TP-Link RE505X ตัวขยายสัญญาณไร้สายเวอร์ชัน Wi-Fi 6

PROS

โครงสร้างแข็งแรง
สนับสนุนเทคโนโลยี OneMesh
ควบคุมตรวจสอบผ่านแอพฯ Tether
สนับสนุน Wi-Fi 6
ทำงานในโหมด Access Point ได้

CONS

คลื่น 2.4 GHz เป็นเพียงมาตรฐาน N
OneMesh ทำได้เฉพาะกับเราเตอร์บางรุ่น
GbLAN ไม่รองรับการทำ Backhault

เทคโนโลยีไร้สายอย่าง Wi-Fi 6 เข้าสู่ตลาดมาหลายปีแล้ว มีความแพร่หลายของเราเตอร์และอุปกรณ์ Mesh WiFi โดยแทบจะไม่มีพวก Range Extender หรือ Repeater วางจำหน่ายเลย จนกระทั่งช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้วเราได้เห็น Range Extender ตัวแรกในยุค 802.11ax ออกสู่ตลาดในชื่อ TP-Link RE505X ซึ่งได้ถูกเพิ่มฟีเจอร์ OneMesh เข้าไป ส่งผลให้สมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ไร้สายอื่นๆ สามารถย้ายโหนดการเชื่อมต่อได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วภายใต้เครือข่ายไร้สายผืนเดียวกัน แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ฟีเจอร์ OneMesh ไม่ได้ใช้งานร่วมกับเราเตอร์มาตรฐาน AX ของ TP-Link หรือแบรนด์อื่นๆ ได้ทุกรุ่น ขณะที่การทำหน้าที่ Range Extender จะต่างกัน สามารถทำงานร่วมกับเราเตอร์ใดๆ ก็ได้

Specification

  • 5GHz IEEE 802.11a/n/ac/ax
  • 2.4GHz – IEEE 802.11b/g/n
  • 300 Mbps at 2.4GHz, 1200 Mbps at 5GHz
  • 1 Gigabit Ethernet Port, WPS, Reset
  • 2 external antennas
  • 64/128-bit WEP, WPA/WPA-PSK2 encryptions
  • OneMesh, Access Point Mode, Range Extender Mode
  • ราคาโดยประมาณ 2,090 บาท

องค์ประกอบภายใน TP-Link RE505X หลักๆ ใช้ชิป BCM6750  ซึ่งเป็นชิป SoC ที่ติดตั้งซีพียู ARM Cortex ความเร็ว 1.5 GHz จำนวน 3 แกน พร้อมกับมาตรฐานเครือข่ายไร้สาย 802.11ax เฉพาะคลื่น 5 GHz ด้วย Config แบบ 2x2:2 spatial stream รวมถึงสนับสนุนการทำหน้าที่อีเธอร์เน็ตสวิชชิ่งความเร็วระดับ Gigabit ด้วย ส่วนระบบเครือข่าย 802.11b/g/n เป็นหน้าที่ของชิป BCM43217KMLG สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ TP-Link RE505X สนับสนุนมาตรฐาน 802.11ax เฉพาะคลื่น 5GHz เท่านั้น ส่วนคลื่น 2.4 GHz ยังคงสนับสนุนมาตรฐานสูงสุดที่ 802.11n

ดีไซน์แข็งแรง ตั้งใจออกแบบมาอย่างดี
TP-Link RE505X หันกลับมาใช้ดีไซน์ที่เรียบง่ายในทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดถือว่าเทอะทะกว่า Range Extender หลายๆ ตัวในตลาด  มีความสูง 5 นิ้ว กว้าง 3 นิ้ว และหนาเกือบ 2 นิ้ว ตัวเครื่องด้านหน้าไม่มีมิติอะไรให้ มีแค่เพียงโลโก้และไฟแสดงสถานะการทำงานอีก 4 ตำแหน่ง

เสาอากาศสามารถปรับหมุนได้ 180 องศาไปทางด้านบนและพับลงขนาดเข้ากับตัวเครื่อง จากภาพคุณจะเห็นว่าขณะที่ส่วนด้านข้างจะมีช่องระบายอากาศถี่ๆ ซึ่งโดยรอบเครื่องจะเป็นแบบนี้ทั้งหมด ส่วนช่องต่อ GbLAN สามารถทำหน้าที่ให้อุปกรณ์อื่นๆ เชื่อมต่อเข้าเน็ตเวิร์กหากทำงานอยู่ในโหมด Range Extender ในทางกลับกันมันถูกใช้ในการทำงานหน้าที่เชื่อมต่อเครือข่ายหลักในโหมดการทำงานเป็น Access Point

กลับมาอีกฟากหนึ่งคุณจะเห็นปุ่ม WPS เพื่อทำให้ TP-Link RE505X เชื่อมต่อกับเราเตอร์ไร้สายหลักของบ้านได้โดยไม่ต้องคอนฟิกค่าใดๆ เหนือขึ้นไปของปุ่มก็คือ ช่อง Reset อุปกรณ์ ส่วนปลั๊กไฟ AC จะเป็นขั้วแบนหรือ US 2-Pin Plug ซึ่งเวลาติดตั้งในบ้านของเราตัวอุปกรณ์จะไม่ตั้งขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่จะนิยมวางปลั๊กไฟฟ้าแบบแนวนอน ส่วนขั้วปลั๊กของอุปกรณ์จะมีระยะห่างจากท้ายเครื่องประมาณ 1.5 เซนติเมตร หากเป็นปลั๊กไฟ AC แบบเก่าไม่มีการช่องสายดินจะมีปัญหาเรื่องปลั๊กไฟเบียดกันที่ ส่วนปลั๊กมาตรฐานใหม่ที่มีช่องสายดินไม่มีปัญหาใดๆ

ติดตั้งง่าย จัดการง่ายผ่านแอพฯ Tether
การเซ็ตอัพให้ TP-Link RE505X เข้าเชื่อมต่อกับเครือข่ายเดิมนั้นทำได้ง่ายมาก แค่เชื่อมต่อสมาร์ทโฟนกับสัญญาณ WLAN ของอุปกรณ์ (TP-Link Extender) เปิดแอพฯ TP-Link Tether ใส่รหัสป้องกันให้กับอุปกรณ์ จากนั้นเลือกสัญญาณ WLAN ที่ต้องการขยายและใส่รหัสป้องกันสัญญาณ รอจนกว่าระบบจะดำเนินการเสร็จสิ้น ขั้นตอนเหล่านั้นใช้เวลารวมแล้วไม่ถึง 3 นาทีด้วยซ้ำ

อินเทอร์เฟซของแอพฯ TP-Link Tether นั้นเปิดให้ผู้ใช้ตรวจสอบสถานะสัญญาณของ RE505X ตรวจสอบไคลเอนท์ รวมถึงตั้งค่าการทำงานเพิ่มเติมได้อีก อย่างเช่น การปิดเครือข่ายไร้สายที่ขยายอยู่ การเลือกเครือข่ายหลักที่ทำการขยายสัญญาณ การเปิดใช้งาน OneMesh การกำหนดค่าของ LAN การตั้งค่า DHCP การปรับกำลังขยายสัญญาณ (Wi-Fi Coverage) และการกำหนดตาราง การทำงานของอุปกรณ์ในการเปิดหรือปิด

เพิ่มพื้นที่ได้จริง แต่ต้องวางในจุดที่เหมาะสม
ในทางเทคนิคแล้ว Range Extender จะรับเอาสัญญาณ WLAN หลักเพื่อไปกระจายต่อด้วยระดับความแรงสัญญาณที่มากกว่าเดิม ขณะที่ความเร็วของสัญญาณ WLAN ในการรับส่งข้อมูลจะไม่ได้เร็วเท่ากับสัญญาณที่รับได้ในตำแหน่งนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น TP-Link RE505X อยู่ในจุดที่รับสัญญาณ AX - 5GHz จากเราเตอร์หลักได้เร็ว 532 Mbps และ 355 Mbps ในขาดาวน์โหลดและอัพโหลด แต่เพื่ออุปกรณ์เชื่อมต่อกับสัญญาณที่ถูกนำมาขยายต่อ ความเร็วจะลดเหลือประมาณ 211 Mbps และ 172 Mbps ตามลำดับ

ภาพทางซ้ายมือจะบ่งบอกถึงระดับความแรงสัญญาณและระยะห่างของสมาร์ทโฟนทดสอบ ซึ่งในที่นี้คือ โทรศัพท์ Xiaomi Mi 10T Pro เห็นได้ว่า มีการเชื่อมต่อที่ดีมากด้วยความเร็ว 1200 Mbps และความแรงสัญญาณ –45dBm สังเกตดีๆ บรรทัดล่างจะเป็นสัญญาณ WLAN เดียวกัน แต่มาจากอุปกรณ์คนละตัว (สังเกต MAC Address) ห่างจากโทรศัพท์ประมาณ 11.6 เมตร และมีค่าความแรงสัญญาณที่แย่กว่า ตำแหน่งดังกล่าว สมาร์ทโฟนของเราวัดความเร็วอินเทอร์เน็ตได้ตามภาพด้านขวามือ ตรงจุดนี้ก็คือ หลังบ้านของทีมงาน หากเดินไปอีกฟากหนึ่งของบ้าน สัญญาณของเราเตอร์หลักที่อยู่ในบ้านจะลดทอนไปอีกมากจนใช้งานไม่ได้ เนื่องจากถูกกั้นด้วยผนังและห้องครัว


ในตำแหน่งที่มีจุดอับสัญญาณ ตรวจสอบด้วยแอพฯ มีการแจ้งว่าสมาร์ทโฟนห่างจากเราเตอร์หลักเพิ่มขึ้นเป็น 18.3 เมตรและมีระดับความแรงสัญญาณ -72dBm  ขณะเดียวกันก็ห่างจาก TP-Link RE505X ประมาณ 2.3 เมตร ความเร็วอินเทอร์เน็ตบนคลื่น AX – 5GHz อยู่ที่ 61.2 และ 13.3 Mbps ตามลำดับ 

กลับมาที่ความเร็วของช่องต่อ GbLAN ของ TP-Link RE505X ทำความเร็วได้ดีกว่าสัญญาณ WLAN โดยความเร็วที่การ Speed Test นั้นมีค่าดาวน์โหลดที่ทำได้จริงในตำแหน่งที่รับสัญญาณ ซึ่งความเร็วระดับนี้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สวิทช์เล็กๆ แล้วเชื่อมต่อให้กับอุปกรณ์ผ่านสายแลนอื่นๆ 3-4 ตัวได้สบายๆ

บทสรุปและความคิดเห็น
การใส่ฟีเจอร์ OneMesh เข้ามาใน TP-Link RE505X หรือ Range Extender ช่วยให้การสลับการเชื่อมต่อเครือข่ายของอุปกรณ์เป็นไปอย่างราบรื่น ขณะที่การไม่มีฟีเจอร์ดังกล่าวหรือการใช้งาน Access Point ผู้ใช้จะต้องสลับเครือข่ายด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในกรณีที่พื้นที่นั้นๆ ยังมีระดับสัญญาณของเราเตอร์หลักอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อย่างไรก็ตาม การขยายสัญญาณของ TP-Link RE505X นั้นส่งมอบประโยชน์ให้กับผู้ใช้ได้อย่างชัดเจน แถมการติดตั้งก็ทำได้ง่ายมาก สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ มันไม่สามารถใช้ฟีเจอร์ OneMesh กับเราเตอร์ส่วนใหญ่ในตลาด และเครือข่ายไร้สายคลื่น 2.4 GHz ก็เป็นเพียงมาตรฐาน 802.11n เท่านั้น ส่วนใครที่อยากได้ Range Extender ที่เป็นมาตรฐาน AX ทั้งสองคลื่นก็มีตัวเลือกอย่าง  TP-Link RE605X ในราคาที่สูงขึ้นอีกเล็กน้อย

ขอบคุณ: TP-Link Thailand