รีวิว Huawei FreeBuds Studio Wireless Headphone
PROS
น้ำหนักเบา สวมใส่ได้สบาย
สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์พร้อมกัน 2 ตัว
ระบบตัดเสียงรบกวนทำงานได้ดีมาก
เสียงเพลงจากหูฟังมีคุณภาพสูง
รองรับ Codec L2HC
CONS
ไม่มีช่องต่อ 3.5 มม.
ระบบชาร์จเร็วทำงานเมื่อแบตเตอรี่ต่ำมาก
ฟีเจอร์หลายอย่างจำกัดใช้งานเฉพาะบน EMUI 11.0
ตลาดหูฟังไร้สายกำลังเริ่มเข้าสู่จุดเดือดของการแข่งขันแล้ว หลังจากต้นปีหลายๆ แบรนด์ก็ทยอยส่งหูฟัง True Wireless สู่ตลาดกันอย่างมากหน้าหลายตา ล่าสุด หัวเว่ยเปิดหูฟังไร้สายแบบ Over-Ear ระดับพรีเมียมตัวแรก วันนี้มันมาอยู่ในมือของทีมงานแล้วและเราจะพาคุณไปสัมผัสมันพร้อมๆ กัน
หูฟังไร้สายระดับพรีเมียมมีคู่แข่งระดับเจ้าตลาดอยู่ไม่น้อยทั้ง Bose, B&O, Senheiser หรือแม้กระทั่ง Sony ถึงอย่างนั้นการเปิดตัวมากับราคา 9,900 บาทก็ถือว่าถูกกว่าที่คาดการณ์กันไว้จากราคาต่างประเทศ เรามองว่า หัวเว่ยกำลังเดินลุยเข้าไปในตลาดที่ใหม่สำหรับตัวเองเหมือนกับที่พวกเขากลายบุกตลาดแลปทอปประเทศไทย ถึงอย่างนั้นหัวเว่ยเองก็ทำการบ้านมาดีเหมือนกัน
Specification
- ราคาโดยประมาณ 9,990 บาท
- 40mm dynamic driver
- Huawei Kirin A1 audio processor chip
- Bluetooth 5.2
- 410mAh batteries
- Weight 265g
- Color: Graphite Black, Blush Gold
- L2HC High-resolution Codec (EMUI 11 only)
- 6-mic Call Noise Cancellation
- 8-mic Active Noise Cancelling
- USB Type-C Charging Port
- 24 hours playback on 1 charge (ANC disabled)
- 5 hours playback on 10 minutes of fast charge (ANC enabled)
- 8 hours playback on 10 minutes of fast charge (ANC disabled)
ดีไซน์พรีเมี่ยม สวมใส่ได้นุ่มนวล
งานออกแบบเน้นความเรียบหรู ภายนอกหูฟังมีเพียงชื่อ Huawei ปรากฏอยู่เท่านั้น ตัวเบ้าหูฟังต่อเข้ากับก้านคาดศรีษะและเป็นลักษณะข้อต่อที่ปรับก้มเงยได้เล็กน้อย สามารถบิดหมุนตามแกนของก้านโลหะได้เกินกว่า 90 องศา ดังนั้นมันจึงไม่มีปัญหาในการปรับเข้ากับรูปศีรษะของผู้ใช้ นอกจากนั้นแล้ววัสดุหุ้มก้านคาดหัวหรือเอียร์คัพให้ความรู้สึกที่ดีมาก ผิวสัมผัสละเอียด เรียบลื่น คาดว่าน่าเป็นวัสดุประเภท Leatherette ส่วนโฟมที่นำมาใช้ทำเอียร์คัพก็มีความยืดหยุ่นที่ดี แรงต้านต่ำ นุ่มนวล ความรู้สึกในการสวมใส่ถือว่า ใกล้เคียงพวกหูฟัง Bose หรือ Sony ในเรทราคาใกล้ๆ กันเลยทีเดียว
หูฟังฝั่งขวาจะเป็นศูนย์รวมการควบคุมเกือบทั้งหมด อาทิปุ่มเปิดปิด ปุ่มจับคู่บลูทูธ รวมถึงการสั่งงานแบบสัมผัสบริเวณฝาของหูฟัง ซึ่งมันมีความคล้ายคลึงกับหูฟังไร้สายแบบ Over-ear ของหลายๆ ค่าย และมันก็เรียนรู้การใช้งานได้ง่าย อย่างเช่น การเคาะเบาๆ จะเป็นการหยุดหรือให้เล่นเพลงต่อ การปัดซ้ายขวาจะเป็นการเลือกแทร็กเพลงเดินหน้าหรือย้อนกลับ หรือการแตะค้างไว้ปฏิเสธสายหรือการใช้งานคำสั่งเสียงอย่างเช่น Google Assistance
อีกฝั่งหนึ่งจะมีเฉพาะปุ่ม ANC หรือปุ่มเปิดการใช้งาน Active Noise Canceling ซึ่งหูฟังมีโหมดให้เปลี่ยนใช้งาน 3 โหมด ก็คือ โหมด Awareness, Noise Canceling และปิดการทำงาน
จริงๆ แล้วการออกแบบหูฟัง FreeBuds Studio ของหัวเว่ยนั้นมีรายละเอียดเยอะมาก ทั้งเรื่องของไมโครโฟนมากถึง 8 ตัวในการช่วยตัดเสียงรบกวนขณะฟังเพลงและการเก็บเสียงรอบข้าง เพื่อเพิ่มการรับรู้ในโหมด Awareness ตลอดจนการใช้ไมโครโฟน 6 ตัวเก็บเสียงสนทนา หรือแม้กระทั่งเซนเซอร์ไว้ในหูฟัง เพื่อให้มันตัดการทำงานทันที หากไม่สวมใส่และเริ่มทำงานต่อเมื่อสวมใส่ คุณสมบัติเหล่านี้สามารถอ่านเพิ่มเติมในหน้าเว็บไซต์นี้ https://consumer.huawei.com/th/audio/freebuds-studio/specs/
ระบบตัดเสียงรบกวนที่น่าประทับใจ
เรานำหูฟัง FreeBuds Studio ไปใช้ท่ามกลางเสียงแออัดของการสัญจรเดินทาง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เสียงรถยนต์ เสียงลมพัดต่างๆ มลายหายไปทั้งหมดเมื่อเปิดใช้งานระบบ ANC หรือ Noise Canceling (ยังไม่ได้เปิดเพลง) ถึงอย่างนั้นในบางครั้งเรายังคงได้ยินเสียงการกดแตรเบาๆ นั่นเป็นเพราะ วัสดุหุ้มเอียร์คัพเองก็ป้องกันเสียงจากภายนอกเล็ดลอดเข้าไประดับหนึ่งอยู่แล้ว
การเปิดใช้งานในโหมด Awareness จะให้การรับรู้เสียงที่เหมือนกับการไม่ใส่หูฟัง ไมโครโฟนจะทำหน้าที่เก็บเสียงและส่งผ่านมายังไดรเวอร์ของหูฟัง ดังนั้นท่ามกลางการจราจรแออัดยังคงได้เสียงรถยนต์และเสียงต่างๆ โดยรอบ แน่นอนว่ามันก็เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้สวมใส่ โดยเฉพาะการเดินฟังเพลงไปในสถานที่สาธารณะ ถึงอย่างนั้นเราไม่แนะนำให้เปิดเพลงดังเต็มที่อยู่ดี
ส่วนการปิด Noise Canceling คุณยังคงได้ยินเสียงรอบตัว แต่ทุกอย่างจะลดลงจากโหมด Awareness ราวๆ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเรามองว่า ไม่ใช่แค่เรื่องการประหยัดพลังงาน แต่ยังช่วยให้คนที่มีการรับรู้เสียงที่อ่อนไหว ลดอาการมึนหัวลงได้ เนื่องจากหูจะไม่ต้องเผชิญกับความถี่เสียงบางช่วงที่ไม่พึงประสงค์หรือผลกระทบจากการหักล้างกันชองเสียงผ่านระบบ ANC รวมถึงนักฟังเพลงที่อยากได้ยินเสียงของเพลงแบบเพียวๆ
ส่วนเรื่องการตัดเสียงรบกวนขณะสนทนาหรือการทำงานของระบบ Call Noise Cancellation ปลายสายจะได้ยินเสียงของผู้ใช้ได้ชัดเจนโดยที่ไม่มีเสียงพูดจอแจ เสียงลมหรือเสียงแอร์เหมือนกับว่า คุณนั่งอยู่ในห้องเงียบๆ ถึงอย่างนั้นอย่างคาดหวังว่ามันจะสมบูรณ์ เนื่องจากเสียงบางอย่างจะเล็ดลอดเข้ามาได้ยกตัวอย่างเช่น เสียงชนแก้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติหากคุณเข้าใจหลักการทำงานของระบบ Noise Canceling
เสียง “กลมกล่อมทุกย่าน ใช้ฟังได้หลากหลาย”
การทดลองฟังเสียงในเบื้องต้นร่วมกับโทรศัพท์ iPhone 11 Pro Max ผ่านบริการ Spotify, Netflix แนวเสียงของ FreeBuds Studio จะออกไปทางสไตล์ Easy Listening ให้รายละเอียดเสียงที่ดี อยู่ในโทนสว่าง เสียงโปร่งใส เสียงเบสมีมวล ให้ Deep Bass ได้ขัดเจน แต่ไม่กระแทกให้อึดอัด ส่วนเสียงกลางอยู่ในเกณฑ์ดี เสียงนักร้องโดดเด่นอยู่ทางด้านหน้า ส่วนเสียงสูงไม่มีอาการแสบหรือบาดหู ฟังพริ้วๆ หวานๆ ภาพรวมให้สัมผัสถึงเสียงของเครื่องดนตรีจำพวกไฮแฮท ไวโอลิน หรือกลองทอมเล็กๆ ได้ชัดเจน มีมิติในระดับที่แยกแยะตำแหน่งชิ้นดนตรีได้ไม่ยาก
อธิบายให้เข้าใจแบบง่ายๆ ก็คือ แทบจะไม่มีส่วนไหนที่จะวิจารณ์เสียงของมันออกมาทางลบได้เลยสำหรับผู้ใช้ทั่วไป ซึ่งนอกจาก iPhone แล้ว เราเองก็ทดลองฟังเพลงจากเครื่องเล่นเพลง Music Player ร่วมกับไฟล์ Lossless รวมถึงสมาร์ทโฟน Nova 5T, Pocofone F1 ด้วย แม้ว่าทั้งหมดนี้จะเป็นแค่การใช้ Codec อย่าง SBC หรือ AAC ก็ตาม เสียงของมันก็ยังแสดงให้เห็นถึงคลาสที่เหนือกว่าหูฟังของเราทั้งหมด
น่าเสียดายที่เราไม่สามารถใช้งานหนึ่งใน Codec ที่ดีที่สุดอย่าง L2HC เนื่องจากโทรศัพท์ Nova 5T ของเราเป็นเพียงแค่ EMUI 10.1 เท่านั้น ถึงอย่างนั้นในเบื้องต้น คุณภาพเสียงของหูฟังก็ถือว่าให้การฟังเพลงออกมาได้สนุกแล้ว ส่วนใครจะชอบสไตล์เสียงแบบนี้หรือไม่ก็แล้วแต่ รสนิยมของแต่ละคน
บทสรุปและความคิดเห็นของ TechMayday
ข้อจำกัดของเราทำให้ไม่สามารถใช้งานหูฟังร่วมกับแอพ Huawei AI Life หรือการเชื่อมต่อด้วย Codec L2HC ที่ให้บิตเรทระดับ 960Kbps และมีค่าลาเทนซี่ต่ำ เนื่องจากมันต้องการสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยที่ใช้ EMUI 11.0 ดังนั้นคุณจึงไม่เห็นฟีเจอร์หลายๆ อย่างของหูฟังที่สามารถใช้งานกับได้ FreeBuds Studio ส่วนเรื่องแบตเตอรี่เองก็ถือว่า น่าจะใกล้เคียงกับที่ผู้ผลิตเคลมไว้ เนื่องจากเราฟังเพลงวันละ 1 - 2 ชั่วโมง มา 3 วันแล้ว ค่าแบตเตอรี่ของมันก็ลดลงมาเหลือ 80 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ในมุมของเรา หูฟังนี้มอบความสะดวกและคุณค่าให้กับแฟนๆ ของหัวเว่ยเป็นหลัก เห็นได้จากการสนับสนุน Codec บนมาตรฐานไร้สาย ขณะเดียวกันมันก็จัดการความต้องการของผู้ใช้ได้ดี อย่างเช่น เซนเซอร์ตัดการทำงานเมื่อไม่สวมใส่ การรองรับการเชื่อมต่อบลูทูธ 2 อุปกรณ์พร้อมกัน ฯลฯ แต่ที่สำคัญอื่นใด มันตอบโจทย์การฟังได้ด้วยคุณภาพเสียงที่ดี และสวมใส่ได้สบาย ฟังเพลงนานๆ ได้โดยไม่เจ็บใบหูมากจนเกินไป
ขอบคุณ: หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย)