พรีวิว Fitbit Charge 4 ใช้ GPS ของตัวเองไม่ต้องง้อโทรศัพท์

PROS

ติดตั้ง GPS ในตัว
มีโหมด Sleep
ระบบวิเคราะห์การหลับพัฒนาใหม่
Active Zone Minutes ให้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ได้ดี

CONS

ไม่มีการอัพเดตเรื่องดีไซน์ภายนอก
ไม่รองรับการทำงานกับ Apple Health และ Google Fit
ไม่รองรับภาษาไทย

ก่อนหน้านี้สมาร์ทวอชตระกูล Fitbit Charge ที่ผ่านมาจะไม่มีการ Build-in GPS เหมือนกับรุ่น Ionic ดังนั้นเมื่อต้องออกกำลังกายกลางแจ้งก็จะต้องพกเอาสมาร์ทโฟนไปด้วย เพื่อใช้ GPS ในโทรศัพท์ทำหน้าที่ระบุพิกัด ซึ่งการกลับมาของ Fitbit Charge 4 ในปีนี้ สิ่งที่ควรจะมีอย่าง GPS ก็ถูกใส่เอาไว้ให้แล้ว พร้อมทั้งฟีเจอร์อย่างการอ่านค่าอัตราการเต้นของหัวใจ (PurePulse)  ได้อัตโนมัติต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเทคโนโลยี NFC ที่ทำงานร่วมกับ Fitbit Pay ควบคุมการเล่นเพลง Spotify ถึงอย่างนั้นในภาพรวมมันก็ไม่ได้แตกต่างจากรุ่น Charge 3  เรียกได้ว่าทำการอัพเดตเล็กๆ น้อยให้กับแฟนๆ ของ Fitbit ที่ต้องการสมาร์ทวอชพร้อม GPS ในเรทราคาไม่แพงจนเกินไป

Key Specification

  • หน้าจอ 1.57 นิ้ว OLED ทัชสกรีน (grayscale)
  • เคสพลาสติกเรซิน ขั้วสายสแตนเลส
  • กันน้ำลึก 50 เมตร / กันน้ำสาด ฝนตก
  • เชื่อมต่อ Bluetooth 4.0, NFC
  • เซนเซอร์ 3-axis accelerometer, Optical heart rate monitor
  • เซนเซอร์ SpO2,  altimeter, vibration motor
  • ใช้งานด้วยแบตเตอรี่สูงสุด 7 วัน
  • ใช้งาน GPS ต่อเนื่องสูงสุด 5 ชั่วโมง
  •  ขนาด / น้ำหนัก   35.8 x 22.7 x 12.5 มม. / 30 กรัม

ดีไซน์ภายนอกเหมือนกับรุ่นที่ผ่านมา
หน้าตาภายนอกของ Fitbit Charge 4  แทบจะไม่ต่างจากรุ่นที่แล้ว  ไล่มาตั้งแต่บอดี้แบบตัดเหลี่ยม ปุ่มสัมผัส inductive button ทางด้านซ้าย กระตุ้นหน้าจอและย้อนกลับ ส่วนการสั่งงานอื่นก็สัมผัสผ่านหน้าจอ ด้วยการแตะ ปัด หรือแตะค้างเพื่อเดินหน้าแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ต่อไป

รุ่นที่เรารีวิวเป็นปกติในสี Rose Wood โดยในเซ็ตมีอุปกรณ์ชาร์จผ่านช่องต่อ USB-A ซึ่งอาศัยคลิปจับเข้ากับตัวเรือนและเล็งให้ตรงขั้วของนาฬิกา สายนาฬิกาซิลิโคนให้ 2 ไซส์ ใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สามารถถอดเปลี่ยนหรือใส่สายได้ง่าย วัสดุซิลิโคนที่นำมาใช้ก็ถูกออกแบบให้สวมใส่ได้ตลอดเวลา ตัวสายมีความนิ่มนวลยืดหยุ่นระดับปานกลาง

หน้าจอแบบ Grayscale แม้ว่าจะดูน่าสนใจน้อยกว่าจอสี แต่พาแนล OLED ที่ใช้ก็มีข้อดีตรงที่มีความสว่างสูง มองเห็นได้ชัดเจนท่ามกลางแสงแดด แสดงผลด้วยเฉดสีเทาทำได้อย่างมีมิติ ให้รายละเอียดต่างๆ อ่านได้ง่ายขึ้น แต่การแสดงข้อมูลที่ใช้ตัวอักษรขนาดเล็กยังคงเป็นปัญหาเล็กน้อย เมื่อใช้งานกลางแดด

อินเทอร์เฟซของเมนู
การสั่งงาน Fitbit Charge 4 ถือว่าทำได้ง่าย เพราะมีจุดรับคำสั่งแค่ 2 จุด คือ จากหน้าจอและปุ่มสัมผัสด้านซ้าย คุณสามารถเลื่อนเมนูคำสั่งหลักอย่างที่เห็นในภาพได้โดยการปัดไปทางซ้าย ใช้การแตะลงไปที่ไอคอนที่ต้องการเพื่อเข้าถึงรายการที่อยู่ภายใน รายการคำสั่งย่อยที่รอคุณอยู่ต่อจากนั้นจะใช้วิธีปัดขึ้นเพื่อเข้าถึงรายการคำสั่งที่อยู่ด้านล่าง ส่วนการเปิดหรือเปิดคำสั่งก็ใช้การแตะค้างสัก 1 วินาที ในภาพรวมการตอบสนองของการสั่งงานถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี การแสดงผลทรานซิสชั่นจากเมนูไปอีกเมนูก็ทำได้ราบรื่น

และหากคุณต้องการจะตรวจสอบสถิติรายวันก็ทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มต้นจากหน้าโฮมสกรีนและปัดนิ้วขึ้นจากด้านล่าง ข้อมูลการนับก้าว ระยะทาง การเผาผลาญพลังงานก็จะถูกแสดงขึ้นเช่นภาพด้านขวา

ส่วนใครที่ไม่ชอบการสั่นเตือนของ Fitbit Charge 4 ก็สามารถเปิดมันด้วยด้วยการกดปุ่มสัมผัสด้านข้างค้างไว้ จากนั้นเปิดใช้โหมด Do not disturb หรือ Sleep ให้กับอุปกรณ์เท่านั้นเมื่อมีข้อความเข้าผ่านแอพฯ พวก Line, FB หรือการคนโทรเข้ามามันก็จะแสดงแค่ข้อความอย่างเดียว จากนั้นคุณจะวางสายรับสายหรืออะไรก็แล้วแต่เลย

นอกจากนั้นแอพฯ ที่แสดงผลหน้าจอของ Fitbit Charge 4 ก็ใช้งานได้หลายอย่างเช่น Spotify, weather, Fitbit Pay แต่คุณจำเป็นต้องโหลดแอพฯ เหล่านั้นบนสมาร์ทโฟน และกิจกรรม Activity Tracking หรือ Exercise เองจะแสดงผลชอร์ทคัตเพียงแค่ 6 กิจกรรม (ค่าเริ่มต้น Run, Bike, Swim, Treadmill, Outdoor Workout, Walk)  จากนั้นหมด 21 กิจกรรม ตรงนี้ต้องไปแก้ไขกิจกรรมที่ต้องการผ่านแอพฯ อีกทีหนึ่ง

การทำงานของ Active Zone Minutes
ฟีเจอร์นี้เริ่มต้นใช้กับ Fitbit Charge 4 และจะทยอยอัพเข้าสู่ Fitbit Versa Series และ Fitbit Ionic ภายในปีนี้ ซึ่ง Active Zone Minutes จะวัดอัตราการเต้นของหัวใจและตามเก็บข้อมูลภายใต้กิจกรรมออกกำลังกายประเภทต่างๆ จากนั้นจะทำการคำนวนปริมาณการออกกำลังกายให้เหมาะสมว่า ผู้ใช้ควรจะเพิ่มหรือลดความหนักหน่วง หรือเพิ่มระยะเวลาให้ไปถึงเป้าของอัตราการเต้นของหัวใจที่ดีที่สุดต่อการเผาผลาญแคลลอรี่ แน่นอนว่าก็จะมีติดตามเก็บระยะเวลาการออกำลังกายต่อสัปดาห์ ต่อวัน ตรงนี้คุณสามารถตั้งเป้า Goal ได้เอง

หลังจาก Fitbit คำนวณระดับของอัตราการเต้นของหัวใจสำหรับ Active Zone ในภาพคือ 99 ครั้งต่อนาที จะเห็นว่า มีช่วงระยะเวลาเท่าไหร่ที่หัวใจเต้นอยู่ในแต่ละโซน ซึ่งจากในกราฟใช้เวลาไป 17 นาทีในการที่หัวใจเต้นอยู่ในโซน Cardio &Peak แต่อยู่ใน Fat Burn นานถึง 79 นาที นอกจากนั้นก็ยังมีการเก็บข้อมูลเป็นไทม์ไลน์ตามช่วงเวลา พร้อมกับค่าการเผาผลาญพลังงานของเราด้วย

ไม่ต้องพกโทรศัพท์ก็เก็บข้อมูลเส้นทางได้ด้วย GPS ในตัว
ก่อนหน้านี้อุปกรณ์ Fitbit ไม่เคยมีการใส่ GPS เข้าไปเลยในกลุ่มอุปกรณ์ Fitness trackers และ Fitbit Charge 4 เองก็เป็นอุปกรณ์ตัวที่ 2 ที่มี GPS ก่อนหน้านี้จะมีอยู่ใน Fitbit Ionic ซึ่งทางผู้ผลิตวางตำแหน่งของมันเอาไว้ในกลุ่มสมาร์ทวอช การตรวจจับสัญญาณ GPS ของ Fitbit Charge 4 ในครั้งแรกของการวิ่งถือว่าทำได้เร็วพอตัวเลย ใช้เวลาประมาณ 30 – 50 วินาที เมื่อเข้าสู่การวิ่งหลังจาก Start การ Track ก็มีการคำนวณระยะทาง ค่า Pace ในการวิ่ง จำนวนก้าว ฯลฯ นอกจากนั้นในระหว่างการวิ่ง Fitbit Charge 4 จะเตือนที่ข้อมือเพื่อแจ้งว่า อัตราการเต้นของหัวใจมีการย้ายจากโซนหนึ่งไปอีกโซนหนึ่งด้วย

หลังจากหยุดวิ่ง เราทำการชิงค์มันเข้ากับโทรศัพท์แผนที่พร้อมเส้นทางการวิ่งจะแสดงขึ้นในแอพฯ Fitbit พร้อมกับข้อมูลจำนวนก้าว โซนอัตราการเต้นของหัวใจ ค่า Pace ค่าแคลเลอรี่ที่เผาผลาญไป นอกจากนั้นแอพพลิเคชั่นจะแสดงข้อมูลอื่นๆ อย่างเช่น การหยุดวิ่ง โซนการเต้นของหัวใจ/ ค่า Pace ในระหว่างวิ่งในเส้นทาง

Sleep tracking รายงานข้อมูลได้ละเอียดขึ้น
เซนเซอร์ตรวจจับชีพจร SpO2 ก็ถูกนำมาใช้กับ Fitbit Charge 4 ด้วยเช่นกัน และมันก็สามารถวิเคราะห์ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจแพทเทิร์นการนอนได้ดียิ่งขึ้น ระบบชี้วัดของแอพฯ ได้ถูกปรับปรุงใหม่ ไม่ใช่แค่แสดงอัตราการเต้นของหัวใจขณะนอนหลับ แต่ยังมีการแสดงข้อมูลความแปรปรวนของออกซิเจนในเลือดด้วย หากข้อมูลส่วนนี้เกิดขึ้นมากก็อาจเป็นไปได้ว่า มีความเสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

นอกเหนือจากนั้นก็จะมีการรายงานข้อมูลทั่วไปอย่างเช่น การให้คะแนนการนอนหลับ กราฟภาพรวมของการนอนหลับที่แสดงระยะเวลาในแต่ละช่วงของการนอน เช่น การตื่นขณะมาขณะหลับ การนอนหลับลึก หรือหลับสนิท เป็นต้น ตรงนี้ก็เอาไปปรับแก้ไขพฤติกรรมการนอนหรือสาเหตุของการนอนไม่พออื่นๆ หลังจากนี้

อื่นๆ ที่ยังไม่ได้พูดถึง
จริงๆ แล้ว Fitbit Charge 4 ก็ยังมีฟีเจอร์เสริมเพิ่มเติมอย่างเช่น การควบคุมการเล่น Spotify, Fitbit Pay แต่เราไม่ได้ทดลองใช้งานจริงด้วยตัวเอง เนื่องจากเรามีเวลาจำกัดกับมันมาก ถึงอย่างนั้นในเบื้องต้น ฟีเจอร์เหล่านี้ใช้งานได้จริง (จากการสอบถาม) ระบบจ่ายเงินรองรับการทำงานกับธนาคารกสิกร กรุงไทย กรุงเทพ และไทยพาณิชย์ ส่วนระยะเวลาใช้งานด้วยแบตเตอรี่ตามสเปคระบุไว้ 7 วัน ชาร์จ 2 ชั่วโมง ตรงนี้เรามองว่า ถ้าไม่ได้ทำการ Track พร้อม GPS เป็นแค่การใช้งานพื้นฐานอย่าง ตรวจจับการเต้นหัวใจ การนับก้าว ฯลฯ ก็น่าจะไปถึง เพราะจากการทดลองวิ่งพร้อมเปิด GPS ระยะเวลาสั้นๆ แบตเตอรี่ก็หายไปหลายเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน

ส่วน Fitbit Premium ก็เปิดให้ใช้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นระยะเวลา 90 วัน นอกจากนั้นก็ยังมีโปรแกรมออกกำลังกายภายในแอพฯ ให้คุณทำตามของแบรนด์อย่าง barre3, Down Dog, และ Physique 57 แถมยังมีคอนเทนต์ด้านสุขภาพให้ใช้ฟรี

รุ่นที่วางจำหน่ายในประเทศไทยจะมีมี Fitbit Charge 4 มาในสีดำ สี Rosewood และสี Storm Blue/black ราคา จำหน่ายอยู่ที่ 6,490 บาท และ Charge 4 Special Edition ใช้สายข้อมือสีดำแกรนิต และสายสีดำแบบธรรมดา เหมาะสำหรับเปลี่ยนใช้งานหลากหลายโอกาส ในราคา 6,990 บาท