สรุปรีวิว Intel Core i9-10900K

หลังจากรอคอยกันมานานถึง 2 ปี ในที่สุดซีพียู Intel 10th generation ก็ถูกส่งให้สื่อต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยได้นำไปทดสอบกัน โดยมีชิปรุ่นท็อปอย่าง  Core i9-10900K ที่มาพร้อมแกนประมวลผล 10 คอร์ 20 เธรด รวมถึงรุ่นรองระดับสูงอย่าง Core i7-10700K  (8 คอร์ 16 เธรด) และตัวเลือกในกลุ่มความคุ้มค่าอย่าง Core i5-10600K ที่มาพร้อมแกนประมวลผล 6 คอร์ 12 เธรด

ในรอบนี้ชิป Intel 10th generation หรือรหัสพัฒนา Comet Lake ทุกรุ่น ตั้งต่ Core i9 จนถึง Core i3 จะมีเทคโนโลยี hyper-threading ทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้มีอยู่แค่ในซีพียูระดับสูงแค่ 3 รุ่นหลักเท่านั้น ย้ำกันอีกครั้งชิป Intel 10th generation จะใช้ซ็อกเก็ต LGA1200 เท่านั้น ไม่สามารถใช้เมนบอร์ดเดิมอย่างซ็อกเก็ต LGA1151 ได้อีกต่อไป ดังนั้นต้องซื้อเมนบอร์ดใหม่อย่างเดียว และในตอนนี้ก็มีเฉพาะเมนบอร์ดชิปเซ็ต Z490 เท่านั้น ยังไม่มีเมนบอร์ดชิปเซ็ต B460, H410, H470 แต่อย่างใด

สเปคคร่าวๆ ของซีพียู Core i9-10900K มีความเร็วพื้นฐานอยู่ที่ 3.7GHz สามารถทำ Turbo Boost แบบคอร์เดียวได้สูงถึง 5.3 GHz ด้วยเทคนิคใหม่อย่าง Thermal Velocity Boost. และเมื่อเทียบกับซีพียูระดับเดียวกันของยุคที่แล้วอย่าง Core i9-9900K ก็มีการเพิ่มขนาดแคช L3 จากเดิม 16 MB เป็น 20 MB พร้อมกับค่า TDP เพิ่มจาก 95 W เป็น 125 W และนี่คือ ระบบทดสอบที่เว็บไซต์ techspot.com ใช้ในการรีวิว

Asus ROG Maximus XII Extreme
Nvidia Geforce RTX 2080 Ti
DDR4-3200 CL14 , 32GB
Corsair Hydro H150i Pro 360mm all-in-one liquid cooler

การทดสอบของ techspot.com แบ่งการตั้งค่าของซีพียู 10900K ออกเป็น 2 ค่า คือค่าแบบ Stock configuration ที่โหลดค่า XMP Profile ให้กับหน่วยความจำแรม โดยที่ปิดการทำงาน Multi-core enhancement และการทดสอบค่าที่ 2 จะเปิด multi-core enhancement ซึ่งค่าเซ็ตติ้งนี้ถูกออกแบบมาให้เหมาะการโอเวอร์คล็อก ทั้งนี้เราไม่ขอพูดถึงโหมดการทำงาน Turbo Boost แต่จะให้ไปดูผลการทดสอบเปรียบเทียบเลย

Benchmarks

หัวข้อทดสอบ Multicore ของ Cinebench R20 ซีพียู 10900K แบบค่ามาตรฐานทำได้คะแนนได้ดีกว่าซีพียู 3700X and 9900K ประมาณ 25% และการเปิดใช้ MCE ก็ยกระดับประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นไปอีก 5% เมื่อเทียบกับการตั้งค่ามาตรฐาน กลับกันเมื่อเทียบกับซีพียู Ryzen 9 3900x (16,000 บาท)  ซีพียู Core i9 10900K (18,900 บาท) ทำได้ช้ากว่า 19% 

ในการทดสอบแบบ Single core จะเห็นได้ชัดว่าซีพียู Core i9-10900K ทำงานได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับการบูสต์สัญญาณนาฬิกาไปที่ 5.3 GHz และเมื่อเทียบกับซีพียู Ryzen 9 3950X ซีพียูของอินเทลก็ทำได้เร็วกว่า 3% ทั้งยังเร็วกว่า Ryzen 9 3900X อีก 6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกับซีพียูรุ่นที่แล้วอย่าง Core i9-9900K ก็ยกประสิทธิภาพขึ้นมาได้อีก 8%

ขยับมาดูประสิทธิภาพการทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ตัดต่อวิดีโออย่าง DaVinci Resolve Studio 16 ตรงนี้คุณจะเห็นว่าซีพียู Core i9 10900K เหนือกว่า Ryzen 7 3700X แค่ 1.5% ขณะที่ซีพียู Ryzen 9 3900X ก็เร็วกว่าแค่ 9% ดังนั้นระยะห่างเพียงเล็กน้อยนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า ซีพียู Ryzen มีความคุ้มค่ามากกว่าเมื่อนำราคามาประกอบการพิจารณา

สำหรับ Premiere Pro ซีพียู Core i9-10900K ทำคะแนนเหนือกว่า Ryzen 7 3700X (ราคาประมาณ 11,900 บาท) ห่างขึ้นที่ 17% และช้ากว่า Ryzen 9 3900X แค่ 5% แต่หากมองไปที่ซีพียู 9900K แล้วก็ถือว่ายกประสิทธิภาพขึ้นมาได้น่าพอใจมาก

ประสิทธิภาพการทำงานแบบ Single Core ของซีพียู 10900K ถูก Photoshop นำไปใช้ได้เป็นอย่างดี โดยผลทดสอบขยับขึ้นไปเหนือกว่า Ryzen 9 3950X ด้วยระยะห่าง 7% แน่นอนว่า ทำได้ดีกว่า 9900K แบบน่าประทับใจ

การใช้พลังงานขณะรันโปรแกรม Blender การใช้พลังงานของระบบซีพียู 10900K แบบมาตรฐานยังมีค่าต่ำกว่าซีพียูเจนที่แล้วเสียอีก และยังใช้พลังงานต่ำกว่า Ryzen 7 2700K อีกด้วย แต่ความเร็วสัญญาณนาฬิกาในโหมดเทอร์โบบูสต์จะสูงสุด 4.3 GHz ในทุกๆ แกน แน่นอนว่ามันก็ยังเทียบไม่ได้กับการตั้งค่าเมื่อเปิดใช้งาน MCE ซึ่งใช้พลังงานรวมสูงเกินกว่า 300 วัตต์แล้ว

Gaming Benchmarks

เกม Battlefield V ตัวแทนของเกม DirectX 11 กับความละเอียด 1440p ปรับตั้งค่าแบบ Ultra Quality ซีพียู 10900K สามารถดันเฟรมเรตผ่านการ์ด GeForce RTX 2080 Ti ออกมาได้ 137 ภาพต่อวินาที เทียบกับฝั่ง AMD ที่ทำได้ดีที่สุดก็ยังมีความต่างกันอยู่ราว 5%

ส่วนเกมที่ใช้ API อีกตัวอย่าง Vulkan ก็ยังให้ผลการเปรียบเทียบที่เหมือนกับกราฟเกมที่ผ่านมา ซึ่งซีพียู 10900K สร้างการแสดงผลภาพออกมาได้เร็วกว่าซีพียู 3900X ประมาณ 7% ในแง่การวัดเปรียบเทียบมันคือชัยชนะ แต่มันไม่ได้สร้างข้อแตกต่างที่น่าตื่นเต้นอะไรในการเล่นเกมจริงๆ

โดยเฉลี่ยแล้วกับความละเอียดระดับ 1440p ของเกม Red Dead Redemption 2 จะมีความเร็วการแสดงผลก็แตะอยู่แถวๆ 86 fps เทียบกับ Ryzen 9 หรือ Ryzen 9 รวมถึง Ryzen 3 3300X ซีพียู 10900K สร้างความได้เปรียบแค่เล็กๆ น้อย เทียบกับ i9-9900K ต่างกันแค่ 2% เท่านั้น

อุณหภูมิขณะทำงานภายใต้การทดสอบด้วย Blender stress test ร่วมกับชุดน้ำ Corsair Hydro H150i Pro การเซ็ตติ้งไบออสแบบค่ามาตรฐาน ซีพียู Core i9-10900K มีอุณหภูมิสูงสุดแค่ 63 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่นเดียวกับค่าการใช้พลังงาน การตรวจสอบจากค่า CPU Package Power มีการใช้พลังงาน 125 วัตต์ โดยค่าพลังงานนี้เกิดจากซีพียู 10 แกนทำงานที่ความเร็ว 4.3 GHz และมีการใช้แรงดันไฟซีพียูเพียง 1.03 โวลต์

ถึงอย่างนั้น เมื่อเปิดใช้งาน MCE ซีพียู Core i9-10900K ก็จะปลดปล่อยประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น และนั่นก็ส่งผลให้ค่าอุณหภูมิขณะทำงานสูงถึง 84 องศาเซลเซียสด้วย แต่มันก็ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ดไว้หลังจากค่าพลังงาน CPU Package Power กระโดดไปถึง 200 วัตต์ และซีพียูก็มีการใช้แรงดันไฟเลี้ยงเพิ่มขึ้นเป็น 1.172 วัตต์

ความคิดเห็นส่งท้าย
สิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ซีพียู Core i9-10900K ไม่ได้มีประสิทธิภาพที่คุ้มค่าต่อราคาเมื่อเทียบกับซีพียูของฝั่ง AMD ซึ่งผลเบนช์มาร์กที่ออกมาหลายๆ ตัวมันก็ยังเป็นรองซีพียู Ryzen 9 3950X หรือถ้าจะมองให้ดีๆ มันก็อยู่ในระดับเดียวกับ Ryzen 9 3900X แต่ในบางเบนช์มาร์กมันก็เหนือกว่าอย่างเช่น Photoshop ที่เน้นการใช้งานซีพียูแกนเดี่ยว ส่วนเรื่องเกมเบนช์มาร์กก็ถือว่าชัดเจน สมกับที่อินเทลนำเสนอว่ามันคือซีพียูเพื่อการเล่นเกมที่ดีที่สุด ถึงอย่างนั้น ผลที่ออกมามันก็มีระยะห่างกันเพียงเล็กน้อย ซึ่งในการเล่นเกมจริงๆ มันก็แทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง

เรื่องการใช้พลังงานก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากซีพียูมันมีการกินพลังงานที่ต่ำกว่าซีพียู Core i9-9900K ในโหมดมาตรฐาน แม้ว่าการเปิด MCE จะทำให้มันกินพลังงานสูงขึ้นจนน่าตกใจ แต่มันไม่ได้น่ากังวลมากเท่ากับอุณหภูมิที่เกิดขึ้นบนซีพียู โดยเฉพาะในกรณีที่ชุดระบายความร้อนทำงานได้ไม่ดีพอ มันอาจมีความร้อนกระโดดไปถึง 96-99 องศาเซลเซียสได้เลย ขนาดชุดน้ำ 3 ตอนที่ Techspot ใช้ก็ยังมีอุณหภูมิถึง 86 องศาเซลเซียส

ในเมืองไทยขณะนี้ ซีพียู Intel 10th Gen สามารถหาซื้อได้ประมาณ 2 รุ่น คือ Core i5 10400 และ Core i7 10700K ส่วน Core i9-10900K ผู้จำหน่ายบางรายที่นำซีพียูขึ้นรายการก็มีการแจ้งว่าสินค้าหมด ส่วนราคาก็กำหนดไว้ที่ 6,750 บาท 14,200 บาท และ 18,500 บาท ตามลำดับ ขณะที่เมนบอร์ดจะมีเฉพาะชิปเซ็ต Z490 และราคาถูกสุดอยู่ที่ 4990 บาท มองตรงๆ ก็คือ ตอนนี้ยังไม่ได้มีตัวเลือกราคาประหยัดๆ ให้เลย

 

ที่มา: www.techspot.com