รีวิว Huawei Band 6 มาพร้อม Spo2 ตรวจออกซิเจนในเลือดง่ายๆ ด้วยตัวเอง
PROS
หน้าจอขนาดใหญ่และสีสันสดใส
มีฟังก์ชันภาพรวมที่ดีมาก
น้ำหนักเบา สวมใส่สบาย
การสั่งงานระบบสัมผัสเข้าใจง่าย
รองรับภาษาไทยเต็มรูปแบบ
CONS
ไม่มีระบบ GPS ในตัว
ไม่สามารถรับสายโทรเข้าได้
ก่อนหน้านี้หัวเว่ยส่งสมาร์ทวอชน้องใหม่ไซส์เล็กอย่าง HUAWEI Band 4e สำหรับตลาดระดับเริ่มต้น ส่วน Huawei Band 6 ที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ถูกวางอยู่ในเรตราคาที่สูงขึ้นมาอีกนิด พร้อมกับความสามารถและระบบการทำงานที่น่าสนใจภายใต้ค่าตัว 1,899 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดแบบ All Day ได้ การวัดอัตราการเต้นหัวใจแบบเรียลไทม์ พร้อมโหมด Workout มากถึง 96 โหมด และใช้งานได้นาน 14 วันต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง
Key Specification
- ขนาดหน้าจอ AMOLED 1.47 นิ้ว (368×184px)
- หน้าจอ Curved 2.5D Glass
- ตัวเครื่องโพลิเมอร์+เส้นใยไฟเบอร์
- Bluetooth 5.0 LE
- แบตเตอรี่ 180 mAh
- เซ็นเซอร์ Heart rate monitor, pulse oximeter (SpO2), accelerometer, gyroscope
- กันน้ำ 5ATM (50 เมตร)
- รองรับโหมดออกกำลังกาย 96 โหมด
- น้ำหนัก 18 กรัม ไม่รวมสายรัด
ตัวเครื่องประณีต หน้าจอใหญ่ น้ำหนักเบา
สมาร์ทแบนด์ Huawei Band 6 ยังมีดีไซน์แบบเรียบๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ต่างไปจากสมาร์ทแบนด์ในอุตสาหกรรม พูดง่ายๆ ก็คือ หน้าจอ AMOLED ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าภายใต้ตัวเรือนที่ผลิตจากวัสดุโพลิเมอร์ผสมไฟเบอร์ประกบเข้ากับสายรัดข้อมือซิลิโคน หน้าจอดังกล่าวมีขนาด 1.47 นิ้ว หรือขนาด 3.3x1.8 เซนติเมตรในกรณีที่วัดขนาดโดยรอบ หน้าจอดังกล่าวมีความละเอียด 194×368 พิกเซล ซึ่งสามารถแสดงข้อมูลต่างๆ ออกมาได้อย่างชัดเจนมากๆ
ตัวเรือนมีปุ่มกดเพียงปุ่มเดียวทางด้านขวาของจอแสดงผล ด้านใต้คุณจะพบกับขั้วโลหะสำหรับชาร์จพลังงานเข้ากับสายชาร์จแบบแม่เหล็ก ในมุมของเรามองว่า น่าจะออกแบบให้เป็นแท่นที่ใหญ่กว่านี้ ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะคุณจะไม่ได้ชาร์จมันบ่อยครั้งแบบวันต่อวันเหมือนกับสมาร์ทวอชบางรุ่น
วิธีแกะสาย: ง้างสายออกด้านนอก จากนั้นงัดฝาล็อกที่เผยอขึ้นมาโดยตรง เมื่อหลุดแล้วให้ถอดสายด้วยการดันสายขึ้นไปทางฝั่งหน้าจอตรงๆ
ในส่วนของสายรัดข้อมือที่ออกแบบมาให้เหมือนกับสายนาฬิกามีข้อดีตรงที่รองรับขนาดข้อมือผู้ใช้ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนสาย ผิวเรียบ สัมผัสลื่น และน้ำหนักที่เบาทั้งสายและตัวสมาร์ทแบนด์ ขณะสวมใส่จึงไม่ค่อยรู้สึกว่ามีอะไรอยู่บนข้อมือ ใส่นอนหลับได้โดยไม่อึดอัดเช่นกัน การสวมใส่ออกกำลังที่ต้องเผชิญกับเหงื่อ โดยส่วนตัวไม่มีปัญหาอะไร รู้สึกรำคาญเล็กน้อย ไม่มีอะไรแพ้หรือคันแต่อย่างใด (ใส่อาบน้ำและล้างสายรัดด้วยสบู่อ่อนๆ )
ทำความเข้าใจกับการควบคุมสั่งงานได้ง่าย
คนที่เคยใช้งานสมาร์ทวอชมาก่อนแล้วจะทำความเข้าใจกับรูปแบบการควบคุมของ Huawei Band 6 ได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการปัดจากขอบลงด้านล่างเพื่อเปิดเมนูตั้งค่า การปัดลงล่างเพื่อเรียกดู Notification การเลื่อนซ้ายขวาเพื่อตรวจสอบการเต้นของหัวใจ สภาพอากาศ บันทึกกิจกรรมที่ผ่านมาทั้งวัน หรือการเลื่อนไปมาบนล่างเพื่อเลือกรายการต่างๆ ตลอดจนการปัดจากขอบซ้ายไปทางขวาเพื่อย้อนกลับมาหน้ารายการก่อนหน้า สุดท้ายแตะค้างกลางจอเพื่อเข้าไปเปลี่ยนหน้า Watch Face ซึ่งใน Watch Face บางรายการจะใส่ชอร์ตคัทลงไปด้วย เพื่อเข้าถึงเมนูอื่นๆ อย่างเช่น บันทึกกิจกรรม สภาพอากาศ ฯลฯ โดยไม่ต้องเลื่อนหน้าจอเข้าไป
นอกจากการสั่งงานผ่านหน้าจอแล้ว ปุ่มสวิทช์ยังใช้เข้าสู่หน้าเมนูหลักของ Huawei Band 6 ซึ่งจะเข้าไปสู่แอพฯ ของสมาร์ทแบนด์ ทั้งการตั้งค่า/กำหนด/เปิดใช้งานโหมด Workout เข้าถึงรายละเอียดของฟีเจอร์หลายๆ ตัว สั่งให้ Huawei Band 6 วัดค่า SpO2 ฯลฯ รวมถึงการตั้งค่าการทำงานอื่นๆ ของ Huawei Band 6 และแอพฯ อรรถประโยชน์เช่น Timer, Alarm, Flashlight, Find Phone ฯลฯ
ให้ผลการวัดที่น่าพอใจ จัดเก็บสถิติตลอดทั้งวันหากเปิดใช้
ค่อนข้างยากที่จะบอกว่าเซนเซอร์ SpO2 หรือแม้แต่เซนเซอร์วัด Heart rate มีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด เนื่องจากเราไม่ได้มีเครื่องมือวัดที่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจน ดังนั้นทีมงานจึงเลือกใช้วิธีเปรียบเทียบกับเครื่อง Pulse Oximeter แบบ Fingertip ที่มีการนำไปใช้ในโรงพยาบาลและผู้ใช้ทั่วไปสามารถหาซื้อได้ โดยใช้การวัดจากปลายนิ้วชี้ของมือซ้าย ข้างเดียวกันกับข้อมือที่สวมใส่ Huawei Band 6 อยู่
จากตารางจะเห็นว่า ค่า SpO2 หรือแม้แต่ค่า Pulse ที่ Huawei Band 6 ตรวจวัดออกมามีค่าเบี่ยงเบนจากเครื่อง Pulse Oximeter อยู่เล็กน้อย ซึ่งในบางจังหวะก็มีค่าที่ตรงกันบ้างโดยเฉพาะค่า Heart rate หรือ Pulse นั่นเป็นเพราะว่า ความเร็วในการตรวจจับของ Huawei Band 6 นั้นทำได้ช้ากว่า อย่างไรก็ดีการทำงานของ Pulse Oximeter สามารถตรวจวัดค่าทั้งสองตัวออกมาภายในเวลาไม่ถึง 10 วินาที หลังจากนั้นก็มีการตรวจวัดที่ให้ผลลัพธ์ในแบบเรียลไทม์ ในมุมของเราแล้ว ถือว่าให้ความแม่นยำในระดับที่ยอมรับได้
แน่นอนว่า ในส่วนของการติดตาม Heart rate ไม่ได้แค่แสดงเฉพาะค่า bpm อย่างเดียว ยังมีการแสดงสถิติเป็นกราฟต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงหากเปิดใช้ฟีเจอร์ Continuos heart rate Monitoring รวมถึงค่าอัตราการเต้นสูงสุดและต่ำสุด ค่า RHR หรือค่า Resting Heart Rate” หมายถึง อัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก ภายใน 1 นาที โดยไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงระดับสมรรถภาพทางร่างกายของเราว่าเป็นอย่างไรและสุขภาพดีมากแค่ไหน (RHR – 51 : เป็นค่าเฉลี่ยของนักกีฬา) ส่วนการวัดค่าความเข้มข้นของออกซิเจนนอกจากแสดงค่าที่วัดได้แล้วก็ยังมีกราฟที่รวบรวมผลในการวัดตลอดทั้งวันเช่นกัน
ฟังก์ชันยังมีให้ใช้อีกเยอะ แถมเปลี่ยน Watch Face ได้เหมือนกัน
การแสดงข้อมูลโดยทั่วไปบน Huawei Band 6 อย่างเช่น Activity Records ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมเอาไว้ระหว่างวัน สามารถแสดงข้อมูลปริมาณแคลอรี่ที่เผาผลาญไป จำนวนก้าว ระยะทาง ช่วงเวลาของกิจกรรม ช่วงเวลาในการก้าวเดิน ระยะเวลาทั้งหมดที่มีกิจกรรมหรือออกกำลังกาย ออกมาทั้งในรูปแบบของกราฟตัวเลข กราฟแท่ง กราฟวงกลม ซึ่งไม่เพียงละเอียด แต่ยังดูสวยงามอีกด้วย
ฟังก์ชันหนึ่งที่หลายๆ คนชอบก็คือ การเปลี่ยนหน้ากากของสมาร์ทแบนด์ ซึ่ง Huawei Band 6 ก็ทำได้เช่นกัน แต่คุณต้องโหลดแอพฯ Huawei Health เสียก่อน ลงทะเบียนให้เรียบร้อย จากนั้นเข้าไปโหลดผ่านเมนู Devices > Watch faces ซึ่งมีดีไซน์ในเลือกมากมาย รวมทั้งดีไซน์ของนักออกแบบของไทยด้วย ส่วนวิธีการเปลี่ยนบนหน้าสมาร์ทแบนด์จะต้องดาวน์โหลดติดตั้งลงมาเสียก่อน จากนั้นแตะค้างบนหน้า Watch face บนสมาร์ทแบนด์และเลือกแบบที่ต้องการเป็นอันเสร็จสิ้น
โหมดออกกำลังกายหรือ Workout แม้ว่ามันจะใช้งานได้ แต่ในความจริงมันมีรูปแบบจำกัดและหลักๆ มันก็มีการแสดงข้อมูลโดยละเอียดสำหรับกิจกรรมออกกำลังกายหลัก 11 ประเภทเท่านั้นอย่างเช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ กระโดดเชือก วิ่งบนลู่วิ่ง ฯลฯ อย่างกรณีของการกระโดดเชือก สมาร์ทแบนด์มีการแสดงข้อมูลสถิติหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนครั้งในการกระโดด จำนวน Pace อัตราการเต้นหัวใจ ความเร็วในการกระโดดต่อนาที ฯลฯ
ขณะที่โหมดออกกำลังกายอื่นๆ อย่างเช่น ชกมวยจะมีข้อมูลสถิติพื้นฐานอาทิ ระยะเวลา จำนวนพลังงานที่เผาผลาญไป อัตราการเต้นหัวใจ การจำแนกโซนอัตราการเต้นของหัวใจ ความเข้มข้น ระดับความเครียด ระดับความเหนื่อยล้า ซึ่งในโหมดออกกำลังกายหลักทั้ง 11 โหมด ก็มีข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว และนอกจากการดูรายงานสถิติจากสมาร์ทแบนด์ Huawei Band 6 แล้ว ในแอพฯ Huawei Health ก็มีสถิติเหล่านี้ที่ถูกซิงโครไนส์จากสมาร์ทแบนด์เช่นกัน
ขยับเข้าไปที่แอพฯ Huawei Health กันบ้าง จะเห็นว่าหน้าแดชบอร์ดของแอพนั้นรวบรวมสถิติของฟังก์ชันการทำงานหลักๆ เอาไว้เพื่อรายงานข้อมูลและเข้าถึงมันได้ทันทีหากต้องการทราบรายละเอียดภายใน ใช้งานไม่ยาก ไม่มีอะไรซับซ้อน ขณะที่ฝั่งขวาก็เป็นการแสดงผลเพิ่มเติมของการโหมด Outdoor Walk ซึ่ง Huawei Band 6 ไม่มี GPS ในตัว แต่ก่อนที่มันจะเริ่มตรวจจับข้อมูลจะทำการเชื่อมตัวเองเข้ากับ GPS ของสมาร์ทโฟน แน่นอนว่าฟีเจอร์นี้ถือว่าเป็นพื้นฐานอยู่แล้วที่สมาร์ทแบนด์หรือสมาร์ทวอชต้องมีและทำได้ สำหรับใครที่ต้องการทราบค่า V02 max สามารถวัดได้ด้วยตัวเองด้วยการใช้วิ่งในโหมด Outdoor run ส่วนตัวทีมงานไม่ได้ทำการวิ่งในโหมดดังกล่าว เนื่องจากถนัดกีฬาประเภทอื่นๆ อย่างเช่น บาสเกตบอลและแบดมินตันมากกว่า
มีประโยชน์มากๆ แม้กับคนที่ไม่ออกกำลังกาย
นอกจากการเก็บสถิติของกิจกรรมต่างๆ หรือการประมวลผลการเผาผลาญพลังงานที่เกิดขึ้นแล้ว ฟังก์ชันหลายอย่างที่มีอยู่ใน Huawei Band 6 มีประโยชน์มากๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งการวัดอัตราการเต้นของหัวใจตลอดทั้งวัน หรือการติดตามระดับความเข้มข้นของออกซิเจนผ่านเซนเซอร์ SpO2 ซึ่งจะมีการทำงานร่วมกับแอพฯ Huawei Health ในการเปิดการแจ้งเตือนคุณ หากว่าการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอหรือออกซิเจนในเลือดลดลงต่ำกว่าระดับปกติ นอกจากนั้นยังมีฟังก์ชันประเมินและติดตามระดับความเครียด การติดตามการนอนหลับที่มีการประเมินผลข้อมูลคุณภาพการนอนอย่างละเอียด ซึ่งฟังก์ชันบางอย่างจะไม่เปิดทำงานอัตโนมัติ คุณต้องเข้าไปเปิดใช้งานเอง จริงๆ แล้ว Huawei Band 6 ยังมีฟังก์ชัน Menstrual Cycle Monitor หรือการคาดการณ์การตกไข่ของผู้หญิง ซึ่งตรงนี้มันไม่แสดงขึ้นมาสำหรับผู้ใช้ที่เป็นผู้ชาย
บทสรุปและความคิดเห็นของ Techmayday
หลายๆ คนที่เคยใช้หรือใช้งานสมาร์ทวอชหรือสมาร์ทแบนด์อยู่แล้วอาจจะมองว่า Huawei Band 6 ไม่ได้มีอะไรใหม่เป็นพิเศษนอกจากเซนเซอร์ SpO2 ถึงอย่างนั้นคุณค่าของมันก็ไม่ได้อยู่ที่ตัวฮาร์ดแวร์หรือเซนเซอร์เพียงอย่างเดียว แต่มันอยู่ที่ขอบเขตของการประมวลผลของแอพฯ ที่ให้ข้อมูลเชิงสถิติ ซึ่งผู้ใช้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นำไปพัฒนาร่างกาย ปรับปรุงการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น หรือสังเกตสภาพร่างกายของตัวเอง อย่างเช่น การมอนิเตอร์ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีการระบาดของ Covid-19 หากว่าออกซิเจนในเลือดลดต่ำ หมายความว่า ปอดมีประสิทธิภาพการทำงานลดลง สามารถตรวจอาการเบื้องต้นที่บ้านด้วยตัวเอง หากมีผิดปกติต่อเนื่องจะได้เตรียมพร้อมก่อนไปโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ ถึงอย่างนั้นในตลาดหรือแม้แต่สมาร์ทวอชหัวเว่ยเองก็มีตัวเลือกอื่นๆ ที่มีความสามารถสูงกว่า มีแอพพลิเคชั่นที่มีศักยภาพมากกว่าสำหรับนักวิ่งหรือนักกีฬาประเภทอื่น ดังนั้นจะซื้อหรือไม่ซื้อคงไม่มีใครตอบแทนได้ แต่สำหรับเราแล้ว สมาร์ทแบนด์ Huawei Band 6 มีราคาสมเหตุสมผลกับขอบเขตความสามารถของมันครับ
มีอีกเรื่องที่เกือบลืมบอกก็คือ ระยะเวลาการใช้งานด้วยแบตเตอรี่ ทีมงานเปิดใช้ฟีเจอร์ที่เป็นอัตโนมัติและต่อเนื่องที่สมาร์ทแบนด์ทำได้ ใช้ออกกำลังกายในทุกๆ วัน และติดตามการนอนหลับ ในการทำงานดังกล่าวนาน 3 วัน หรือ 36 ชั่วโมงพอดี แบตเตอรี่ของ Huawei Band 6 เหลือ 69 เปอร์เซ็นต์จาก 100 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า หากใช้งานต่อเนื่องน่าจะสามารถใช้งานไปได้ 10 วันอย่างแน่นอน
ขอบคุณ: หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย)