รีวิว Asus Zenbook 13 UM325 ขุมพลังตัวท็อป Ryzen 7 5800U
PROS
กะทัดรัดและให้ความรู้สึกพรีเมี่ยม
พาแนล OLED ให้สีสันได้ยอดเยี่ยม
กล้อง IR รองรับการทำงาน Windows Hello
พลังประมวลผลสูง
สตอเรจ Nvme ความเร็วสูง
CONS
ไม่มีพอร์ตออดิโอ 3.5 มม.
ไม่มีเซนเซอร์ลายนิ้วมือ
ไม่สนับสนุนการอัพเกรดแรม
ทัชแพดตอบสนองการสั่งงานในระดับปานกลาง
3 สิ่งที่น่าสนใจสำหรับโน้ตบุ๊ก Zenbook 13 UM325s ก็คือหน้าจอแสดงผล OLED ที่ให้สีสันภาพได้อย่างยอดเยี่ยม ประการที่ 2 ตัวเครื่องที่บางเบา แข็งแรงภายใต้น้ำหนัก 1.14 กิโลกรัม และสุดท้าย การใช้ชิปประมวลผล AMD Ryzen 7 5800U ที่เรียกได้ว่า ทรงพลังที่สุดในกลุ่มชิปประมวลผลแบบประหยัดพลังงานหรือซีพียูที่ใช้รหัส U ต่อท้ายนั่นเอง
Key Specifications (UM325s)
- AMD Ryzen 7 5800U 1.9GHz – 4.4GHz (8C /16T)
- AMD Radeon Graphics 7
- On board 16GB LPDDR4X @3733MHz Dual CH
- 1024 GB M.2 NVMe PCIe 3.0
- 13.3-inch, OLED, FHD (1920 x 1080) 16:9
- Glossy display, 400nits, DCI-P3: 100%, Pantone Validated
- 1x USB 3.2 Gen 1 Type-A,1x HDMI 2.1, microSD Card Reader
- 2x USB 3.2 Gen 2 Type-C support display / power delivery
- Wi-Fi 802.11a/b/g/n/ac, Bluetooth 5.0
- HD camera, IR webcam
- Lithium-ion, 67 Wh
- Windows 10 Home Edition
- Power Adaptor 65W fast charging
- Weight 1.14kg
- Size 0.40 x 20.30 x 1.39 mm.
โน้ตบุ๊กตระกูล Asus Zenbook 13 UM325มีการใช้ชิปประมวลผลหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น AMD Ryzen 5 5500U, Ryzen 5 5600U, Ryzen 7 5700U และ Ryzen 7 5800U ในเมืองไทยเท่าที่เห็นตอนนี้จะมีรุ่นที่ใช้ชิป Ryzen 5 5500u วางจำหน่ายในราคา 28,500 บาท อย่างไรก็ดี ทาง Asus ยังมีโน้ตบุ๊กอีกตระกูลอย่าง Zenbook 13 UX325 ที่มีหน้าตาและคีย์ดีไซน์ที่แทบจะเหมือนกันทุกประการ ต่างกันตรงที่ใช้ชิปประมวลผล Intel 11th Gen พร้อมกับชิปกราฟิก Intel Iris X และมาพร้อมกับพอร์ต Thunderbolt 4 ดังนั้นในรีวิวนี้คุณจะได้พบ 2 เรื่องราวจากเรา ประการแรกก็คือ ประสิทธิภาพของชิป Ryzen 7 5800U ที่ตอนนี้มีผู้ผลิตโน้ตบุ๊กหลายรายนำไปติดตั้งเข้ากับชิปกราฟิกตระกูล Geforce GTX 1650 เพื่อให้เล่นเกมได้ดีขึ้น และประการที่ 2 ก็คือ ดีไซน์ของ Zenbook 13 UM325 ที่เหมือนกับ Zenbook 13 UX325
ภาพรวมของดีไซน์ภายนอก
Zenbook 13 UM325ใช้วัสดุอลูมิเนียมไปกับส่วนประกอบบอดี้เกือบทั้งหมด ถึงจะไม่ใช้งานแบบ Uni-Body แต่การประกบกันของแผงโลหะแต่ละจุดนั้นทำได้อย่างไม่มีที่ติ สังเกตดีๆ จะมีการออกแบบพื้นผิวบริเวณขอบหรือมุมอย่างมีมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเจียรแบบไดมอนคัต หรือเล่นระดับกับพื้นผิว ฝาหลังยังคงเอกลักษณ์เดิมอย่างอย่างลายวิถีเซนที่ขยับมาอยู่ฝั่งขวา ไม่ได้อยู่กลางเหมือนกับยุคเริ่มต้น
สีที่อยู่ในมือของเราเป็นเฉดสีเทาเข้มหรือ Pine Gray ดูดีและให้ความรู้สึกถึงความเป็นมืออาชีพของผู้ใช้ ถึงอย่างนั้นพื้นผิวกึ่งมันกึ่งด้านยังคงเปรอะรอบนิ้วมือได้ค่อนข้างง่าย ในส่วนบานพับสามารถกางออกไปให้กว้างสุด 155 องศา โดยยังคงใช้กลไก Ergolift พร้อมกับวัสดุยางเล็กๆ วางบริเวณฐานขอบจอเช่นเดิม การยกฐานล่างช่วยเพิ่มการไหลเวียนของอากาศ ขณะที่ลมร้อนจะถูกระบายขึ้นระหว่างขอบจอด้านล่างกันส่วนบนของแผงคีย์บอร์ด
พอร์ตเชื่อมต่อถือเป็นจุดอ่อนสำหรับโน้ตบุ๊กไซส์เล็ก แต่ข้อจำกัดเหล่านั้นก็ถูกแก้ไขด้วยพอร์ต USB-C ตามชื่อของมัน (Universal Serial Bus) ซึ่งทั้งสองพอร์ตนี้จะเป็นมาตรฐาน USB 3.2 Gen 2 (10gbps) ทำหน้าที่ชาร์จพลังงานเข้าเครื่องและปล่อยพลังงานให้กับอุปกรณ์ภายนอกผ่านแบบ Power Delivery พร้อมกับทำหน้าที่พอร์ตแสดงผล (DP) ได้อีกด้วย
อีกฝั่งหนึ่งเป็นเพียง USB 3.2 Gen 1 พร้อมด้วยช่อง microSD Card และไฟแสดงสถานะ จากทั้งสองฝั่งจะเห็นว่าไม่มีช่องต่อออดิโอเลย ทางเลือกที่ Asus ใช้ก็คือ อะแดปเตอร์หางหนู USB-C to 3.5 mm ฝังชิป DAC ESS ให้เสียงแบบ Hi-res Audio ซึ่งเราทดลองฟังแล้ว คุณภาพดีกว่าเสียงของซาน์ดออนบอร์ดพอสมควร แถมใช้งานกับสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ได้ นอกจากนี้ในชุดอุปกรณ์ยังมีอะแดปเตอร์ USB-C to LAN มาให้ด้วย
คีย์บอร์ดและแทร็กแพด
จากการออกแบบให้มันมีขนาดที่เล็กกว่าโน้ตบุ๊กไซส์ 13 นิ้วทั่วไป พื้นที่ของแป้นคีย์บอร์ดจึงคับแคบไปด้วย แม้ว่าในแนวนอนจะมีความยาว 29.4 เซนติเมตร แต่ในแนวตั้งมันถูกบีบให้แคบลง เพื่อให้มีพื้นที่มากพอสำหรับแทร็กแพดและแป้นวางมือ ระยะจากปุ่มตัวเลขจนถึงล่างสุดเหลือเพียง 8 เซนติเมตร ขณะที่แป้นทั่วไปจะมีขนาด 9 เซนติเมตร นอกจากนั้นแล้วปุ่มคีย์บอร์ดยังมีขนาด 16x13 มม. ซึ่งโน้ตบุ๊ก 13 นิ้วอย่าง Ideapad 320s ยังมีขนาดใหญ่กว่า 16x15 มม.แน่นอนว่ามันจะเกิดปัญหาการพิมพ์ไม่คล่องแน่นอนในการใช้งานช่วงแรกๆ อย่างไรก็ดี แป้นคีย์บอร์ดมาพร้อมกับไฟ Backlid สีขาว ใช้งานกลางคืนในห้องมืดๆ ได้สะดวก
แทร็กแพดวางไว้ตำแหน่งกลางของแป้นคีย์บอร์ด พื้นผิวแก้ว ค่อนข้างกว้าง ใช้ไดรเวอร์ Precision และมีฟังก์ชันปุ่ม Numpad ในตัวเปิดปิดได้ด้วยสัญลักษณ์เล็กๆ ขวาบน แน่นอนว่า ดีไซน์แบบนี้มีอยู่ใน Zenbook แล้วหลายๆ รุ่น ใช้งานด้วยปลายนิ้วได้ลื่นไหล การตอบสนองการสัมผัสอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง มีความแม่นยำที่ดีและระบบปฏิเสธฝ่ามือที่เชื่อถือได้ สั่งงานแบบมัลติทัช (Gesture) ได้ค่อนข้างดี
จอแสดงผลและคุณภาพ
การเลือกพาแนล OLED ของ Samsung SDC4158 มาใช้กับ Zenbook รุ่นนี้ ส่งผลให้กลายเป็นหนึ่งในโน้ตบุ๊กที่แสดงภาพได้สวยที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกขณะนี้ นั่นเป็นเพราะการแสดงขอบเขตสีได้กว้างมากๆ ทั้ง 100% DPI-P3 และ 100% sRGB แน่นอนว่าในต่างประเทศมีผลการทดสอบพาแนลตัวนี้ออกมาว่ากว้างถึงระดับ 99.7 % Adobe RGB
ถึงจะไม่มีอุปกรณ์วัดค่าการแสดงผล แต่สิ่งที่สัมผัสได้ก็คือ สีสันภาพนั้นสดใสมาก มีความคมชัดในแง่ของความละเอียดภาพที่ดีมาก จุดพิกเซล (Dot pitch) มีขนาดเล็ก มีอัตราคอนทราสต์สูง มุมมองกว้างไม่ต่างจากพาแนล IPS นอกจากนั้นยังมีความสว่างสูงมาก ใช้งานนอกอาคารใต้ร่มเงาได้สบายๆ ถึงอย่างนั้นปัญหาอย่างเดียวของจอตัวนี้ก็คือ ผิวมันวาวที่เกิดเงาสะท้อนรบกวนการใช้งาน
ชุดประมวลผลและประสิทธิภาพ
ก่อนที่ลงลึกในรายละเอียดอื่นๆ ชิป Ryzen 7 5000 series สำหรับแพลตฟอร์มแลปทอปไม่ได้ใช้สถาปัตยกรรมเดียวกันหมด แต่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ชิป Ryzen 5600U และ Ryzen 7 5800U ใช้สถาปัตยกรรม Zen 3 ภายใต้โค้ดเดม Cezanne ขณะที่ Ryzen 5 5500U และ Ryzen 7 5700U เป็นสถาปัตยกรรม Zen 2+ หรือเรียกว่าซีพียูโค้ดเนม Lucienne ความแตกต่างนั้นมีหลายส่วนระหว่าง 2 สถาปัตยกรรม ที่ชัดเจนมากๆ ก็คือ ขนาดแคช L3 (Zen 3, 16MB :Zen 2+, 8MB ) เป็นต้น
โน้ตบุ๊ก Zenbook 13 UM325รุ่นที่ได้รับมารีวิวมาพร้อมชิป Ryzen 7 5800U ซึ่งเป็นซีพียูแบบ 8 แกน 16 เทรด ติดตั้งหน่วยความจำแรมออนบอร์ด LPDDR4x -3733 MHz ขนาด 16GB และไดรฟ์ Nvme ความจุ 512GB ในการทำงานแล้ว Zenbook ผสานร่วมกับแอพ MyAsus app เพื่อควบคุมโปรไฟล์การใช้พลังงาน แบตเตอรี่ การตั้งค่าหน้าจอ ฯลฯ มีผลต่อประสิทธิภาพ ระดับความดังของพัดลม และความร้อนของโน้ตบุ๊ก การทดสอบของเราจะใช้โหมด Performance ทั้งหมด
จากผลคะแนนทั้งหมดจะเห็นว่า โน้ตบุ๊ก Zenbook UM325มีประสิทธิภาพเหนือกว่าโน้ตบุ๊กอีก 2 ตัวอย่างชัดเจน จริงๆ ก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เนื่องจากชิป Ryzen 7 5800U มีแกนประมวลผลรวมมากถึง 16 แกน ขณะที่ซีพียูของโน้ตบุ๊กรุ่นอื่นๆ ยังคงอยู่ที่ 4 คอร์ 8 เทรด ในแง่ของผลตัวเลข PCMark10 ที่สูงถึง 5,860 นั้นส่วนใหญ่เราจะเห็นกันในโน้ตบุ๊กเกมมิ่งที่มีผลคะแนน ชิปกราฟิกเข้ามาช่วยเสริม แต่โน้ตบุ๊ก Zenbook UM325ใช้ชิปกราฟิกออนบอร์ดของที่ไม่ได้มีคะแนนเบนช์มาร์กด้านเกมดีเท่าไหร่ เรียกง่ายๆ ว่า มาจากพลังประมวลผลของซีพียูกับส่วนประกอบอื่นเพียวๆ หรือจะมองไปที่คะแนนมัลติเทรดของ CPU-z อย่างเดียว ตัวก็พุ่งไปถึง 4,733 คะแนน ทิ้งห่างชิปรุ่นรองของทางฝั่งอินเทลไปไกลมาก
สตอเรจแม้จะทำงานบนบัส PCI-e 3.0 แต่ความเร็วการอ่านเขียนของสตอเรจก็ยังทำงานได้ดี ขณะเสียบปลั๊กอ่านเขียนด้วยความเร็ว 3,600 และ 2,946 MB/s ขณะที่การทำงานด้วยแบตเตอรี่ความจะลดลงราวๆ ครึ่งหนึ่ง ถึงอย่างนั้นก็ยังเร็วมากพอสำหรับทุกๆ แอพพลิเคชัน
ความร้อนและเสียงรบกวน
ไอเดียในการออกแบบชุดระบายความร้อนของ Asus จะเน้นไปที่การผสมผสานการทำงานระหว่างซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เข้าด้วยกัน เพื่อควบคุมการใช้พลังงานของซีพียู รักษาอุณภูมิ และจัดการเสียงรบกวน แม้ว่าชิป Ryzen 7 5800U จะทรงพลัง แต่เมื่ออยู่ในโน้ตบุ๊กบางเบาแล้ว ส่วนใหญ่มันจะไม่ได้เจอกับงานที่ต้องประมวลผลอย่างเต็มที่ตลอดเวลา ดังนั้นพวกเขาจึงใช้เพียงแค่ฮีตไปป์ 1 เส้น พร้อมกับพัดลมเพียง 1 ตัว
ขณะที่โน้ตบุ๊กกำลังรัน PCMark 10 ในโหมด Performance ความร้อนของซีพียูมีการพุ่งขึ้นไปแตะ 90 องศาเซลเซียสในบางครั้ง ขณะที่การคอนเฟอร์เรนซ์หรือการท่องเว็บความร้อนจะอยู่ในช่วง 50-70 องศาเซลเซียสเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการโหลดแอพเป็นช่วงๆ ความร้อนเฉลี่ยไม่เกิน 80 องศาเซลเซียส มองภาพทาสก์เหล่านี้ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
ส่วนการเรนเดอร์ที่ใช้พลังซีพียูเป็นหลัก จะเห็นว่าเมื่อซีพียูโหลดอย่างเต็มที่ เกิดความร้อนพุ่งไปถึง 84.6 องศาเซลเซียส จากนั้นระบบจะทำการปรับลดความเร็วของซีพียูลงมาเหลือ 2.4 – 2.847 GHz ไม่ให้มีการบูสต์ความเร็วสูงไปกว่านี้ พร้อมกับจำกัดการบริโภคพลังงานเอาไว้ 16.844 วัตต์โดยประมาณ ซึ่งในสภาวะนี้ความร้อนจะเกิดขึ้นภายใน Die ของซีพียูราว 71.3 องศาเซลเซียส คำถามคือ มันทำงานได้ดีไหม จากมุมมองของเรา การจัดการความร้อนอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เพราะซีพียูยังคงทำงานสูงกว่า Base Clock (1.9Hz) นั่นทำให้ประสิทธิภาพของมันยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเมื่อเทียบกับซีพียูกลุ่มเดียวกัน
หากเป็นการทำงานที่ต้องใช้ทั้งซีพียูและชิปกราฟิกที่อยู่ในแพ็กเกจเดียวกันจะเป็นอย่างไร คำตอบก็คือ ความร้อนสะสมบนตัวเครื่อง โดยทีมงานวัดความร้อนด้วยปืน Infrared Thermometer จากในห้องอุณหภูมิประมาณ 26 องศาเซลเซียส ความร้อนส่วนใหญ่สะสมช่วงบนของแป้นพิมพ์ เพราะเป็นตำแหน่งที่เกิดความร้อน บริเวณปุ่มคีย์บอร์ดที่ถัดลงได้รับผลกระทบพอสมควร สัมผัสได้ถึงความร้อนอุ่นๆ ได้ชัดเจนผ่านปลายนิ้ว ขณะที่แป้นวางมือได้รับผลกระทบน้อยมาก สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อเสียของบนพับ ErgoLift ก็คือ การที่ลมร้อนไม่ได้ถูกปล่อยออกทางด้านหลังทั้งหมด มีบางส่วนที่ม้วนกลับเข้ามาใต้กรอบจอภาพด้านใน ดังนั้นแป้นคีย์บอร์ดโซนบนจึงสะสมความร้อนที่แผ่มาจากด้านล่างและลมร้อนจากช่องลมออก ส่วนเสียงรบกวนไม่มีอะไรให้ต้องกังวล แม้ว่าพัดลมจะหมุนเต็มที่ มันก็ไม่ได้มีระดับความดังที่ทำให้รู้สึกรำคาญแต่อย่างใด
การทำงานด้วยพลังงานแบตเตอรี่
แบตเตอรี่ของ Zenbook UM325ถือว่ามีขนาดความจุค่อนข้างใหญ่กว่าโน้ตบุ๊กทั่วไปพอสมควร การทดสอบของทีมงานจะใช้การเล่นวิดีโอยูทูปแบบ Full Screen ต่อเนื่องผ่านเครือข่ายไร้สาย ใช้การจัดการพลังงานแบบ Battery Saver
โน้ตบุ๊กสามารถใช้งานต่อเนื่องไปได้ 9:52 ชั่วโมง โดยที่ยังเหลือแบตเตอรี่เอาไว้อีก 9 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีที่เป็นการทำงานสไตล์ธุรกิจ มีการใช้โปรแกรมสำนักงาน เปิดบราวเซอร์บ้าง ไม่มีทาสก์ที่ใช้พลังซีพียูหนักๆ ต่อเนื่อง การใช้งานใน 1 วันไม่น่าจะมีปัญหาอะไรสำหรับโน้ตบุ๊กตัวนี้
บทสรุปและความคิดเห็น
Zenbook UM325มาพร้อมกับประสิทธิภาพด้านการประมวลผลที่ยอดเยี่ยมที่สุดในกลุ่มโน้ตบุ๊กแบบบางเบา ต้องยกความดีความชอบให้กับชิป Ryzen 7 5800U หลังจากที่มันกลายเป็นซีพียูแบบใช้พลังงานต่ำที่เหนือกว่าซีพียูทุกรุ่นในโลก ณ เวลานี้ แต่ในแง่ภาพรวมของการเป็นโน้ตบุ๊กแบบบางเบาที่ทาง Asus ตั้งใจพัฒนามานั้นยังมีจุดบกพร่องเล็กๆ น้อย อย่างเช่น การออกแบบปุ่มคีย์บอร์ดและเลย์เอาต์ที่ใช้งานได้ไม่สะดวกนัก รวมถึงการมีพอร์ตเชื่อมต่อที่จำเป็นต่อการใช้งานน้อยเกินไป คิดง่ายๆ หากคุณกำลังใช้เมาส์ไร้สายอยู่ ต้องการจะเสียบแฟลชไดรฟ์ คุณจะต้องดึงดองเกิ้ลยูเอสบีของเมาส์ออกก่อน หรือไม่อย่างนั้นคุณต้องไปซื้อ USB-C Multifunction adaptor มาใช้งาน (จริงๆ ให้ USB-A เพิ่มอีก 1 ช่องแทนการ์ดรีดเดอร์ดีกว่า) อย่างไรก็ตาม โน้ตบุ๊ก Zenbook UM325ก็มีข้อดีเยอะกว่าข้อด้อย และเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับสายพกพาในหลายๆ แง่มุม ยกเว้นแต่คุณให้ความสำคัญกับพอร์ต Thunderbolt มากกว่าสิ่งอื่นใด