รีวิว Lenovo Legion 5 15ARH05 : คอนเซ็ปต์เดิม เพิ่มเติมหัวใจ Ryzen เจนใหม่

PROS

จัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ได้ดีมาก
ปุ่มคีย์บอร์ดตอบสนองได้ฉับไว
หน้าจอสว่าง ให้สีสันภาพได้สดใส
ค่ารีเฟรชเรตจอภาพ 144 Hz
อัพเกรดเพิ่มแรมและไดรฟ์ SATA หรือ M.2 ได้

CONS

ไม่มีช่องอ่าน SD Card
ไม่รองรับการชาร์จผ่าน USB-C
ชิปกราฟิกจัดอยู่ในกลุ่มเริ่มต้นเท่านั้น
ไม่มีพอร์ต Thunderbolt3

โน้ตบุ๊ก Lenovo Legion 5 อาจเรียกไม่ได้เต็มปากว่าปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดจากโน้ตบุ๊ก Legion Y540 รุ่นปี 2019 เพราะมันยังคงคอนเซ็ปต์ดีไซน์แบบเดิมเอาไว้หลายส่วน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็มีหลายๆ อย่างที่นักเล่นเกมจะต้องชื่นชอบหลังจากไม่มีอยู่ในโน้ตบุ๊กรุ่นที่แล้วอย่างเช่น ไฟ RGB Backlid บนคีย์บอร์ด ส่วนรุ่นที่เราได้รับมานี้จะเป็นเวอร์ชันชิปประมวลผล AMD Ryzen 7 4800H ซึ่งมีพลังในการประมวลผลที่น่าตื่นตาตื่นใจมากๆ

Key Specifications – 82B500FQTA

  • AMD Ryzen 7 4800H, 8C/16T
  • 8GB, DDR4-3200MHz (2x DIMMs)
  • 512GB M.2 PCIe NVMe Solid State Drive
  • Radeon Vega + GeForce  GTX1650Ti, 4GB GDDR6
  • 15.6 inch (1,920X1,080px) IPS Display, Matte Surface
  • 3x USB-A 3.1 gen 1, 1x USB-C with Display Port
  • HDMI 2.0,  GbLAN, headphone/mic, Kensington Lock
  • Windows 10 Home 64-bit
  • WLAN 802.11ax, Bluetooth 5.0
  • Battery 60 Wh, 170 W Power adapter
  • 4-zone RGB backlit keyboard, HD webcam
  • Weight 2.29 kg., Adaptor 0.55 kg.
  • Size 260x360x26 mm
  • Price: 32,990 Baht

โดยหลักแล้วชิปประมวลผล Ryzen 7 4800H ถือว่าเป็นชิปที่มีพลังประมวลผลสูงในระดับต้นๆ ของกลุ่มโน้ตบุ๊กขณะนี้ แต่น่าเสียดายที่มันประกบกับแรมแค่ DDR4-3200 ขนาด 8GB ดังนั้นผลคะแนนที่คุณจะได้พบจากโปรแกรมเบนช์มาร์กของเรามันจึงดูน่าผิดหวังไปบ้าง นอกจากนั้นชิปกราฟิก Geforce GTX 1650 Ti ก็เป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้โน้ตบุ๊กตัวนี้เล่นเกมระดับ AAA อย่าง Metro Exodus หรือ Shadow of Tomb raider ด้วยภาพกราฟิกระดับสูงสุดไม่ได้ ส่วนราคาของโน้ตบุ๊ก Legion 5 ที่ใช้ Configuration นี้อยู่ที่ 32,900 บาท ปัจจุบันมันหาซื้อได้ค่อนข้างยากแล้ว เท่าที่ลองไล่ตรวจสอบ เรายังพบในร้านของหน้าเว็บไซต์ของ Advice และหน้าร้านของ IT City

โฉบเฉี่ยวขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์เดิมที่ดีอยู่แล้ว
โน้ตบุ๊ก Lenovo Legion 5 ยังคงใช้วัสดุตัวเครื่องเป็นพลาสติกทั้งหมด ใช้แนวทางการออกแบบจาก Legion Y540 ในรุ่นที่แล้ว ซึ่งเราเองก็ยังคงชื่นชอบมันเอามากๆ  ตัวเครื่องใช้เฉดสี Phantom Black มีความเป็นสีดำเทามากขึ้นจากเดิมที่ดำเข้มอย่างเดียว เห็นได้ชัดจากฝาหลังและแผงแป้นวางมือ

สำหรับฝั่งขวาจะมีแค่พอร์ต USB Super Speed พร้อมกับไฟแสดงสถานะเปิดเครื่องและปุ่ม NOVO ในการกู้คืนระบบ อีกจุดหนึ่งที่เพิ่มเติมก็คือ ช่องระบายลมร้อนที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมจากรุ่นที่แล้วเกือบเท่าตัว 

ภาพ (บน) เปรียบเทียบกับรุ่นก่อนหน้าอธิบายความได้ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องช่องระบายลมร้อน พอร์ตที่อยู่ฝั่งนี้มีแค่ 2 อย่างก็คือ USB Super Speed และ Audio Combo เหมือนเดิม ส่วนขนาดและสัดส่วนในภาพอาจรู้สึกว่ามันกะทัดรัดลงกว่าเดิมมาก แต่ในความจริงก็คือ มันเล็กลงแค่ไม่กี่มิลลิเมตร แถมจะหนากว่าเดิมด้วย (ถึงจะดีไซน์ให้ดูเพรียวกว่าเดิมก็ตาม)

การเคลือบผิวคล้ายยางในส่วนด้านของโน้ตบุ๊ก แน่นอนว่ามันให้ความรู้สึกที่ดีก็จริงอยู่ แต่มันกลับเปรอะคราบต่างๆ ได้ง่าย และเช็ดออกได้ลำบากพอสมควร ต้องใช้ผ้าหมาดหรือเช็ดร่วมกับน้ำยาทำความสะอาดหน้าจอ ที่น่ากังวลก็คือ มันไม่ทนต่อการขีดข่วนเท่าใดนัก อย่างไรก็ดี ตำแหน่งของกล้องเว็บแคมได้ย้ายจากจุดโลโก้ใต้จอไปไว้บนขอบจอแล้ว


บริเวณนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดจากรุ่นปี 2019 ปุ่มคีย์บอร์ดมีระยะการกดลึกกว่าเดิมเล็กน้อย มีการโค้งผิวปุ่มคีย์ให้รับกับปลายนิ้วมือ ตอบสนองการกดได้รวดเร็ว แม่นยำ โดยส่วนตัวที่ใช้งาน Legion Y540 อยู่กลับรู้สึกว่าปุ่มมันนิ่มกว่าเดิมพอสมควร นอกจากนั้นแล้วก็มีการปรับเลย์เอาต์ปุ่มแอร์โรวที่มาอยู่ในจุดแต่ปุ่ม Shift ส่วนแผง Numpad เปลี่ยนไปใช้ใช้เลย์เอาต์เหมือนกับคีย์บอร์ดของเครื่องเดสก์ทอป เรียกได้ว่า นี่คือ เลย์เอาต์ที่ดีแบบหนึ่งเลยสำหรับโน้ตบุ๊ก

สำหรับไฟ RGB Backlid แบบ 4 โซน สามารถปรับแต่งแพทเทิร์นการแสดงผลและสีได้ผ่านโปรแกรม Lenovo Vantage มีโหมดการแสดงผลให้เลือกเล็กน้อยอย่างเช่น Breath, Smooth, Wave Right-Left และ Static ส่วนแทร็กแพดใช้พื้นผิวพลาสติกขนาดกลาง ผิวเรียบ ไม่มีปัญหาเรื่องปลายนิ้วเปียกชื้อ และไม่มีปุ่มคลิกซ้ายขวาแยกชิ้นอีกต่อไป การตอบสนองถือว่าใช้ได้ดีกับการใช้งานประจำวัน สั่งงานแบบ Multi-Gesture ได้เร็วอย่างน่าพอใจ แต่ก็ยังไม่ได้ยอดเยี่ยมเหมือนกับแทร็กแพดระดับพรีเมียม

ไซส์ 15.6 นิ้ว พร้อมค่า sRGB 100% และรีเฟรชเรต 144 Hz
สเปคของจอภาพ BOE08DF บน Legion 5 15ARH05 ไม่ได้แค่ตอบโจทย์การเล่นเกมด้วยค่ารีเฟรชเรตเท่านั้น แต่มันมาพร้อมกับค่าแสดงผลสีแบบอเนกประสงค์ ใช้งานได้ดีทั้งในชีวิตประจำวัน งานออกแบบสิ่งพิมพ์ หรืองานตัดต่อวิดีโอที่ไม่ได้เน้นความแม่นยำของสีอย่างพวกงาน Color Grading แม้ว่าจะมีค่าขอบเขตสี 100% sRGB ก็ตาม

จากการมองด้วยตาเปล่า เรารู้สึกว่ามันแสดงภาพได้ค่อนข้างสดใส และมีความเพี้ยนต่ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และมันก็มีความสว่างที่ดีด้วย แถมหน้าจอแบบด้านนี้ก็ทำให้มันไม่เกิดเงาสะท้อนที่รุนแรงโดยง่าย มุมมองด้านข้างถือว่า ทำได้ดีตามสไตล์ของพาแนล IPS อาจจะมีเรื่องอัตราคอนทราสต์ เงาสะท้อน และความสว่างลดลงไปบ้างตามปกติของมันหากมองจากด้านข้าง

ฮาร์ดแวร์และการออกแบบใต้ฝาหลัง
ตามสเปคที่แสดงไว้ตั้งแต่ตอนต้นชิป Ryzen 7 4800 ประกอบด้วยซีพียู 8 แกน 16 เทรด พร้อมค่า TDP 45 วัตต์ แต่มันสามารถทำงานเกินกว่าค่า TDP นี้ได้ พร้อมกับเพิ่มความเร็วสัญญาณนาฬิกาขึ้นไปอีก หากว่ามีพลังงานมากพอและการระบายความร้อนมีประสิทธิภาพมากพอ นอกจากนั้นก็มาพร้อมกับแรม DDR4-3200 ขนาด 8GB และไดรฟ์ nVme SSD ระดับกลางจาก SK Hynix ขนาด 512 GB ซึ่งขนาดของแรมนั้นทำให้ประสิทธิภาพของระบบหดหายไปพอสมควร ด้วยขนาดและการทำงานแบบช่องทางเดียว ส่วนไดรฟ์ nVme นั้นถือว่ารวดเร็วแล้วสำหรับการทำงานประจำวัน รวมไปถึงการทำงานระดับมืออาชีพ

ระบบของโน้ตบุ๊ก Lenovo Legion 5 เครื่องนี้ติดตั้งแบตเตอรี่ขนาด 60 Wh มีสล็อตติดตั้งแรมให้ 2 สล็อตเพื่อให้ทำงานในแบบ Dual Channel ข้างๆ กันจะเห็นโมดูล Wi-Fi และไดรฟ์ Nvme ซึ่งโดยปกติมันจะถูกปิดทับด้วยแผงอะลูมิเนียมเหมือนกับสล็อตแรม

ในแง่ของการอัพเกรด คุณสามารถเพิ่มไดรฟ์ NVme เข้าไปอีกได้อีก 1 สล็อต แต่จะไม่สามารถติดตั้งไดรฟ์ SATA 2.5 นิ้วได้ เนื่องจากมันใช้พื้นที่ทับซ้อนกัน อย่างไรก็ดี สล็อต M.2 ดังกล่าวจะทำงานที่ PCI-E x4 Gen 3 ซึ่งการทดสอบกับไดรฟ์ SN750 ขนาด 1TB ในเบื้องต้นก็ให้ความเร็วในระดับที่ไม่แตกต่างจากค่ามาตรฐานที่ระบุไว้ตามสเปคของมัน

จากภาพภายในเห็นได้ว่า Lenovo ใช้ท่อฮีตไปป์ 3 เส้นนำความร้อนจากชิปกราฟิกและซีพียูแยกกันโดยตรงไปยังแผ่นฟินที่ประจำตำแหน่งในแต่ละฝั่ง โดยท่อกลางที่ทำหน้าที่แชร์ความร้อนของทั้งสองฝั่ง ลมร้อนที่ถูกเป่าด้วยพัดลมที่มีใบพัดถี่นี้จะออกไปทั้งส่วนข้างและด้านหลังรวม 4 ทิศทาง ซึ่งทั้งหมดนี้มันมีประสิทธิภาพที่ดีมากพอที่จะทำให้โน้ตบุ๊ก Legion 5 ทำงานได้อย่างราบรื่นในทุกๆ วัน แม้ว่าจะได้ยินเสียงพัดลมดังขึ้นเบาๆ บ้าง ถ้าอยู่ในห้องเงียบๆ

โหมดควบคุมการทำงาน 3 รูปแบบ
เลอโนโวดูจะให้ความสำคัญกับการจัดการประสิทธิภาพและความร้อนเอามากๆ ด้วยการติดตั้งโปรไฟล์ Thermal Mode เอาไว้3 รูปแบบให้ผู้ใช้สลับใช้งานด้วยปุ่ม FN+Q ซึ่งนอกเหนือจากโหมด Performance แล้ว การทำงานของซีพียูจะถูกจำกัดการใช้พลังงานเอาไว้ (ไม่มีผลต่อการทำงานของชิปกราฟิก) และจะยังคงทำงานตามโปรไฟล์ดังกล่าวแม้ว่าจะเสียบปลั๊กพลังงานเอาไว้ แน่นอนว่า มันส่งผลต่อประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน โดยในโหมด Quiet เราพบว่าซีพียูจะใช้พลังงานสูงสุดประมาณ 25 วัตต์ (พลังงานรวมทั้งหมด 58 วัตต์: Voltcraft) และแทบจะไม่มีเสียงรบกวนจากพัดลมเลย

ส่วนโหมด Balance เองก็จะจำกัดไว้ที่สูงสุดประมาณ 50 วัตต์ (พลังงานรวมทั้งหมด 80 วัตต์: Voltcraft) เริ่มได้ยินเสียงพัดลมทำงาน ส่วนโหมด Performance ซีพียูจะทำงานอย่างเต็มที่และมีค่าการใช้พลังงานราว 70 วัตต์หรือมากกว่าเป็นบางช่วง พัดลมหมุนเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้ดังจนรู้สึกน่ารำคาญแต่อย่างใด

โน้ตบุ๊ก Legion 5 มีการใช้พลังงานรวมสูงสุดอยู่ที่ 140 .1 วัตต์ ในโหมด Performance ขณะทำการเรนเดอร์ภาพกราฟิกของโปรแกรม Cinebench R20

จากภาพการประเมินประสิทธิภาพซีพียูของโหมดการทำงานทั้ง 3 ผ่านโปรแกรม Cinebench R20 โหมด Quiet จะมีประสิทธิภาพในการประมวลผลต่ำที่สุด มีผลคะแนนต่างจากโหมด Performance มากถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโหมด Balance จะต่างกันเพียงเล็กน้อยราว 5 เปอร์เซ็นต์

คะแนนสูงเกือบทุกการทดสอบ เล่นเกมได้ดีตามประสิทธิภาพของ GPU
ก่อนหน้านี้เราเคยรีวิวโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิป Ryzen 7 4800H มาแล้ว เราพบว่า มันประสิทธิภาพในการประมวลผลที่สูงกว่าเครื่องเดสก์ทอประดับกลางเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงซีพียูโมบายล์ระดับกลางของคู่แข่งเลย ถึงอย่างนั้นในการทดสอบ PCMark10 คะแนนรวมในการทำงานกับแอพพลิเคชันต่างๆ นั้นต่ำกว่าโน้ตบุ๊ก Legion Y540 นั่นเป็นเพราะว่า มันมีแรมน้อยกว่าเท่าตัว

ขณะที่เบนช์มาร์กอื่นๆ โน้ตบุ๊ก Legion 5 ตัวนี้สร้างผลคะแนนที่ดีกว่าอย่างชัดเจน ด้วยข้อได้เปรียบในเรื่องของชิปกราฟิก GTX 1650 Ti ส่วนประสิทธิภาพของซีพียูเพียวๆ อย่าง Cinebench R20  โน้ตบุ๊ก Legion 5 มีผลคะแนนที่ดีกว่า Legion Y540 ถึง124 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่า ทำคะแนนได้สูงกว่า Matebook ที่ใช้ชิป Ryzen  7 รุ่นเดียวกันอีกด้วย 

บทสรุปของการขับเคลื่อนเกมสามมิติก็เป็นไปตามคาด เนื่องจากโน้ตบุ๊ก Legion 5 ใช้ชิปกราฟิกที่สูงกว่า Geforce GTX 1650 ถึงอย่างนั้นมันกลับมีผลทดสอบเหนือกว่าแค่เพียงเล็กน้อย นั่นเป็นเพราะว่า ชิปกราฟิกทั้งสองตัวนี้มีประสิทธิภาพต่างกันแค่ 11 เปอร์เซ็นต์ในการประเมินด้วย Graphic Score ของ 3DMark Timespy (3,727:3,350 คะแนน) หรือจะให้พูดง่ายๆ ก็คือ มันเป็นชิปกราฟิกสำหรับโน้ตบุ๊กเกมมิ่งราคาประหยัดที่ใช้เล่นเกมได้แทบจะทุกเกมในปัจจุบัน อย่างกรณีของเกมทดสอบบนกราฟ อาจต้องเล่นด้วยคุณภาพปานกลางหรือต่ำเพื่อให้ภาพมีความลื่นไหลมากขึ้น ส่วนเกมออนไลน์อย่างเช่น PUBG, Valolant, CS:GO พวกนี้เล่นได้สบายๆ ปั่นเฟรมเรตให้เกิน 100 ภาพต่อวินาทีได้อย่างไม่มีปัญหา

ส่วนไดรฟ์ NVMe ติดตั้ง Micron 2300 512GB (MTFDHBA512TDV) ซึ่งเป็นกลุ่ม M.2 2280 SSD ความเร็วสูง ใช้ชิปหน่วยความจำ TLC 96 เลเยอร์ ความเร็วตามข้อมูลอ้างอิงอ่าน 3,300 MB/s เขียน 2,700 MB/s ความเร็วระดับนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากแล้วสำหรับ NVMe 1.3 บนอินเทอร์เฟส PCI-E 3.0 x4  อย่างไรก็ดี ความเร็วนี้ให้ประโยชน์อย่างมากในการทำงานกับไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ ไม่ได้ส่งผลให้โหลดเกมได้เร็วขึ้นในระดับนาทีหรือมีผลต่อเฟรมเรตในการแสดงผลเกมแบบเรียลไทม์

แบตเตอรี่ใช้งานได้อึดกว่าที่คิด

ขนาดแบตเตอรี่ Lithium Polymer ของ Legion 5 ตัวนี้ถือว่ามีความจุพลังงานที่มากกว่ามาตรฐานของโน้ตบุ๊กทั่วไปเล็กน้อย ในการทดสอบเล่นวิดีโอยูทูป พร้อมด้วยการจัดการพลังงานแบบ Battery Saver และทำงานในโหมด Quiet ใช้พลังงานไป 82 เปอร์เซ็นต์ เล่นวิดีโอต่อเนื่องไปได้นาน 6:59 ชั่วโมง ดังนั้นเราขอคำนวนหยาบๆ แค่ใช้พลังงาน 99 เปอร์เซ็นต์ มันจะทำงานด้วยทาสก์เบาๆ แบบนี้ไปได้นาน 507 นาทีหรือ 8:27 ชั่วโมง  เทียบกับ Lenovo Legion Y540 แล้วถือว่าเป็นการก้าวกระโดดทีเดียว เพราะในการทดสอบของเรามันทำงานได้ราว 5 ชั่วโมงเอง

บทสรุปและความคิดเห็น
ในกรณีของการนำไปใช้เล่นเกมเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ใช้งานกับโปรแกรมที่เรียกการประมวลผลสูงๆ เราไม่แนะนำให้เลือกซื้อโน้ตบุ๊ก Legion 5  ที่ใช้สเปคนี้ ควรหันไปหารุ่นที่ใช้ซีพียู Ryzen 5 4600H และอัพเกรดฮาร์ดไดรฟ์ความจุสัก 2TB ไปเลยจะคุ้มค่ากว่า เพราะเกมใหม่ๆ แต่ละเกมกินพื้นที่หลาย GB อย่าง RD2 เกมเดียวใช้มากกว่า 100GB  นอกจากนี้ก็ควรมองหาโปรโมชั่นซื้อเครื่องแถมแรม 8GB รวมเป็น 16GB ด้วย เนื่องจากมันทำให้โน้ตบุ๊กรีดประสิทธิภาพออกมาได้ไม่เต็มที่ การขาดหายไปของแบนด์วิดธ์หน่วยความจำแบบ Dual Channel ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมาก เห็นได้จากการทดสอบ PCMark10 ที่ตัวเลขคะแนนต่ำกว่าโน้ตบุ๊ก Legion Y540 ตัวเดิมเสียอีก ทั้งๆ ที่ไม่มีองค์ประกอบใดที่ด้อยกว่าเลย

ในแง่ของดีไซน์ โน้ตบุ๊ก Legion 5 ปรับปรุงเพิ่มเติมมาพอสมควรจากรุ่นเดิม มีหลายๆ อย่างที่พัฒนาขึ้นตามยุคสมัยเอาใจคอเกมมิ่งอย่างเช่น ไฟ RGB บนคีย์บอร์ด หรือเลย์เอาต์ของปุ่ม Numpad  แน่นอนว่า คุณภาพวัสดุภายนอก ความแข็งแรงของตัวเครื่อง การจัดวางตำแหน่งพอร์ตเชื่อมต่อ การออกแบบชุดระบายความร้อน การจัดการพลังงานแบตเตอรี่ ทั้งหมดล้วนทำได้ดีสมกับที่เป็นโน้ตบุ๊กเกมมิ่งระดับเมนสตรีมของแบรนด์ ดังนั้นคุณจึงไม่จำเป็นต้องกังวลอะไรกับเรื่องที่กล่าวมา ที่เหลือก็คือ เลือกซีพียูที่เหมาะสมกับความต้องการและงบประมาณเท่านั้นก็พอ

ขอบคุณ: Lenovo Thailand