รีวิว WD_BLACK P50 Game Drive SSD (1TB)

PROS

ดีไซน์แข็งแรง ทนต่อการตกหล่น
อ่านเขียนได้เร็วบน USB 3.2 Gen 2
บอดี้ผลิตจากวัสดุอะลูมิเนียม

CONS

ความเร็วสูงสุดจำกัดเฉพาะ USB 3.2 Gen 2x2
ราคาต่อความสูงค่อนข้างสูง

การใช้ External Drive เพื่อเล่นเกม แนวคิดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากว่าไดรฟ์ SSD และมาตรฐานพอร์ตยูเอสบีไม่ได้มีความเร็วสูงเหมือนในยุคนี้ แน่นอนว่า ปัจจุบันฮาร์ดดิสก์จานหมุนก็ยังคงใช้ขับเคลื่อนเกมได้ดีไม่ต่างจากในอดีต แม้กระทั่งเกมคอนโซลอย่าง PS4 เองก็ยังใช้ฮาร์ดดิสก์ทั้งภายในและภายนอก ถึงอย่างนั้นการใช้ไดรฟ์ SSD ในรูปแบบของไดรฟ์ภายนอกอย่างเช่น WD_BLACK P50 Game Drive SSD ที่เราได้รับมารีวิวนี้ก็มีข้อดีหลายอย่างที่หาไม่ได้บนฮาร์ดดิสก์จานหมุน  ไม่ใช่แค่ความเร็วในการอ่านเขียนเท่านั้น

เป้าหมายของ WD_BLACK P50 Game Drive SSD ก็คือ การเป็นสตอเรจภายนอกที่ลดระยะเวลาในการโหลดเกม ตอบสนองการอ่านข้อมูลในการเล่นเกมได้อย่างรวดเร็ว ทั้งฝั่งเครื่องเล่นเกมคอนโซลและฝั่งพีซี ด้วยคุณสมบัติของหน่วยความจำประเภท NAND Flash และสามารถส่งผ่านข้อมูลการอ่านได้สูงสุด 2,000MB/s ผ่านพอร์ต USB 3.2 Gen 2x2 ซึ่งพอร์ตยูเอสบีมาตรฐานนี้ถือว่า “ใหม่มาก” มีอุปกรณ์เพียงไม่กี่รุ่นที่สนับสนุน เท่าที่เราทราบก็คือ เมนบอร์ดบางรุ่นบนแพลตฟอร์ม Intel LGA1200 (MSI MAG Z490 TOMAHAWK, ROG-STRIX-B460-F-GAMING) หรือ Socket sTRX4 (MSI TRX40 PRO WIFI) ถึงอย่างนั้นในตอนนี้ก็มีการ์ด USB 3.2 Gen 2x2 ระดับคอนซูมเมอร์ออกมาแล้วบ้าง อย่างเช่น Gigabye GC-USB 3.2 GEN2X2

จากมุมมองของเรา โน้ตบุ๊กเกมมิ่งเป็นอีกกลุ่มที่ดูจะเหมาะกับไดรฟ์ WD_BLACK P50 Game Drive SSD นั่นเป็นเพราะว่า โน้ตบุ๊กเกมมิ่งมักจะมาพร้อมกับไดรฟ์หลักแบบ NVMe ซึ่งไม่มีพื้นที่เหลือให้ติดตั้งเกมได้มากนัก ทางเลือกที่เหลือคือช่องต่อ SATA ภายในเครื่องที่สามารถอ่านเขียนได้ไม่เกิน 600 MB/s ดังนั้นไดรฟ์ SSD ภายนอกที่มีความเร็วสูงกว่าจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งในการนำมาใช้งาน

Key Specifications  (WDBA3S0010BBK-WESN)

  • ราคาโดยประมาณ: 8,900 บาท
  • ขนาดความจุ:  1 TB
  • อินเทอร์เฟซ:  USB 3.2 Gen 2x2
  • ความเร็วการอ่านสูงสุด: 2000MB/s
  • สนับสนุน:  PlayStation 4 Pro,PS4, Xbox One
  • พอร์ตเชื่อมต่อ:  USB-C
  • ขนาด: 118x62x14 มิลลิเมตร

เยี่ยมทั้งในแง่ความแข็งแรงและความสวยงาม

คอนเซ็ปต์การออกแบบของไดรฟ์ WD_BLACK P50 รวมถึงรุ่นอื่นๆ ในซีรีส์ WD_BLACK External Drive ถือว่าน่าประทับใจมาก ใช้เคสอะลูมิเนียมสีดำกึ่งเงา ดูแข็งแรงเหมือนกับตู้คอนเทนเนอร์ที่จัดเก็บสินค้าได้อย่างคงทน และด้วยวัสดุดังกล่าวรวมถึงหน่วยเก็บข้อมูลภายในที่ไม่มีกลไกใดๆ มันจึงทนต่อการกระแทกหรือตกหล่นอีกด้วย

เทียบขนาดกับฮาร์ดดิสก์ภายนอกมันจะมีขนาดที่เล็กกว่าพอสมควรและบางกว่าอีกด้วย ดังนั้นในแง่ของการพกพาแล้ว มันมีข้อดีที่เหนือกว่าในทุกๆ ด้าน ยกเว้นขนาดความจุที่มีให้เลือกสูงสุดแค่ 2 TB

ด้านล่างมองเห็นแผ่นโลหะลอดผ่านฝาหลังที่แบ่งช่องเพื่อเพิ่มการระบายความร้อนให้กับชิปคอนโทรลเลอร์และชิปหน่วยความจำภายใน หากมองดีๆ จะเห็นฐานยางสี่เหลี่ยมเล็กๆ 4 จุด ซึ่งมันยึดเกาะกับพื้นโต๊ะ หลังเคสเครื่องเดสก์ทอปได้เป็นอย่างดี

สายสัญญาณยาว 30 เซนติเมตร ให้มา 2 เส้น โดยเป็นพอร์ต USB-A และ USB-C ทั้งตัวปลั๊กและสายถือว่า มีคุณภาพที่ดีมาก

วัดความเร็วของมาตรฐาน USB 3.2 Gen 2
หลายๆ คนสับสนเอามากๆ กับการรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อของมาตรฐาน USB ง่ายๆ ชื่อเรียกในทางเทคนิค เดิมที่จาก USB 3.0 ไปเป็น USB 3.2 Gen 1 ส่วน USB 3.1 ไปเป็น USB 3.2 Gen 2 และ USB 3.2 ก็จะมีเพิ่มเป็น USB 3.2 Gen 2x2 ซึ่งมาตรฐานสุดท้ายนี้คือ พอร์ตที่ไดรฟ์ WD_BLACK P50 ใช้งานอยู่ ซึ่งมีความเร็วในทางทฤษฎี 20 Gbps ส่วนที่เรากำลังจะทดสอบกับระบบก็คือ USB 3.2 Gen 2 ที่มีความเร็วในทางทฤษฎี 10 Gbps

ความเร็วที่ทำได้ในการอ่านเขียนแบบสุ่มก็แตะไปที่ระดับหลักพันทั้งคู่ของโปรแกรม CrystalDiskMark ถือว่าไม่ห่างนักจากความเร็ว 1250 MB/s ในทางทฤษฎี แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือ CrystalDiskinfo รายงานไดรฟ์ NVMe ภายใน WD_Black SN750E เป็นมาตรฐาน NVME Express 1.3 ทว่าค่า iops ที่ทดสอบจาก AS SSD Benchmark ก็มีความต่างกับ WD Black SN750 1TB ที่ทดสอบไปในรอบก่อนหลายเท่า เช่นเดียวกับค่า Access Time ที่ทำได้ในการอ่าน 0.106ms และเขียน 0.056ms โดยที่ไดรฟ์ WD Black SN750 มีค่า 0.036ms และ 0.029ms ตามลำดับ ถึงอย่างนั้นค่าความเร็วการอ่านและค่า iops ที่ดีกว่าไดรฟ์ SSD SATA ส่วนใหญ่ในตลาด นอกจากนั้นค่าความร้อนในขณะทดสอบต่อเนื่องพบสูงสุดแค่ 47 องศาเซลเซียสเท่านั้น (ในห้องอุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียส)

ขยับมาที่การส่งผ่านข้อมูลบนมาตรฐาน USB 3.1 Gen 1 เดิมผ่าน USB-C หรือ USB 3.2 Gen 1 ในยุคนี้ ความเร็วก็หดหายไปตามข้อจำกัดของมาตรฐาน แถมค่า Access Time ก็ยังเพิ่มขึ้นด้วย ถึงอย่างนั้นมันก็ยังทำได้ดีกว่าฮาร์ดดิสก์จานหมุนทุกประเภท

ความเร็วของการโหลดเกมและโหลดเซฟ
เราไม่นำผลการโหลดเกมบน PS4 เนื่องจากความเร็วในการอ่านเขียนนั้นติดอยู่ที่ 5Gb/s หรือมาตรฐาน USB 3.0 เดิม ไดรฟ์ WD_Black P50 ใช้เวลาในการโหลดเข้าเกมเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์จานหมุนไม่เกิน 5 วินาที ส่วนการโหลดเข้าเกมบนเครื่องพีซี ทีมงานใช้ระบบที่ติดตั้งซีพียู Intel Core i5-9400F หน่วยความจำ DDR4-2666 ขนาด 16GB พร้อมด้วยไดรฟ์ WD Black SN750 500GB เป็นไดรฟ์ระบบ ซึ่งจะทำการติดตั้งและย้ายเกมมาไว้บนไดรฟ์ WD_Black P50 จากนั้นทดสอบทั้งการเชื่อมต่อด้วยความเร็ว 10Gb/s และ 5Gb/s และเปรียบเทียบกับฮาร์ดดิสก์ WD Green ขนาด 2TB ที่มีความเร็วในการอ่านข้อมูลเฉลี่ย 140 MB/s

ผลทดสอบของการโหลดเข้าเกม CONTROL และ STARWAR ให้ผลไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ การเชื่อมต่อผ่าน USB ของไดร์ฟ ไม่ว่าจะโหมดใดๆ ความเร็วไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ทั้งคู่ก็ยังเร็วกว่าฮาร์ดดิสก์จานหมุนอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 วินาที

ขณะที่การโหลดเซฟภายในเกมสามารถสัมผัสได้ถึงความห่างของระยะเวลาที่ใช้ในการโหลดมากขึ้น เมื่อเทียบกับฮาร์ดดิสก์จานหมุน ไดรฟ์ WD_Black P50 โหลดเซฟเกมได้เร็วกว่าฮาร์ดดิสก์จานหมุนที่เรามีอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 วินาที

บทสรุปและความคิดเห็น
แม้ว่าระบบที่เรานำมาใช้จะไม่สามารถดึงเอาความเร็วที่แท้จริงของไดรฟ์ WD_BLACK P50 ถึงอย่างนั้นความเร็วของมันก็ทำได้น่าพอใจกับอินเทอร์เฟสที่มีความเร็วต่ำกว่า แต่ด้วยความ High performance ของมันกับราคาที่ขยับตามไปด้วย มันจึงเป็นไดรฟ์ที่จำกัดกลุ่มผู้ใช้งานมากๆ ยกเว้นแต่ว่า คุณมีโน้ตบุ๊กเกมมิ่ง เล่นเกมใหม่ๆ ที่ออกมาตลอด ไม่มีพื้นที่มากพอสำหรับเกมเหล่านั้น การมองไปที่ไดรฟ์ WD_BLACK P50 ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าไดรฟ์มาตรฐาน SATA ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากราคามันก็ไม่ได้ต่างจากไดรฟ์ NVMe SN750 ความจุเท่าๆ กันเลย แถมเกมยุคนี้ก็ใช้พื้นที่เยอะด้วย อย่างเช่น COD: Warzone ก็ปาไปเกือบ 90 GB หรือ Red Dead Redemption 2 ก็กดไป 115 GB ดังนั้นความจุ 1TB นี้จะไม่ทำให้เจ้าของต้องลบเกมทิ้งบ่อยๆ เหมือนกับโน้ตบุ๊กเกมมิ่งระดับเริ่มต้นจนถึงระดับกลางๆ ที่กำลังเผชิญหน้ากับการมีพื้นที่จำกัดจำเขี่ย

ในกรณีของเกมคอนโซลอย่าง PS4 หากคุณเป็นสายดองเกม มันคงไม่เหมาะอย่างแน่นอน แม้ว่าไดรฟ์ภายนอกนี้จะสะดวกมาก หยิบไดรฟ์ไปบ้านเพื่อนที่มี PS4 ก็เล่นเกมของตัวเองได้แล้ว แต่นั่นก็ดูจะไม่คุ้มค่ากับประสิทธิภาพที่มันทำได้ ถ้าจัดเตรียมไว้สำหรับคอนโซลยุคถัดไปอย่าง PS5 ก็อีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนใครที่เล็งว่าจะนำไดรฟ์ไปใช้งานในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากติดตั้งเกมและมีอินเทอร์เฟส USB 3.2 Gen 2x2 อยู่ในมือ คุณจะได้สัมผัสความเร็วที่ใกล้เคียงกับสตอเรจฝั่ง Thunderbolt 3 มากขึ้น แถมใช้งานได้หลากหลายในพื้นที่ที่อินเทอร์เฟซดังกล่าวเข้ามาไม่ถึงด้วยเหตุผลทางเทคนิคของมัน

ขอบคุณ: WD Thailand