รีวิว Huawei Matebook D15 - โน้ตบุ๊กทางเลือกไซส์ 15.6 นิ้วในราคาเบาๆ

PROS

ติดตั้งเซนเซอร์ลายนิ้วมือ
น้ำหนักเบาในขนาดหน้าจอ 15.6 นิ้ว
โอนไฟล์ไร้สายผ่าน Huawei Share

CONS

ไม่มีไฟ Backlid บนคีย์บอร์ด
ไม่สามารถอัพเกรดแรมได้
ชิปไวร์เลสมาตรฐาน AC ความเร็วสูงสุด 866Mbps
ไม่มีสล็อต SD Card

โน้ตบุ๊ก Huawei Matebook D15 เข้าสู่ตลาดมาได้ราวๆ ครึ่งปีแล้ว ดังนั้นในเวลานี้มันจึงเข้าสู่สถานะ “โน้ตบุ๊กตกรุ่น” อย่างเต็มตัว เหตุผลที่ทำให้มันเป็นเช่นนั้นไม่ใช่เพราะว่า เรื่องของระยะเวลาหรือการด้อยประสิทธิภาพ แต่เป็นเพราะว่า ชิปรุ่นใหม่ของ AMD อย่าง Ryzen 4000 Series ที่ทรงพลังกว่าเดิมและจัดการพลังงานได้อย่างยอดเยี่ยมวางขายอยู่เต็มตลาด

ถึงอย่างนั้นในเวลานี้ Huawei Matebook D15 ก็ยังเป็นโน้ตบุ๊กขนาด 15.6 นิ้ว ในระดับราคาไม่เกิน 18,000 บาท ที่แนะนำให้เลือกซื้อไปใช้งาน เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ดีไซน์ที่ดูดีเกินราคา ตอบสนองการใช้งานพื้นฐานได้ราบรื่น ภายในติดตั้งพื้นที่จัดเก็บข้อมูลแยกส่วนกับระบบหลัก แน่นอนว่าในตลาดเองก็มีโน้ตบุ๊กแบรนด์อื่นที่อยู่ในเรตและขนาดหน้าจอเท่าๆ กันอย่างเช่น Vivobook X512DA, Aspire A315, Inspiron 3593, Laptop X509FL แต่ทั้งหมดนี้จะไม่ได้มาพร้อมกับองค์ประกอบต่างๆ ที่ครบครันเท่ากับ Matebook D15 ถึงอย่างนั้น อุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นคุณก็คือ มันหาซื้อได้ยากแล้วในเวลานี้

Key Specifications

  • ราคาโดยประมาณ: 17,990 บาท
  • AMD Ryzen 5 3500U, 4c 8t, 2.1GHz Up to 3.7 GHz
  • 8GB (2x4GB Onboard) DDR4-2400 MHz Dual Channel
  • 256GB M.2 PCIe NVMe Solid State Drive
  • 1TB SATA HDD 2.5inch, 5400 rpm
  • AMD Vega 8, Share Memory 2 GB
  • 15.6 inch (1,920X1,080), Panel IPS
  • Realtek 8822CE 802.11ac 2x2 / Bluetooth 4.2
  • Windows 10 Home 64-bit Single Language
  • Lithium-ion 42 Wh
  • Webcam 720p , 3.5 mm audio Combo
  • Size: 357.8 x 229.9 x 16.9 mm, 1.53 kg.

โครงสร้างและการออกแบบตัวเครื่อง

โน้ตบุ๊ก Matebook D15 ใช้วัสดุอะลูมิเนียมประกบตัวเครื่อง ทั้งฝาหลัง ฐานล่างและแผงวางมือด้านใน หรือง่ายๆ แบ่งออกเป็น 3 ชิ้น ข้อดีจะไม่แตกหักหรือร้าวหากเกิดการกระแทก แต่จะยุบหรือบุบแทน ทำความสะอาดได้ง่าย นอกจากนั้นแล้วมันยังดูดีกว่าโน้ตบุ๊กแบบเมนสตรีมทั่วไป มีความใกล้เคียงกับพวก Ultrabook ด้วยความหนา 16.9 มิลลิเมตรและน้ำหนัก 1.53 กิโลกรัม

แป้นคีย์บอร์ดของ Matebook D15 จะไม่มีชุดปุ่ม Numpad ดังนั้นมันจึงมีพื้นที่เหลือมากกว่าปกติ การจัดวางคีย์ ขนาดของปุ่ม ระยะห่างของปุ่มถือว่า มีปัญหาเล็กน้อยสำหรับคนพิมพ์แบบสัมผัสในช่วงเริ่มต้น โดยเฉพาะระยะของปุ่ม Backspace ที่ห่างกว่าปกติ ปุ่มคีย์บอร์ดถือว่าตื้นกว่าโน้ตบุ๊กโดยทั่วไป เนื้อผิวผิวหยาบ ดังนั้นมันจึงไม่คราบหรือรอยมันๆ ติดบนปุ่ม ปุ่มฟังก์ชันกดใช้ได้ทันที หากต้องการใช้ปุ่ม F1-F12 จะต้องกดปุ่มล็อก Fn  น่าเสียดายอย่างเดียวที่คีย์บอร์ดไม่มีไฟ Backlid

ปุ่ม Power แยกออกไปอยู่ทางขวามือ มีระบบสแกนลายนิ้วมือซ่อนอยู่ภายใน การสแกนเพื่อเข้าวินโดว์สทำงานได้รวดเร็วหลังตั้งค่ารหัสผ่าน ขณะที่กล้องเว็บแคมจะซ่อนอยู่ใต้ปุ่มระหว่าง F6 และ F7 เป็นลักษณะสวิตช์กลไก กล้องนี้ไม่สามารถตั้งค่าล็อกอินด้วย Windows Hello Face ความละเอียดอยู่แค่ระดับ HD แน่นอนว่า ด้วยตำแหน่งของกล้อง ทำให้ภาพกลายเป็นมุมเสย 

ทัชแพดเป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าชมเชย ไม่ใช่เรื่องของขนาดเท่านั้น แต่มันตอบสนองการสั่งงานได้ดีมาก ทัชแพดถูกออกแบบให้เป็นชิ้นเดียว มีปุ่มคลิกซ้ายขวาซ่อนอยู่ด้านล่าง กึ่งกลางสามารถกดลงไปเหมือนปุ่มคลิก การกดค้างเพื่อลากในกรณีต่างๆ ทำได้สะดวก การสั่งงานแบบ Multi-Gesture ก็ตอบสนองได้รวดเร็ว อาจจะมีดีเลย์ให้รู้สึกในบางครั้ง

พอร์ตเชื่อมต่อของโน้ตบุ๊กไม่ได้มีอะไรที่พิเศษ ฝั่งซ้าย USB-C และ USB Type A จะเป็นมาตรฐาน USB 3.2 Gen 1 (5Gbps) และ HDMI ซึ่ง USB-C นี้ทำหน้าที่เป็นทั้งชาร์จไฟให้กับโน้ตบุ๊กผ่านอะแดปเตอร์ ชาร์จอุปกรณ์อื่นๆ และโอนถ่ายข้อมูลได้ ขณะที่ฝั่งขวามือจะติดตั้งพอร์ต USB-A ทั้งคู่ เป็นเพียงมาตรฐาน USB 2.0 ขณะที่ช่องออดิโอ 3.5 มม.แบบคอมโบ ให้ความรู้สึกอยู่ผิดที่ไปหน่อย ตรงจุดนี้เรามองว่า มันควรอยู่ทางฝั่งซ้ายมือมากกว่า

จอภาพใช้พื้นที่เกือบเต็มหน้าจอ ต้องขอบคุณกรอบจอที่บางมากทั้ง 3 ด้าน การประกบกับฝาหลังทำได้แน่นสนิท ขณะที่คุณภาพการแสดงผลถือว่า อยู่ในเกณฑ์ปานกลางด้วยพาแนล IPS ซึ่งมีมุมมองที่กว้างกว่าพาแนล TN-Film ถึงอย่างนั้นสีสันของมันก็ไม่ได้สดใสหรือมีอัตราคอนทราสต์ที่สูงนัก ในมุมของเรา ถือว่าดีพอแล้วสำหรับการใช้งานทั่วไปโดยไม่หงุดหงิดเรื่องความผิดเพี้ยนของภาพหลังจากขยับหรือปรับมุมมอง เพียงแต่ในมุมด้านข้างอัตราคอนทราสต์และความสว่างจะเปลี่ยนแปลงไปตามภาพ

ภายใต้ตะแกรงถี่ๆ ทั้ง 3 จุดจะมีฟิลเตอร์กรองฝุ่นติดตั้งเอาไว้ จะมีเฉพาะตำแหน่งที่พัดลมโบลวเวอร์เท่านั้นที่ไม่มีฟิลเตอร์ และช่องลมร้อนออกภายนอกเองก็จะอยู่บริเวณบานพับตรงจุดใกล้พัดลมเท่านั้น ส่วนจุดๆ อื่น อย่างฐานยางจะช่วยยกฐานให้มีพื้นที่ให้อากาศไหลเข้า ยึดเกาะพื้นฐานได้ดี ในกรณีของการใช้งานเบาๆ อย่างทำงานเอกสารหรือเข้าเว็บ คุณจะไม่ได้ยินเสียงพัดลมเลย นั่นเป็นเพราะมันไม่หมุน

หลังจากทำการเปิดฝาใต้เครื่อง หากคุณจะทำการอัพเกรด ดูเหมือนว่าจะทำได้ราวๆ 2 ส่วน คือ ไดรฟ์ NVMe และฮาร์ดดิสก์ SATA ขณะที่ชิปไวร์เลสที่อยู่กลางเครื่องไม่แน่ใจว่าจะรองรับการ์ด Wi-Fi ตัวอื่นหรือไม่ นอกจากนั้นจะเห็นว่าโน้ตบุ๊กใช้ท่อฮีตไปป์ทองแดงเพียงเส้นเดียวให้กับชิป APU และชิป PCH

ด้านในของฝาหลังเองก็มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก มีทั้งฟองนำ แผ่นเพลทพลาสติก แผ่นฟลอยด์ ซึ่งทำหน้าที่ไม่ให้ตัวบอดี้อะลูมิเนียมไปสัมผัสโดนแผงวงจนภายใน

อะแดปเตอร์กำลังไฟสูงสุด 65 วัตต์มาคู่กับสาย USB-C ความยาว 1.8 เมตร จากข้อมูลบนตัวอุปกรณ์ มันสามารถจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ได้หลายระดับแรงดันผ่านโปรโตคอล PD ดังนั้นจึงสามารถชาร์จกับอุปกรณ์ได้หลากหลาย ทั้งสมาร์ทโฟน จอยเกม หรือแม้แต่ Nintendo Switch และยังจ่ายพลังงานแบบ Fast Charge ได้ด้วย ซึ่งการชาร์จจาก 0 จนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง

ผลการทดสอบด้วยซอฟต์แวร์เบนช์มาร์ก

ประสิทธิภาพจากการทดสอบทั้งระบบจะเห็นว่า Matebook D15 ทำคะแนนเกือบทั้งหมดได้ดีกว่าโน้ตบุ๊ก X512DA ที่มีสเปคเหมือนกัน ทั้งซีพียู หน่วยความจำแรม หรือแม้กระทั่งขนาดของไดรฟ์ NVMe ถึงอย่างนั้นมันก็มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ห่างจากโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป Ryzen 5 4500U พอสมควร โดยเฉพาะการประมวลผลของซีพียู ส่วนประสิทธิภาพชิปกราฟิกถือว่า เล่นเกมออนไลน์ที่ไม่กินสเปคได้สบายๆ ยกตัวอย่างเช่น PUBG Lite, CS:GO หรือ VALORANT ซึ่งเกมนี้เล่นด้วยคุณภาพต่ำสุดบนความละเอียด Full HD ก็เล่นได้ราบรื่นพอสมควรเลย 

ส่วนไดรฟ์ NVMe จะใช้ Samsung ซึ่งอ่านเขียนได้ด้วยความเร็วที่น่าพอใจมาก ขณะที่ค่า iops เองก็ทำได้ในระดับที่ดีอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมมันจึงให้ผลการทดสอบออกมาดีกว่า Vivobook รุ่นที่เป็นโน้ตบุ๊กสเปคเดียวกัน

สำหรับการจัดการความร้อนถือว่า ทำได้ดี การเรนเดอร์ภาพกราฟิกด้วยซีพียูผ่าน Cinebench R20 ความร้อนที่เกิดขึ้นบนชิป Ryzen 5 3500U สูงสุด 80 องศาเซลเซียส โดยความเร็วในการบูสต์สัญญาณนาฬิกาก็ยังคงไว้ที่ความเร็วไม่ต่ำกว่า 3000 MHz ได้โดยตลอดจนจบการเรนเดอร์ หลังจากนั้นก็ใช้เวลาราวๆ 30 วินาทีความร้อนก็กลับอยู่แถวๆ 43.5 องศาเซลเซียส ตรงจุดนี้ถือว่า มันระบายความร้อนออกจากตัวเครื่องได้ดีมาก ขณะที่การเล่นเกม Valorant ก็คุมอุณหภูมิชิปกราฟิกและซีพียูเอาไว้ที่ 55 และ 62 องศาเซลเซียสตามลำดับ ไม่เกิดปัญหาเรื่องความเร็วลดลงแต่อย่างใด อย่างกรณีของการเบิร์นด้วย Furmark เฉพาะชิปกราฟิก ชุดระบายความร้อนและระบบก็คุมอุณหภูมิเอาไว้แถวๆ 71 องศาเซลเซียส ดังนั้น เรื่องความร้อน ไม่มีอะไรน่ากังวลสำหรับ Matebook D15

สำหรับเรื่องการใช้งานด้วยพลังงานแบตเตอรี่ ในสภาวะการทำงานออฟฟิศด้วยโปรแกรมเอกสาร เข้าอินเทอร์เน็ต รับส่งอีเมล์ และชมวิดีโอยูทูป หรือการใช้งานประจำวันสามารถรันต่อเนื่องไปได้ 4:56 ชั่วโมง ภายใต้การจัดการพลังงานแบบ Better Performance

บทสรุปและความคิดเห็น
ในมุมของเรา Matebook D15 ตัวนี้เป็นโน้ตบุ๊กขนาด 15.6 นิ้วที่ใช้งานแบบสำนักงานหรือการศึกษาได้ดีมาก ส่วนการแก้ไขภาพถ่าย เล่นเกมออนไลน์ที่ไม่ใช้ทรัพยากรระดับสูง ใช้ตัดต่อวิดีโอขั้นพื้นฐานหรือเพื่อเรียนรู้ "มันก็สามารถทำได้" ส่วน Huawei Share เองก็เป็นฟีเจอร์ที่เข้ามาช่วยให้สมาร์ทโฟนหัวเว่ยทำงานร่วมกันได้อย่างสะดวก ทั้งการโอนถ่ายไฟล์แบบไร้สาย การควบคุมสมาร์ทโฟนจากโน้ตบุ๊ก นอกจากนั้นในกลุ่มตัวเลือกโน้ตบุ๊กขนาด 15.6 นิ้วและราคาไม่เกิน 18,000 บาทมันก็เป็นตัวเลือกที่เราขอแนะนำ ถึงมันจะหาซื้อยากสักหน่อย เพราะไม่เฉพาะหน้าร้านที่เครื่องหมด ในออนไลน์บางแห่งก็หมดด้วย ถึงอย่างนั้นในวันที่เราเขียนรีวิวนี้เสร็จ ในร้านของ JD Central ยังมีสินค้าอยู่

ขอขอบคุณ: huawei technologies (thailand) co. ltd