รีวิว Acer Swift 3 (2020) มาพร้อมหัวใจ Ryzen 5 4500U
PROS
น้ำหนักเบา 1.19 กิโลกรัม
พาแนลแสดงผล IPS มุมมองกว้าง
ติดตั้ง Fingerprint Scan
ทัชแพดตอบสนองการสั่งงานได้ดี
CONS
ไม่มีพอร์ต Thunderbolt
ไม่รองรับการอัพเกรดแรม
โน้ตบุ๊ก Acer Swift 3 ถือเป็นตระกูลโน้ตบุ๊ก Thin & Light ที่ดีอีกซีรีส์หนึ่งในตลาด นำเสนอด้วยดีไซน์เรียบๆ ใช้วัสดุแมกนีเซียม-อะลูมิเนียมกับฝาหลัง พกพาได้ง่ายด้วยน้ำหนักเพียง 1.2 กิโลกรัม และในเวอร์ชันปี 2020 นี้ก็มีรุ่นที่ใช้ชิปของ AMD ตัวใหม่อย่าง Ryzen 5 4500U นอกเหนือจากไลน์อัพของ Intel 10th Gen ซึ่งพลังประมวลของมันให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจมาก
Key Specifications (SF314-42-R0ND)
- ราคาโดยประมาณ: 22,990 บาท
- AMD Ryzen 5 4500U, 6c 6t, 2.3GHz Up to 4.0GHz
- 8GB Onboard, DDR4-3200 MHz Dual Channel
- 512GB M.2 PCIe NVMe Solid State Drive
- AMD Vega 6, GPU Memory 512MB
- 14 inch (1,920X1,080) IPS display
- Intel Wi-Fi 6 AX200, Bluetooth 5.0
- Windows 10 Home 64-bit
- Battery 48 Wh, Lithium-ion
- Webcam 720p , Microphone
- Size: 216x323x16 mm, 1.19 kg.
โครงสร้างและการออกแบบตัวเครื่อง
ทางเอเซอร์แจ้งว่าตัวเครื่องของ Acer Swift 3 SF314-42 ผลิตจากวัสดุแมกนีเซียม-อะลูมิเนียม ซึ่งรุ่นที่เราได้รับมาทดสอบใช้สี Pure Silver หรือสีเงินที่สว่างขึ้นอีกหลายสตอป เนื้อผิวกึ่งมันกึ่งด้าน เนื้อแบบโลหะ ผิวแบบนี้เปรอะคราบต่างๆ ได้ยากและทำความสะอาดได้ง่ายกว่าผิวเคลือบไวนิล ความที่มันเป็นสี Pure Silver ทั้งหมดจึงเป็นสีเงิน ไม่เว้นแม้แต่ปุ่มคีย์บอร์ด ถึงอย่างนั้น ด้วยความเรียบๆ และใช้สียอดนิยมแบบนี้ก็ทำให้มันเป็นโน้ตบุ๊กที่ไม่สะดุดตาผู้คน ไม่ว่าจะวางตั้งใช้งานหรือหยิบเดินถือไปมา ส่วนใครที่ต้องประชุมออนไลน์ก็ไม่ต้องวิ่งหากล้องเว็บแคม เพราะมันถูกวางไว้บริเวณขอบจอด้านบน พร้อมไมค์โครโฟน แต่จะให้ความละเอียดวิดีโอได้แค่ระดับ 720p เท่านั้น
Acer Swift 3 ไม่ได้มีบอดี้ที่บางเฉียบ ยังคงมีความหนาอยู่บริเวณด้านหลัง และออกแบบฐานด้านล่างให้ดูค่อยๆ บางลงไปทางด้านหน้า
เลย์เอาต์คีย์บอร์ดและทัชแพด
ขนาดของปุ่มคีย์บอร์ด การวางเลย์เอาต์ ระยะความห่างของคีย์ ความนุ่มนวลในการกดใช้งานของปุ่ม Chiclet ถือว่าทำได้ดีในระดับมาตรฐาน แต่ด้วยการใช้สี Silver ที่กลมกลืนไปกับแผงบอดี้ก็ทำให้การมองเห็นอักขระหรือตัวอักษรยากกว่าปกติภายใต้สภาพแสงห้องทำงาน ยิ่งการที่ไฟลอดออกจากคีย์ก็ยิ่งมองเห็นได้ยากขึ้น แต่ในทางกลับกัน มันยอดเยี่ยมมากเมื่อทำงานในห้องมืด เนื่องจากสีไฟนั้นสว่างและตัวอักษรมีความคมชัด ไฟลอดออกมาได้เกือบสมบูรณ์แบบทั้งหมด ถึงอย่างนั้นเรื่องของปุ่มเปิดเครื่องที่อยู่มุมขวาก็เป็นแพทเทิร์นปกติของโน้ตบุ๊กซีรีส์นี้ ซึ่งมันจะปิดหน้าจอทันทีเมื่อแตะไปโดนมัน ดังนั้นมันจึงไม่ได้รับการแก้ไขเหมือนกับเวอร์ชันที่ใช้ซีพียูอินเทล
ในส่วนของทัชแพดก็เป็น Precision touchpad มีผิวสัมผัสที่ลื่นมาก ตอบสนองการใช้งานได้แม่นยำ การเคลื่อนย้ายเคอร์เซอร์ทำได้ราบรื่นมาก สามารถตั้งค่าการสั่งงานในวินโดว์สได้อย่างไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อน 2 นิ้ว การสลับแอพฯ แบบ 3 นิ้ว การสั่งงานแบบ 4 นิ้วก็ทำได้ทั้งหมด ส่วนปุ่มคลิกซ้ายขวาจะซ่อนอยู่ด้านล่างของทัชแพด ระยะการกดตื้น
พอร์ตการเชื่อมต่อ
พอร์ต USB-C มาตรฐาน 3.1 Gen 1 ที่มีอยู่เพียงพอร์ตสามารถทำหน้าที่ส่งสัญญาณภาพวิดีโอและรองรับการชาร์จแบตเตอรี่เข้าโน้ตบุ๊กด้วยโปรโตคอล PD จากอะแดปเตอร์ของสมาร์ทโฟนหรือเพาเวอร์แบงค์ที่รองรับโปรโตคอลดังกล่าว และในฝั่งเดียวกันก็ติดตั้งพอร์ต HDMI, USB-A 3.1 Gen 1
ส่วนอีกฝั่งจะมีพอร์ต USB 2.0 และช่อง 3.5 มม.ออดิโอคอมโบ โดยที่มีไฟแสดงสถานะเล็กๆ คั่นกลางกับช่อง Kensington Lock
จอพาแนล IPS มุมมองกว้างดี สีสันพอใช้
จากการประเมินด้วยสายตา สีสันภาพของโน้ตบุ๊ก Acer Swift 3 รุ่นนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอใช้ ไม่มีสีสันโทนใดที่ผิดเพี้ยนจนสังเกตได้ชัดเจน แต่สีสันภาพก็ไม่ได้สดใสมากนัก ส่วนเรื่องของมุมมองก็ทำได้น่าพอใจตามลักษณะของพาแนล IPS นอกจากนั้นผิวจอแบบ Anti-Glare เองก็มีสัมผัสที่ลื่นและแข็งแรงคล้ายกับจอภาพแบบ Glossy ส่วนเรื่องความละเอียด แน่นอนว่า มันยังห่างไกลจากโน้ตบุ๊กระดับท็อปที่มีหน้าจอละเอียดกว่า Full HD แต่เราก็มองว่าจอภาพนี้ก็มีความละเอียดที่น่าพอใจแล้ว มีความหนาหนาของพิกเซลที่ดีสมตัว ถ้าเป็นการใช้งานทั่วไปแล้วมันก็ไม่มีข้อเสียอะไรเลย
ส่วนเรื่องของความสว่าง เรารู้สึกว่ามันมีความสว่างต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่เล็กน้อย ถึงอย่างนั้นการใช้งานท่ามกลางแสงไฟในห้องทำงานมันก็ไม่ได้ส่งผลเสียอะไร ยกเว้นว่าคุณออกไปทำงานนอกสถานที่ เช่น ใต้ต้นไม้ หรือพื้นที่แบบเปิดโล่ง อีกจุดหนึ่งที่เอเซอร์มอบให้ก็คือ บานพับที่พับลงได้เกือบ 180 องศา ประโยชน์ของมันก็คือ ลดโอกาสการเกิดความเสียหายของบานพับจากการกางออก หรือเกิดอุบัติเหตุขณะใช้งานโดยไม่ตั้งใจ
ผลการทดสอบด้วยซอฟต์แวร์เบนช์มาร์ก
Acer Swift 3 SF314-42 ตัวนี้ใช้ชิป Ryzen 5 4500U พร้อมหน่วยความจำ DDR4-3200 ขนาด 8GB ทำงานในโหมด Dual Channel (ไม่สามารถเพิ่มได้อีกแล้ว) โดยในส่วนของชิปกราฟิกที่อินทริเกรตมากับชิปประมวลก็คือ AMD Radeon Vega ที่มีจำนวนกราฟิกคอร์ 6 หน่วย และนี่คือ ผลทดสอบเปรียบเทียบกับโน้ตบุ๊กเกมมิ่งของเรา รวมถึงโน้ตบุ๊กที่ใช้ซีพียู Intel Core i5-10210U
ผลเบนช์มาร์กที่ออกมาถือว่า เหนือกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เนื่องจากซีพียู Ryzen 5 4500U ของ Acer Swift 3 นั้นเป็นซีพียูแบบประหยัดพลังงานซึ่งคู่แข่งของมันโดยตรงคือกับซีพียู Core i5 รหัส U อย่างเช่น 10210U เป็นต้น เฉพาะประสิทธิภาพของซีพียูเพียงอย่างเดียวจากเบนช์มาร์กในเบื้องต้นกลับเหนือกว่าซีพียู Core i5 9300HF เสียอีก แม้ว่าซีพียู Ryzen 5 4500U จะออกแบบมาเพื่อโน้ตบุ๊ก Thin & Light โดยเฉพาะ แต่ซีพียูตัวนี้มี Base Clock อยู่ที่ 2.3 GHz และเทอร์โบเพิ่มความเร็วขึ้นไปได้ถึง 4.0 GHz ซึ่งมันมีความคล้ายคลึงกับซีพียูโมบายล์รหัส H ของอินเทลมากกว่ารหัส U เสียอีก
อย่างไรก็ดี แม้ว่าซีพียูจะมีประสิทธิภาพดีมากจนเทียบกับซีพียูอย่าง Core i5 9300HF หรือ Core i5 9400F ของเครื่องเดสก์ทอปของทีมงาน ประสิทธิภาพของชิปกราฟิก Vega 6 ในการเล่นเกมก็ไม่ได้พิเศษอะไรมากนัก ทำคะแนน 3DMark ทั้งสองหมวดเหนือกว่าชิปกราฟิก GeForce MX250 ราว 12-17%
ก่อนจะไปดูผลทดสอบส่วนอื่นๆ มาลงรายละเอียดในส่วนของหัวข้อทดสอบ PCMark10 กันหน่อย คะแนน Essentials และ Productivity ของโน้ตบุ๊กทั้งสองตัว ทางฝั่งระบบของ Ryzen 5 4500U ทำได้ดีกว่า 14 และ 11 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ แต่ที่ทำให้ผลคะแนนรวมห่างกันอย่างนั้นมาจากคะแนนในส่วน Digital Content Creation ที่มีคะแนนต่างกันเท่าตัว ตรงนี้เกิดจากประสิทธิภาพในการทำงานของชิป Vega 6 ที่ดีกว่าชิปกราฟิก GeForce MX250 นั่นเอง ซึ่งช่วยให้การเรนเดอร์ การแสดงผลภาพผ่านโปรแกรมแก้ไขภาพ รวมถึงช่วยเรนเดอร์ฟุตเทจขณะตัดต่อวิดีโอทำได้ดีขึ้นกว่าชิประดับเริ่มต้นของ Nvidia
ไดรฟ์ Nvme ขนาด 512GB เป็นของ SK Hynix ความร้อนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และก็ทำงานด้วยบัส PCIe 3.0 x4 ถึงอย่างนั้นความเร็วในการอ่านข้อมูลที่ทำได้อยู่ในช่วง 2,286 MB/s และเขียน 1,070 MB/s จากมุมมองของเรา ความเร็วการอ่านถือว่าทำได้เร็วในระดับที่ดีแล้ว ส่วนการเขียนน่าจะทำได้เร็วกว่านี้อีกสักนิด ขึ้นไปแตะสัก 1,600 MB/s ก็ยังดี
การจัดการความร้อนและแบตเตอรี่
แม้ว่าเราจะไม่ได้แกะฝาหลังของโน้ตบุ๊กมันออกมา แต่จากภาพในต่างประเทศก็ทำให้เราเห็นว่า โน้ตบุ๊ก Acer Swift 3 SF314-42 นั้นอัพเกรดได้แค่เฉพาะไดรฟ์ M.2 Nvme อย่างเดียว และการชุดระบายความร้อนก็มีท่อฮีตไปป์ พัดลมอย่างละชุดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เรื่องความร้อนขณะทำงานแบบฟูลโหลดก็ไม่ใช่ปัญหาที่คุณจะต้องกังวล เนื่องจากซีพียูมีระบบลดความร้อนเมื่อความร้อนสะสมเกินลิมิต สังเกตจากภาพจะเห็นว่า หลังเวลาผ่านไป 15 นาที ระบบจำกัดความร้อนบนแพกเกจซีพียูเอาไว้ที่ 72.7 องศาเซลเซียส ชิปกราฟิกเองก็มีอุณหภูมิอยู่ที่ 69 องศาเซลเซียส ซึ่งความร้อนเหล่านั้นก็กระจายไปบนแผงคีย์บอร์ดเช่นกัน แต่ผู้ใช้จะรู้สึกแค่อุ่นๆ เท่านั้น ส่วนแป้นวางมือนั้นแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากความร้อนเลย
การทำงานด้วยพลังงานแบตเตอรี่ขนาด 48 Wh ของโน้ตบุ๊ก ถือว่าให้ระยะเวลาการใช้งานได้ยาวนานอย่างน่าประทับใจ โดยทีมงานเปิดวิดีโอยูทูปเล่นต่อเนื่องด้วยความสว่างหน้าจอและระดับความดังเสียง 50% ผลที่ได้ก็คือระยะเวลาที่ยาวนานถึง 8:22 ชั่วโมงจนกระทั่งระบบของโน้ตบุ๊กตัดการทำงาน แน่นอนว่า โน้ตบุ๊กเองก็มีการประเมินระยะเวลาเอาไว้ประมาณ 8:51 ชั่วโมง ขณะที่โน้ตบุ๊กหลายๆ รุ่นที่เราได้รีวิวไปทั้งหมดยังไม่มีรุ่นไหนไปถึง 7 ชั่วโมง
การทำงานร่วมกับแอพพลิเคชันและเกม
ประสบการณ์ที่ได้จากโน้ตบุ๊ก Acer Swift 3 SF314-42 ในการเล่นเกมก็คือ พอเล่นได้ ดังนั้นอย่าคาดหวังว่า โน้ตบุ๊กตัวนี้จะเล่นเกมระดับ AAA ได้อย่างราบรื่นหรือสนุกไปกับมันได้อย่างเต็มที่ เพราะแม้แต่เกมเก่าอย่าง GTA V (DX11) ที่ตัวเกมกำหนดให้ (800x600 พิกเซล,Default setting) สามารถแสดงผลเฉลี่ยได้แค่ 30 ภาพต่อวินาที ไม่ต่างอะไรกับเกม PUBG ปรับแบบ Very Low, Render Scale: 70 ซึ่งแสดงผลได้เฉลี่ยแค่ 38 ภาพต่อวินาที แน่นอนว่า ทั้งสองเกมนี้ขณะเล่นจะมีอาการความเร็วภาพภาพตกอยู่ตลอดการเล่น
ในส่วนของการทำงานกับแอพพลิเคชันยอดนิยมอย่าง Photoshop CC โน้ตบุ๊ก Acer Swift 3 SF314-42 ตอบสนองคำสั่งได้ดีไม่ต่างจากเครื่องพีซีระดับกลางๆ เลย ทั้งการพรีวิวภาพ การเลื่อน/ซูมภาพ การประมวลคำสั่งฟิลเตอร์ การเรนเดอร์แสงแบบต่างๆ ส่วนการทำงานกับแอพพลิเคชัน Premier Pro CC อย่างเช่นการ การเรนเดอร์ฟุตเทจความละเอียด Full HD การตัด ลาก สลับ ย่อฟุตเทจในไทม์ไลน์สามารถทำได้ราบรื่น ส่วนการพรีวิวฟุตเทจด้วยคุณภาพสูงสุดหรือการใส่กราฟิก การใส่ออปเจกอย่าง Lower Third Bar ที่มีลูกเล่นซับซ้อนก็จะมีอาการสะดุดให้เห็นเล็กๆ น้อยๆ
เกม PUBG Lite ปรับแบบ Low, Render Scale: 100 เล่นเกมได้ในระดับที่ดีเลย มีอาการเฟรมเรตตกบ้างเล็กๆ น้อย แต่โดยรวมยังเล่นได้แบบไหลลื่น
บทสรุปและความคิดเห็นของเรา
เรามาถึงจุดที่ซีพียูประหยัดพลังงานรุ่นกลางๆ บนโน้ตบุ๊กมีประสิทธิภาพสูงเทียบเคียงซีพียูเดสก์ทอประดับกลางอย่างเช่น Intel Core i5 9400f ตรงนี้ส่วนหนึ่งต้องชมเชยชิปประมวลผล Ryzen 4500U ที่ทำให้โน้ตบุ๊ก Acer Swift 3 SF314-42 มีศักยภาพสูงจนน่าประหลาดใจ และในความเป็นโน้ตบุ๊ก Thin & Light ก็ถือได้ว่า Acer Swift 3 รุ่นนี้มีความสมบูรณ์แบบมากกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในเรื่องของพลังประมวลผลที่ทำได้ดีไปพร้อมๆ กับการจัดการพลังงานแบตเตอรี่ที่ให้ระยะเวลาการใช้งานได้นานเกินกว่า 7 ชั่วโมง ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีหลายๆ อย่างที่ขาดไปอย่างเช่น พอร์ตการเชื่อมต่อที่มีจำนวนน้อย เสียงลำโพงที่ค่อนข้างเบา หน้าจอแสดงผลที่มีความสว่างปานกลางและแสดงสีสันได้ตามมาตรฐานทั่วไป มาถึงตรงนี้คุณต้องไม่ลืมว่า ราคาของ Acer Swift 3 นั้นไม่ได้สูงเหมือนกับโน้ตบุ๊กระดับพรีเมี่ยม
ท้ายสุด อย่าเลือกโน้ตบุ๊กตัวนี้ด้วยความคาดหวังหรือรับฟังมาว่าเล่นเกมได้ด้วย เพราะมัน “เล่นได้จริง” ไม่ใช่ “เล่นได้ดี” หากคุณวิเคราะห์หัวข้อการทำงานกับเกมของเราดีๆ แล้วจะพบว่า มันไปได้ดีกับเกมออนไลน์ที่ปรับคุณภาพการแสดงผลในระดับ Low หรือ Very Low ส่วนเกมระดับ AAA นั้นถือว่า “ยังไม่เหมาะ” เอาจริงๆ หน้าจอขนาด 14 นิ้วก็ยังเล็กเกินจะเล่นเกมให้สนุกเสียด้วยซ้ำ