รีวิว DELL Inspiron 13 5391 - Techmayday

PROS

ใช้วัสดุอะลูมิเนียมเป็นหลัก
น้ำหนักเบา 1.24 กิโลกรัม
USB-C รองรับ DP และ Power Delivery

CONS

หน่วยความจำอัพเกรดเพิ่มไม่ได้
ไม่มีปุ่มปิดทัชแพด
มีพอร์ตเชื่อมต่อให้ไม่มากนัก
Wi-Fi มาตรฐาน ac

โน้ตบุ๊กตัวนี้ออกสู่ตลาดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว ซึ่งมาพร้อมกับซีพียู Intel Core i5 Gen 10 และปรับปรุงในเรื่องดีไซน์มาหลายจุด โดยเฉพาะกรอบจอแสดงผลที่บางลงตามสมัยนิยม รวมถึงตัวเครื่องที่กลายเป็นโน้ตบุ๊กแบบ Thin & Light ไปแล้ว โดยมาพร้อมกับน้ำหนักที่เบากำลังดีแค่ 1.24 กิโลกรัม

Key Specifications

  • ราคาโดยประมาณ: 27,990 บาท
  • Intel Core  i5-10210U up to 4.2 GHz
  • 8GB Onboard, LPDDR3, 2133MHz
  • 512GB M.2 PCIe NVMe Solid State Drive
  • GeForce  MX250 -2GB GDDR5
  • 13.3 นิ้ว (1,920X1,080) IPS display
  • Windows 10 Home 64-bit
  • Battery 45 Wh
  • ขนาด (กxยxส): 307.6x204.7x16.8 มม.

ใช้วัสดุแบบผสมผสาน พรีเมียมด้วยสี Platinum Silver


ฝาหลังและแป้นวางมือของโน้ตบุ๊ก Inspiron 13 5391 ในวัสดุอะลูมิเนียม ขณะที่ส่วนอื่นๆ จะใช้พลาสติก ซึ่งเกือบทั้งหมดใช้สีพิเศษอย่าง Platinum Silver จะมีเฉพาะกรอบหน้าจอที่ใช้สีขาวขุ่น บริเวณจุดนี้จะมีขอบที่บางทั้ง 3 ด้าน รวมถึงติดตั้งไมโครโฟนและกล้องเว็บแคมระดับ HD ไว้ด้านบน เรามองว่ามันดูดีมาก ทั้งเวลาตั้งบนโต๊ะหรือหยิบพกไปมา

แป้นคีย์บอร์ดขนาด Full Size และมีไฟ Backlid สีขาว ปรับความสว่างได้ 3 ระดับ แต่ด้วยการใช้ฟอนต์แบบบางมันทำให้ไฟที่ลอดผ่านออกมาจากคีย์แคปไม่ได้สมบูรณ์ไปทุกปุ่ม ยังมีบางปุ่มที่มองเห็นไม่ชัดอยู่บ้าง ถึงอย่างนั้นฟิลลิ่งในการกดก็ยังทำได้นิ่มนวล ระยะการกดปานกลาง ปุ่มฟังก์ชันกดใช้งานได้ทันทีและสามารถกดล็อกด้วย FN+ESC เพื่อใช้ปุ่ม F1-F12

ส่วนปุ่มที่เคยน่าเป็นห่วงสำหรับโน้ตบุ๊กขนาดพกพาอย่างปุ่มเปิดเครื่องที่อยู่เหนือ Backspace ทาง Dell แก้ปัญหาด้วยการใช้ปุ่มสวิทช์แบบแข็ง ต้องใช้แรงกดกว่าปกติ นอกจากนั้นใต้ปุ่มจะมีเซนเซอร์ลายนิ้วมือ ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าสู่โน้ตบุ๊กด้วยปลายนิ้่วได้ การทำงานของเซนเซอร์ถือว่ารวดเร็วและสมบูรณ์แบบมาก

ในส่วนของทัชแพดมีขนาดใหญ่กำลังดี รองรับการสั่งงาน Multi-touch gesture ได้ราบรื่น การตอบสนอง ความลื่นไหลในการใช้งาน หรือแม้แต่ผิวสัมผัสไม่มีอะไรให้ติ มีความแม่นยำสูงมาก แต่สิ่งที่น่าแปลกใจอย่างหนึ่งก็คือ มันไม่สามารถเปิดทัชแพดได้จากฮาร์ดแวร์หรือการปิดด้วยปุ่มฟังก์ชัน ดังนั้นคุณต้องเข้าไปปิดในวินโดว์สสถานเดียว หรือตั้งค่าให้มันตัดทัชแพดออกหลังจากเสียบเมาส์ก็ได้

เพราะบางจึงติดตั้งพอร์ตได้น้อย

ถ้าคุณสังเกตให้ดีๆ จะเห็นว่าสันเครื่องทั้งสองฝั่งมีการออกแบบให้ลาดเอียงลงใต้เครื่องและเดิมทีมันก็มีความหนาที่น้อยมากอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกใจอะไรที่พอร์ตเชื่อมต่อมีมาให้แค่ไม่กี่มาตรฐานเท่าที่จำเป็น โดยฝั่งขวามือจะมีเฉพาะช่องต่อ 3.5 มม.แบบคอมโบและพอร์ต USB 3.1 Gen 1 กลับมาที่ฝั่งซ้ายมือกันบ้าง มีพอร์ต HDMI 1.4b พอร์ต USB Type-C 3.1 Gen 1 ซึ่งผู้ใช้สามารถต่อยูเอสบีฮับประเภท Multiport ได้ เนื่องจากมันพอร์ต DP หรือ Display Port ในตัวและจ่ายพลังงานแบบ Power Delivery ส่วนช่องต่อเล็กๆ ที่เห็นก็คือ การ์ดรีดเดอร์สำหรับ microSD

ฝาเครื่องด้านใต้ไม่ได้ใช้วัสดุอะลูมิเนียม แต่ความรู้สึกในการสัมผัส ความแข็งแรง หรือแม้กระทั่งสีคล้ายคลึงกับวัสดุอะลูมิเนียมมาก จุดที่อากาศไหลเข้าจะมีเฉพาะใต้เครื่องบริเวณเป็นตะแกรงถี่ๆ เท่านั้น ส่วนความร้อนจะถูกขับออกไปทางช่องบริเวณสันเครื่อง หรือตำแหน่งด้านล่างของหน้าจอเมื่อเปิดใช้งาน ส่วนลำโพงจะวางเอาไว้ด้านริมทั้งสองฝั่ง

สังเกตดีๆ บริเวณบานพับหรือทาง DELL ได้ติดตั้งแผ่นยางขนาดใหญ่เอาไว้ เพื่อให้มันสัมผัสกับพื้นโต๊ะเมื่อเปิดใช้งาน ให้โน้ตบุ๊กไม่ไถลไปมาโดยง่าย เกาะอยู่กับพื้นโต๊ะอย่างแน่นหนา นอกจากนั้นมันก็ยังทำการยกตัวให้แป้นคีย์บอร์ดทำมุมชันขึ้นอีกเล็กน้อยด้วย  ขณะที่บานพับเองก็ระดับความหนืดที่เหมาะสม ไม่มีการโยกคลอนขณะทำการพิมพ์ 

ให้สีสันได้ดี สดและสว่าง

ตามสเปคของโน้ตบุ๊ก Inspiron 13 5391 หน้าจอขนาด 13.3 นิ้ว ให้ขอบเขตสีหรือ Color Gamut 72% NTSC ซึ่งถือว่าดีมากพอสำหรับการใช้งานทั่วไปและการรับชมวิดีโอ จากการประเมินด้วยสายตาสีสันภาพสดใสมาก เมื่อเทียบกับจอภาพที่คาลิเบลดของเราแล้ว สีสันภาพจะออกไปทางโทนอุ่น อมเหลืองเล็กน้อย ตรงนี้ไม่สร้างผลกระทบต่อการใช้งานปกติและไม่ได้เพี้ยนจนรู้สึกได้ทันที เบื้องหลังส่วนหนึ่งของผลลัพธ์ที่ได้เกิดจากการเคลือบผิวจอจะเป็นแบบ Glossy ภาพจะมีสีที่สดขึ้น มีคอนทราสต์ดีกว่าจอภาพที่เคลือบผิวแบบ  Matte แต่มันก็มีข้อบกพร่องเล็กน้อยในเรื่องเงาสะท้อน ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เนื่องจากโน้ตบุ๊กสามารถปรับก้มเงยหน้าจอได้ค่อนข้างกว้าง แค่ปรับให้หลบจากเงาเหล่านั้นก็พอแล้ว

อย่างไรก็ดี ในมุมด้านข้าง เรายังคงมองเห็นภาพได้ชัดเจน ความสว่างและอัตราคอนทราสต์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ซึ่งการใช้งานคนเดียวไม่ได้มีปัญหาอะไร จะมีปัญหาก็ตรงที่คนข้างๆ สามารถเห็นได้ทันทีว่า คุณกำลังทำอะไรอยู่

ทำงานพื้นฐานสบาย เล่นเกมเบาๆ ได้
ตามสเปคของซีพียู Core  i5-10210U จะซีพียู 4 แกน 8 เทรด และมีความปกติอยู่ที่ 1.60 GHz โดยที่สามารถบูสต์อัพขึ้นไปถึง 4.20 GHz และเมื่อประกอบกับหน่วยความจำขนาด 8GB และสตอเรจ NVMe แล้วมันก็ทำงานในภาพรวมได้น่าพอใจมาก และนี่คือ ผลทดสอบด้วยซอฟต์แวร์เบนช์มาร์กของมัน

ถือว่าเป็นไปตามคาดสำหรับ PCMark 10 ที่มีคะแนนอยู่ในช่วงสามพันกลางๆ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่โน้ตบุ๊กกลุ่มซีพียู Core i7 หรือ i5 รหัส U ส่วนใหญ่ทำได้ (ไม่มีชิปกราฟิกชั้นสูง) ขณะที่ผลคะแนน 3DMark ก็ชี้ให้เห็นว่าชิปกราฟิก Geforce MX250 ไม่เหมาะต่อการเล่นเกมเท่าใดนัก แต่สามารถเล่นเกมเบาๆ อย่าง PUBG Lite คุณภาพระดับ High ได้ รวมถึงเกมแนวแคชชวลอื่นๆ ส่วนเรื่องการรับชมวิดีโอจากแหล่งต่างๆ หรือจากไฟล์ MP4 นั้นทำได้ดีอย่างไม่มีปัญหา ขณะที่ Cinbench R20 ที่เป็นการทดสอบพลังประมวลผลด้านการเรนเดอร์ภาพกราฟิกมันก็ทำออกมาได้ตามสภาพของซีพียูโมบายล์เวอร์ชัน Ultra Low Voltage

ในส่วนของสตอเรจ NVMe ความจุ 512GB ทำงานได้เร็วในระดับกลางๆ ค่อนไปทางดี โดยอ่านเขียนด้วยความเร็วเฉลี่ย 2,316 MB/s และ 1,203 MB/s ความเร็วส่วนนี้มีผลให้การบูตเข้าวินโดว์สใช้เวลาเพียง 15 วินาที หลังกดปุ่มจนถึงโชว์หน้าล็อกอิน นอกจากนั้นการตื่นจากโหมด Sleep การโหลดแอพพลิเคชันพื้นฐานต่างทำได้ฉับไว ใช้งานทั่วไปได้คล่องตัว ส่วนการรีเซ็ตระบบก็ใช้เวลาประมาณ 18 นาทีก่อนที่เข้าสู่กระบวนการเริ่มตั้งค่าวินโดว์สครั้งใหม่

แบตเตอรี่อึดพอตัว
โน้ตบุ๊ก Inspiron 13 5391 ติดตั้งแบตเตอรี่ขนาด 45 Wh มาให้ ซึ่งถือว่าเป็นขนาดที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานในยุคนี้ การท่องอินเทอร์เน็ตต่อเนื่องด้วยโหมด Better Battery ผ่านเครือข่าย WLAN ทำงานได้นาน 5:32 ชั่วโมง ขณะที่เล่นไฟล์ภาพยนต์ MP4 (Full HD, bitrate 16mbps) ในโหมดจัดการพลังงานเดียวกันและปิด WLAN สามารถทำงานได้นาน 6:35 ชั่วโมง โดยรวมแล้วถือว่า น่าพอใจมาก

บทสรุปและความคิดเห็นของเรา
มีหลายจุดที่เราค่อนข้างชอบโน้ตบุ๊กตัวนี้ อย่างเช่น ความหรูหราของวัสดุ ความบางและน้ำหนักที่อยู่ในเกณฑ์ที่เบาสำหรับการพกพา ขณะที่พลังประมวลผลอาจจะไม่ได้โดดเด่น เนื่องจากเป็นซีพียู Core i5 แบบประหยัดพลังงาน ถึงอย่างนั้นในการใช้งานแอพพลิเคชันทั่วไปก็ทำงานได้อย่างราบรื่น เปิดบราวเซอร์และโปรแกรมสำนักงานสัก 3-4 หน้าต่างก็ยังไม่มีปัญหา ส่วนแอพพลิเคชันที่หนักขึ้นมาหน่อยอย่างโปรแกรมแต่งภาพ ตัดต่อวิดีโอก็พอทำงานได้ระดับหนึ่ง ส่วนจุดที่ผิดหวังเล็กน้อยก็มีอยู่บ้างตรงที่ใช้ชิป Wi-Fi เป็นเพียงมาตรฐาน 802.11ac ซึ่งในราคาระดับนี้ควรใช้มาตรฐาน 802.11ax ได้แล้ว อีกจุดก็คือ พอร์ตเชื่อมต่อที่มีให้น้อยเกินไป ดังนั้นคุณอาจต้องมองหายูเอสบีฮับประเภท Multiport มาใช้งาน นอกจากนั้นในแง่ของราคา 27,900 บาทก็รู้สึกว่าสูงไปนิดหน่อย แต่ก็แลกกลับมาด้วยความสามารถในการพกพา ประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมและการสนับสนุนหลังการขายที่ถือว่า อยู่ในระดับแนวหน้าของวงการ