รีวิว WD Black SN750 NVMe SSD 1TB ใส่ซิงค์แล้วเย็นขึ้นเยอะ
PROS
อ่านเขียนแบบสุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฮีตซิงก์ช่วยลดความร้อนลงได้มาก
CONS
ฮีตซิงก์อาจทำให้ติดตั้งกับบางเมนบอร์ดไม่ได้
ถ้าพูดถึงความเร็วของสตอเรจ NVMe แล้ว ขณะนี้ความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลของมันขยับไปถึงหลัก 5,000 MB/s แล้ว แต่นั่นเป็นการทำงานบนบัส PCIe 4.0 x4 ที่ยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในเวลานี้ เนื่องจากมันมีข้อจำกัดในเรื่องของราคาและแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ที่สนับสนุน ดังนั้นในการใช้งานจริงสำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในวงกว้างแล้วจึงต้องย้อนกลับมาที่สตอเรจ NVMe ที่ทำงานบนบัส PCIe 3.0 ซึ่งไดรฟ์ WD Black SN750 NVMe SSD ที่คุณกำลังจะได้สัมผัสต่อไปนี้ถือเป็นหนึ่งในไดรฟ์ NVMe สำหรับนักเล่นเกมที่ดีที่สุดในระดับ Top 5 ของวงการ
ไดรฟ์ WD Black SN750 NVMe SSD วางตลาดหลายความจุ โดยในตอนนี้มีทั้งรุ่นที่ติดตั้งฮีตซิงก์และไม่ติดตั้งฮีตซิงก์ แน่นอนว่าในแต่ละความจุมันก็มีข้อแตกต่างกันในแง่ของราคา ประสิทธิภาพ รวมถึงความทนทานในการใช้งาน แต่โดยหลักยังคงใช้เทคโนโลยี ชนิดของชิปหน่วยความจำรุ่นเดียวกัน หรือถ้าจะให้เปรียบเทียบกับรุ่นความจุเท่าๆ กันก็คือ ไม่มีความต่างใดๆ นอกจากการติดตั้งฮีตซิงก์เข้าไป และนี่คือข้อมูลทางเทคนิคของไดรฟ์ WD Black SN750 NVMe SSD
ที่มาว่าทำไม NVMe ถึงเร็วกว่าไดรฟ์ชนิดอื่นๆ
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ในบางส่วนที่ไม่ลึกจนเกินไป ไดรฟ์ NVMe ได้รับการปรับปรุงกระบวนการอินพุท/เอาพุตที่ดีกว่าโปรโตคอล SATA โดยในหนึ่งคิวงาน NVMe จะสามารถรองรับคำสั่งได้มากถึง 65,536 คำสั่ง ส่วน SATA สามารถรับได้เพียง 32 คำสั่ง เท่านั้นยังไม่พอ NVMe ถูกการออกแบบให้รองรับคิวงานได้มากถึง 65,535 คิว ดังนั้นมันจึงรองรับจำนวนคำสั่งได้มากกว่าในระยะเวลาเท่ากัน ส่งผลให้มันสามารถส่งคำสั่งไปยังหน่วยประมวลผลได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังใช้ทรัพยากรจากซีพียูน้อยกว่า มีค่าลาเทนซี่และระยะเวลาตอบสนองคำสั่งที่ดีขึ้นกว่าโปรโตคอล AHCI ที่ใช้งานกับฮาร์ดดิสก์หรือไดรฟ์ SATA ฯลฯ
ดีไซน์และการออกแบบ
WD Black SN750 ใช้ธีมสีดำเหมือนกับชื่อของมัน ด้านหน้าของไดรฟ์ถูกแทนที่ด้วยฮีตซิงค์ที่ออกแบบโดย EKWB ซึ่งทำให้มันมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเป็น 80.15x24.5x8.1 มิลลิเมตร หรือถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ มันใช้พื้นที่ขยายไปทางด้านข้างมากกว่ากว่าไดรฟ์ NVMe 2280 แบบมาตรฐานทั่วไปเล็กน้อยจากการใช้ฮีตซิงก์แบบประกบโดยรอบและยึดด้วยน็อต อีกส่วนหนึ่งก็คือ ความสูงที่ขยับไปเป็น 8.10 มิลลิเมตร ทั้งสองส่วนนี้ส่งผลให้มันไม่สามารถติดตั้งกับเมนบอร์ดบางรุ่นที่ออกแบบให้ตำแหน่งอินเทอร์เฟซ M.2 อยู่ชิดกับสล็อต PCI-E รวมถึงโน้ตบุ๊กเกือบทั้งหมด
ส่วนด้านหลังติดสติกเกอร์ลาเบล บ่งบอกรุ่น ซีเรียล วันเดือนปีที่ผลิต ที่มา แรงดันไฟฟ้าและกระแสไฟฟ้า ตรงนี้คำนวณออกมาได้ 9.24 วัตต์ ถ้ามองเทียบในแง่ของการใช้พลังงานแล้วถือว่า มันใช้พลังงานในระดับน้องๆ ฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้วเลย ขณะที่ฮาร์ดดิสก์ 2.5 นิ้วจะมีการใช้พลังงานอยู่ในช่วง 2.75-3.5 วัตต์ แต่การใช้พลังงานเกือบ 10 วัตต์นั้นเป็นค่าใช้พลังงานสูงสุดหรือ Peak Power ไม่ใช่ค่าพลังงานที่ใช้ตลอดเวลาและในทุกๆ สถานะ ยกตัวอย่างเช่น ในสถานะ Low Power มันจะใช้พลังงานประมาณ 100mW และในขณะที่มันอยู่ในโหมด Sleep จะใช้พลังงานเพียง 2.5mW เท่านั้น
WD Black SN750 ตัวนี้ใช้ชิป TLC 3D NAND แบบ 64 เลเยอร์จำนวน 2 ตัวและใช้แรมแคช DRAM ความจุ 1GB พร้อมกับใช้ชิปคอนโทรลเลอร์ของ Sandisk ที่ขณะนี้ทาง WD เป็นเจ้าของอยู่ อย่างไรก็ดี ชุดไขควงเล็กที่เรามี ยังไม่เล็กพอจะเปิดฮีตซิงค์นี้ออกมาดูภายในได้
การวัดประสิทธิภาพผ่านเบนช์มาร์ก
ไดรฟ์ WD Black SN750 ความจุ 1 TB จะมีพื้นที่ให้ใช้งานจริงๆ 931 GB หลังจากฟอร์แมทเป็น NTFS โดยในบางการทดสอบเราจะนำเอาไดรฟ์ WD Black SN750 ความจุ 500 GB เข้ามาเปรียบเทียบด้วย
เริ่มจาก ASSSD Benchmark ที่ชัดเจนเอามากๆ ว่า ไดรฟ์ WD Black SN750 1 TB มีประสิทธิภาพที่ดีกว่ารุ่นความจุ 500 GB เกือบทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเร็วในการเขียนข้อมูล iops ในการอ่านข้อมูลที่สูง หรือแม้กระทั่งความเร็วในการเข้าถึงข้อมูล
สำหรับการทดสอบด้วย Crystal Diskmark ด้วยวิธีการเขียนแบบสุ่ม โปรแกรมตัวนี้ถือว่าให้ผลการอ่านเขียนที่เป็นไป หรือใกล้เคียงค่าสูงสุดที่ผู้ผลิตระบุในหน้าข้อมูลทางเทคนิค เห็นได้ว่า การอ่านข้อมูลนั้นมีความเร็วในระดับเท่าๆ กัน แต่การเขียนข้อมูลไดรฟ์ WD Black SN750 ความจุ 1 TB ทำได้ดีกว่าเล็กน้อย
ประเด็นสำคัญของการทดสอบด้วย ATTO Disk Benchmark ก็คือ เรามองหาข้อแตกต่างในการใช้งานระหว่างการมีฮีตซิงก์และไม่มีฮีตซิงก์ จากการรายงานข้อมูลของโปรแกรม Western Digital SSD Dashboard พบว่า ความร้อนต่ำสุดของ WD Black SN750 ความจุ 1 TB ต่ำกว่ารุ่นความจุ 500 GB อยู่แค่ 5 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่เมื่อทั้งสองทำงานแบบเดียวกันและมีการอ่านเขียนข้อมูลอย่างหนักหน่วง ความร้อนของความจุ 1 TB สะสมสูงสุด 55 องศาเซลเซียส แต่ฝั่งที่ไม่มีฮีตซิงก์ความร้อนพุ่งไปถึง 73 องศาเซลเซียส
มาถึงตรงนี้ก็สรุปได้ว่า ไดรฟ์ WD Black SN750 1 TB ที่มาพร้อมฮีตซิงก์นั้นน่าประทับใจมาก สามารถลดความร้อนในการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกันได้ถึง 18 องศาเซลเซียส แน่นอนว่า หากใครที่อ่านกราฟเป็น จะทราบว่า มันมีอะไรมากกว่าเรื่องความร้อน อย่างไรก็ตาม ในการทำงานจริงๆ ไดรฟ์ NVMe ไม่ได้ทำงานอย่างหนักหน่วงอย่างที่เราทดสอบตลอดเวลา ดังนั้นโอกาสที่ความร้อนจะพุ่งสูงเกิน 60 องศาเซลเซียสก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่หากว่า การทำงานของคุณใช้การอ่านเขียนข้อมูลตลอดเวลา ขอแนะนำให้เลือกใช้เวอร์ชันติดฮีตซิงก์ดีกว่า
เช็คความร้อนขณะเล่นเกมระดับ AAA
กลับกันในการเล่นเกมมันไม่ได้มีความร้อนมากมายขนาดนั้น อย่างเช่น เกม Metro Exodus ที่เราเล่นต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้น มันก็ไม่ได้มีความร้อนเกินกว่า 44 องศาเซลเซียส แน่นอนว่า ความร้อนนี้จะลดลงหรือคงที่อยู่ที่อากาศไหลเวียนและอุณหภูมิของห้องด้วย ส่วนในแง่ของความเร็ว เรารู้สึกว่ามันโหลดเข้าสู่เกมในแต่ละฉากได้เร็วกว่าการติดตั้งบนฮาร์ดดิสก์ แต่ก็ไม่ได้แตกต่างกันในระดับหลักนาที นอกจากนั้นมันยังช่วยให้การเล่นเกมมีความราบรื่นมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกมที่ต้องโหลดฉากเป็นระยะๆ อย่างเกมแนว Open World
ในส่วนของ Dashboard ก็มีฟีเจอร์หลายอย่างในการทำหน้าที่รายงานข้อมูลต่างๆ เช่น พื้นที่่จัดเก็บข้อมูล อายุการใช้งานของไดรฟ์ สถานะอินเทอร์เฟสที่เชื่อมต่ออยู่ การแสดงสถานะการทำงาน การเขียนการอ่าน เครื่องมือในการอัพเดตเฟิร์มแวร์ การลบข้อมูล ฯลฯ นอกจากนั้นก็ยังเชื่อมต่อกับยูทิลิตี้ของวินโดว์สด้วย และผู้ใช้ยังสามารถเปิด-ปิดฟีเจอร์ Gaming Mode ซึ่งมันจะเข้าไปปรับค่าไดรเวอร์ของ NVMe ไม่ให้เปิดการใช้พลังงานต่ำโดยอัตโนมัติเมื่อมันเข้าสู่โหมด idle เพราะหากเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน ไดรฟ์ NMVe จะใช้เวลาราว 1 - 2 วินาทีในการตื่นจากโหมดดังกล่าว ทำให้เกิดความล่าช้าหรือการหน่วงเวลาเกิดขึ้น ถึงอย่างนั้น การตื่นขึ้นมาของไดรฟ์ WD Black SN750 ก็ทำได้รวดเร็วอยู่แล้ว ดังนั้นฟีเจอร์นี้ก็ดูไม่ค่อยมีประโยชน์กับผู้ใช้ทั่วไปเท่าใดนัก
บทสรุปและความคิดเห็น
สิ่งที่ประทับใจเรามากๆ ก็คือ เรื่องของฮีตซิงค์แบบคัสตอมจาก EKWB เพราะมันทำให้ไดรฟ์ทำงานด้วยอุณภูมิที่ต่ำลงกว่ารุ่นที่ไม่ติดตั้งฮีตซิงค์ ดังนั้นปัญหาเรื่องความเร็วการเขียนดรอปหลังจากมีความร้อนสะสมบนตัวชิปจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นอีกเลยในบางประเภทงาน แม้ว่าในการเล่นเกมหรือใช้งานโดยทั่วไปแล้วมันก็แทบจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ตาม ขณะที่ประสิทธิภาพในแง่ของการอ่านเขียนข้อมูล ระยะเวลาการเข้าถึงข้อมูล หรือปริมาณค่า iops มันสร้างผลทดสอบที่อยู่ระดับเดียวกับสเปคของมัน
เหตุผลที่เราไม่ค่อยตื่นเต้นกับไดรฟ์รุ่นนี้ นั่นเป็นเพราะ เราเองใช้งานไดรฟ์ WD Black SN750 ความจุ 500 GB อยู่แล้ว โดยติดตั้งเป็นไดรฟ์ระบบปฏิบัติการและรันแอพพลิเคชันหนักๆ เพราะในมุมของเราก็คือ มันเป็นตัวเลือกที่เกือบจะดีที่สุดแล้วในแง่ประสิทธิภาพ ถึงอย่างนั้นมันก็อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสม หากว่าคุณมองเรื่องความคุ้มค่าต่อความจุมากกว่า หรือมีงบประมาณจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง WD Black SN750 ความจุ 1 TB
ขอบคุณ: WD Thailand