รีวิว WD MY PASSPORT SSD NVME 1TB เร็วแรง ปรับดีไซน์ ไร้คม

Pros

เล็ก น้ำหนักเบา
ตกจากความสูง 2 เมตรโดยไม่เสียหาย
อ่านเขียนได้เร็วบน USB 3.2 Gen 2
มีซอฟต์แวร์เข้ารหัสข้อมูล
ประกัน 5 ปี

Cons

ราคาสูง
ไม่มีไฟแสดงสถานะการทำงาน

SSD แบบพกพาในซีรีส์ WD My Passport SSD รุ่นใหม่ล่าสุดนี้มีอายุห่างจากรุ่นแรกที่เปิดตัวเมื่อปี 2018 เกือบ 2 ปี แน่นอนว่าเทคโนโลยีภายในนั้นต้องมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมไปถึงรูปโฉมก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ดูสดใหม่ทันยุคสมัยด้วย

ข้อได้เปรียบของ SSD แบบพกพาเหนือ External HDD ที่เป็นฮาร์ดดิสก์แบบจานหมุนที่เราใช้กันมานานจนทำให้มันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือขนาดที่กระทัดรัดกว่า มีความทนทานต่อการกระทบกระเทือนได้ดีกว่า และมีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลที่สูงกว่ามาก

กลุ่มเป้าหมายของ WD My Passport SSD น่าจะเป็นผู้ใช้งานที่ต้องการเน้นประสิทธิภาพในการทำงานโดยเฉพาะการถ่ายโอนไฟล์ข้อมูลขนาดใหญ่บ่อยๆ หรือแม้กระทั่งเปิดไฟล์ทำงานจากไดรฟ์โดยตรง เช่น ไฟล์อาร์ทเวิร์กขนาดใหญ่ ไฟล์วิดีโอ ฯลฯ โดยไม่ต้องก๊อบปี้ลงเครื่องก่อนให้เสียเวลา ซึ่งงานลักษณะนี้ไม่สามารถทำได้บน External HDD แบบจานหมุนแบบเดิม
 

Key Specifications (WDBAGF0010BGY-WESN)

  • ราคาโดยประมาณ: 5,890 บาท
  • ขนาดความจุ:  1 TB
  • อินเทอร์เฟซ:  USB 3.2 Gen 2
  • ความเร็วการอ่าน/เขียนสูงสุด: 1050MB/s / 1000MB/s
  • พอร์ตเชื่อมต่อ:  USB-C
  • ขนาด: 100x55x9.4 มิลลิเมตร  
  • น้ำหนัก: 54 กรัม
  • สี: เทา/ดำ/ทอง/น้ำเงิน
  • รับประกัน: 5 ปี
     

ปรับดีไซน์ไร้เหลี่ยมคม เบาบางกว่าเดิม
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนอย่างแรกของ WD My Passport SSD โฉมปี 2020 คือตัวบอดี้ที่ถูกขัดเกลาให้มีความโค้งมนลบเหลี่ยมคมที่เคยเห็นในรุ่นเก่าออกไป ส่วนตัวมองว่าทำให้การหยิบจับทำได้ถนัดมือแถมให้สัมผัสแบบนุ่มละมุนอีกต่างหากแม้จริงๆ แล้ววัสดุบอดี้ไม่ได้มีการบุนุ่มอะไรเลยก็ตาม

บอดี้ด้านนอกเรายังคงมองเห็นลายเส้นแบบ 3D ที่เป็นเอกลักษณ์ของ WD ส่วนวัสดุนั้นใช้การประกบกันของชิ้นอลูมิเนียมด้านบน และพลาสติกด้านล่าง งานประกอบแน่นหนาและมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะทำตกจากระดับใช้งานปกติโดยไม่บุบไม่แตกเป็นเสี่ยง (แต่ถลอกได้) 

 

ขนาดของ WD My Passport SSD เมื่อวางเทียบกับ WD My Passport รุ่นที่ไส้ในเป็นฮาร์ดดิสก์จานหมุนปกติ จะเห็นว่ามีความกระทัดรัดกว่าทั้งในแง่ของขนาดและความบางอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้มันยังมีน้ำหนักที่เบาเพียง 54 กรัม เรียกว่าแทบไม่ทำให้กระเป๋าหนักขึ้น หรือสามารถพกใส่กระเป๋าเสื้อ-กางเกงได้ง่ายๆ โดยไม่รู้สึกถ่วงมากมาย

อีกเรื่องที่เป็นจุดแข็งของ SSD คือการที่มันสามารถทนทานต่อแรงสะเทือนในขณะพกพา หรือแม้แต่การเผลอทำหล่นก็ยังมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่เก็บอยู่ในไดรฟ์จะไม่เสียหายอย่างแน่นอน (ใครเคยมีประสบการณ์ทำฮาร์ดดิสก์หล่นคงทราบความรู้สึกดี)

ทดสอบประสิทธิภาพอ่าน-เขียน เร็วไม่แพ้ Game Drive P50
ดีไซน์เป็นเรื่องของภายนอก แต่ประเด็นหลักที่เป็นปัจจัยในการตัดสินใจซื้อหามาใช้น่าจะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพการอ่าน-เขียนข้อมูล ซึ่ง WD My Passport SSD ความจุ 1TB ที่เราได้รับมาทดสอบนี้มาพร้อมสเปคการโอนถ่ายข้อมูลด้วยความเร็ว 1,050MB/s (อ่าน) และ 1,000MB/s (เขียน) ผ่านมาตรฐาน USB 3.2 Gen 2 ที่มีความเร็วในทางทฤษฎี 10 Gbps

การทดสอบของเราแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การทดสอบด้วยซอฟต์แวร์เบนช์มาร์กและการทดสอบในแบบเรียลเวิร์ลหรือการอ่านเขียนข้อมูลจริง แต่ก่อนอื่น ขออธิบายเล็กน้อยในเรื่องมาตรฐานของพอร์ต USB พูดง่ายๆ ก็คือ พอร์ตที่ไดรฟ์รุ่นนี้สนับสนุนสูงสุดก็คือ USB 3.2 Gen 2 หรือมันก็คือ USB 3.1 Gen 2 เดิมที่มีความเร็ว 10 Gbps ซึ่งเมนบอร์ดของเครื่องพีซีตั้งโต๊ะจำนวนไม่น้อยมีมาตรฐานนี้อยู่แต่จะมาในรูปแบบของ USB-A แน่นอนว่าหัวแปลงพอร์ตที่แถมมากับตัวไดรฟ์นั้นก็ทำงานบนมาตรฐานดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์

 

ผลการทดสอบเบนช์มาร์กด้วย Crystal Diskmark ผ่านเมนบอร์ด TUF B360 Pro Gaming Wi-Fi นั้นให้ผลที่น่าประทับใจ เพราะให้ตัวเลขระดับเดียวกับที่ผู้ผลิตเคลมความเร็วเอาไว้ แถมยังเร็วไม่แพ้ไดรฟ์ WD-Black P50 ที่เราเคยทดสอบไปก่อนหน้านี้อีกด้วย

-> อ่านรีวิว รีวิว WD_BLACK P50 Game Drive SSD (1TB)

ขณะที่ความเร็วบนมาตรฐาน USB 3.2 หรือ USB 3.1 Gen 1 ผ่านพอร์ต USB-C ก็ทำได้ดีเช่นกัน อย่างไรก็ดี เนื่องจากทีมงานไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้ช่องต่อ USB-C มาตรฐาน USB 3.2 Gen 2 จึงไม่ได้ทำการทดสอบความเร็วในส่วนนี้และต้องขออภัยด้วย

มาดูผลการทดสอบเรียลเวิร์ลโดยการโยนไฟล์ขนาด 40GB ที่เราสร้างขึ้นมาบ้าง (ภาพด้านบน) ซึ่งเครื่องพีซีของเราจะใช้ไดรฟ์ WD Black SN750 - 512GB ในการทดสอบ จะเห็นว่าความเร็วบนมาตรฐานความเร็ว 5 Gbps นั้นลดลงจากที่เห็นในการทดสอบเบนช์มาร์ก และความเร็วการอ่านเองก็ทำได้ในช่วง 395-398 MB/s ส่วนระยะเวลาที่ใช้จริงก็คือ 1:40 และ 1:54 นาที ในการอ่านและเขียนข้อมูลตามลำดับ

กลับมาดูตัวเลขความเร็วพอร์ตที่วิ่งได้เต็มที่ 10 Gbps กันบ้าง (ภาพด้านบน) ความเร็วทำได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน สามารถอ่านข้อมูลด้วยความเร็ว 821 MB/s ส่วนการเขียนข้อมูลที่ส่งจากไดรฟ์ SN750 มายังไดรฟ์ My Passport 1TB ตัวนี้ก็ทำได้ดีที่ความเร็ว 642 MB/s ในเรื่องของระยะเวลาที่ใช้ในการอ่านเขียนข้อมูลทำได้เร็วขึ้นที่ 50 วินาที และ 1:02 นาที ในการอ่านและเขียนข้อมูลตามลำดับ

ส่วนการเขียนข้อมูลขนาดใหญ่ต่อเนื่องพบว่า มีอุณหภูมิเกิดขึ้นบนตัวไดรฟ์ NVMe ภายใน 47 องศาเซสเซียส ซึ่งอุณหภูมิระดับนี้ไม่มีอะไรน่ากังวล แถมยังเกิดเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพราะความร้อนจะถูกถ่ายเทออกไปยังฝาอะลูมิเนียมของไดรฟ์ ซึ่งมีการติดตั้งเทอร์มอลแพดจากชิปหน่วยบนไดรฟ์ NVMe ด้านในเข้ากับบอดี้

อุปกรณ์ในกล่องมีให้ตามมาตรฐาน คู่มือ สายเชื่อมต่อแบบ USB-C to USB-C และ หัวแปลง USB-A สำหรับใช้งานกับพีซีหรือโน้ตบุ๊กที่ไม่มีพอร์ต USB-C

ซอฟต์แวร์เสริมความปลอดภัยข้อมูล
ภายในไดรฟ์ WD My Passport SSD มีแอพพลิเคชั่นเสริมความปลอดภัยแถมมาให้ใช้งานด้วย โดย WD Security จะทำการเข้ารหัสข้อมูลที่เก็บอยู่ในไดรฟ์ด้วยฮาร์ดแวร์ AES 256-bit โดยหลังจากที่เราตั้งรหัสผ่าน (Password) ครั้งแรก จะมีพาร์ทิชันพิเศษถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติโดยมียูทิลิตี้ WD Unlock สำหรับการปลดล็อคไดรฟ์ ข้อดีคือสามารถปลดล็อคได้แม้ไดรฟ์จะถูกนำไปเสียบใช้งานในเครื่องที่ไม่ได้ติดตั้งแอพพลิเคชั่น WD Security มาก่อนก็ตาม 

แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ห้ามลืมรหัสผ่านเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่มีทางเข้าถึงข้อมูลในไดรฟ์ได้อีกเลย

สรุปและความคิดเห็น
ถือเป็นไดรฟ์ในตระกูล Ultra-Fast Portable Storage ที่ถูกปรับปรุงประสิทธิภาพได้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่างชัดเจนทั้งในแง่ของขนาดและความเร็ว เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการไดรฟ์ที่ให้ได้ทั้งประสิทธิภาพและความคล่องตัว คือเป็นได้ทั้งสตอเรจเก็บไฟล์ข้อมูลขนาดใหญ่และเป็นไดรฟ์เก็บไฟล์สำหรับทำงานโดยไม่ต้องถ่ายโอนข้อมูลลงเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อน โดยเฉพาะถ้าอุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมกับตัวไดรฟ์เป็นมาตรฐาน USB 3.2 Gen 2 และประสิทธิภาพของไดรฟ์ระบบเองก็มีความเร็วสูงกว่าไดรฟ์ ซึ่งนั่นจะทำให้คุณได้สัมผัสประสิทธิภาพความเร็วที่แท้จริง

ในส่วนของแถมพิเศษจาก WD Thailand สำหรับผู้ใช้งานชาวไทย จะมีบริการกู้ข้อมูลฟรีโดย Ontrack Data Recovery (Lite) ให้เป็นระยะเวลา 1 ปี และการประกันอุบัติเหตุจากทางตัวแทนจำหน่าย Synnex ที่ร่วมกับ AIG มอบกรมธรรม์คุ้มครองอุบัติเหตุให้กับเจ้าของไดรฟ์ด้วย แต่ต้องเข้าไปลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ตามสติ้กเกอร์ QR Code หน้ากล่อง

ขอบคุณ: WD Thailand