รีวิว Lenovo IdeaPad Gaming 3 – ซีพียูแรงและเล่นเกมได้ในราคาประหยัดกว่า

PROS

+ อัพเกรดแรมและไดรฟ SATA 2.5”ได้
+ ชิป Ryzen 5 4600H ประสิทธิภาพสูง

CONS

- อะแดปเตอร์ขนาดใหญ่
- ชิปไวร์เลสมาตรฐาน AC

ก่อนหน้านี้เราไม่แน่ใจว่าจะลงรีวิวโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง Lenovo IdeaPad Gaming 3 ตัวนี้ดีหรือไม่ เหตุผลหลักๆ ก็คือ มันวางตลาดมานานพอสมควรแล้ว และปัจจุบันหาซื้อได้ยากแล้วสำหรับสเปคนี้ (Ryzen 5 4600H+GTX 1650 Ti) แถมผู้ใช้งานเองก็มุ่งเป้ามองหาโน้ตบุ๊กเกมมิ่งเจนใหม่ที่ใช้ชิป Ryzen 5000 บวกกับ RTX 3000 Series ไม่เว้นแม้กระทั่งทีมงานของเราเอง แต่เราเชื่อว่ารีวิวนี้จะมีประโยชน์แน่นอนสำหรับคนที่กำลังตัดสินใจซื้อ ideapad Gaming 3i ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะเป็นสเปคนี้หรือสเปคอื่นๆ ก่อนที่จะมีเปลี่ยนสเปคภายในมาเป็นชิปประมวลผลเจนเนอร์เรชั่นปัจจุบัน 

Key Specifications – 82EY006VTA

  • AMD Ryzen 5 4600H, 6C/12T

  • 8GB, DDR4-3200MHz (2x DIMMs)

  • M.2 NVMe 512GB

  • Radeon Vega + GeForce  GTX1650 Ti, 4GB GDDR6

  • 15.6″ FHD (1920 x 1080) IPS, 120Hz, 45% NTSC, 250 nits

  • 2x USB 3.1gen 1, 1x USB-C

  • HDMI 2.0,  GbLAN, headphone/mic

  • Windows 10 Home Single Language 64

  • WLAN 802.11ac, Bluetooth 5.0

  • Lithium-Polymer 45 Wh, 135 W Power adapter

  • LED-Backlid Keyboard, HD webcam

  • Weight  2.2 kg.

  • 359mm x 249.6mm x 24.9mm

  • Price: 24,990 บาท

ตัวเครื่องดีไซน์ใหม่ สไตล์รถสปอร์ต

 

เลอโนโวปล่อย IdeaPad Gaming 3 ซีรีส์นี้เป็นครั้งแรกในปี 2020 ตั้งใจให้มันเป็นโน้ตบุ๊กเกมมิ่งราคาประหยัดดีไซน์ใหม่ ใส่คุณสมบัติพื้นฐานเอาไว้ให้นักเล่นเกมเท่าที่จำเป็น และมันก็ยังคงทำตลาดมาเรื่อยๆ จนถึงเวลานี้ ซึ่ง IdeaPad Gaming 3 ซีรีส์มีให้เลือกทั้งชิปของอินเทลและเอเอ็มดี แยกแยะกันด้วยอักษรต่อท้าย  รุ่น 3i หมายถึงชิปของอินเทล สำหรับรุ่นที่เราได้รับมารีวิวนี้ต่างจากรุ่นเริ่มต้นตรงที่ใช้ชิปกราฟิก GeForce GTX1650 Ti

หากเทียบกับโน้ตบุ๊ก Legion 5 แล้ว ผิวสัมผัสของ IdeaPad Gaming 3 ให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างธรรมดา ตัวเครื่องพลาสติกส่วนใหญ่มีผิวเนียนเรียบลื่นจนรู้สึกไม่แข็งแรง แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ตัวเครื่องมีความหนาแน่น งานประกอบทำได้เรียบร้อย รวมถึงดีไซน์ความเป็นเกมมิ่งก็ทำออกมาได้น่าสนใจ มีการเล่นระดับตัวฝาหลัง ตัดขอบเหลี่ยมมุมให้ดูเหมือนกับรถสปอร์ต

จากด้านข้างจะเห็นว่าตัวเครื่องนั้นค่อนข้างหนา  พอร์ตเชื่อมต่อส่วนใหญ่ถูกวางไปทางด้านซ้ายมือ คุณสามารถเสียบเมาส์ สาสายแลน ต่อจอภายนอกและเสียบหูฟัง 3.5 มม. เล่นเกมได้โดยไม่มีอะไรมารบกวนมือขวาที่ถือจับเมาส์ตลอดเวลา ยกเว้นเสียแต่ว่า คุณใช้หูฟังแบบยูเอสบี

 

เลอเนอโวออกแบบให้ลมร้อนถูกเป่าออกไปทางแกนพับด้านในที่อยู่ใต้จอทั้งสองฝั่งและฝั่งขวามือเหนือพอร์ตยูเอสบี จากฐานล่างคุณจะเห็นว่า มีช่องเปิดให้อากาศไหลเวียนจากด้านล่างมากพอสมควร แต่ฐานยางหรือ Rubber Feet ไม่ได้มีความสูงมากเท่ากับโน้ตบุ๊ก Legion 5 ขณะที่ตำแหน่งของลำโพงไม่ได้วางไว้ด้านใต้หรือด้านหน้าของผู้ใช้ แต่เสียงออกทางด้านข้างฝั่งติดกับตัวผู้ใช้แทน

คีย์บอร์ดพร้อมไฟส่องสว่างสีน้ำเงิน แม้ว่าจะไม่ได้อลังการเหมือนกับโน้ตบุ๊กระดับท็อปที่มาพร้อมไฟ RGB แบบ All Key แต่ก็ให้อารมณ์ความเป็นโน้ตบุ๊กเกมมิ่งได้ชัดเจน ขนาดปุ่ม เลย์เอาต์คีย์บอร์ด ฟอนต์ที่ใช้ ไฟที่ส่องผ่านตัวอักษรและขอบของปุ่มนั้นไม่อะไรที่น่าตำหนิ ถึงอย่างนั้นหลายๆ คนอาจจะไม่ชอบปุ่มที่ต้องใช้แรงกด มีระยะการกดตื้น และแข็งไปหน่อย เมื่อเทียบกับปุ่มของ Legion Y540  ส่วนทัชแพดใช้งานได้น่าพอใจ ผิวสัมผัสลื่น การตอบสนองอยู่ในขั้นดี สั่งงานหลายนิ้วได้อย่างไม่ติดขัด ส่วนคนที่ปลายนิ้วชื้นก็ยังคงใช้งานได้ไม่ลำบากอะไร

จอภาพ 120 Hz ที่ให้สีสันภาพในระดับพอใช้ แต่มุมมองกว้างดี


หน้าจอแสดงผลของ IdeaPad Gaming 3 มีการแจ้งค่า Color Gamut เอาไว้บนมาตรฐาน NTSC เพียงแค่ 45% ด้วยค่าขอบเขตสีระดับนี้มันจึงเป็นพาแนลให้แสดงสีได้ในระดับธรรมดา ซึ่งจากภาพทดสอบและการใช้งานทั่วไปผ่านหน้าเว็บและการเล่นเกมพอจะสรุปได้ว่า มันแสดงสีสันภาพได้ดีในระดับพอใช้ ความอิ่มตัวของสีอยู่ในเกณฑ์ปานกลางเช่นเดียวกับความสว่างที่อยู่ในเกณฑ์กำลังดี ใช้งานในห้องทำงานด้วยค่าความสว่างแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่รู้สึกถึงความเพี้ยนของสีอย่างชัดเจนแม้บนความสว่างสูง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มันมีมุมมองกว้างตามคุณสมบัติของพาแนล IPS และมาพร้อมกับค่ารีเฟรชเรต 120 Hz ซึ่งช่วยให้การมองเห็นภาพเกมลื่นไหล ลดอาการเวียนหัวได้

โน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่ใช้ชิปกราฟิกแยกจะมีการใช้พลังงานสูงสูงแล้ว อะแดปเตอร์เองจึงมีขนาดใหญ่และหนักตามไปด้วย โดย IdeaPad Gaming 3  จะใช้อะแดปเตอร์ 135 วัตต์  น้อยกว่าของ Legion 5 หรือ Y540 ที่ใช้แบบ 170 วัตต์  ส่วนสาย DC มีความยาว 150 เซนติเมตร บวกกับ 80 เซนติเมตรสำหรับสาย AC

ซีพียูแรงเชื่อใจได้ ชิปกราฟิกดีกว่า GTX 1650 เล็กน้อย
ต้องบอกว่าชิป Ryzen 5 4600H นั้นให้ประสิทธิภาพต่อราคาที่น่าประทับใจมากตั้งแต่มีการเปิดตัวมา ด้วยแกนประมวลผล 6 คอร์ 12 เทรด และสถาปัตยกรรม Zen 2 พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ มันเป็นหนึ่งในชิปประมวลผลที่เร็วที่สุดตัวหนึ่งในตลาดโน้ตบุ๊กเกมมิ่งระดับเริ่มต้น

ผลคะแนนเบนช์มาร์กเกือบทั้งหมดให้ผลไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือ Ryzen 5 4600H มีประสิทธิภาพด้อยกว่า Ryzen 7 4800H แต่สูงกว่าชิประดับกลางในเจนที่แล้วอย่าง Core i5-9300HF อยู่พอสมควร ยกตัวอย่างเช่น ผลเบนช์มาร์ก Cinebench R20 ที่ประมวลผลเรนเดอร์ภาพกราฟิกมีผลคะแนนเหนือกว่า 61 เปอร์เซ็นต์  ถึงอย่างนั้นระยะห่างระหว่าง Ryzen 5 4600H กับ Ryzen 7 4800H ก็ไม่น้อยเช่นกัน  มีความต่างตั้งแต่ 15 – 42 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากความต่างของแกนประมวลผลที่มีทั้งแกนหลักและแกนเสมือน คำถามคือ หากเทียบกับชิปประมวลผลในปัจจุบัน คำตอบก็คือ ในกลุ่ม Ryzen ด้วยกัน ซีพียูเจนใหม่อย่าง Ryzen 5 5000 series หรือ Ryzen 7 5000 series นั้นมีประสิทธิภาพเหนือกว่า แต่นั่นก็มาพร้อมกับราคาค่าตัวที่สูงกว่าด้วย เทียบกับชิปประมวลผลในกลุ่มเดียวกันอย่าง Core i5 -10300H หรือ Core i5 -11300H ชิป Ryzen 5 4600H ก็ยังมีประสิทธิภาพที่ดีกว่ากับแอพพลิเคชันส่วนใหญ่

การแสดงผลเกมระดับท็อปไม่ได้ออกมาสวยหรูอย่างแน่นอน เนื่องจากชิปกราฟิกอย่าง GTX 1650 Ti นั้นอยู่ในกลุ่มชิปเล่นเกมระดับเริ่มต้น ถึงอย่างนั้นภายใต้คุณภาพระดับ High หรือ High Preset โน้ตบุ๊กก็แสดงผลภาพได้ในระดับที่พอเล่นเกมได้ เทียบกับชิปกราฟิกรุ่นน้องอย่าง GTX 1650 จะทำได้ดีกว่า 5-10 ภาพต่อวินาทีโดยเฉลี่ย ดังนั้นอธิบายให้เข้าใจไว้ตรงนี้ก็คือ โน้ตบุ๊ก Ideapad Gaming 3 ตอบโจทย์การเล่นเกมได้เกือบทุกเกม แต่จะต้องอยู่ภายใต้คุณภาพการแสดงผลระดับ Medium ลงไปสำหรับเกมที่ใช้ทรัพยากรชิปกราฟิกระดับสูง เพื่อให้ได้ค่าเฟรมเรตที่สูงขึ้นจนอยู่ในขั้นที่เล่นแล้วไหลลื่น ส่วนเกม FPS ออนไลน์รุ่นใหม่ๆ อย่าง Varolant, Apex, COD Warzone ฯลฯ ใช้คุณภาพระดับ High ได้สบายๆ ไม่ต้องกังวลอะไร

เกม Metro Exodus สามารถแสดงผลได้เร็วเฉลี่ย 89 ภาพต่อวินาที บนคุณภาพระดับ Medium แน่นอนว่า ภาระประมวลผลนี้ก็แทบจะทำให้ชิปกราฟิกทำงานอย่างเต็มที่ กลับกันมันไม่ได้ใช้พลังประมวลผลของซีพียู Ryzen 5 4600H มากนัก

ถ้าไม่ใช่ห้องแอร์ อาจนิ้วร้อนแทนหัวร้อน
ระบบระบายความร้อนหรือแม้แต่การจัดการพลังงานของตัวชิป Ryzen 5 ต่างก็ทำหน้าที่ของมันได้ดี เล่นเกมได้ต่อเนื่องไม่มีระบบล่มหรือชะงัก ค่าความร้อนควบคุมอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายสำหรับระบบภายใน แต่สิ่งที่ผู้ใช้ต้องคำนึงก็คือ หากอยู่ห้องที่ไม่ได้มีอากาศไหลเวียนบนแป้นคีย์บอร์ด ปลายนิ้วของคุณจะถูกทำให้อบอุ่นอยู่ตลอดช่วงเวลาของการเล่นเกม

ความร้อนจะไหลออกมาจากช่องว่างเหนือปุ่มสวิตช์ โดยทั่วไปแล้วอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นด้านบน หากว่าคุณนั่งอยู่ในห้องปกติที่มีความร้อนตามสภาพอากาศไม่ใช่ห้องแอร์ ความร้อนทั้งจากลมร้อน ความร้อนภายในที่เกิดขึ้นใต้แผงคีย์บอร์ดก็จะสะสมอยู่บริเวณแผงคีย์บอร์ดส่วนบน ซึ่งเราใช้ Infrared Thermometer มีวัดความร้อนบริเวณแผงคีย์บอร์ดส่วนบน มีอุณหภูมิตั้งแต่ 38 – 43 องศาเซลเซียส แน่นอนว่า หากอากาศในห้องเย็นๆ หรือมีการไหลเวียนที่ดี ปลายนิ้วของคุณจะไม่ต้องเจอปัญหาความร้อนเหล่านี้

จากรายงานค่าการใช้พลังงานแบตเตอรี่ บรรทัดบนสุดจะเห็นว่าแบตเตอรี่ถูกใช้ไปถึง 80% ภายในระยะเวลาใช้งานเพียง 52 นาที นั่นคือการเล่นเกมออนไลน์เพียงอย่างเดียว ขณะที่การเล่นวิดีโอยูทูปต่อเนื่อง พร้อมกับโหมดประหยัดพลังงานสูงสุดแล้ว โน้ตบุ๊ก IdeaPad Gaming 3 ไม่น่าจะใช้งานได้เกิน 4 ชั่วโมง เนื่องจากแบตเตอรี่ถูกใช้ไปถึง 94 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลา 3:37 ชั่วโมงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขนาดแบตเตอรี่ของโน้ตบุ๊กเองก็ไม่ได้มีความจุสูงอยู่แล้ว เพียงแค่ 45 Wh เท่านั้น

บทสรุปและความคิดเห็นของ Techmayday
โดยภาพรวมแล้ว นี่คือ โน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่ยังคงแข็งแกร่งในกลุ่มตลาดราคาประหยัด ด้วยความโดดเด่นของชิป Ryzen 5 4600H และชิปกราฟิก GTX 1650Ti ขณะที่ส่วนประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไดรฟ์ Nvme ขนาดแบตเตอรี่ ดีไซน์ตัวเครื่อง คุณภาพจอแสดงผล หรือชิปไวร์เลสก็ไม่ได้มีคุณสมบัติที่พิเศษแต่อย่างใด แถมราคาค่าตัวก็ให้ความรู้สึกว่าแพงไปนิดเมื่อเทียบกับความสดของโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ในราคาไล่เลี่ยกัน อย่างไรก็ดี หากมองไปที่การใช้งานทั่วไป ชิป Ryzen 5 4600H นั้นยังคงคุ้มค่า และตอบสนองการเล่นเกมได้ไม่ด้อยกว่าโน้ตบุ๊กเกมมิ่งอื่นๆ ที่ใช้ชิปกราฟิกตัวเดียวกันในราคาแพงกว่า ตัดเรื่องหยุมหยิมออกไปเอาส่วนต่างไปเพิ่มฮาร์ดดิสก์สัก 2TB จะได้ไม่ต้องมานั่งไล่ลบเกมให้เสียเวลาหรือหงุดหงิดใจ

ขอขอบคุณ: AMD Thailand