รีวิว HP Pavilion Gaming 15 : ตัวเลือกของเกมเมอร์สายคุ้ม

PROS

ชิปไวร์เลสมาตรฐาน 802.11ax
ติดตั้งช่องอ่าน SD Card
จอแสดงผลให้สีสันสดใส
อัพเกรดแรมและไดรฟ์ SATA ได้

CONS

ตำแหน่งพอร์ตส่วนใหญ่อยู่ทางด้านขวา
แบตเตอรี่ใช้งานได้ไม่นานเท่าที่ควร

ในช่วง 2 – 3 ปีหลัง การทำตลาดโน้ตบุ๊กของเอชพีนั้นไม่ได้หวือหวาเหมือนกับหลายๆ แบรนด์ โดยเฉพาะกลุ่มโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่ไม่ค่อยมีการขยับตัวในเรื่องดีไซน์มากนัก ล่าสุดพวกเขาเปิดไลน์โน้ตบุ๊กเกมมิ่ง Pavilion Gaming 16 ซึ่งใช้หน้าจอขนาดใหญ่ 16.1 นิ้ว โดยยังคงดีไซน์เหมือนกับรุ่น 15.6 นิ้วที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2018 แน่นอนว่า โน้ตบุ๊ก Pavilion Gaming 15 ที่กำลังจะพูดนี้ก็ดีไซน์ดังกล่าวเช่นกัน แต่ใช้ระบบภายในซีพียู Ryzen 5 4600H พร้อมกับชิปกราฟิก GeForce GTX1650 เป็นหลัก

Key Specifications – ec1046ax

  • AMD Ryzen 5 4600H, 6C/12T
  • 8GB, DDR4-3200MHz (2x DIMMs)
  • WD SN730 – M.2 NVMe 512GB
  • Radeon Vega + GeForce  GTX1650, 4GB GDDR6
  • 15.6 inch (1,920x1,080px) IPS Display, Matte Surface
  • 1x USB-A 3.1 gen 1, 1xUSB 2.0, 1x USB-C
  • HDMI 2.0,  GbLAN, headphone/mic, SD Card Reader
  • Windows 10 Home Single Language 64
  • WLAN 802.11ax, Bluetooth 5.0
  • Lithion-ion 52.5 Wh, 150 W Power adapter
  • LED-Backlid Keyboard, HD webcam
  • Weight 2.17 kg., Adaptor 0.21 kg.
  • Size 25.7x36.0x23.5 mm
  • Price: 24,900 บาท

HP Gaming วางโน้ตบุ๊ก Omen ให้อยู่ในกลุ่มตลาดระดับ Hi-End โดยที่วาง Pavilion Gaming 15 เอาไว้ในตลาด Budget รูปลักษณ์ของโน้ตบุ๊กมีความเป็นเกมมิ่งอยู่ชัดเจน ด้วยตัวเครื่องตัดเหลี่ยมมุม การสโลปและลาดเอียงในหลายๆ ตำแหน่ง โทนสีเขียวเข้มผ่านคีย์บอร์ด หน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว รีเฟรชเรต 144 Hz ฯลฯ และจากสเปคข้างต้นนี่คือ HP Pavilion Gaming 15  รุ่นเริ่มต้นที่วางราคาเอาไว้ที่ 24,900 บาท

ใครอยากลงรายละเอียดเรื่องดีไซน์ของโน้ตบุ๊กสามารถไปดูที่ร้านไอทีหรือ PowerBuy ได้ เนื่องจากมันไม่ได้ปรับเปลี่ยนดีไซน์มาระยะหนึ่งแล้ว ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ได้ตกยุค กรอบจอบางตามสมัยนิยม ไม่เหมือนกับโน้ตบุ๊กเกมมิ่งบางแบรนด์ที่กรอบยังคงหนาเหมือนเดิม

ปุ่มคีย์บอร์ดใช้งานได้สบายๆ ตอบสนองการเล่นได้ดีน่าพอใจ รู้สึกว่าค่อนข้างนิ่มและมีขนาดเล็กกว่าปุ่มของโน้ตบุ๊กเกมมิ่งบางตัว ในมุมของเราแล้ว ปุ่ม Numpad มีเลย์เอาต์เหมือนกับคีย์บอร์ดเดสก์ทอป แต่ด้วยความที่มีพื้นที่น้อย ทำให้ปุ่มอยู่ชิดกันเกินไป การกดพิมพ์ด้วยความคุ้นชินคงต้องใช้เวลาปรับตัวระยะหนึ่ง เช่นเดียวกับปุ่ม Arrow ส่วนทัชแพดถือว่าใช้งานได้ดี สั่งงานได้รวดเร็วทั้งการใช้งานแบบกดลากหรือการสั่งงานแบบ Gesture ตอบสนองได้เร็วปานกลาง ขณะที่สัมผัสของผิวหรือความไหลลื่นถือว่ากลางๆ

ตำแหน่งพอร์ตส่วนใหญ่อยู่ทางขวามือ

ดูเหมือนว่าทีมออกแบบของ HP จะให้ความสำคัญต่อความสะดวกในการใช้งานพอร์ตมากกว่าความต้องการของชาวเกมเมอร์ การวางพอร์ตไว้ด้านขวามือทำให้เราเสียบอุปกรณ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้นเป็นเรื่องถูกต้อง แต่นี่คือ โน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่ต้องใช้งานเมาส์ หูฟังหรืออาจจะเสียบสายแลนเพื่อลดค่าลาเทนซี่ของระบบเครือข่าย และมันไม่ควรมาเกะกะกับฝั่งขวาที่ใช้งานเมาส์ที่เป็นหัวใจการควบคุมการเล่นเกม ส่วนเรื่องมาตรฐานพอร์ตไปไล่ดูในหัวข้อ Key Specification ด้านบน ความพิเศษในเรื่องการเชื่อมต่อก็คือ มีช่องอ่าน SD Card ที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้มา ถึงอย่างนั้นช่องอ่านการ์ดดังกล่าวก็มีความเร็วในการอ่านเขียนเพียง 37-39 MB/s เท่านั้น


แผงใต้เครื่องออกแบบเรียบง่าย Rubber Feet ทั้ง 4 มีระยะความสูงที่ต่ำไปนิดเมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กเกมมิ่งอีกหลายๆ ตัว การดึงอากาศไหลเวียนเข้าตัวเครื่องจะเข้าจากใต้ตัวอักษร Pavilion และไหลออกไปทางด้านหลังเครื่องเพียงทิศทางเดียว แน่นอนว่า ด้วยบานพับที่แทรกแกนเข้าไปในระนาบเดียวกันกับสันหลังของเครื่อง ทำให้ความร้อนเหล่านั้นม้วนกลับมาด้านบนคีย์บอร์ดเล็กน้อย ไม่ได้ไหลออกไปด้านหลังทั้งหมด

HP ใช้ท่อฮีตไปป์ 2 ท่อ นำความร้อนแบบแชร์กันจากส่วนสำคัญๆ อย่างชิปกราฟิกและซีพียู โดยไประบายความร้อนออกจากเครื่องบริเวณปลายท่อด้วยพัดลม 2 ตัว ประสิทธิภาพการระบายความร้อนจะเป็นอย่างไร ค่อยไปอธิบายกันในช่วงท้ายบทความ

การอัพเกรดสามารถทำได้ด้วยการเพิ่มฮาร์ดไดรฟ์ 2.5 นิ้ว มาตรฐาน SATA และหน่วยความจำ DDR4 ที่ยังว่างอยู่อีกหนึ่งสล็อต หรือถ้าจะเปลี่ยนไดรฟ์ NVMe ที่เป็นไดรฟ์หลักก็ทำได้เช่นกัน ซึ่งอยู่ถัดไปด้านในจากสล็อตหน่วยความจำ

จอภาพ 15.6 นิ้ว คุณภาพมาตรฐานของปี 2020
หน้าจอของโน้ตบุ๊ก Pavilion Gaming 15 รุ่นที่เราได้รับมาทดสอบใช้พาแนล LGD05FE เป็นพาแนล IPS รีเฟรชเรท 144Hz และแสดงขอบเขตสี sRGB >90% ซึ่งถือเป็นสเปคที่นิยมใช้ในโน้ตบุ๊กระดับราคากลางๆ ขึ้นไป ค่าการแสดงผลสีนี้ดีมากพอสำหรับงานกราฟิกสิ่งพิมพ์ ความบันเทิง การเล่นเกม การใช้ในชีวิตประจำวันทุกๆ ประเภท ยกเว้นแค่การทำงานที่เน้นความแม่นยำสีระดับมืออาชีพ
การประเมินสีสันด้วยตาเปล่า สีสันของภาพไม่ได้ผิดเพี้ยนอย่างเด่นชัด ใช้งานปกติได้ทันที แต่เรารู้สึกว่าสีสันของภาพมันยังไม่ได้สดมากนัก ออกไปทางโทนเย็นเล็กน้อย โดยรวมความสว่างน่าจะอยู่ในช่วง 200-250 nits ไม่ถึง 300 nits

มุมมองด้านข้างก็ทำได้ดีตามสไตล์พาแนล IPS มีการเกิดเงาสะท้อนบางๆ ให้เห็นบ้างด้วยคุณสมบัติของหน้าจอแบบ Matte และเราก็ยังไม่เห็นอาการแสงไฟรั่วจากบริเวณขอบๆ จอ ภาพรวมคือ คุณไม่ต้องกังวลอะไรกับหน้าจอของมันเลย

อแดปเตอร์พลังงานมีขนาดเล็กกว่าโน้ตบุ๊กเกมมิ่งหลายๆ ตัวอย่างเช่นของ เลอโนโว และน้ำหนักของมันก็อยู่ราวๆ 200 กรัมนิดๆ เทียบกับสมาร์ทโฟน iPhone 11 Pro Max ก็ยังมีสัดส่วนที่เล็กกว่า ส่วนสายไฟ AC ยาว 80 ซม. ส่วนสาย DC ยาว 180 ซม.

พลังประมวลผลที่คุ้มต่อราคา เล่นเกมได้ด้วยชิป GTX 1600 Series
ผลคะแนนเบนช์มาร์กทั้ง 3 ตัว เราอยากให้มองการเปรียบเทียบกับโน้ตบุ๊ก Legion Y540 ที่ใช้ซีพียูระดับกลางเหมือนกันอย่าง Core i5 9300HF ซึ่งประสิทธิภาพของมันก็อยู่ในระดับเดียวกับซีพียู Core i5 10300H ที่ติดตั้งในโน้ตบุ๊กเกมมิ่งขณะนี้ จะเห็นว่า ประสิทธิภาพโดยรวมทั้งระบบผ่านแอพพลิเคชัน PCMark10 โน้ตบุ๊ก Pavilion Gaming 15 นั้นด้อยที่สุด แต่นั่นเป็นเพราะมันมีแรมแค่ 8GB คะแนนห่างกับ Legion Y540 แค่ 3.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประสิทธิภาพในการเล่นเกมที่ใช้ชิปตัวเดียวกันอย่าง GTX1650 โน้ตบุ๊ก Pavilion Gaming 15 ต่างทำคะแนนได้สูงกว่าทั้งสองการทดสอบ

จริงๆ แล้วการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของซีพียูทั้ง 3 ตัวของเรานี้ไม่ได้มีความเสมอภาคกันเท่าที่ควร ถึงอย่างนั้นความแตกต่างเหล่านี้ก็สามารถอ้างอิงในการเลือกซื้อโน้ตบุ๊กได้พอสมควร สิ่งแรกที่เรากราฟนี้แสดงให้เห็นก็คือ ซีพียู Ryzen 7 4800H นั้นมีประสิทธิภาพเหนือกว่า Ryzen 5 4600H ในการทำงานแบบมัลติเทรดมากถึง 19 – 39 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในการทำงานแบบซิงเกิ้ลเทรดนั้นแตกต่างกันน้อยมาก ประการที่ 2 ซีพียู Ryzen 5 4600H มีประสิทธิภาพเหนือกว่าซีพียู Core i5-9300HF ในทุกๆ การทดสอบ ทั้งการเรนเดอร์ภาพสามมิติ การประมวลผลเกม ฯลฯ  โดยความแตกต่างที่น้อยที่สุดก็คือ 15 เปอร์เซ็นต์สำหรับ Geekbench 5  - Multi Core Score

แม้ว่าประสิทธิภาพของซีพียูเพียวๆ จะทำได้เหนือกว่า Core i5-9300HF บนโน้ตบุ๊ก Y540 แต่ด้วยชิปกราฟิกรุ่นเดียวกันผลที่ออกมาจึงไปอยู่ระดับที่แทบไม่ต่างกัน แน่นอนว่าฝั่งโน้ตบุ๊ก Legion Y540 จะทำได้ดีกว่าเล็กน้อย ทว่าก็ต้องเข้าใจว่าโน้ตบุ๊กได้เปรียบเรื่องขนาดหน่วยความจำแรมที่มากกว่าเท่าตัว

ความเร็วของไดรฟ์ WD SN730 ที่ประจำการในโน้ตบุ๊กมีความเร็วการอ่านเขียนในระดับเกิน 2500 MB/s ทั้งคู่ แต่ยังต่ำกว่าความเร็วตามสเปคของมันในหน้าเว็บไซต์ นอกจากนั้นประสิทธิภาพของมันจะลดลงเมื่อโน้ตบุ๊ก Pavilion Gaming 15  ทำงานด้วยพลังงานแบตเตอรี่ 

เล่นเกมหรือใช้งานทั่วไปไม่ต้องห่วงเรื่องความร้อน
การทดสอบการระบายความร้อนของโน้ตบุ๊ก ทีมงานใช้การเรนเดอร์ Cinebench R20 ในการผลักดันให้ซีพียูทำงานเต็มที่ต่อเนื่อง 5 ครั้ง ภายในห้องแอร์อุณหภูมิ 26 ประมาณองศาเซลเซียส ชุดระบายความร้อนสามารถจำกัดความร้อนของซีพียูเอาไว้สูงสุด 86.4 องศาเซลเซียส สังเกตจากกราฟเส้นด้านบน กราฟความร้อนมีแนวโน้มสูงชันขึ้นเรื่อยๆ จนจบการเรนเดอร์

ส่วนความร้อนของชิปกราฟิกในการเบนช์มาร์กเกม Metro Exodus ถือว่าไม่น่าเป็นห่วงอะไร แม้จะมีแนวโน้มที่ความร้อนจะสะสมเพิ่มขึ้นหากทำงานอย่างเต็มที่ระยะยาว ถึงอย่างนั้นมันก็มีความร้อนสูงสุด 66 องศาเซลเซียส ขณะที่ความร้อนของซีพียูที่ประมวลผลเกมก็คงความร้อนอยู่ในช่วง 63-67 องศาเซลเซียส เราบอกได้เลยว่า ถ้าเป็นการเล่นเกม โน้ตบุ๊ก Pavilion Gaming 15 จัดการความร้อนได้สบายๆ และเสียงไม่ดังจนน่ากังวล

บทสรุปและความคิดเห็น
ในมุมของเราแล้ว โน้ตบุ๊ก Pavilion Gaming 15  มีสิ่งที่เราไม่ค่อยชอบใจนักก็คือ การจัดวางตำแหน่งพอร์ตส่วนใหญ่ไว้ทางขวามือ และการทำงานด้วยพลังงานแบตเตอรี่ได้ไม่เกิน 5 ชั่วโมง (ทดสอบดูยูทูปผ่านเครือข่ายไร้สาย  2 ครั้งผลเท่ากัน) แต่ทั้งสองอย่างนี้มันอาจไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตสำหรับคนส่วนใหญ่ นั่นเป็นเพราะว่า มันวางราคามาต่ำกว่าหรือเท่ากันกับโน้ตบุ๊กเกมมิ่งรุ่นอื่นๆ ภายใต้สเปคเดียวกัน ทำให้ข้อบกพร่องเล็กน้อยนี้ถูกมองข้ามไป แต่ในภาพรวมแล้วโน้ตบุ๊กของเอชพีก็ไม่ได้มีข้อผิดพลาดร้ายแรงอะไรเลย ทั้งความแข็งแรงของตัวเครื่อง คุณภาพจอแสดงผล การอัพเกรดส่วนประกอบภายใน การระบายความร้อน ความสวยงามของดีไซน์ภาพรวม ฯลฯ ดังนั้นมันจึงไม่น่าแปลกใจหากว่า มันจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่เน้นความคุ้มค่าเป็นหลัก อย่างไรก็ดี เราหวังว่าโน้ตบุ๊กของค่ายนี้ในเจนถัดไป ควรจะปรับดีไซน์ให้ผู้ใช้ได้ตื่นเต้นกันบ้างก็ดี

ขอขอบคุณ: AMD Thailand