Huawei Matebook D14 รุ่นตัวท็อป ทำงานได้ฉับไว แบตเตอรี่อึดนานเกิน 9 ชั่วโมง

PROS

น้ำหนักเบา มี Finger Scan
แบตเตอรี่ทำงานต่อเนื่องได้นานเกิน 9 ชั่วโมง
บอดี้ประกบด้วยวัสดุอะลูมิเนียม

CONS

กล้องเว็บแคมคุณภาพแย่
ไม่มีพอร์ต Thunderbolt

โน้ตบุ๊กขนาด 15.6 นิ้วอย่าง Matebook D15 กำลังจะหมดตลาด แต่พวกเขาก็ต่อยอดกระแสด้วยรุ่นเมนสตรีมขนาด 14 นิ้ว หรือ Matebook D14 กับ Matebook X Pro รุ่นรีเฟรช ซึ่งโมเดล Matebook D14 ที่อยู่ในมือเรานี้จะมีทั้งชิปอินเทลและเอเอ็มดี แน่นอนว่า โน้ตบุ๊กขนาดย่อมตัวนี้ก็ยังถ่ายทอดสิ่งดีๆ เหมือนกับรุ่นบุกเบิกตลาดเมืองไทยนั่นก็คือ การประกอบตัวเครื่องเข้ากับวัสดุอะลูมิเนียม หน้าจอแสดงผลที่ใช้งานทั่วไปได้เป็นอย่างดี ดีไซน์ภาพรวมที่เรียบง่ายและความบางเบาในสไตล์โน้ตบุ๊ก Thin &Light

สีตัวเครื่องของ Matebook D14 เรียกว่า Mystic Silver ซึ่งเรารู้สึกว่า มันให้ความรู้สึกที่ไม่หรูหราเท่ากับ Matebook D15 ที่ใช้สีเงินเข้มกว่านี้ ถึงอย่างนั้นในภาพรวมด้านดีไซน์อื่นๆ ก็ไม่ได้มีอะไรที่ต่างกันมากนัก มีเพียงแค่ขนาดหน้าจอและน้ำหนักที่เบาว่าเดิม

Specifications

  • ราคาโดยประมาณ: 29,990 บาท
  • Intel Core i7-10510U, 4c 8t, 1.8 GHz Up to 4.9 GHz
  • 16GB (2x8GB Onboard) DDR4-2400 MHz Dual Channel
  • 512GB M.2 PCIe NVMe Solid State Drive
  • Nvidia GeForce MX250 - 2GB
  • 14 inch (1920x1080px), Panel IPS
  • Intel Wireless-AC 9560 / Bluetooth 5.1
  • Windows 10 Home 64-bit Single Language
  • Lithium-ion 56 Wh
  • USB 2.0, USB 3.1, HDMI, USB-C,Webcam 720p , 3.5 mm audio Combo
  • Size: 32.2x21.4x1.59 mm., 1.38 Kg.

โครงสร้างและการออกแบบ

Matebook D14 ยังคงความเรียบง่ายที่ดูดีเอาไว้เช่นเดิม ตัวเครื่องหนาประมาณ 1.6 เซนติเมตร ด้านหน้าทัชแพดบากร่องเล็กๆ เพื่อให้เปิดหน้าจอขึ้นมาได้ง่าย บอดี้อะลูมิเนียมเป็นแบบประกบเข้ากับตัวบอดี้ ทั้งฝาหลัง แผงด้านในและฝาด้านใต้เครื่อง งานประกอบทำได้เรียบร้อย แน่นอนว่า จากด้านนี้จะเห็นว่า มันเป็นโน้ตบุ๊กบางเบาที่ดูดีพอสมควร

แผงคีย์บอร์ดมีขนาด เลย์เอาต์และการจัดวางเหมือนกับ Matebook D15 ภาพรวมก็มีความคล้ายคลึ่งกับ Macbook เอามากๆ ด้วย ความรู้สึกในการพิมพ์ถือว่า น่าพอใจ กดปุ่มได้นิ่มและมั่นคง แต่คนที่ชินกับคีย์บอร์ดเครื่องเดสก์ทอปต้องปรับตัวเล็กน้อย เรื่องปุ่มมันมีระยะความสูงมากกว่า ดังนั้นระยะห่างของปุ่ม Backspace จึงอยู่ลึกไปด้านบนมากกว่าปกติ ส่วนทัชแพด ตอบสนองการใช้งานได้ในระดับที่พอใช้ ไม่มีอะไรให้ติ แต่ก็ไม่มีอะไรที่พิเศษเช่นกัน

อีกฝั่งของโน้ตบุ๊กมีเพียงพอร์ต USB 2.0 และช่องออดิโอคอมโบ 3.5 มม.ประจำการอยู่ ขณะที่ฝั่งซ้ายมือของผู้ใช้มีพอร์ต USB-C ในการประจุไฟเข้าโน้ตบุ๊กและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้ โดยมีความเร็วอยู่ที่ 5Gbps เหมือนกับพอร์ต USB Type A ข้าง ถัดไปเป็นพอร์ต HDMI 2.0 ถึงอย่างนั้นหากพิจารณาจากราคาโน้ตบุ๊กและชิปประมวลผล Core i7-10510U ก็ควรที่จะมีพอร์ต Thunderbolt 3 อยู่บนเครื่อง

หัวเว่ยเจาะร่องอากาศไหลเข้าเครื่องเป็นแนวยาว มีการติดตั้งแผ่นกรองฝุ่นยาวตลอดทั้งแถบยกเว้นตำแหน่งของพัดลมดูดอากาศเข้า ขาตั้งยางหนา และตัวบอดี้ยังยกร่องเพื่อช่วยเสริมแรงต้านขณะลากไปมา ทำให้ขาตั้งยางไม่หลุดออกโดยง่าย ส่วนลำโพงจะอยู่บริเวณมุมทั้งสองฝั่ง เรื่องคุณภาพเสียงถือว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ดีสำหรับลำโพงติดโน้ตบุ๊ก ทั้งระดับความดังเสียงและให้เสียงในช่วงความถี่กลางและสูงเป็นหลัก

อะแดปเตอร์มีขนาดใหญ่กว่าอะแดปเตอร์ของสมาร์ทโฟนอยู่พอสมควร สามารถจ่ายพลังงานทำได้สูงสุด 65 วัตต์ หรือ 20 โวลต์ 3.25 แอมป์ ซึ่งเราวัดด้วยวัตต์มิเตอร์ ค่าพลังงานอยู่ในช่วง 60 – 62.5 วัตต์ แต่อะแดปเตอร์เองก็จ่ายพลังงานได้หลายระดับแรงดังตั้งแต่ 5,9,12,15 โวลต์ หรือโปรโตคอล PD ดังนั้นมันจึงใช้ชาร์จอุปกรณ์อื่นๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือแม้แต่เครื่องเล่น Nintendo Switch เป็นต้น ส่วนสายเคเบิ้ล USB-C to USB-C มีความยาว 1.8 เมตร และรองรับการจ่ายพลังงาน 3.3 แอมป์

จอแสดงผลให้สีสันภาพที่ไม่ได้มีความผิดเพี้ยนจนสังเกตเห็นได้ชัด สีสันค่อนข้างมีความเป็นธรรมชาติ สามารถมองเห็นภาพจากด้านข้างได้ชัดเจนตามคุณสมบัติของพาแนล IPS แน่นอนว่ามันมีความคมชัดที่ดีอีกเช่นกันบนหน้าจอขนาด 14 นิ้วที่ความละเอียด Full HD ความสว่างอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง เงาสะท้อนต่ำด้วยการเคลือบผิวแบบด้าน โดยรวมแล้วถือว่า จอแสดงผลของ Matebook D14 ให้คุณภาพการแสดงผลในระดับกลางๆ ซึ่งมันยอดเยี่ยมพอแล้วสำหรับใช้งานทั่วไป 

ผลการทดสอบด้วยซอฟต์แวร์เบนช์มาร์ก

คะแนนประสิทธิภาพโดยรวมของ Matebook D14 ที่ใช้ซีพียู Core i7-10510U ร่วมกับแรมขนาด 16GB ทำได้ดีกว่าโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป Ryzen 5 3500U (8GB) และโดยปกติแล้วซีพียูของอินเทลมักจะทำคะแนนในส่วนของ App Start-up Score ได้สูงมาก เช่นเดียวกับแอพกลุ่ม Productivity ที่ทำได้ดีกว่าซีพียูของ AMD และแม้ว่าจะใช้ชิปกราฟิก GeForce MX250 คะแนน แต่ผลคะแนนในส่วนของ Digital Content ก็ยังต่ำกว่าโน้ตบุ๊ก Acer Swif3 อยู่พอสมควร (Score 4336: 3032) ส่วนประสิทธิภาพเฉพาะทางอย่างเกมสามมิติ หรือการประมวลผลของซีพียูก็ให้ตัวเลขตามที่เห็นในภาพกราฟิก การเล่นเกมชิป GeForce MX250 ยังทำได้ดีกว่าชิป Vega 8 แต่ในแง่พลังประมวลผลแล้ว ซีพียู Core i7-10510U ด้อยกว่าซีพียู Ryzen 4500U บนโน้ตบุ๊ก Acer Swift 3 อยู่พอสมควร

ไดรฟ์ NVMe ที่ติดตั้งบนโน้ตบุ๊กรุ่นนี้ก็คือ Western Digital PC SN730 ขนาด 512GB ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นที่มีความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลโดดเด่นมาก และระบบของโน้ตบุ๊กเองทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่า มันก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โน้ตบุ๊กตอบสนองการสั่งงานได้อย่างไหลลื่น และช่วยให้โน้ตบุ๊กทำงานกับแอพพลิเคชันที่ต้องการความเร็วในการอ่านข้อมูลย่อยๆ จำนวนมากได้ดี อย่างไรก็ตาม หากเทียบในโน้ตบุ๊กด้วยกันแล้ว ความเร็วของไดรฟ์ NVMe ระดับนี้ถือว่า ยอดเยี่ยมมาก (ไม่นับโน้ตบุ๊กที่ใช้ RAID - NVMe)

อุณหภูมิขณะทำงานและการระบายความร้อน

ภายใต้การทำงานกับแอพพลิเคชันทั่วไปบนโปรแกรมเบนช์มาร์ก PCMark10 ซึ่งใกล้เคียงการทำงานจริงและเป้าหมายหลักของโน้ตบุ๊กรุ่นนี้ ซึ่งในระหว่างการทำงานกับโปรแกรมตัดต่อภาพ ค่าความร้อนสูงสุดของซีพียูพุ่งสูงขึ้นไปแตะ 93 องศาเซลเซียส แต่ในขณะที่การทำงานทั่วไปความร้อนจะอยู่ในช่วง 65-90 องศาเซลเซียส ขณะที่ชิปกราฟิกก็มีค่าความร้อนสูงสุด 77 องศาเซลเซียสและโดยส่วนใหญ่กับแอพพลิเคชั่นทั่วไปมันไม่ได้เกิดความร้อนเกินว่า 70 องศาเซลเซียส

ส่วนความร้อนที่ส่งผ่านขึ้นมาบนแผงคีย์บอร์ดก็ไม่ได้มากมายจนส่งผลต่อมือของผู้ใช้ สังเกตดีๆ จะเห็นว่า ความร้อนจะกระจายตัวอยู่บริเวณฝั่งซ้ายด้านบนและกลางตัวเครื่อง ส่วนทางฝั่งขวาและแป้นวางมือไม่ค่อยได้รับความร้อนเท่าไหร่ ขณะใช้งานในช่วงที่เครื่องมีโหลดหนักๆ ก็จะรู้สึกอุ่นปลายมือบ้าง

ชุดระบายความร้อนของโน้ตบุ๊กถือว่าทำงานได้น่าพอใจ มีเสียงพัดลมดังขึ้นมาบ้างในช่วงที่มีโหลดหนักๆ และต้องระบายความร้อนออกจากตัวเครื่องอย่างเต็มที่ แม้ว่าความร้อนบนแป้นคีย์บอร์ดจะไม่สูงเกิน 43 องศาเซลเซียส ถึงอย่างนั้นก็ไม่แนะนำให้วางบนหน้าตักขณะทำงาน

การทำงานด้วยพลังงานแบตเตอรี่
แบตเตอรี่ของโน้ตบุ๊ก Matebook D14 ตัวนี้ออกแบบให้จ่ายพลังงานได้ 56 วัตต์ชั่วโมงและเป็นแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน การทดสอบของเราใช้การเล่นวิดีโอยูทูปต่อเนื่องร่วมกับเครือข่าย WLAN ปรับตั้งความสว่างและระดับความดังเสียง 50 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับใช้ค่าการจัดการพลังงานแบบ Better Battery

การทดสอบคิดเป็นค่าพลังงานที่ใช้ไป 90 เปอร์เซ็นต์เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาแบตเตอรี่และระบบเสียหาย ต้องยอมรับว่า ซีพียู Core i7-10510U และชิปกราฟิกของฝั่งอินเทลนั้นจัดการพลังงานได้ดี สามารถทำงานต่อเนื่องไปได้นานถึง 9:34 ชั่วโมง ดังนั้นหากคิดง่ายๆ ใช้แบตเตอรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ โน้ตบุ๊กจะทำงานในลักษณะนี้ไปได้ไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงแน่นอน ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่เป็นเวลา 10 นาที สามารถส่งพลังงานไปเก็บที่แบตเตอรี่ได้ราว 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 5800 mWh

บทสรุปและความคิดเห็นของเรา
โน้ตบุ๊ก Huawei Matebook D14 ถือว่าได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีในหลายๆ จุด ไม่ว่าจะเป็นขนาดตัวเครื่อง น้ำหนัก คุณภาพจอแสดงผล คุณภาพวัสดุภายนอกและการประกอบตัวเครื่อง แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งในกลุ่มโน้ตบุ๊กบางเบาที่ราคาเกือบสามหมื่นบาทแล้ว โน้ตบุ๊กตัวนี้ก็ไม่ได้มีการดีไซน์ที่โดดเด่นแต่อย่างใด  ขณะเดียวกันในแง่ของประสิทธิภาพการประมวลผลที่ได้จากซีพียูและระบบโดยรวมถือว่าทำได้ดีแล้ว ทุกอย่างรวดเร็วฉับไว ตอบสนองได้เป็นอย่างดี และผลคะแนนเบนมาร์กก็สูงจนอยู่ในกลุ่มแนวหน้าของโน้ตบุ๊กแบบบางเบาที่ไม่ได้ติดตั้งชิปกราฟิกพิเศษมาเกี่ยวข้อง แถมทำงานด้วยพลังงานแบตเตอรี่ได้ยาวนาน แต่หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว เรามองว่าโน้ตบุ๊กตัวนี้ "ตั้งราคาสูงเกินไป" เหตุผลหลักๆ มาจากการที่มันขาดคุณสมบัติที่จะควรมีในโน้ตบุ๊กเกือบ 3 หมื่นบาทไป อย่างเช่น การไม่มีชิปไวร์เลส Wi-Fi 6 และพอร์ต Thunderbolt 3

แต่หากว่าใครชื่นชอบดีไซน์ ขนาดหน้าจอ 14 นิ้วใหญ่กำลังดีบวกกับนำ้หนักที่ค่อนข้างเบา ใช้ชิปประมวลผลฝั่งอินเทล มาพร้อมฟีเจอร์ Huawei Share เอกสิทธิ์สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนหัวเว่ย โดยที่ไม่แคร์สิ่งที่ขาดหายไป โน้ตบุ๊กตัวนี้ก็ไม่ได้มีอะไรที่น่าผิดหวังเลย

ขอขอบคุณ: huawei technologies (thailand) co. ltd