รวมฮิตเรื่องที่คุณอาจเข้าใจผิด เกี่ยวกับการใช้สมาร์ทโฟน

หลายคนอาจเคยได้ยินหรือเล่าต่อกันมาเกี่ยวกับข้อห้ามหรือวิธีการใช้งานสมาร์ทโฟนต่างๆ บางเรื่องก็ขยันแชร์บ่อยและยังมีคนเชื่ออยู่แม้จะเป็นความเชื่อผิดๆ วันนี้ TechMayday จะพาคุณไปเช็คกันอีกทีว่าเรื่องที่ได้รู้ได้ยินมามันชัวร์หรือมั่วนิ่มกันแน่ รู้แล้วอย่าลืมบอกต่อเพื่อนหรือคนรู้จักให้เข้าใจให้ถูกต้องกันด้วยนะครับ

ความเชื่อ 1: เสียบชาร์จข้ามคืนจะทำให้แบตเตอรี่เสียเร็ว
ข้อเท็จจริง
สมาร์ทโฟนทุกเครื่องในปัจจุบันมีวงจรป้องกันความเสียหายจากการโอเวอร์ชาร์จ และจะหยุดชาร์จโดยอัตโนมัติเมื่อการชาร์จเสร็จสมบูรณ์หรือรับประจุเข้าแบตเตอรี่เต็ม 100%

แต่การเสียบสายชาร์จทิ้งไว้ทั้งคืนจะทำให้โทรศัพท์เริ่มชาร์จอีกครั้งเมื่อพลังงานลดลงถึง 99% โดยจะวนลูปอยู่แบบนี้จนคุณตื่นนอนและถอดสายออก (ยกเว้นสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่มีฟีเจอร์ Optimized Charging ที่จะหยุดชาร์จที่ 80% แล้วค่อยชาร์จต่อจนเต็ม 100% ก่อนที่ผู้ใช้จะตื่นนอน)

ซึ่งเรื่องนี้มีการยืนยันโดยผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทุกรายว่าการทำเช่นนี้จะส่งผลต่ออายุการใช้งานแบตเตอรี่เพียงเล็กน้อย วิธีที่ดีที่สุดคือชาร์จให้เต็มก่อนเข้านอนแล้วถอดสายชาร์จปิดเครื่อง

ความเชื่อ 2: อย่าวางสมาร์ทโฟนใกล้กระเป๋าสตางค์เพราะบัตรเครดิตจะเสียหาย
ข้อเท็จจริง

จริงอยู่ที่สมาร์ทโฟนทุกเครื่องนั้นมีการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จึงมีผู้หวังดีบางคนมองว่ามันอาจส่งผลกระทบและลบข้อมูลในแถบแม่เหล็กหลังบัตรเครดิต 

แต่ความจริงคือสนามเหล็กเล็กๆ ของสมาร์ทโฟนสมัยใหม่นั้นอ่อนแอเกินกว่าจะสร้างความเสียหายให้บัตรเครดิตของคุณได้ คิดง่ายๆ ว่าถ้ามีปัญหาจริง ทำไมถึงยังมีเคสยี่ห้อดังๆ ที่ออกแบบเป็นช่องเก็บบัตรเครดิตด้วยมาวางขายหล่ะ

ความเชื่อ 3: ก้อนแม่เหล็กสามารถทำให้ข้อมูลในสมาร์ทโฟนหาย
ข้อเท็จจริง

แม่เหล็กจะสามารถลบข้อมูลในสมาร์ทโฟนของคุณได้ก็ต่อเมื่อแม่เหล็กนั้นเป็นระดับซูเปอร์แม่เหล็กแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยประดิษฐ์มา ไม่ใช่แม่เหล็กที่คุณใช้ติดตู้เย็นหรือแม่เหล็กของเล่นกิ๊กก๊อก และความจริงในสมาร์ทโฟนก็มีการใช้แม่เหล็กสำหรับการนำทางอยู่แล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาร์ทโฟนในปัจจุบันนั้นเก็บข้อมูลไว้ใน Solid State หรือหน่วยความจำแฟลช ซึ่งใช้วิธีการเปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าในทรานซิสเตอร์ขนาดจิ๋วซึ่งไม่ใช่แม่เหล็ก

ดังนั้นแม่เหล็กทั้งหลายไม่ว่าจะแม่เหล็กติดตู้เย็นหรือแท่นวางมือถือแบบแม่เหล็ก จะไม่สามารถทำอันตรายพวกมันได้เลย (แต่จะรบกวนการทำงานของเครื่องหรือเปล่าอันนั้นอีกเรื่อง)

ความเชื่อ 4: อย่าเล่นไปชาร์จไป เพราะจะทำให้ร้อนและระเบิด
ข้อเท็จจริง

แม้จะเคยมีข่าวปรากฏให้เห็น แต่ความจริงแล้วสมาร์ทโฟนของคุณจะไม่ระเบิดหรือทำให้แบตเตอรี่เสียหายในกรณีเล่นไปชาร์จไปยกเว้นแต่ว่าใช้สายชาร์จที่เสียหาย หรือใช้สายและอะแดปเตอร์ชาร์จของเทียบที่ไม่ได้มาตรฐาน

การชาร์จไปเล่นไปจะส่งผลให้การชาร์จใช้เวลานานขึ้น แต่ถ้าใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานก็ไม่ได้มีปัญหาด้านเทคนิคอะไร

ความเชื่อ 5: ควรใช้ให้แบตหมดเกลี้ยงค่อยชาร์จ
ข้อเท็จจริง

การใช้สมาร์ทโฟนจนแบตหมดเครื่องดับแล้วค่อยชาร์จนั้นไม่เพียงแต่จะไม่เข้าท่าแล้วยังทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วกว่าปกติอีกด้วย

สมาร์ทโฟนในปัจจุบันใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน (Li-On) ซึ่งไม่มีปัญหา Memory Effect เหมือนแบตเตอรี่นิเกิลแคดเมียม (Ni-Cd) ของโทรศัพท์รุ่นโบราณ ดังนั้นจึงสามารถชาร์จได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ใครก็ตามที่มาบอกเรื่องนี้กับคุณ ก็รู้ไว้แค่ว่าเขาอาจใช้โทรศัพท์โบราณอยู่ก็ได้

ความเชื่อ 6: การใช้ Power Bank จะทำให้แบตโทรศัพท์เสื่อมเร็ว
ข้อเท็จจริง
Power Bank หรือแบตเตอรี่สำรองในท้องตลาดมีมากมายหลายยี่ห้อ แถมมีช่วงราคาที่ค่อนข้างแตกต่างกันแม้จะมีขนาดความจุเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ความจุ 10,000 มิลลิแอมป์ มีขายในออนไลน์ตั้งแต่สองร้อยกว่าบาทจนไปถึงสองพันกว่าบาท กลับมาที่คำถาม แล้วพวกมันทำให้แบตเตอรี่เสื่อมประสิทธิภาพจริง
หรือ? คำตอบคือ “อยู่ที่คุณจะเลือก”

เพราะโดยปกติแล้วแบตเตอรี่สำรองยี่ห้อดีๆ มีมาตรฐาน จะใช้แผงวงจรคุณภาพสูงที่สามารถป้องกันการลัดวงจรและชิปควบคุมกระแสไฟในการชาร์จในรูปแบบเดียวกับอะแดปเตอร์ชาร์จมาตรฐานของผู้ผลิตสมาร์ทโฟน

ในขณะที่แบตเตอรี่สำรองโนเนมราคาถูกมักจ่ายกระแสไฟได้ไม่เสถียรและไม่มีระบบป้องกันการโอเวอร์ฮีตซึ่งเป็นสาเหตุทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกตินั่นเอง

ความเชื่อ 7: ถ้าไม่ใช้มือถือนานๆ ต้องชาร์จแบตให้เต็ม 100% ก่อนเก็บ
ข้อเท็จจริง

ข้อมูลจาก Apple ระบุว่า กรณีที่คุณต้องการเก็บมือถือที่ไม่ได้ใช้แล้วเป็นเครื่องสำรอง มีสองปัจจัยที่จะส่งผลกับอายุของแบตเตอรี่คือ หนึ่ง อุณหภูมิในห้องที่เก็บ, สอง ปริมาณแบตเตอรี่ที่ชาร์จครั้งสุดท้ายก่อนปิดเครื่อง และควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • อย่าชาร์จแบตจนเต็ม 100% หรือใช้จนแบตหมดเกลี้ยง ปริมาณที่เหมาะสมที่สุดคือชาร์จไว้ที่ 50% เพราะการทิ้งแบตเตอรี่ที่ไม่มีประจุไฟเลยไว้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการ Deep Discharge State ที่แบตเตอรี่นั้นจะไม่สามารถเก็บประจุได้อีกต่อไป ในทางกลับกัน การชาร์จแบตจนเต็มแล้วไม่ได้ใช้งานนานๆ จะทำให้แบตเตอรี่คลายประจุเร็วและส่งผลให้อายุการใช้งานสั้นลง
     
  • ปิดเครื่องทุกครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่
     
  • สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเก็บคือในห้องที่อุณหภูมิที่ไม่เกิน 32 องศา และปราศจากความชื้น ถ้าไม่แน่ใจว่าควบคุมได้ แนะนำให้เก็บใส่ตู้กันชื้นดีที่สุด
     
  • ถ้าเก็บนานเกินกว่า 6 เดือน ให้นำออกมาชาร์จแบตเตอรี่ให้ถึง 50% ทุกๆ 6 เดือน
     
  • การนำออกมาใช้หลังจากเก็บไว้นานๆ แนะนำให้ชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ที่มากับตัวเครื่องไม่น้อยกว่า 20 นาทีก่อนแล้วค่อยใช้งาน

ความเชื่อ 8: ปรับลดความสว่างหน้าจอจะทำให้สบายตา
ข้อเท็จจริง
ไม่ว่าจะปรับหน้าจอสว่างหรือมืด มันไม่ได้มีผลอะไรต่อดวงตาของคุณหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ในทางกลับกัน การปรับหน้าจอมืดเกินไประหว่างการใช้งานนอกอาคารสถานที่ อาจทำให้คุณต้องเพ่งมองนอกจากจะปวดตาแล้วยังปวดหัวอีกด้วย ส่วนการปรับจอสว่างเกินไปเวลาใช้ในห้องนอน ก็อาจทำให้สายตาล้าได้

ความเชื่อ 9: ใช้โทรศัพท์มือถือในปั๊มน้ำมันอาจทำให้เกิดไฟไหม้
ข้อเท็จจริง

วิดีโอที่ถูกแชร์ผ่านโซเชี่ยลที่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นผู้ร้ายระเบิดปั๊มน้ำมันอาจทำให้คุณกลัวและไม่เคยใช้มือถือเวลาเติมน้ำมันอีกเลย นั่นถือเป็นเรื่องที่ดี

แต่ข้อเท็จจริงคือไม่เคยมีเอกสารยืนยันว่าสมาร์ทโฟนสามารถก่อให้เกิดประกายไฟจนทำให้ไอน้ำมันที่ลอยอยู่ในอากาศติดไฟได้ อ้างอิงจากรายงานของ PEI (Petroleum Equipment Institute) มีการระบุชัดว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าการเกิดไฟไหม้ในสถานีบริการน้ำมันทั่วโลกมีสาเหตุจากโทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้ยังมีรายการทีวี Myth Buster Discovery ที่เคยพยายามพิสูจน์เรื่องนี้โดยการจำลองสถานการณ์ใช้สมาร์ทโฟนเพื่อจุดไฟระหว่างการเติมน้ำมัน ซึ่งปรากฏว่าล้มเหลว

สามารถอธิบายเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้ว่าเป็นเพราะสมาร์ทโฟนนั้นปล่อยคลื่นความถี่ที่มีค่าพลังงานต่ำมาก (1W/cm2) จนไม่ส่งผลใดๆ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ปั๊มน้ำมันเกิดเพลิงไหม้ มีข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ ซึ่งอาจเป็นแบตเตอรี่ในรถยนต์คันนั้นๆ เองมากกว่า และการห้ามไม่ให้ใช้โทรศัพท์ระหว่างจอดเติมน้ำมันก็เพราะมันจะดึงความสนใจไปจากการระแวดระวังและการปฏิบัติตามกฏเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวมนั่นเอง

ข้อมูล:
https://www.apple.com/batteries/maximizing-performance/
https://www.samsung.com/ca/support/mobile-devices/can-you-use-phone-while-charging/
https://www.mirror.co.uk/lifestyle/health/you-should-never-charge-your-12686923
https://blogthinkbig.com/why-is-the-use-of-mobile-phones-at-petrol-stations-prohibited