียู Intel 10th Gen จะทำงานบนซ็อกเก็ต LGA 1200 ซึ่งจำนวนพินที่เพิ่มขึ้นมา 49 ขา ทางอินเทลให้เหตุผลว่า เป็นการเพิ่มการจ่ายพลังงานและสนับสนุนคุณสมบัติของ I/O ที่จะเพิ่มเข้ามาในอนาคต แน่นอนว่า หากคุณสังเกตในหน้าบล็อกไดอะแกรมของชิปเซ็ต Intel Z940 ก็จะเห็นว่า มันมีบางอินพุต/เอาต์พุตที่เพิ่มขึ้นมา โดยที่ไม่ได้เป็นแค่ออปชันเสริมตามแต่ผู้ผลิตเมนบอร์ดจะใส่มาให้

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ ประเด็นเรื่องบัส PCI-Express 4.0 ที่คาดว่าจะขยับตามคู่แข่งตลอดกาล ก็ชัดเจนว่า ไม่มีอยู่ในซีพียูและเมนบอร์ดยุคนี้ หลังจากที่หลายๆ สื่อมองว่ามันมีโอกาสที่จะถูกเพิ่มเข้า แต่ในอนาคตก็ยังมีความเป็นไปได้ เนื่องจากจำนวนพินที่มากขึ้นและตอนนี้จำนวน I/O เองก็ไม่ได้มีจำนวนมากแต่อย่างใด

เปรียบเทียบระหว่างชิป Intel Z490 กับ Z390 จะเห็นว่าหลายๆ อินเทอร์เฟสหรือการแบ่งบัส PCI-Express ไปใช้งานนั้น แทบไม่ต่างกันเลย จะมีส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างเช่น การสนับสนุนหน่วยความจำ DDR4 สูงสุดที่ความเร็ว 2933 MHz แทนที่ชิปไวร์เลสมาตรฐาน Wi-Fi 5 เป็น Wi-Fi 6 (Intel Wi-Fi AX201) ขณะที่ออปชั่นก็เพิ่มการสนับสนุนชิปเน็ตเวิร์ก 2.5G

แยกแยะซีพียูแต่ละรุ่นด้วยรหัสอักษรท้าย
จากข้อมูลสไลด์อย่างเป็นทางการของอินเทล คุณจะเห็นว่า รหัสซีพียูกลุ่มบนในเจเนอเรชั่นนี้อย่าง i9 และ i7 ใช้เลขรหัสที่ไม่ค่อยน่าสับสนเท่าไหร่ เนื่องจากใช้เลขรหัสชุดเดียวกัน แต่ต่างกันด้วยรหัสอักษรตามด้านหลัง หากมีรหัส F จะหมายถึงไม่มีชิปกราฟิก Intel UHD 630 ส่วนรหัส K  (Unlocked) ก็ยังคงหมายถึงการปลดล็อกตัวคูณซีพียูเหมือนกับรหัสของซีพียูเจนที่ผ่านมา อาจจะมีแค่ซีพียู Core i9 ที่ก่อนหน้านี้ทางอินเทลวางขายซีพียู Intel Core i9-10900X ที่ทำงานบนซ็อกเก็ต LGA2066 แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ผู้ใช้ทั่วไปอาจไม่เคยรู้มาก่อน

ซีพียู Intel Core i9-10900K มาพร้อม Base Clock ที่สูงถึง 3.7 GHz บูสต์ความเร็วขึ้นไปได้สูงสุด 5.1 GHz แบบ Single Core ด้วยเทคโนโลยี Turbo Boost 2.0 และขยับไป 5.2 GHz ด้วย Turbo Boost Max 3.0 ไม่เพียงเท่านั้นในกรณีของการใช้ Intel TVB หรือ Thermal Velocity Boost ก็ก้าวไปแตะ 5.3 GHz แบบ Single Core และ 4.9 GHz แบบ All-Core

แต่จากตารางนี้ คุณสามารถสังเกตเห็นว่า ค่า TDP ของซีพียู i9-10900K และ i9-10900KF มีค่าถึง 125 วัตต์ ขณะที่อีก 2 รุ่นล่างมีค่าเพียง 65 วัตต์ ดังนั้นเรามองว่า  ค่า TDP ที่อินเทลเซ็ตมานั้นน่าจะเป็นค่าที่ใกล้เคียงหรือเท่ากับช่วงที่ซีพียูเร่งความเร็วในโหมดเทอร์โบอย่างเต็มที่ รวมถึงอาจจะเป็นในสภาวะ All-Core อีกด้วย

การทำงานของ Thermal Velocity Boost (TVB) จะอาศัยการกำหนดเกณฑ์ความร้อน ซึ่งซีพียูรุ่นนี้ตั้งไว้ที่ 70 องศาเซลเซียส และจะเพิ่มความเร็วขึ้นโดยอัตโนมัติทั้งแกนเดียวและทุกแกน หากว่าซีพียูมีความร้อนต่ำกว่าเกณฑ์และยังคงมีพลังงานมากพอที่จะทำการเร่งความเร็วสัญญาณนาฬิกา ดังนั้นการจะได้ประโยชน์จากฟีเจอร์นี้ในการใช้งานจริงและต่อเนื่อง คุณอาจต้องประกบกับชุดหรือใช้ระบบระบายความร้อนที่ทรงประสิทธิภาพมากๆ

เทียบประสิทธิภาพกับซีพียูรุ่นก่อนๆ
อินเทลเคลมประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นมาของซีพียู Gen ใหม่เทียบกับฮาร์ดแวร์รุ่นเก่าที่ไม่ได้มีการระบุข้อมูลชัดเจน มีแต่เพียงว่า previous gen กับ 3 yr.old PC (ซีพียูเจนก่อนหน้า หรือพีซีที่เก่าเกิน 3 ปี) ถึงอย่างนั้นเมื่อนำมาประกบกับข้อมูลที่ได้รับจากเอกสารประชาสัมพันธ์ในประเทศไทยก็พอจะยืนยันตัวเลขในบางจุดได้

ยกตัวอย่างเช่น การทำงานบนโปรแกรม Premier Pro CC ที่ตัดต่อได้วิดีโอระดับ 4K ได้เร็วขึ้นกว่าเดิม 18% ตรงนี้เทียบกันระหว่างซีพียู Intel Core i9-10900K กับ Intel Core i9- 9900K ส่วนเร็วขึ้น 35% ในกรอบด้านล่างนั้นเทียบกับซีพียู Intel Core i7-7700K

ส่วนในกรอบที่ 4 ที่แสดงจำนวนเฟรมเรตสูงถึง 187 ภาพต่อวินาทีบนเกม PUBG ตรงจุดนี้อินเทลวัดจากโหมดมาตรฐานของเกม โดยใช้ซีพียู Intel Core i9-10900K ร่วมกับการ์ด Nvidia GeForce RTX 2080 Ti  หน่วยความจำ 4x8GB DDR4 , Intel Optane SSD 905P, OS Windows 10 Pro 1909 v720 นอกจากนั้นแล้วในประเทศไทยจะไม่ใช้ข้อความ “Elite Real World Performance” อย่างสไลด์ด้านบน แต่จะใช้ “โปรเซสเซอร์สำหรับเล่นเกมที่เร็วที่สุดในโลก” ในการทำตลาด

อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวแล้ว เอกสารการตลาดลักษณะนี้ดูไม่ค่อยเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บางกลุ่ม เนื่องจากมันดูเฉพาะเจาะจงแอพพลิเคชันเกินไป และมีเฉพาะซีพียูรุ่นเรือธงเพียงอย่างเดียว เราเชื่อว่า ข้อมูลการทดสอบจริงโดยสื่อต่างๆ ที่จะออกมาหลังจากนี้ จะช่วยให้มองเห็นความเป็นจริงและรายละเอียดได้มากกว่า

ใส่ Hyper-Threading ในซีพียู Intel Core i ทุกตัว
กลับมาที่สเปคของซีพียูกันอีกครั้ง หนึ่งในสิ่งที่เรารู้สึกดีกับซีพียูอินเทลเจนเนอเรชั่นนี้ก็คือ การใส่ Hyper-Threading ลงในซีพียู Core i ทุกตัว ดังนั้นมันจึงมีจำนวนเทรดในการทำงานที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำให้การประมวลผลเร็วขึ้นกับทุกแอพพลิเคชันก็ตาม แต่อย่างน้อยกับแอพพลิเคชันที่สนับสนุนก็มันก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม การเพิ่มเทคโนโลยีแกนประมวลผลจำลองเข้ามาอีกครั้ง หลังถอดออกไปจากซีพียูในยุคที่แล้ว เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ เรื่องของการแข่งขันในตลาด ซึ่งเชื่อว่า หลายๆ คนต่างก็รู้คำตอบกันเป็นอย่างดี

มาเจาะในส่วนของซีพียูกันต่อ ซีพียูรุ่นรองอย่าง Core i9 10900KF วางราคาต่ำกว่าซีพียูตัวท็อปอยู่ 16 เหรียญสหรัฐ เนื่องจากมันถูกตัดเอาชิปกราฟิกอินทริเกรตออกไป ขณะที่รายละเอียดส่วนอื่นๆ ไม่แตกต่างกันเลย หรือหากมองกันตรงๆ ชิปกราฟิก Intel UHD Graphic 630 ก็มีค่าอยู่ 16-17 เหรียญเมื่อพิจารณาราคาของซีพียู i9 อีก 2 รุ่น ขณะที่ซีพียู Core i9 10900 ที่ไม่มีรหัสอะไร กับรุ่นที่มีเฉพาะ F ต่างถูกล็อคตัวคูณและมีค่า TDP ลดลงเหลือ 65 วัตต์ แน่นอนว่า ความเร็วขณะ Turbo Boost ก็ลดลงมาด้วย แต่ทว่าระดับราคากลับต่างแค่ 33 และ 50 เหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับ Core i9 10900KF ส่วนซีพียู Core i7 10700K ก็เข้ามาแทนที่ตำแหน่ง Core i7 9700K แต่น่าสนใจกว่าด้วยการมี Hyper-Threading

ส่วนซีพียูตระกูล Core i5 จะมีรุ่น 10600K ที่เป็นตัวท็อปสุด สามารถทำงานได้เร็วสูงสุด 4.5 GHz แบบ All-Core และเป็นซีพียู 6 คอร์ / 12 เทรด ปลดล็อกตัวคูณ และมีราคาอยู่ในช่วง 157 -  262 เหรียญสหรัฐต่อซีพียู 1,000 ยูนิต ส่วนราคาในประเทศไทยก็ยังคงต้องรอต่อไป แต่จากราคาเบื้องต้นแล้ว ราคาต่ำสุดสำหรับร Core i5 10400F ไม่น่าจะต่ำกว่า 5,500 บาท นอกจากนั้นก็ยังมีซีพียู Pentium Gold และ Celeron ซึ่งจะครอบคลุมตลาดในช่วงราคา 75 – 90 เหรียญสหรัฐ ซีพียู Pentium Gold G6500 น่าจะวางจำหน่ายในราคา 90 เหรียญสหรัฐ

ความคิดเห็นของ Techmayday
ข้อมูลราคาของซีพียูทั้งหมดที่คุณเห็น ไม่ใช่ราคาขายปลีก แต่เป็นราคาต่อซีพียู 1,000 ยูนิต ถึงอย่างนั้นคุณก็คาดหวังได้ว่า ระดับค่าตัวของมันจะเป็นเท่าไหร่เมื่อเข้าสู่ประเทศไทย เพราะอย่างน้อยมันก็จะไม่ถูกกว่าตัวเลขที่เราเห็นในตาราง ที่นี้เรามาดูว่า อินเทลจะเดินเกมตลาดของตัวเองอย่างไร หลังจากคู่แข่งเองก็เน้นเกมราคาต่อจำนวนคอร์มาช่วงหนึ่งแล้ว แถมยังเน้นการเพิ่มคล็อกสปีดกับการเพิ่มค่า IPC (Instructions executed Per Clock) หรือค่าของจำนวนคำสั่งที่ทำเสร็จในหนึ่งรอบสัญญาณนาฬิกาให้กับชิปประมวลผล Ryzen 4000 Desktop

แน่นอนว่า อินเทลต้องแข่งขันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และดูเหมือนว่า การนำเอา Hyper-threading กลับมาใช้ก็น่าจะทำให้ตลาดระดับเริ่มต้นได้ส่วนแบ่งตลาดกลับมา ส่วนซีพียู 10900KF ที่ลงตลาดด้วยสโลแกน “โปรเซสเซอร์สำหรับเล่นเกมที่เร็วที่สุดในโลก” ก็น่าจะเป็นผู้นำคนใหม่และบรรทัดฐานในโลกของการทดสอบเกม ส่วนซีพียู Core i3 เองก็จะเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อมากขึ้นกับซีพียู Ryzen 3

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญก็คือ เรื่องของเมนบอร์ดที่ตอนนี้เริ่มเห็นบางแบรนด์เปิดพรีออเดอร์กันแล้ว ซึ่ง ณ ตอนนี้เรายังไม่ได้สอบถามเรื่องราคาและดูเหมือนจะมีเฉพาะเมนบอร์ด Intel Z940 Series เท่านั้น ส่วนเมนบอร์ดซีรีส์ B หรือ H อย่างชิป H410, H430, B460 จะมีออกมาอย่างแน่นอน ซึ่งเราหวังว่ามันจะมาพร้อมหน้าพร้อมตากันตั้งแต่ Day 1 เลย