รีวิว Dell Latitude 5420 เน้นทำงานและทำงานจริงๆ

PROS

มาพร้อมพอร์ต ThunderBolt 4 จำนวน 2 ช่อง
ชิปไวร์เลส 802.11ax - 160MHz
กล้อง IR และ Finger Print

CONS

ทัชแพดมีความไวต่ำ
การระบายลมร้อนทิศทางเดียว

โน้ตบุ๊ก Dell Latitude ออกแบบมาเพื่อลูกค้าภาคธุรกิจและองค์กร ดังนั้นจึงเน้นไปที่เรื่องประสิทธิภาพการทำงาน ความปลอดภัย ฟีเจอร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน รวมไปการบริหารจัดการด้านซอฟต์แวร์ที่แตกต่างจากโน้ตบุ๊กกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป  เช่นเดียวกัน ในแง่รูปลักษณ์ภายนอกของโน้ตบุ๊กกลุ่มนี้จึงไม่ได้ดูหรูหราน่าใช้งานเท่ากับกลุ่มโน้ตบุ๊กบางเบาของผู้ใช้งานทั่วไป และนี่คือ ข้อมูลทางเทคนิคของ Dell Latitude 5420 ที่ทีมงานได้รับมา

Specification

  • Intel Core i7-1185G7 with vPRO
  • 4 Cores / 8 Threads, 2.80 – 4.70 GHz
  • 16GB, DDR4-3200MHz Single Channel
  • Samsung PM991, M.2 NVMe 128GB
  • Intel  Iris Xe Graphics
  • 14″, 1920x1080px, Wide Angel View
  • 2x ThunderBolt 4 with PD and DP Mode
  • 2x USB-A 3.2, HDMI 2.0, Gigabit Ethernet
  • 3.5mm audio combo jack, Micro SDcard reader
  • Windows 10 Pro, 64-bit
  • WLAN 802.11ax (Intel AX201), Bluetooth 5.1
  • Lithium-Polymer 63 Wh, 65 W Power adapter
  • LED-Backlid Keyboard, HD webcam
  • Weight: 1.37 kg.
  • Size: 321mm x 212mm x 19.3mm

ด้วยความเป็นโน้ตบุ๊กคอมเมอร์เชียล สเปคของโน้ตบุ๊ก Latitude 5420 จะไม่ได้ตายตัวดังที่คุณเห็นข้างต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับฝ่ายไอทีของแต่ละบริษัทที่จะวางสเปคตามความต้องการของแต่ละแผนกหรืองบประมาณที่ได้รับมา สามารถปรับเปลี่ยนได้ทั้งรุ่นของซีพียู ขนาดหน่วยความจำ ไดรฟ์ SSD รุ่นของจอแสดงผล ฯลฯ ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจกับขนาดไดรฟ์ nVME อันน้อยนิดนี้ ถึงอย่างนั้นซีพียู Intel Core i7-1185G7 vPro ถือว่าเป็นซีพียูรุ่นสูงสุดในไลน์ของ Dell Latitude 5420 เฉพาะราคาของซีพียูต่อ 1000 หน่วยก็สูงถึง 426 เหรียญสหรัฐแล้ว แต่หากเปลี่ยนมาใช้ซีพียู Intel Core i7-1185G7 ไม่มี vPro จะถูกลงมาอีก 268.60 เหรียญสหรัฐ ขณะที่การประเมินราคาของโน้ตบุ๊กรุ่นนี้ด้วยการกำหนดสเปคจากหน้าเว็บ ราคาของมันกระโดดไปถึง 1871.15 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 58,000 บาท

ภาพรวมของโน้ตบุ๊ก Latitude 5420 ก็คือ แลปทอปขนาด 14 นิ้วที่มีขนาดเล็กกว่าทั่วไป ทำงานได้รวดเร็ว ทรงประสิทธิภาพ มีการใส่ฟีเจอร์หลายๆ อย่างที่สนับสนุนการทำงานของผู้ใช้ในองค์กรผ่านซอฟต์แวร์ Dell Optimizer ที่การเรียกใช้งาน AI และแมชชีนเลิร์นนิ่งในการเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งาน ยกตัวอย่าง ExpressCharge ช่วยเพิ่มความเร็วในการชาร์จให้เร็วขึ้น หลังจากเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งาน 14 วัน พร้อมกับประเมินข้อมูลร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ซึ่งผลลัพธ์ของการชาร์จที่ทำได้สูงสุดก็คือ ชาร์จ 0 - 35 เปอร์เซ็นต์ภายใน 20 นาที และสามารถชาร์จเร็วไปจนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ (จากนั้นจะลดลงมาชาร์จด้วยความเร็วปกติ) นอกจากนั้นก็ยังมีฟีเจอร์อย่าง ExpressResponse ที่ใช้เทคโนโลยี Intel Adaptix เพื่อกำหนดระดับความสำคัญของแอพพลิเคชันในเครื่องจากการเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้ เพื่อให้เปิดแอพฯ และทำงานได้เร็วขึ้น เป็นต้น

ดีไซน์เรียบๆ ธรรมดาๆ ที่ดูย้อนยุคไป 2-3 ปี
พิจารณาหลายๆ จุดแล้ว เรารู้สึกว่าดีไซน์ของ Dell Latitude 5420 ตัวนี้เหมือนมาจากปี 2018 กรอบจอบางเฉพาะด้านข้าง ส่วนบนและล่างยังคงหนาอยู่ ตัวเครื่องหนาราว 2 เซนติเมตร ตัวเครื่องสีเงินทำผิวคล้ายเนื้อโลหะ ถึงอย่างนั้น ทั้งงานประกอบและความแข็งแรงของมันก็อยู่ในขั้นที่ดี นอกจากนั้นวัสดุตัวเครื่องทั้งหมดผลิตจากพลาสติก โดยผสมกับไบโอพลาสติกที่ผลิตจากต้นไม้และเคลือบด้วย Tall Oil  จากกระบวนการผลิตกระดาษราว 21 เปอร์เซ็นต์

ตัวเครื่องดูหนามากกว่าที่ระบุไว้มาก (2 เซนติเมตร) พอร์ตการเชื่อมต่อส่วนใหญ่ถูกจัดวางไว้ฝั่งขวามือของผู้ใช้ ข้อดีคือ ง่ายในการเสียบ แต่เกะกะขณะการใช้งาน ส่วนเรื่องมาตรฐานพอร์ตต่างๆ ดูได้จากด้านบน ฝั่งซ้ายจะเป็นพอร์ต ThunderBolt 4 ที่ใช้เสียบชาร์จพลังงานได้ทั้งสองพอร์ต สามารถใช้งานกับ USB-C Multifunction ของ Orico เป็น Station Dock จำลองได้ หรือใช้งานกับพวกอุปกรณ์เสริมของเดลล์อย่าง Dell Thunderbolt Dock หรือจอมอนิเตอร์ที่สนับสนุน USB-C

หน้าจอพับได้ 180 องศาหรือราบไปกับพื้นได้เลย จุดประสงค์หลักๆ ก็คือ ลดความเสียหายของบานพับ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเพื่อนร่วมงานปรับองศาจอเพื่อดูภาพพร้อมๆ กัน รวมถึงการเกี่ยวหรือชนที่ทำให้เกิดการผลักหน้าจอไปด้านหลังโดยไม่ตั้งใจ ส่วนปุ่มเปิดเครื่องเล็กๆ มุมขวาสุด ตรงนั้นจะมีเซนเซอร์ Finger Print Scan ในการล็อกอินเข้าระบบ

สิ่งที่เราชื่นชอบก็คือ แป้นคีย์บอร์ด เนื่องจากการเป็นโน้ตบุ๊กขนาด 14 นิ้ว โดยที่ไม่มีปุ่มตัวเลขด้านข้าง ทำให้แป้นคีย์บอร์ดมีพื้นที่มากพอที่จะทำให้ปุ่มแต่ปุ่มมีขนาดใหญ่ มีระยะห่างที่เหมาะสม ปุ่มคีย์บอร์ดสามารถกดลงไปได้มั่นคง นุ่มนวล ระยะการกดลึก การพิมพ์สัมผัสจึงทำได้ง่าย ที่สำคัญคือ เสียงรบกวนจากปุ่มเหล่านี้ถือว่าต่ำมาก นอกจากนั้นคีย์บอร์ดยังมีไฟแบ็กไลต์ที่ปรับความสว่างได้ 2 ระดับ ไฟลอดผ่านตัวอักษรอย่างคมชัด แน่นอน เรายังคงชื่นชอบฟอนต์ที่เดลล์นำมาใช้ ดูเรียบร้อยและชัดเจน น่าเสียดายที่ปุ่มคีย์ลัดดันไม่มีปุ่มสั่งปิดทัชแพด

ทัชแพดมีขนาด 11.5x6.8  เซนติเมตร ถือว่าใหญ่เมื่อเทียบกับพื้นที่ของเครื่อง เนื้อผิวหยาบๆ ความรู้สึกในการใช้งานจึงคล้ายๆ กับผิวพลาสติก ความไวของทัชแพดค่อนข้างช้า ตอบสนองการสั่งงานในเกณฑ์กลางๆ สามารถใช้งานแบบ Multi-Gesture ได้อย่างไม่มีปัญหา แต่เรามองว่าโน้ตบุ๊กกลุ่มคอมเมอร์เชียลน่าจะทำได้ดีกว่านี้ นอกจากนั้นแล้วการทำงานของระบบปฏิเสธการสัมผัสของทัชแพดยังทำงานได้ไม่ดีนัก เคอร์เซอร์ขยับเองโดยไม่ตั้งใจขณะทำการพิมพ์อยู่บ่อยครั้ง 

การระบายความร้อนของโน้ตบุ๊กมีช่องถ่ายลมร้อนเพียงฝั่งเดียวทางด้านซ้ายมือของผู้ใช้ อากาศเย็นจะไหลเข้าทางใต้เครื่องและบริเวณสันเครื่องบริเวณบานพับ ขณะทำงานเราแทบไม่ได้ยินเสียงของพัดลมแม้กระทั่งซีพียูทำงานโหลดอย่างเต็มที่จนมีความร้อนสะสมขึ้นไปแตะ 97 องศาเซลเซียสก่อนจะลดความเร็วลงมา ปัญหาอย่างเดียวที่พบก็คือ คุณไม่ควรวางโน้ตบุ๊กบนหน้าตักได้ เพราะความร้อนไม่ได้มีเฉพาะบริเวณฝั่งลมร้อน แต่มีความร้อนสะสมฝั่งตรงข้ามด้วย

โอกาสที่ซีพียูจะทำงานแบบฟูลโหลดนานๆ เกิดขึ้นน้อยมากในกลุ่มแอพพลิเคชันทางธุรกิจและสภาพอากาศในออฟฟิศก็มักจะเย็นกว่าในห้องปกติทั่วไป ที่สำคัญแผนกไอทีก็ไม่มีทางสั่งซื้อโน้ตบุ๊กตระกูลนี้มาเพื่อเรนเดอร์งานกราฟิกหรืองานออกแบบอย่างแน่นอน

 

 กล้อง IR แม่นยำ รวดเร็ว หน้าจอให้สีและมุมมองที่ดี

 

นอกจากสแกนลายนิ้วมือแล้ว ด้านบนของจอภาพยังมีกล้องเว็บแคมแลกล้องอินฟราเรด ซึ่งสนับสนุนการล็อกอินด้วย Windows Hello Face ใช้เวลาในการแสกนหน้ารวดเร็ว ทั้งในห้องมืดและสภาพแสงปกติ ขณะที่กล้องเว็บแคมให้ภาพความละเอียด 2.1 ล้านพิกเซล บันทึกวิดีโอ Full HD @30fps พร้อมไมโครโฟน Dual-array ใช้งานในห้องประชุมที่สว่างสักหน่อย ภาพที่ได้ถือว่าน่าพอใจ แน่นอนว่ามาพร้อมกับ Webcam Shutter ด้วย

โน้ตบุ๊ก Latitude 5420 ในมือของเราใช้พาแนลรหัส BOE091B ซึ่งระบุเพียงแค่ในข้อมูลเทคนิคทางหน้าว่าเป็นหน้าจอแบบ wide-viewing angle จากที่ได้ใช้งานมาระยะหนึ่ง สรุปง่ายๆ ว่า นี่คือ หน้าจอที่มีคุณภาพและคุณสมบัติตรงความต้องการของคนทำงานออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นค่าการแสดงขอบเขตสี sRGB 100%, ความสว่างสูงมากพอสำหรับทุกสถานที่ในออฟฟิศ เคลือบผิวป้องกันแสดงสะท้อนแบบด้าน แสดงสีสันภาพได้สดใส มีความผิดเพี้ยนต่ำ อัตราคอนทราสต์อยู่ในเกณฑ์ที่ดี และมีมุมมองที่กว้าง เพราะอย่างนั้นจอภาพของโน้ตบุ๊ก Latitude 5420 จึงไม่ได้โดดเด่นอะไร หากเทียบกับโน้ตบุ๊กคอนซูมเมอร์ที่มีราคาพอๆ กัน  

ภาพรวมทำคะแนนได้ดี ซีพียูก็มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
เหตุผลที่ทำให้โน้ตบุ๊ก Dell Latitude 5420 มีผลคะแนน PCMark 10 สูงขนาดนี้มาจากการที่มันมีหน่วยความจำมากถึง 16GB แม้จะทำงานในโหมด Single Channel ก็ตาม ขณะเดียวกันซีพียู Core i7 -1185G7 ก็มีข้อได้เปรียบมากกว่า Core i7-10510u ในเรื่องของขนาด L3 (12 MB:8 MB) ทั้งยังทำงานด้วยความถี่สัญญาณนาฬิกาตามค่า TDP ที่สูงกว่าด้วย สิ่งที่สะท้อนออกมาได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ผลคะแนน PCMark 10 – Essentials ทำได้ถึง 9,730 คะแนน (Core i7-10510U : 8023) โดยตัวแปรที่มีผลมากที่สุดก็คือ คะแนน App Start-up Score ที่ทำไปได้ถึง 13,015 คะแนน

ในกรณีของประสิทธิภาพของชิปกราฟิก Intel  Iris Xe Graphics  นั้นไม่ได้ดีขึ้นในมุมการทำงานกับเกม แต่มันไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะมันคือโน้ตบุ๊กสายทำงานจริงจัง ซึ่งมันอาจต้องไปทำงานกับซอฟต์แวร์ธุรกิจ ทำงานผ่านเวอร์ชวลแมชชีน หรือแสดงผลวิดีโอผ่านการประชุมทางไกล คุณสมบัติของชิป Intel Iris Xe Graphics นั้นทำงานได้อย่างไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ส่วนใครที่ดูกราฟทดสอบแล้วเข้าใจ คุณจะเห็นว่าชิป Intel Core i7-1185G7 นั้นมีพัฒนาด้านพลังประมวลผลเป็นอย่างไร

8 ชั่วโมงน่าจะเป็นไปได้

ทีมงานในการทดสอบแบตเตอรี่แบบง่ายๆ โดยเปิดเล่นวิดีโอยูทูปต่อเนื่องภายใต้ระบบประหยัดพลังงาน Battery Saver แบตเตอรี่ขนาด 63 Wh ที่สามารถจุพลังงาน 60648 mWh สามารถเล่นไปได้ 9:56 ชั่วโมง พร้อมกับค่าพลังงานที่ใช้ไป 97 เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาขนาดนี้สำหรับเราแล้วถือว่าน่าพอใจ ในการทำงานนอกสถานที่จริงๆ การใช้งานวันละ 8 ชั่วโมงน่าจะเป็นไปได้ หากว่าเป็นการใช้งานแอพฯ ที่ไม่ได้ใช้พลังประมวลผลสูงๆ อย่างยาวนานต่อเนื่อง  

บทสรุปและความคิดเห็นของ Techmayday
เรื่องของราคาของ Dell Latitude 5420 ภายใต้สเปคทดสอบนี้เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานทั่วไปหลายๆ คนอาจไม่เข้าใจ มันไม่ได้แพงเพราะองค์ประกอบอื่นๆ เลย แต่ราคาแพงเพราะแพลตฟอร์ม Intel vPro ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับองค์กรขนาดใหญ่หรือเล็กที่ให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาความปลอดภัยข้อมูลและระบบ รวมไปถึงความคล่องตัวในการบริหารจัดการทรัพยากร ในแง่ของประสิทธิภาพของโน้ตบุ๊กเองก็ถือว่าทำได้น่าพอใจ มีระบบพิสูจน์ตัวตนหลายแบบให้เลือกใช้ แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน มีฟีเจอร์ชาร์จเร็วจอแสดงผลมีคุณภาพที่ดีเพื่อการทำงานในเชิงธุรกิจอย่างแท้จริง แต่ที่เราชื่นชอบที่สุดก็คือ พอร์ต Thunderbolt 4 ที่ไม่ใช่เพียงแค่พอร์ตความเร็วสูง แต่ยังขยายการเชื่อมต่อและเพิ่มความสะดวกบนโต๊ะทำงานได้ด้วย Station Dock

Special Thanks: Dell Thailand