รีวิว Huawei Watch 3 หัวใจ HarmonyOS จัดเต็มฟีเจอร์สุขภาพแบบไม่มีกั๊ก

Pros

• วัสดุตัวเรือนดูพรีเมียม (บอดี้สแตนเลส / ฝาหลังเซรามิก)
• จอ AMOLED สว่างสูงสุด 1,000 nits ใช้งานกลางแจ้งได้ดี
• รองรับ eSim รับสาย-โทรออกได้ไม่ต้องใช้โทรศัพท์
• มีเซ็นเซอร์วัดอุณภูมิร่างกาย (Skin Temperature)
• แจ้งเตือนการหกล้มและแจ้งเตือน SOS
• Crown Haptic มีการสั่นตอบสนองเมื่อหมุนเม็ดมะยม
• มีโหมด Workout กว่า 100 ชนิด
• ใช้งานได้นาน 14 วันในโหมดประหยัดแบตเตอรี่

Cons

• โหมด Smart อายุแบตเตอรี่สั้น
• AppGellery มีแอพฯ ให้เลือกไม่มากนัก
• มีข้อจำกัดในการใช้งานร่วมกับ iOS

ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่การเปิดตัวสมาร์ทวอทช์รุ่นแรกของหัวเว่ยเมื่อปี 2015 เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในเรื่องของการใช้ระบบปฏิบัติการซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการใช้งานของตัวนาฬิกาเป็นอย่างมาก โดย Android Wear ที่ใช้ใน Huawei Watch และ Huawei Watch 2 นั้นมีจุดอ่อนเรื่องการใช้พลังงานแบตเตอรี่ที่เข้าขั้นแย่เอามากๆ เราจึงเห็น LiteOS ที่หัวเว่ยพัฒนาขึ้นเองในสมาร์ทวอทช์ตระกูล GT และ GT 2 series

ถึงแม้ LiteOS เองจะทำผลงานได้ค่อนข้างน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพ ความเสถียร และสามารถจัดการการใช้พลังงานได้ดีขึ้นมาก แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องการทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ที่หัวเว่ยพยายามวาง ecosystem เอาไว้ จนในที่สุดก็ได้พัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่อย่าง HarmonyOS ที่สามารถรองรับการทำงานของโมบายล์ดีไวซ์ต่างๆ รวมไปถึงการเชื่อมโยงการทำงานเข้าด้วยกันเป็น ecosystem จนทำให้ Huawei Watch 3 ที่ถือเป็นนาฬิการุ่นแรกที่ติดตั้ง HarmonyOS มีฟีเจอร์การทำงานที่สมดุลย์ทั้งประสิทธิภาพ ฟีเจอร์ การใช้พลังงานแบตเตอรี่ เรียกได้ว่าขยับเข้าใกล้คำว่าสมบูรณ์แบบสำหรับสมาร์ทวอทช์ฝั่งแอนดรอยด์ก็ว่าได้

 

Key Specification

  • หน้าปัด 46 มม. (Oversized)
  • หน้าจอ AMOLED 1.43 นิ้ว ความละเอียด 466x466px 326ppi 
  • ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS 2.0
  • รองรับ eSim (4G) โทรออก-รับสายได้ มีไมโครโฟนและลำโพงในตัว
  • หน่วยความจำ RAM 2GB / ROM 16GB
  • มาตรฐานเชื่อมต่อ Wi-Fi 802.11 b/g/n, Bluetooth 5.2 BR+BLE, NFC, GPS (GLONASS+Galileo+Beidou)
  • เซ็นเซอร์ Accelerometer, Gyroscope, Geomagnetic, Optical Heart Rate, Barometer, Compass, SpO2, Thermometer
  • รองรับการชาร์จไร้สายแบบ Reverse Charging ร่วมกับสมาร์ทโฟน Huawei
  • แบตเตอรี่ 450 mAh ใช้งานได้ต่อเนื่อง 14 วัน (โหมด Ultra-Long Life)
  • กันน้ำ 5ATM (50 เมตร)
  • รองรับระบบปฏิบัติการ Android 6.0 / iOS 9.0 หรือสูงกว่า
  • ขนาด / น้ำหนัก 46.2 x 46.2 x 12.2 มม. / 54 กรัม (ไม่รวมสาย)
  • อุปกรณ์ในกล่อง: ตัวเรือน / สายซิลิโคน / แท่นชาร์จไร้สาย / สาย USB-C

ทำความรู้จัก Harmony OS



ก่อนจะพูดถึงตัวนาฬิกา ขออธิบายเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการตัวใหม่นี้แบบคร่าวๆ HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการแบบโอเพ่นซอร์สตัวแรกที่หัวเว่ยเปิดให้นักพัฒนาทุกคนสามารถนำไปพัฒนาต่ออย่างอิสระ (คอนเซ็ปเดียวกับ Android OS) แต่มีจุดเด่นที่เหนือกว่าเรื่องความปลอดภัย เพราะ HarmonyOS จะทำงานบนพื้นฐานการจัดการระบบแบบ Microkernel ที่จะแบ่งการทำงานของ System Service เป็นส่วนๆ โดย Mircrokernel ซึ่งเป็นหัวใจหลักนั้นจะถูกแยกไว้ไม่ขึ้นกับ Service ใดๆ กรณีมีผู้ไม่หวังดีเจาะระบบเข้ามา ก็จะควบคุมได้แค่ Service ใด Service หนึ่งเท่านั้น (ไม่ส่งผลกระทบกับ Service อื่นๆ ที่ทำงานอยู่) ซึ่งตรงนี้จะต่างจาก Android OS ที่ใช้ระบบ Monokernel รวมทุก Service เอาไว้ด้วยกันโดยมี Kernel เป็นตัวควบคุมหลัก หากมีการเจาะระบบเข้ามา ก็จะเข้าถึง Service ทุกตัวรวมถึง Kernel หลักได้ทันที อย่างไรก็ตาม Google ก็ออกมายืนยันว่าระบบของตนปลอดภัยเพราะมีการอัพเดตเพื่อปิดจุดอ่อนเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากความปลอดภัยแล้ว จุดเด่นของ HarmonyOS ที่ผู้ใช้งานสามารถสัมผัสได้โดยตรงคือการใช้ฮาร์ดแวร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความลื่นไหลในการทำงานที่ดีกว่าเดิม โดยจะสังเกตได้ชัดเจนเมื่อมันถูกนำมาติดตั้งบนสมาร์ทวอทช์ที่มีชิปประมวลผลความเร็วต่ำและหน่วยความจำที่ค่อนข้างจำกัด

 

บอดี้ทรงกลมสวยคลาสสิค พร้อมเม็ดมะยมดิจิตอลแบบ Haptic



Huawei Watch 3 ยังคงเลือกใช้หน้าปัดทรงกลมเหมือนรุ่น GT ก่อนหน้า แต่ก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกปรับปรุงจนทำให้มองดูสวยและลงตัวขึ้น ในส่วนของวัสดุก็ถูกอัพเกรดจากพลาสติก (ในรุ่น GT 2) มาเป็นบอดี้สแตนเลสและฝาหลังเซรามิคที่ให้ความรู้สึกเหมือนสวมนาฬิกามีราคา

ด้านขวาของตัวเรือนติดตั้งเม็ดมะยมแบบดิจิตอลที่มีขนาดใหญ่ในตำแหน่ง 2 นาฬิกา กด-หมุนใช้งานง่าย ที่สำคัญคือมันสามารถสั่นตอบสนองการหมุนแบบ Haptic เหมือน Apple Watch ด้วย ถัดลงมาในตำแหน่ง 4 นาฬิกาจะมีปุ่ม Quick Access สำหรับเข้าถึงฟังก์ชั่นอย่างรวดเร็วซึ่งค่ามาตรฐานคือการเข้าถึงโหมดออกกำลังกาย แต่ก็สามารถตั้งค่าปรับเปลี่ยนได้

รุ่นที่เราได้รับมาทดสอบนี้จะเป็นรุ่น Active Edition ที่ตัวเรือนและสาย Fluoroelastomer เป็นสีดำทั้งหมด (รุ่น Classic ตัวเรือนสแตนเลสสีเงิน + สายหนัง) ด้วยความที่หน้าปัดมีขนาด 46 มม. และตัวเรือนหนา 12.2 มม. บวกกับน้ำหนักรวมสายที่มาในชุดอยู่ที่ 81 กรัม ความรู้สึกส่วนตัวมองว่าน้ำหนักกำลังดี และน่าจะเหมาะกับผู้ที่ชอบสวมนาฬิกาที่ให้ความรู้สึกว่ามีนาฬิกาอยู่บนข้อมือ ใครที่ชอบนาฬิกาเบาหวิวเหมือนไม่ได้ใส่อะไรเลยอาจต้องพิจารณาให้ดี

นอกจากนี้สายรัดข้อมือที่ใช้วัสดุ Fluoroelastomer ยังมีคุณสมบัติไม่ดูดความชื้น ไม่เก็บเหงื่อ และให้ผิวสัมผัสที่นุ่มนวล ไม่หนืดติดผิวเหมือนสายซิลิโคนทั่วไปจึงสามารถสวมใส่ตลอดวันโดยไม่รู้สึกระคายเคืองใดๆ และสามารถเปลี่ยนสายมาตรฐาน 22 มม. ที่มีจำหน่ายทั่วไปได้

อีกจุดที่พัฒนาขึ้นชัดเจนคือหน้าจอ AMOLED ขนาด 1.43 นิ้ว ความละเอียด 466 x 466 พิกเซล (326ppi) ที่มีความสว่างสูงสุดถึง 1,000 nits ทำให้มันสู้แสงได้ดี สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนแม้จะอยู่กลางแจ้งแดดจัด และด้วยอัตรารีเฟรช 60Hz ที่มากกว่า Huawei Watch ทุกรุ่นที่เคยมีมา ส่งผลให้หน้าจอมีความลื่นไหลไม่ตะกุกตะกัก ทั้งหมดถูกครอบทับด้วยกระจกเคลือบแข็งที่มีการลบเหลี่ยมบริเวณขอบ การปัดเลื่อนดูเมนูต่างๆ จึงทำได้สมูทนุ่มนิ้วมากๆ

 

Huawei Health ต้องโหลดใหม่จาก AppGallery ถึงใช้งานได้
สำหรับการจับคู่ใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนจะต้องทำผ่านแอพพลิเคชั่น Huawei Health แต่เราพบปัญหาเล็กน้อยในการซิงโครไนซ์ข้อมูลกับแอพฯ Huawei Health ที่เดิมทีเรามีแอพฯ ตัวนี้ติดตั้งและใช้งานกับ Huawei Watch GT 2 Pro อยู่ก่อนแล้ว ปัญหาคือไม่สามารถจับคู่กับ Huawei Watch 3 ได้เนื่องจากตัวแอพฯ ไม่มีข้อมูลสมาร์ทวอทช์รุ่นใหม่ให้เลือกถึงแม้จะอัพเดตเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดที่มีอยู่ใน Google Play Store แล้วก็ตาม (10.1.1.312)

สุดท้าย เราแก้ปัญหาโดยการลบแอพฯ ที่ใช้อยู่เดิมก่อน จากนั้นจึงดาวน์โหลดเวอร์ชั่นที่ใหม่กว่า (11.0.7.518) จาก Huawei AppGallery (สแกน QR Code ที่นาฬิกาแสดงบนหน้าจอในการเปิดใช้งานครั้งแรกหรือคลิกดาวน์โหลดที่นี่ Huawei AppGallery) ถึงจะสามารถจับคู่ใช้งานและตั้งค่าฟังก์ชั่นต่างๆ ได้ตามปกติ

แอพฯ Huawei Health เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางทั้งการตั้งค่าของตัวนาฬิกา รวมไปถึงการเก็บบันทึกข้อมูลสุขภาพและกิจกรรมต่างๆ มาประมวลผลเพื่อสรุปให้ผู้ใช้งานมองเห็นภาพรวมได้อย่างชัดเจน

 

Watch face มีให้เลือกเปลี่ยนจุใจ แต่ไม่ฟรีทั้งหมด
ในส่วนของรูปแบบของหน้าปัด หรือ Watch face ที่ติดมาในเครื่องดูแล้วค่อนข้างธรรมดาไปหน่อย แต่ก็สามารถไปดาวน์โหลดใน Watch Faces Market ได้ หน้าปัดสวยๆ บางแบบจะต้องจ่ายเงินซื้อเพิ่ม (ราคาตั้งแต่ 14.99 – 159.99 บาท) รองรับการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต, TrueMoney Wallet หรือตัดเงินผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายที่ใช้งานอยู่

Huawei Watch 3 ยังรองรับหน้าปัดแบบ DIY ที่สามารถนำรูปภาพที่ชื่นชอบมาแสดงบนหน้าจอได้ รวมไปถึงหน้าปัดแบบ Dynamic ที่มีแอนิเมชั่นเคลื่อนไหว โดยใน Watch Faces Market ปัจจุบันจะมีให้เลือกดาวน์โหลดหน้าปัด Dynamic มากกว่า 200 รูปแบบและแน่นอนว่าต้องจ่ายเพิ่ม

ส่วนใครที่ชอบหน้าปัดฟรีนั้นดูเผินๆ เหมือนจะมีน้อย แนะนำว่าให้เลื่อนลงมาจนสุดด้านล่าง จะเจอหัวข้อ ‘Free Series’ ที่รวบรวมหน้าปัดฟรีสวยๆ หลากหลายสไตล์ให้เลือกโหลดกันจนตาลาย มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ Watch face บางรูปแบบที่ติดตั้งลงในนาฬิกานั้นจะมีข้อมูลระบุการใช้พลังงานบอกไว้ด้านล่างของชื่อด้วย เช่น Power-intensive (ใช้แบตเตอรี่มากเป็นพิเศษ), Low power (ใช้พลังงานน้อยเป็นพิเศษ) ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราเลือกใช้ได้เหมาะสมตามสถานการณ์

 

รองรับ eSIM 4G รับสาย-โทรออก ดาวน์โหลดแอพโดยตรงจากสมาร์ทวอทช์
Huawei Watch 3 เป็นสมาร์ทวอทช์เรือนแรก (ร่วมกับ Huawai Watch 3 Pro) ที่ถูกติดตั้งระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ซึ่งมีการปรับเปลี่ยน UI ให้มีความทันสมัยและเข้าถึงฟังก์ชั่นต่างๆ ได้สะดวกกว่าเดิม โดยการกดเม็ดมะยมจะเป็นการเปิด Launcher ที่คราวนี้มีการออกแบบให้เป็นตารางกริดแสดงไอคอนแอพฯ คล้ายรูปแบบรังผึ้งของ Apple Watch สามารถซูมเข้าออกเพื่อขยายหรือลดขนาดให้มองเห็นแอพโดยรวมได้โดยการหมุนเม็ดมะยม การตอบสนองต่อการแตะและแอนิเมชั่นการเคลื่อนไหวของ UI ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนหน้า การเลื่อนขึ้นลงซ้ายขวา การย้อนกลับ ให้ความลื่นละมุนไปหมด เรียกว่าน่าประทับใจและดีกว่า Watch GT 2 Pro ตัวท็อปรุ่นก่อนหน้าแบบขาดลอย

นอกจากแอพฯ ที่มีมาให้แล้ว เรายังสามารถดาวน์โหลดและติตตั้งแอพฯ เพิ่มเติมจาก AppGellery ได้จากนาฬิกาโดยตรง เช่น แอพฯ Coolism ฟังเพลงเพราะๆ จากสถานี FM93 COOLfahrenheit, HUAWEI Music ที่มีเพลงจาก GMM กว่า 20,000 เพลงให้ฟังฟรี, Thai Fast Dictionary แอพฯ ฝึกคำศัพท์ภาษาอังกฤษ, Thai Airways ดูตารางการบินของสายการบินไทย, Releep แอพฯ ช่วยจัดการด้านสุขภาพ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ด้วยระยะเวลาในการใช้งานที่ค่อนข้างจำกัดบวกกับสถานการณ์โควิดที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เราไม่สามารถทดสอบใช้งานฟีเจอร์ eSIM ที่จำเป็นต้องเดินทางไปเปิดบริการกับผู้ให้บริการเครือข่ายซึ่งปัจจุบันมีค่าย TrueMove H และ AIS ที่รองรับ ข้อดีของฟีเจอร์นี้คือจะทำให้เราโทรออก-รับสายได้โดยตรง ไม่ต้องเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน  แต่ถึงอย่างนั้นตัวนาฬิกาเองก็มีการติดตั้งลำโพงที่เสียงดังฟังชัด สามารถโทรออกไม่ว่าจะโดย Keypad บนหน้าปัด เลือก Contact หรือ Call Log รวมไปถึงการกดรับสาย สนทนาผ่านการเชื่อมต่อบูลทูธที่ทำได้สะดวกมากๆ เช่นกัน

 

ฟีเจอร์ด้านสุขภาพ ตรวจจับการล้ม ส่ง SOS ได้อัตโนมัติ

เซ็นเซอร์สำหรับตรวจจับการทำกิจกรรมและสุขภาพใน Huawei Watch 3 ยังให้มาครบครันไม่ต่างจากรุ่นท็อปก่อนหน้าทั้ง วัดอัตราการเต้นของหัวใจ,  ระดับอ็อกซิเจนในเลือด (SpO2), ภาวะเครียด (Stress-Level), ระดับความฟิตของร่างกาย (VO2Max), คุณภาพการนอนหลับ (Sleep Tracker), Steps แถมที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในรุ่นนี้ก็คือ Skin Temperature สำหรับการตรวจวัดอุณหภูมิบริเวณผิว ซึ่งในการใช้งานจริงก็คืออุณหภูมิบริเวณข้อมือนั่นเอง

แน่นอนว่าคำถามคือ ข้อมูลนี้แม่นยำใช้ประโยชน์ได้แค่ไหน ในทางการแพทย์แล้วอุณหภูมิบริเวณผิวหนังอาจจะคาดเคลื่อนกับอุณหภูมิร่างกายภายใน (Core Body Temp) และมีข้อจำกัดเรื่องอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมอาจทำให้การวัดผิดพลาดได้ แต่ก็สามารถนำมาประเมินเพื่อติดตามสุขภาพชั่วขณะในลักษณะเดียวกับการตรวจวัดอุณหภูมิด้วยเครื่องวัดหน้าผากในสถานการณ์โควิดปัจจุบัน รวมไปถึงการเก็บข้อมูลสุขภาพโดยรวมในระยะยาวได้

 

อีกฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาคือ Fall Detection ที่นาฬิกาสามารถตรวจสอบการหกล้มของผู้สวมใส่ได้อัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง และยังสามารถเปิดฟีเจอร์แจ้งเตือนฉุกเฉิน เมื่อนาฬิกาตรวจพบการหกล้มและไม่มีการตอบสนองเกินกว่า 1 นาที จะมีข้อความสอบถามว่าต้องการให้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉินหรือไม่ ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปเปิดใช้ฟีเจอร์ Fall Detection และตั้งค่าโทรฉุกเฉิน ได้ในเมนู 'Settings > Security & privacy > SOS > Fall detection' ของนาฬิกา ส่วนข้อมูลติดต่อฉุกเฉินนั้นจะต้องเข้าไปกำหนดในแอพฯ Huawei Health ในหัวข้อ ‘Profile > Emergency information > Emergency contacts’

ในส่วนของโหมดการออกกำลังกายนั้นมีให้เลือกมากถึง 19 โหมดกีฬาหลัก และ 85 โหมดกีฬาย่อย การจับสัญญาณ GPS ถือว่าทำได้รวดเร็ว สามารถบันทึกการนับก้าว อัตราการเต้นของหัวใจ การเผาผลาญแคลอรี ข้อมูล VO2Max ในระหว่างการออกกำลังกายและซิงโครไนซ์กับ Huawei Health ได้สมบูรณ์ และยังคงรองรับการทำงานร่วมกับแอพฯ Apple Health ของ iOS ด้วย (ส่วนแอพฯ สุขภาพอื่นๆ อย่าง Google FitMyFitnessPal ณ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าจะสามารถรองรับหรือไม่)

แบตเตอรี่โหมดปกติ-ประหยัด ระยะเวลาต่างกันพอสมควร
Huawei Watch 3 ติดตั้งแบตเตอรี่ในตัวเรือนความจุ 450mAh สามารถชาร์จแบบไร้สายผ่านเทคโนโลยี Qi ผ่านแท่นชาร์จที่มีมาให้ นอกจากนี้ยังสามารถแตะชาร์จกับสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย (Reverse Charging) ได้ด้วย ในส่วนของระยะเวลาการใช้งานนั้น เราสามารถเลือกได้ 2 โหมดคือ Smart ที่ใช้งานได้ประมาณ 3 วัน และ Ultra-long ที่ใช้งานได้ประมาณ 14 วัน ส่วนใครที่ชอบให้หน้าปัดแสดงผลตลอดเวลา สามารถเปิดโหมด Always-on ได้แต่ระยะเวลาจะลดลงเหลือประมาณ 2 วัน

อย่างไรก็ตาม จากการที่เราได้ทดลองใส่มาระยะเวลาหนึ่งพบว่า ระยะเวลาการใช้งานของแบตเตอรี่นั้นนอกจากเรื่องของการเลือกโหมดแล้ว ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเช่นการเปิดใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ ซึ่งมีผลกับระยะเวลาการใช้งานโดยตรง เช่น เปิดโหมด Smart และไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรมาก จะสามารถอยู่ได้นาน 3-4 วัน แต่ถ้ามีการทำกิจกรรมเช่น ฟิตเนส ออกกำลังกาย วันละ 1 ชั่วโมง จะอยู่ได้ประมาณ 2-3 วัน แต่ถ้าเปิดใช้ฟีเจอร์การตรวจวัดสุขภาพแบบเรียลไทม์ทั้ง HR, SpO2, Stress, Skin Temp เอาไว้ด้วย แบตเตอรี่จะเหลือก่อนเข้านอนประมาณ 8-10% ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องเสียบชาร์จก่อนที่เครื่องจะดับไปในตอนเช้า

ในขณะที่การเลือกใช้โหมด Ultra-long นั้นจะช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ออกไปได้นานถึง 14 วัน (ขณะทดสอบใช้งานมา 10 วันแบตเตอรี่เหลือประมาณ 25%) แต่ก็ต้องแลกกับข้อจำกัดบางอย่าง เช่น รูปแบบหน้าปัดจะเป็นแบบเรียบๆ เปลี่ยนไม่ได้ (แต่ก็สวยดี), UI ไม่ไหลลื่นเหมือนปกติ, โหมดออกกำลังกายใช้งานได้แต่เลือกรูปแบบได้เพียง 14 ชนิด, แอพบางตัวไม่ทำงาน, LTE และ WiFi ใช้งานไม่ได้ แต่ที่ถือเป็นเรื่องดีคือฟีเจอร์การตรวจวัดต่างๆ อย่าง HR, SpO2, Skin Temp, Sleep Tracking ยังใช้งานได้ตามปกติ

สรุปและความคิดเห็นของ TechMayday
สิ่งที่เราสัมผัสได้จากนาฬิกาเรือนนี้คือความพิถีพิถันในการออกแบบที่สวยงาม การใช้วัสดุที่มีคุณภาพ อีกทั้ง HarmonyOS ยังทำให้ UI มีความไหลลื่นอย่างที่ควรจะเป็น รองรับการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่หลากหลายขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการที่มันมาพร้อมเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าต่างๆ ครบครันที่สุดรุ่นหนึ่งในตลาดโดยเฉพาะการตรวจจับการล้มที่ถือว่ามีประโยชน์มาก

สิ่งที่ยังต้องปรับปรุงน่าจะเป็นเรื่องของตัวซอฟต์แวร์ที่ยังมีปัญหาโดยเฉพาะในการเชื่อมต่อใช้งานกับโทรศัพท์ และความหลากหลายของแอพพลิเคชั่นใน AppGellery ซึ่งอาจต้องรอเวลาพิสูจน์ ถ้าทำได้ดี Huawei Watch 3 ก็น่าจะเป็นหนึ่งในนาฬิกาที่ดีที่สุดของฝั่งแอนดรอยด์ได้ไม่ยาก เหลือแค่ว่าราคาจะออกมาอยู่ตรงไหนเท่าไหร่เท่านั้นเอง

ขอบคุณ: หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย)

 

[15/07/64] อัพเดตข้อมูลราคาและช่องทางจำหน่าย HUAWEI WATCH 3 Series

  • HUAWEI WATCH 3 Active Edition ดีไซน์สปอร์ต ราคา 12,990 บาท 
  • HUAWEI WATCH 3 Classic Edition หน้าปัดสเตนเลสสตีล สายหนัง ราคา 14,490 บาท 
  • HUAWEI WATCH 3 Pro Classic Edition ดีไซน์กรอบไทเทเนียมและสายหนัง ราคา 21,990 บาท พร้อมฟรี HUAWEI Steel Strap* และบริการ HUAWEI Music VIP นาน 3 เดือน รวมมูลค่า 10,377 บาท เมื่อซื้อระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ถึง 22 กรกฎาคม 2564 โดยสามารถเป็นเจ้าของได้ที่ HUAWEI Experience Store และร้านค้าตัวแทนจำหน่ายที่ร่วมรายการ รวมถึงช่องทางออนไลน์ที่ร่วมรายการอย่าง HUAWEI Online StoreShopeeLazada และ JD Central

(*HUAWEI WATCH 3 Active Edition รับฟรีสายนาฬิกาสเตนเลส สตีล สีดำ, HUAWEI WATCH 3 Classic Edition รับฟรีสายนาฬิกาสเตนเลส สตีล, HUAWEI WATCH 3 Pro Classic รับฟรีสายนาฬิกาสเตนเลส สตีล สีไทเทเนียม เมื่อซื้อช่วงพรีออเดอร์เท่านั้น)

ช่องทางจำหน่าย HUAWEI WATCH 3 Series