Acer Swift X : ก้าวไปยิ่งกว่าแค่บางเบา
PROS
น้ำหนัก 1.4 กิโลกรัม
จอแสดงผลคุณภาพสูง
ติดตั้ง Finger Scan
CONS
มีพอร์ตเชื่อมต่อน้อย
ทัชแพดตอบสนองการทำงานได้ไม่ดีนัก
- AMD Ryzen 5 5500U 2.1GHz – 4.0GHz (6C /12T)
- AMD Radeon Graphics 7
- Nvidia GeForce GTX 1650 GDDR6 -4GB
- On board DDR4 8GB Dual CH
- 512GB M.2 NVMe PCIe 3.0
- 14-inch, IPS, FHD, 1920x1080px
- Matte display, 300nits, sRGB 100%
- 2x USB 3.2 Gen 1 Type-A,1x HDMI 2.1
- 2x USB 3.2 Gen 2 Type-C support display
- USB charging 5 V; 3 A, DC-in port 19 V; 65 W
- Wi-Fi 802.11AX (MediaTek MT7921), Bluetooth 5.0
- HD camera, Lithium-ion, 58 Wh
- Windows 10 Home Edition
- Power Adaptor 65W fast charging
- Weight 1.39kg
- Price 27,990 บาท
เรียบๆ บึกบึน แข็งแรงด้วยวัสดุอะลูมิเนียม
Acer Swift X นั้นไม่ได้ดูบางเป็นพิเศษ บอดี้หลายส่วนผลิตจากโลหะ โดยเฉพาะแผงด้านในและฝาหลัง ส่วนฝาใต้เครื่องนั้นเราไม่แน่ใจว่าเป็นโลหะหรือไม่ ผิวสัมผัสตัวเครื่องที่ค่อนข้างหยาบทำให้โน้ตบุ๊กตัวนี้ไม่รู้สึกถึงความหรูหราใดๆ กลายเป็นโน้ตบุ๊กไซส์ 14 ที่ดูแข็งแรง พร้อมทำงานหนักๆ มากกว่า
ในส่วนของฝาหลังและบริเวณบานพับผลิตจากวัสดุพลาสติก สีแตกต่างจากตัวเครื่องด้านใน และวางช่องลมร้อนไว้เหนือแกนพับฝั่งมุมขวาของเครื่อง แผงคีย์บอร์ดมีความกว้างเกือบเท่าขนาดฟูลไซส์ แต่ในแนวกว้างกลับมีขนาดที่แคบลงกว่าปกติเล็กน้อย ส่งผลให้ระยะห่างของปุ่มในแนวตั้งน้อยลง ขณะที่ไฟ Backlid สีขาวส่องสว่างได้ดีในห้องมืดๆ ปรับความสว่างไม่ได้ เปิดปิดได้อย่างเดียว นอกจากนั้นแผงคีย์บอร์ดนี้ยังออกแบบให้อากาศไหลผ่านลงไปด้านล่างได้ด้วย เพื่อช่วยการระบายความร้อนให้กับตัวเครื่อง ส่วนตัวอ่านลายนิ้วมือจัดวางไว้ทางขวามือ แน่นอนว่ามันให้ความรู้สึกย้อนยุคนิดหน่อย เพราะรุ่นใหม่ๆ มักจะวางไว้บริเวณมุมขวามากกว่า
สิ่งที่ทำให้โน้ตบุ๊กมีดีไซน์ที่ธรรมดาก็คือ การไม่ใช้การเจียรบริเวณกรอบต่างๆ ในแบบ Diamond Cut ทำให้ทุกอย่างโค้งมน ทำให้รู้สึกว่าไม่ลงรายละเอียดเท่าไหร่ ถึงพวกเขาก็ยังเจียรตัวเครื่องมุมบริเวณด้านล่างของ Trackpad เพื่อให้ง่ายต่อการเปิดนอกจากนั้นแล้วบานพับแบบยกแผงคีย์บอร์ดขึ้น ข้อดีคือ เพิ่มองศาให้รับกับฝ่ามือมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มพื้นที่ให้อากาศไหลเวียนจากด้านล่างได้สะดวกกว่าเดิม
พอร์ตเชื่อมต่อน้อย แต่ยังพอรับได้
โน้ตบุ๊ก Acer Swift X ถือว่าหนากว่าโน้ตบุ๊กแบบบางเบาอีกหลายๆ รุ่น ซึ่งจุดนี้ทำให้บรรจุพอร์ตเชื่อมต่อลงไปได้มากขึ้น โดยฝั่งซ้ายติดตั้ง USB-C 3.2 , HDMI 2.0, USB Type A และแจ็คพลังงานแบบดังเดิม ตรงจุดนี้ให้ความรู้สึกที่ล้าสมัยเมื่อเทียบกับการใช้ USB-C ก็จริงอยู่ แต่ในทางกลับกันแจ็คแบบนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้งานได้อย่างทนทานยาวนาน
สีสันภาพดีพอสำหรับงานสร้างสรรค์
หน้าจอขนาด 14 นิ้ว Full HD ที่ใช้พาแนล IPS บนโน้ตบุ๊กตัวนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีสำหรับยุคนี้ ขอบเขตสี sRGB 100% นั้นเพียงพอสำหรับงานออกแบบสิ่งพิมพ์และกราฟิกในโลกออนไลน์ รวมถึงงานวิดีโอที่ไม่ใช่ระดับมืออาชีพอย่างพวกงาน Color Grading , Cinema หรือตัดต่อเพื่องาน TVC ส่วนความบันเทิงไม่มีอะไรต้องพูดถึง การเล่นเกมเองก็เรียกได้ว่า “ใช้ได้” แค่ความไหลลื่นในการแสดงผลจะด้อยพาแนลของโน้ตบุ๊กเกมมิ่งแท้ๆ เพราะเป็นจอแบบ 60 Hz ไม่ใช้ 120 Hz หรือสูงกว่า
ทำงานดี เล่นเกมได้ แต่แรมน้อยไปนิด
ขุมพลังทั้งหมดของ Acer Swift X ถือว่าโดดเด่นในฝั่งโน้ตบุ๊กที่ใช้ชิปประหยัดพลังงาน ด้วยชิป Ryzen 5 5500U พร้อมกับแรมขนาด 8GB และชิปกราฟิก Geforce GTX 1650 - 4GB ขณะเดียวกันไดรฟ์ NVMe เองก็ถือว่ามีประสิทธิภาพที่ดีมาก (อ่านเขียนเฉลี่ย 3,592 MB/s และ 2,358 MB/s) ซึ่งมีส่วนช่วยให้โหลดวินโดว์สเร็วขึ้น การทำงานกับแอพพลิเคชันเป็นไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม จากมุมมองแล้ว หน่วยความจำทั้งหมดของระบบ 8GB ถือว่าน้อยไปนิดสำหรับการทำงานกับแอพพลิเคชันบางประเภท รวมถึงการเล่นเกมด้วย
ประสิทธิภาพที่สะท้อนผ่านโปรแกรมทดสอบส่วนใหญ่ไม่ถือว่าผิดคาดแต่อย่างใด ยังคงเป็นรองชิป Ryzen 7 5800U เกือบทุกๆ มิติ ไม่เว้นแม้แต่ผลคะแนน PCMark10 ที่เป็นการทดสอบรวมทั้งระบบก็ตาม และเหนือกว่าชิปรุ่นที่แล้วอย่าง Ryzen 5 4500U จากกราฟจะเห็นชัดว่า โน้ตบุ๊ก Swift X นั้นทำงานด้านกราฟิกเกมได้ดีเป็นพิเศษอย่างที่คาดไว้ด้วยชิปกราฟิก Geforce GTX 1650
ทีมงานเลือกรันเกม Shadow of the Tomb raider บนความละเอียด Full HD แบ่งออกเป็น 3 คุณภาพการแสดงผล ได้แก่ Lowest, Low และ Medium พร้อมกับเปรียบเทียบกับโน้ตบุ๊กเกมมิ่งแท้ๆ ที่ใช้ชิปกราฟิกตัวเดียวกันอย่าง Lenovo Legion Y540-15IRH (Intel Core i5 9300HF)
ผลที่ได้ถือว่าผิดคาดไปพอสมควร เมื่อประเมินจากพลังประมวลผลของซีพียูผ่าน cinebench R20 และ CPU-z Multi-thread ที่มีผลคะแนนสูงกว่าซีพียู Core i5 9300HF ความเร็วภาพของเกมโดยเฉลี่ยจาก Acer SwiftX ไม่ได้ถือว่าแย่แต่อย่างใดสำหรับเกม Shadow of The Tomb Raider แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า ซีพียูโมบายล์ฝั่ง High Performance ตัวนี้ให้ผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนเกมได้ดีกว่าภายใต้เงื่อนไขที่ใกล้เคียงกัน (ชิปกราฟิกตัวเดียวกัน) ซึ่งนอกจากความเร็วภาพโดยเฉลี่ยแล้ว ปริมาณภาพที่ทำการเรนเดอร์ได้หรือ Frames Renders ของฝั่งโน้ตบุ๊ก Legion Y540-15IRH ยังทำได้มากกว่า 24 เปอร์เซ็นต์ในโหมดแสดงผล Lowest (14475: 11006 Frames Renders) ความต่างตรงนี้จะลดลงถ้าโน้ตบุ๊ก Legion Y540 ติดตั้งแรมแค่ 8GB แต่ในอีกมุมหนึ่งก็คือ เรามองเห็นขอบเขตที่ถูกปิดตายของ Acer SwiftX ในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการอัพเกรดแรม
ค่อนข้างร้อน แต่ก็เอาอยู่
ประเด็นนี้ถือว่าเป็นจุดที่สำคัญมากๆ เพราะว่า Acer Swift X นั้นถูกออกแบบมาให้บางและเล็กกว่าโน้ตบุ๊กไซส์ 14 นิ้วแบบเมนสตรีมทั่วไป ดังนั้นการติดตั้งขนาดของแผงระบายความร้อนหรือพัดลมจึงอยู่ภายใต้ข้อจำกัด แน่นอนว่า ทางผู้ผลิตเองก็ยืนยันว่าการไหลเวียนภายในนั้นดีขึ้นกว่า Acer Swift ปกติและแผงคีย์บอร์ดเองก็มีช่องลมให้อากาศไหลผ่านลงไป แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องดูที่ผลลัพธ์สุดท้าย ทั้งการในการทำงานทั่วไปและการทำงานที่ทั้งซีพียูและชิปกราฟิกทำงานพร้อมๆ กัน
การทดสอบของ PCmark จะใช้แอพพลิเคชันในชีวิตประจำวันในสำนักงาน เน้นการทำงานของซีพียูเป็นหลัก ชิปกราฟิกจะไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มที่ ซึ่งโดยทั่วไปความร้อนซีพียูจะอยู่ในช่วง 60-75 องศาเซลเซียส และสูงสุดราว 90 องศาเซลเซียสเพียงเล็กน้อย นั้นหมายความว่า กรณีที่โหลดการทำงานไม่สูงต่อเนื่อง การระบายความร้อนของ Acer SwiftX ไม่มีปัญหาอะไร ความร้อนที่ส่งผ่านมาบนตัวเครื่องก็เพียงแค่รู้สึกอุ่นๆ เท่านั้น
แต่กรณีที่เป็นการทำงานทั้งซีพียูและชิปกราฟิกอย่างในการทดสอบเบนช์มาร์ก 3DMark Timespy ความร้อนเกิดทั้งสองส่วนในระดับที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้เกิดความร้อนสะสมและแผ่กระจายไปบนแผงคีย์บอร์ดพอสมควรขณะทำงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นซีพียูเองก็มีการลดความเร็วตัวเองลงด้วยเงื่อนไขของความร้อนในโหมด Turbo Core อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาระบบหยุดชะงักหรือล่าช้าจนรู้สึกได้ชัดเจน
นี่คือความร้อนสะสมที่วัดได้ขณะเล่นเกม FPS ออนไลน์ในห้องอากาศปกติ ซึ่งทั้งซีพียูและชิปกราฟิกมีความร้อนอยู่ที่ 78 และ 70 องศาเซลเซียส อ จะเห็นได้ว่า ความร้อนสะสมที่เกิดขึ้นบนแผงคีย์บอร์ดอยู่ลึกมาถึงบริเวณกลางตัวเครื่องฝั่งซ้ายมือของผู้ใช้ และถือว่ารับรู้ได้ชัดเจนผ่านปลายนิ้วเลย แต่สิ่งที่น่าชมเชยก็คือ แป้นวางมือนั้นได้รับผลกระทบน้อยมาก เรามองว่า ในกรณีของการทำงานในห้องแอร์ Acer SwiftX ไม่ได้แตกต่างอะไรจากโน้ตบุ๊กบางเบาทั่วๆ ไปในเรื่องความร้อนขณะทำงาน ยกเว้นว่าทำงานอย่างเต็มที่ทั้งซีพียูและชิปกราฟิก
ระยะเวลากลางๆ ไม่มากไม่น้อย
ระยะเวลา 7 ชั่วโมงนิดๆ กับแบตเตอรี่ที่เหลือ 5 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นระยะเวลาที่น่าพอใจแล้วสำหรับเรา แต่ต้องอธิบายก่อนว่า ทีมงานใช้การทดสอบเล่นวิดีโอยูทูปต่อเนื่องผ่าน WLAN และเปิดเสียง เปิดหน้าจอความสว่าง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในการใช้ในชีวิตจริงเป็นไปได้ทั้งมากกว่าและน้อยกว่า ถึงอย่างนั้นมันก็มากพอที่จะเปิดเพื่อเช็คหรือแก้งานนอกสถานที่อย่างเหลือเฟือแล้ว
บทสรุปและความคิดเห็น
ถือว่า Acer ออกแบบให้โน้ตบุ๊กตัวนี้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ดีทีเดียวนั่นคือ กลุ่ม Content Creator หรือผู้ใช้งานที่ต้องการโน้ตบุ๊กบางเบาที่มีศักยภาพมากกว่าแค่โน้ตบุ๊กทำงานออฟฟิศ และไม่ต้องการให้เห็นภาพลักษณ์ที่สะดุดตา มองในมุมการใช้งานบ้าง การนำเอาชิปกราฟิก GTX1650 เข้ามาถือว่าช่วยกลบจุดด้อยด้านการประมวลผลกราฟิกของ AMD เอง ไม่ใช่แค่เล่นเกม แต่เป็นเรื่องของการเรนเดอร์งานและการช่วยเข้า/ถอดรหัสวิดีโอ มันช่วยประหยัดเวลาไปได้เยอะ หากว่าพวกเขาใช้โปรแกรมที่สนับสนุน Hardware Encoding ผ่านชิป NVIDIA GPU อย่างเช่น Adobe Premier ตั้งแต่เวอร์ชัน 14.5 เป็นต้นไป ขณะที่การเล่นเกมก็ถือว่าทำได้ดีมาก เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กเมนสตรีมทั่วไป